บทความพิเศษชุด: ความหวานและอำนาจ

เมื่อปีที่แล้วข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ทั่วโลกผลิตน้ำตาลได้ถึง 187 ล้านล้านกิโลกรัม หากเทียบกับสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่มนุษย์สร้างขึ้น คือ มหาพิระมิดแห่งกิซ่า ประเทศอียิปต์ ปริมาณการบริโภคน้ำตาลเท่ากับมหาพีระมิด 56 พีระมิด แบ่งเป็นผู้บริโภคชาวอินเดียบริโภคมหาพีระมิดน้ำตาล 9 พีระมิด สหภาพยุโรป 6 พีระมิด จีน 5 พีระมิด สหรัฐฯ 3 พีระมิดครึ่งและประเทศไทย 2 พีระมิด

ไม่กี่ปีที่ผ่านมากลุ่มนักวิชาการบนว็บไซต์ The Conversation ต่างพากันประหลาดใจเมื่อพบว่า “น้ำตาล” ซึ่งเป็นอาหารกลับไม่ใช่อาหาร แต่เป็นสาเหตุหลักของวิกฤติการณ์ด้านสาธารณสุขทั่วโลก ในขณะเดียวกันน้ำตาลก็กลายมามีส่วนสำคัญ เมื่อพบว่า ปริมาณแคลอรี่ที่มนุษย์กินเข้าไปในแต่ละวันมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบมากถึงร้อยละ 20 โดยปี 2013 การปลูกอ้อยสร้างเม็ดเงินให้ภาคเกษตรทั่วโลกถึงร้อยละ 9.4 และพื้นที่เกษตรกรรมของโลกจำนวนมากก็ยังเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล

กลุ่มนักวิชาการกลุ่มนี้เขียนอธิบายความประหลาดใจไว้ว่า “ดูเหมือนน้ำตาลจะเป็นสสารเพียงอย่างเดียวที่กินพื้นที่เพาะปลูกของโลกมากขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เป็นสสารที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติน้อยที่สุด”

Boys Pilfering Molasses On The Quays โดย George Henry Hall ปี 1853

เนื่องจากน้ำตาลมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตในสังคมยุคใหม่และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีการปลูกอ้อยกันอย่างแพร่หลาย เดอะอีสานเรคคอร์ด จึงขอนำเสนอบทความสุดพิเศษว่าด้วย ความหวานและอำนาจ เราขอเริ่มบทความชุดนี้ด้วยผลงานวิจัยเบื้องต้น 3 เรื่อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพกว้างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเติบโต การแพร่หลายของน้ำตาล ผลกระทบที่มีต่อสภาพแวดล้อมของโลกและผลกระทบของน้ำตาลทรายขาวต่ออาหารการกินทั่วโลก

ต่อจากนั้นเราจะนำเสนอชุดสารคดี บทความ งานวิจัย และความคิดเห็นที่สำรวจตรวจค้นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างความหวานกับอำนาจ และดูว่า “น้ำตาล” มีอิทธิพลต่อนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทยและมีผลกระทบต่อชีวิตของคนทางภาคอีสานนับแสนๆ คนที่ปลูกอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาลอย่างไร

เราตั้งชื่อบทความชุดพิเศษตามหนังสือที่เขียนโดย ซิดนีย์ มินท์ซ เรื่อง “ความหวานและอำนาจ: บทบาทของน้ำตาลในประวัติศาสตร์สมัยใหม่” Sweetness and Power: The Place of Sugar in Modern History (New York, NY: Viking, 1985) มินท์ซกล่าวว่า “น้ำตาลเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางประชากรขนานใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก” ก็เพราะน้ำตาลนี่เองที่ทำให้ “ชาวแอฟริกาที่ถูกบังคับให้เป็นทาสหลายล้านชีวิตเดินทางมาถึงทวีปอเมริกา” และน้ำตาลก็ได้สร้างสามเหลี่ยมทางการค้าที่กระตุ้นให้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเปลี่ยนนิสัยการกินของคนบนโลกใบนี้ไปอย่างไม่มีวันหวนคืน

ตอนที่หนึ่ง: โลกแห่งความหวาน

เมื่อปี 2018/19 ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตทั่วโลกมีประมาณ 179 ล้านเมตริกตัน มากพอกับการบริโภคของทุกคนบนโลกทั้งปี ด้วยปริมาณ 23.7 กิโลกรัมต่อคนหรือประมาณ 15.50 ช้อนชาต่อวัน เมื่อคุณเพิ่มน้ำตาลลงไปในกาแฟสัก 1 ช้อนชา พึงรู้ไว้ว่า นั่นเป็นเพียง 1 ใน 5,648 ช้อนชาของปริมาณน้ำตาลที่แบ่งให้คุณต่อปี

ปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่บนโลกในปีนี้มีมากพอที่จะให้ประชากรนำไปเติมในกาแฟได้ 43 ล้านล้านช้อนชาและโชคดีที่ปีนี้ปริมาณการบริโภคน้ำตาลทั่วโลกมีน้อยกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย ดังนั้นคุณก็เลยบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ยแค่ 15 ช้อนชา ซึ่งช่วยให้คุณลดปริมาณแคลอรี่ลงได้ครึ่งช้อนชา

ทุกครั้งที่คุณเติมน้ำตาลลงไปในกาแฟสักช้อนในครั้งถัดไป พึงระลึกไว้เสมอว่า เจ้าผลึกน้ำตาลเม็ดสีขาวเหล่านี้มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการปฏิวัติประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

เพราะเจ้าผลึกน้ำตาลเม็ดเล็กๆ พวกนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สารให้ความหวานเท่านั้นเม็ดน้ำตาลทรายสีขาวที่ว่าได้เปลี่ยนหน้าตาของโลกใบนี้ไปแล้ว แถมยังมีส่วนทำให้ประชากรจากทวีปแอฟริกานับล้านๆ คนถูกบังคับให้อพยพถิ่นฐานไปยังทวีปอเมริกา นอกจากนี้น้ำตาลยังเป็นปัจจัยทำให้รัฐบาลมีทรัพย์สินมากมาย (และกลายเป็นสินค้าที่ควรค่าต่อการลักลอบนำเข้ามาขาย) และช่วยพัฒนากระบวนการทางเทคนิคที่จำเป็นต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรม ปลุกมวลชนแรงงานให้ตื่นตอนเช้าด้วยกาแฟผสมน้ำตาลรสหวานและหลับใหลในยามค่ำคืนด้วยรสของเหล้ารัมอันหอมหวาน น้ำตาลจึงไม่ได้เป็นแค่สินค้าที่ทำกำไรได้มากที่สุดของโลกในวันนี้เท่านั้น แต่น้ำตาลยังกลายเป็นสิ่งที่ทำให้นิยามความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่เรารับประทานกับร่างกายของเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

น้ำตาล: อาหารเสมือนจริง

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับน้ำตาลที่เติมลงไปในอาหารก็คือ หากมองในทางชีวภาพแล้วนั้น น้ำตาลที่เติมลงไปถือว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต่อร่างกายมนุษย์เลย เพราะปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายของคนเราต้องการ เราสามารถรับจากน้ำตาลที่อยู่ในผลไม้ พืชผัก และอาหารจากธรรมชาติต่างๆ โดยไม่มีความจำเป็นต้องเติมหรือเพิ่มเข้ามา

น้ำตาลได้เปลี่ยนสถานะจากการเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งเป็นส่วนผสมของอาหารและกลายไปเป็นอาหารในตัวมันเอง อย่างน้อยก็กึ่งๆ อาหารประเภทหนึ่ง 

คำกล่าวที่ว่า “แคลอรี่ที่ว่างเปล่า” หรือ “คาร์โบไฮเดรตที่ว่างเปล่า” ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 เพื่อใช้อธิบายอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ คำกล่าวนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายจนกระทั่งปี 1970 ซึ่งเป็นปีที่พบว่า มีการนำน้ำตาลมาเป็นส่วนประกอบในอาหารการกินของมนุษย์เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในหนังสือที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับอาหารและสุขภาพเมื่อปี 1971  ผู้เขียนเองก็ดูจะกล่าวถึงปัญหาของการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป โดยเขากล่าวไว้ว่า “ดูเหมือนว่า เราจะพากันบริโภค‘คาร์โบไฮเดรตที่ว่างเปล่า’ มากเกินไปเสียหน่อย เรากำลังละเว้นอาหารที่มีคุณค่าของคาร์โบไฮเดรต (เช่น ผักและผลไม้)” กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ หรือ USDA เองก็ออกมาเตือนเรื่อง “คาร์โบไฮเดรตที่ว่างเปล่า” ค่อนข้างช้าเกินไปด้วย โดยเพิ่งออกมาพูดถึงเมื่อปี 2014 นี้เองว่า อาหารที่ได้รับความนิยมในสหรัฐฯ ในปัจจุบัน เช่น เค้ก คุกกี้ โดนัท น้ำอัดลม ชีส พิซซ่าและไอศกรีมนั้น บางครั้งก็เป็นอาหารที่มีไขมันแข็งและน้ำตาลเป็นส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีคุณค่าทางสารอาหารค่อนข้างน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “การรับประทาน ‘คาร์โบไฮเดรตที่ว่างเปล่า’ เพียงเล็กน้อยก็พอรับได้ แต่คนส่วนใหญ่มักจะกินเกินปริมาณที่ถือว่า ดีต่อสุขภาพ”

อาหารประเภทที่เรียกว่าเป็น “อาหารแคลอรี่ที่ว่างเปล่า” นั้น ถือว่าไม่ใช่ “อาหาร” อย่างน้อยก็ไม่ใช่อาหารในความหมายที่เราเข้าใจ เนื่องจากอาหารประเภทนี้ไม่มีสารอาหาร แร่ธาตุ หรือวิตามิน ยิ่งน้ำตาลผ่านการแปรรูปมามากเท่าใด สารอาหารของมันก็ยิ่งว่างเปล่ามากขึ้นเท่านั้น

ประวัติศาสตร์อันหวานอมขมกลืนของน้ำตาลในโลกยุคสมัยใหม่

กระทั่งเมื่อไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมานี้เองที่ความหวาน ซึ่งเป็นความรู้สึกของรสอร่อยและทำให้มัวเมา ทั้งที่ในอดีตของหวานน่าทานสุดพิเศษอยู่ในรูปแบบผลไม้หรือน้ำผึ้ง ที่ผู้คนสรรหามารับประทานได้ตามฤดูกาล

ขณะที่ตำราทางศาสนาก็ให้ความพิเศษแก่น้ำผึ้ง ในฐานะที่เป็นผลผลิตแสนมหัศจรรย์ที่ผึ้งได้มอบให้แก่ระบบนิเวศ มวลมนุษย์ และหมู่มวลผึ้งด้วยกันเอง ทั้งคัมภีร์ศาสนาพุทธและอิสลาม ต่างก็กล่าวถึงน้ำผึ้งว่า เป็นยารักษาโรคชั้นดีและในคัมภีร์ไบเบิ้ลเองก็ได้กล่าวถึงน้ำผึ้งมากถึง 62 ครั้ง โดยมากมักกล่าวถึงช่วงเวลาในอนาคตที่เต็มไปด้วยความหวังและความมีโชคใน “ดินแดนที่มีน้ำนมและน้ำผึ้ง”

ตามประวัติศาสตร์แล้ว อ้อยอาจจะปลูกเป็นครั้งแรกในประเทศปาปัวนิวกินีราว 8,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งตอนนั้นอ้อยถูกนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงหมู และชาวอินเดียเป็นชนกลุ่มแรกที่คิดค้นกระบวนการผลิตอ้อยให้กลายเป็นน้ำตาลเม็ดเล็กๆ ขึ้นมา ต่อมาราว 2,500 ปีที่แล้ว เมื่อจักรพรรดิเปอร์เซียเข้ายึดครองส่วนหนึ่งที่เป็นประเทศอินเดียในปัจจุบัน ก็ได้กล่าวเมื่อเจออ้อยว่าเป็น “ต้นกกซึ่งให้น้ำผึ้งโดยปราศจากตัวผึ้ง”

ผู้คนสมัยก่อนรู้จักอ้อย แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงอ้อยในอารยธรรมโลกอย่างกว้างขวางจนกระทั่งปี 1000 อย่างไรก็แล้วตามที่มินท์ซเขียนบรรยายไว้ว่า น้ำตาลถือว่า “มีลักษณะของความเป็นอาหารที่สำคัญที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเป็นอาหารที่นำมาปลุกปั้น นำมาเขียนถึง มาชื่นชม และนำมาอ่านได้ ก่อนที่จะถูกกินเข้าไป” ชาวเปอร์เซียคนหนึ่งที่เดินทางในประเทศอียิปต์ช่วงปี 1040 บันทึกไว้ว่า สุลต่านแห่งอียิปต์ใช้น้ำตาล 73,000 กิโลกรัม มาสร้าง “ต้นไม้ที่ทำจากน้ำตาลทั้งต้น” กาหลิบ (ผู้ครองนครรัฐอิสลาม) ในศตวรรษที่ 14 ก็เคยสั่งให้นำน้ำตาลมาสร้างมัสยิดเพื่อเฉลิมฉลองและเมื่องานเทศกาลดังกล่าวสิ้นสุดลง เหล่าขอทานก็ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเก็บกินน้ำตาลรสหวานนั้นด้วย

แม้สงครามครูเสดจะไม่สามารถ “ทวงคืน” ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์กลับคืนมา แต่ทว่าสงครามก็ทำให้มีการนำอ้อยกลับมายังสถานที่ซึ่งเคยเพาะปลูกในดินแดนติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเวลาหลายศตวรรษ ในหนังสือชื่อ Ecological Imperialism (การครอบครองทางระบบนิเวศ) ของ อัลเฟรด ครอสบี้ ได้อธิบายถึงความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีการเดินเรือของชาวโปรตุเกสที่ช่วยนำพวกเขาไปยังหมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติก อย่างเกาะมาเดรา ซึ่งค้นพบอ้อยครั้งแรกที่นี่อมา เมื่อปี 1455 นวัตกรรมโรงสีที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำ ซึ่งเป็นความรู้ที่ได้จากเหล่าที่ปรึกษาชาวซิซิลี บวกกับเงินทุนจากเมืองจีนัวก็ได้ทำให้ผลการผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นเป็น 69,000 กิโลกรัม ขณะเดียวกันฝูงเรือ 70 ลำก็ได้นำน้ำตาลไปส่งยังตลาดเล็กๆ ที่กำลังเติบโตในเมืองแอนต์เวิร์ป ถึงกระนั้นปริมาณน้ำตาลที่มาจากเกาะมาเดราต่อหัวในยุโรป ก็ยังอยู่ที่ประมาณหนึ่งกรัม หรือแค่เศษหนึ่งส่วนสี่ช้อนเท่านั้น

ตอนนั้นการครองครองน้ำตาลมีได้ไม่มากและที่มีอยู่ก็มีราคาสูงเอาการ

ช่วงประมาณปี 1400 แรงงานไร้ฝีมือชาวอังกฤษคนๆหนึ่งจะมีรายได้ราว 4 ปอนด์ต่อปี หรือราว 3 เพนนีต่อวัน สำหรับกรรมกร 4 เพนนี สำหรับแรงงานทอผ้า และ 6 เพนนีสำหรับช่างก่อสร้าง โดยกรรมกรหนึ่งคนจะต้องทำงานทั้งวันจึงจะมีเงินมากพอที่จะซื้อไวน์คุณภาพต่ำหนึ่งแกลลอนได้ และจะต้องทำงานถึง 2 วัน หากต้องการซื้อห่านหนึ่งตัว ถ้าพวกเขาต้องการกินอะไรหวานๆ แล้วล่ะก็ พวกเขาจะต้องทำงานเกือบทั้งวันเพื่อให้ได้เงินค่าแรงมาซื้อน้ำผึ้งและจะต้องทำงานมากถึง 7 วัน เพื่อให้มีเงินเพียงพอที่จะนำมาซื้อน้ำตาลจำนวน 1 ปอนด์ (ประมาณครึ่งกิโลกรัม) นั่นหมายความว่า มูลค่าของน้ำผึ้งหนัก 62 ปอนด์ (ประมาณ 30 กิโลกรัม) และน้ำตาลหนักเพียง 3½ ปอนด์ (ประมาณเกือบ 2 กิโลกรัม) มีค่าเท่ากับราคาวัว 1 ตัว และเด็กรับใช้ประจำอัศวินหรือพลลาดตระเวนประจำกองทัพในสมัยก่อนก็จะต้องทำงานถึง 2 วัน จึงจะมีเงินมากพอที่จะซื้อน้ำตาล 1 ปอนด์ ถ้ามีน้ำตาลมากพอในตอนนั้น ทนายความชั้นนำหนึ่งคนสามารถซื้อน้ำตาลได้ 10 ปอนด์ต่อวัน และคนที่มีศักดิ์เป็นเอิร์ลก็สามารถซื้อหาน้ำตาลได้ 55 ปอนด์​ต่อวัน 

ในยุโรปในขณะนั้นน้ำตาลเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นยาชนิดหนึ่ง นักเขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 คนหนึ่งได้กล่าวถึงน้ำตาลว่าให้ผลดีต่อสุขภาพ แต่ก็ทำให้ “ฟันทู่และผุ” โดยโรคที่รู้จักกันมานานอย่างเบาหวานก็มีสาเหตุเชื่อมโยงกับความหวาน และเมื่อปี 1674 ก็เรียกว่า โรคเบาหวานน้ำผึ้ง  (แม้ว่าผู้เขียนจะเชื่อมโยงอาการว่า มาจากการบริโภคน้ำตาลในปริมาณมาก ไม่ใช่การบริโภคน้ำผึ้ง)

สิ่งที่ทำให้น้ำตาลเปลี่ยนจากการเป็นเครื่องเทศกับยาที่หายากไปสู่การสินค้าโภคภัณฑ์ ก็คือ การนำเข้าอ้อยไปปลูกในทวีปอเมริกา โดยอ้อยนั้นเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเขตร้อน แต่ทว่าผลจากการทำงานหนักอย่างเหี้ยมโหดและไร้ความปราณีก็ทำให้แรงงานที่มาจากยุโรปและชนพื้นเมืองในแคริบเบียนต้องจบชีวิตลงอย่างรวดเร็วต่อมาในปี 1518 กษัตริย์สเปนจึงได้มีคำสั่งอนุมัติให้มีการขนทาสจากทวีปแอฟริกา ไปทำงานในไร่อ้อยในทวีปอเมริกา โดยในปี 1550 นั้นมีการตั้งโรงงานน้ำตาลในทวีปอเมริกามากถึง 3,000 แห่ง การค้าแรงงานทาสประมาณร้อยละ 19 จากแอฟริกาไปยังทวีปอเมริกาเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 

แม้จะล่วงเลยมาถึงปี 1700 แต่การบริโภคน้ำตาลของชาวอังกฤษต่อคนต่อปีก็ยังอยู่ที่ไม่เกิน 1.814 กิโลกรัม หรือคิดเป็นต่อคนต่อวันในปริมาณที่มากกว่าหนึ่งช้อนชาเพียงนิดเดียวเท่านั้น ความหวานจึงถูกนับคำนวณเป็นหยดๆ หรือเม็ดเล็กๆ เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะต้องบริโภคแต่น้อย เป็นเครื่องเทศที่มีค่าและเป็นเครื่องปรุงที่หายาก ยกเว้นสำหรับคนที่มั่งมี แต่สำหรับคนทั่วไปแล้วล่ะก็ การกินรังผึ้งแม้ว่าจะไม่บ่อยนัก แต่ก็เป็นของหวานที่พิเศษมากทีเดียว

การผลิตน้ำตาลหรือน้ำตาลซูโครสนั้นมีการผลิตในรูปของกากน้ำตาล น้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลทรายขาว แม้ว่าน้ำตาลชนิดหลังจะถูกบรรจุในรูปแบบ “ก้อนน้ำตาล” เป็นเวลานับศตวรรษ โดยต้องใช้ขวานหรือเครื่องมือพิเศษทำให้แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยก่อนรับประทาน

จนกระทั่งศตวรรษที่ 18 น้ำตาลก็ได้เปลี่ยนจากเครื่องสำแดงอำนาจเป็นสิ่งที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เครื่องยนต์พลังน้ำที่เพิ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาก็ถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการสกัดน้ำตาล ในขณะเดียวกันความต้องการแรงงานทาสเพื่อมาทำหน้าที่ขนอ้อยเข้าไปยังโรงงานน้ำตาลก็เพิ่มมากขึ้น มากกว่าครึ่งหนึ่งของการค้าทาสจากทวีปแอริกาไปยังทวีปอเมริกาเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษนี้ โดยจำนวนทาสกว่าร้อยละ 90 ถูกลำเลียงขนมาด้วยเรือสัญชาติอังกฤษ โปรตุเกส และฝรั่งเศส

มินท์ซเขียนไว้ว่า แม้ว่าปริมาณของน้ำตาลจะมีเพิ่มมากขึ้น “แต่เครื่องหมายแห่งอำนาจของมันกลับค่อยๆ ลดน้อยถอยลง ในขณะที่ศักยภาพของความเป็นสินค้าสร้างกำไรกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ” และขณะนี้ “การผลิต การขนส่ง การฟอกสีและการเก็บภาษีน้ำตาลก็ได้กลายเป็นขุมพลังแห่งอำนาจอันทรงประสิทธิภาพของกลุ่มคนมีอำนาจ”

เมื่อกาแฟ ชา และโกโก้ ซึ่งเป็นของน่ายลจากเขตร้อน ถูกนำเข้ามายังประเทศอังกฤษในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 สินค้ารสแสนขมเหล่านี้ก็ถูกทำให้มีรสหวานด้วยน้ำตาลที่ส่งมาจากทวีปอเมริกา

น้ำตาลจึงก่อให้เกิดสามเหลี่ยมทางการค้า 2 รูปแบบขึ้นมา นั่นคือ สินค้าอุตสาหกรรมถูกส่งไปขายให้กับแอฟริกาเพื่อแลกกับแรงงานทาสที่มาทำงานในไร่อ้อยในทวีปอเมริกา ที่ผลิตน้ำตาลส่งกลับไปยังประเทศอังกฤษเพื่อสนองความต้องการแคลอรี่ที่ว่างเปล่าเปี่ยมด้วยพลังงานและมีรสหวานที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ในทางกลับกันก็เป็นสิ่งช่วยกระตุ้นให้คนงานในโรงงานผลิตสินค้าได้มากขึ้น ส่วนอีกรูปแบบ คือ การนำน้ำตาลจากแคริบเบียนส่งไปยังอาณานิคมของอังกฤษในทวีปอเมริกา ซึ่งแปรรูปกากน้ำตาลให้กลายเป็นเหล้ารัมหอมหวาน ก่อนที่จะถูกส่งออกพร้อมกับยาสูบกลับไปยังเกาะอังกฤษ สามเหลี่ยมการค้าทั้ง 2 รูปแบบนี้ได้สร้างผลกำไรอย่างมหาศาลให้กับเจ้าของไร่อ้อย นักการเงิน ผู้ขนส่งสินค้าและนักอุตสาหกรรมเจ้าของโรงงาน ทำให้รัฐบาลอังกฤษเก็บภาษีจากธุรกรรมการค้าในทุกรูปแบบได้มากมายมหาศาล 

น้ำตาลเป็นตัวกระตุ้นให้การค้าของอังกฤษเติบโตขึ้นอย่างบ้าคลั่ง ธีโอ บาร์เกอร์ ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Megalopolis: The Giant City in History ให้ข้อสังเกตว่า “น้ำตาลจากหมู่เกาะเวสต์อินดีกลายเป็นสินค้านำเข้าสำคัญของเมืองลิเวอร์พูล” และน้ำตาลกว่า 18,850 ตัน ที่ผ่านเข้ามายังท่าเรือกรุงลอนดอนอังกฤษได้ถูกขนย้ายไปยัง “เมืองอื่นๆ” 

รัฐบาลอังกฤษก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน ภาษีจากน้ำตาลที่เก็บได้ในปี 1781 มีมูลค่า 326,000 ปอนด์ ในปี 1815 มูลค่าภาษีที่จัดเก็บมีเพิ่มมากขึ้นเป็น 9 เท่า หรือเท่ากับ 3,000,000 ปอนด์

น้ำตาลราคาถูกที่ไหลทะลักเข้ามายังเกาะอังกฤษ ส่งผลทำให้น้ำผึ้ง ซึ่งดิ้นรนต่อสู้กับน้ำตาลมานานหลายศตวรรษเพื่อชิงชัยฐานะสารให้ความหวานอันดับหนึ่งของประเทศ จำต้องพบกับความพ่ายแพ้ในที่สุด เมื่อปี 1250 น้ำตาลมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้งประมาณ 50 เท่าต่อมาเมื่อปี 1800 น้ำผึ้งมีราคาถูกกว่าน้ำตาลแค่ร้อยละ 40 และเมื่อปี 1850 น้ำผึ้งกลับมีราคาแพงมากเกินไป ซึ่งมีราคาแพงกว่าน้ำตาลอยู่เกือบ 4 ราวสี่เท่า

ตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมา การบริโภคน้ำตาลในอังกฤษต่อประชากรหนึ่งคนเพิ่มขึ้นเกือบ 25 เท่า โดยเพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งช้อนชาเล็กน้อยเมื่อปี 1700 และเพิ่มขึ้น 5.32 ช้อนชาเมื่อปี 1800 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 26.6 ช้อนชาเมื่อปี 1900 และเพื่อความสะดวกในการบริโภคน้ำตาล น้ำตาลก้อนในรูปแบบก้อนสี่เหลี่ยมที่ห่อแยกเป็นก้อนๆ ก็ถูกนำมาใช้ในกรุงปารีสเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1908

อำนาจของน้ำตาลและประโยชน์จากความหวาน

น้ำตาลได้แทนที่น้ำผึ้งในฐานะสารให้ความหวานด้วยราคาที่ถูกกว่า โดยเฉลี่ยแล้วชาวอเมริกันบริโภคน้ำตาลประมาณ 30 ช้อนชาต่อวันและบริโภคน้ำผึ้งเพียงครึ่งช้อนชาต่อวัน ขณะที่น้ำผึ้งที่ผลิตได้ทั่วโลกเมื่อปี 2017 อยู่ที่ 1.86 ล้านตัน เมื่อคำนวณกับราคาของน้ำผึ้งต่อกิโลกรัมในปัจจุบันแล้วพบว่า มูลค่าของน้ำผึ้งรวมทั้งหมดจะมีมูลค่า 6.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกันผลการผลิตน้ำตาลเมื่อปี 2017-2018 อยู่ที่ 194,496,000 ตัน หากคำนวณกับราคาน้ำตาลทรายขาวปัจจุบันผลการผลิตน้ำตาลจะมีมูลค่าอยู่ที่ 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาน้ำผึ้งระหว่างประเทศต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 3.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่า แพงกว่าราคาน้ำตาลต่อกิโลกรัมถึง 12 เท่า ส่วนน้ำตาลมีราคาแค่ 0.283 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

จากสถิติขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติในปี 2017 พบว่า พื้นที่ทางการเกษตรทั่วโลกเกือบร้อยละ 60 เป็นพื้นที่เพาะปลูกธัญพืช ข้าว และถั่วเหลือง โดยพื้นที่เพาะปลูกผลไม้มีเพียงร้อยละ 2.6 ผลไม้ที่ปลูก เช่น แอปเปิ้ล (ร้อยละ 0.44) ส้มและส้มเขียวหวาน (ร้อยละ 0.54) มะม่วง มังคุด และฝรั่ง (ร้อยละ 0.39) องุ่น (ร้อยละ 0.55) และมะกอก (ร้อยละ 0.67) และพื้นที่อีกร้อยละ 2.02 ใช้ปลูกพืชประเภทถั่ว เช่น ถั่วลิสง

น้ำตาล (น้ำตาลซูโครส) ส่วนใหญ่มาจากอ้อย (ร้อยละ 84) และหัวบีท (ร้อยละ 16) อ้อยใช้พื้นที่เพาะปลูกั่วโลกร้อยละ 1.71 หรือคิดเป็น 274,709 ตารางกิโลเมตร ขณะที่หัวบีทใช้พื้นที่ปลูกเพียง 50,680 ตารางกิโลเมตร เมื่อรวมกันแล้วเท่ากับ 325,389 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 2.02 ของพื้นที่เกษตรกรรม

จำนวนพื้นที่เพาะปลูกข้างต้นอาจจะดูไม่มากนัก  แต่ก็เท่ากับการปลูกน้ำตาลบนพื้นที่ทุกตารางนิ้วของเกาะอังกฤษรวมกันกับเกาะไต้หวันและยังเท่ากับพื้นที่ปลูกผลผลิตผักสำคัญๆ ของโลก ได้แก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี แครอท กะหล่ำดอก แตงกวา มะเขือ ต้นหอม ผักกาดหอม หัวหอม หอมแดง ผักโขม ถั่วฝักยาวและถั่วเขียว และมะเขือเทศ รวมไปถึงพื้นที่การปลูกเบอรี่เชิงพาณิชย์ (บลูเบอรี่ แครนเบอรี่ กูสเบอรี่ ราสเบอรี่ และสตรอเบอรี่)

จากรายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลก พบว่า การปลูกอ้อยในปี 2015 ในหลายๆ ประเทศนั้น มีการใช้พื้นที่อย่างน้อยเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่การเพาะปลูกทั้งหมด โดยรัฐบาลและบริษัทน้ำตาลต่างกำลังวางแผนขยายการเพาะปลูกอ้อยให้เยอะขึ้น

เห็นได้ชัดว่า มีบางคนกำลังสร้างรายได้อย่างมหาศาลเพื่อป้อนความปรารถนาที่จะบริโภคน้ำตาลให้กับผู้คน

นอกจากธัญพืชและข้าวแล้ว อ้อยถือเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก อ้อยยังมีมวลชีวภาพเยอะที่สุดกว่าพืชการเกษตรทุกชนิด

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลสถิติที่บอกได้ว่า บนโลกใบนี้มีผู้ปลูกอ้อยอยู่กี่คน ข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐบาลอินเดียนระบุว่า อ้อย “ทำให้มีการจ้างงานแก่ประชากรทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่าหนึ่งล้านคน” ที่อยู่ในประเทศ อ้อยยัง “มีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้จากการเก็บภาษีให้แก่ประเทศ” ด้วยเช่นกัน และน้ำตาลจากอ้อยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศคิวบา

รายงานวิจัยฉบับหนึ่งกล่าวว่า เมื่อปี 2008 การปลูกอ้อยในประเทศบราซิลสร้างรายได้โดยตรงถึง 28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของบราซิล แต่เมื่อ​ “พิจารณายอดการขายที่เป็นส่วนประกอบของระบบการผลิตอุตสาหกรรมอ้อยทั้งหมด” พบว่า มียอดมูลค่าที่แท้จริงมากถึง 87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และระบบการผลิตยังก่อให้เกิดรายได้จากการขายยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงกว่า 478 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากการขายปุ๋ยมากถึง 2.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

นอกจากรัฐบาลและบริษัทต่างๆ ที่ได้กำไรจากการผลิตอ้อยแล้วยังมีเกษตรกรรายย่อยอีกนับล้านคนทั่วโลกที่มีรายได้จากการผลิต เพื่อป้อนให้กับโรงงานผลิตน้ำตาล

 

ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุด 5 ราย ยังเป็นประเทศที่บริโภคน้ำตาลมากที่สุดอีกด้วย ซึ่งรวมกันแล้วมีการบริโภคน้ำตาลมากถึงร้อยละ 48 ของปริมาณการบริโภคน้ำตาลทั้งหมดทั่วโลก และมีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่ครองการส่งออกน้ำตาลได้มากกว่า 2 ใน 3 ของการส่งออกทั่วโลก

จากปริมาณน้ำตาลที่ผลิตทั่วโลกเมื่อปี 2018 มีการส่งออกร้อยละ 31.5 และมีการนำเข้าร้อยละ 28.5 โดย 8 ประเทศที่นำเข้าน้ำตาลรวมกันร้อยละ 44.6 ได้แก่ อินโดนีเซีย (ร้อยละ 9.5) อัลจีเรีย (ร้อยละ 4.7) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ร้อยละ 4.3) มาเลเซีย (ร้อยละ 4.1) และเกาหลีใต้ (ร้อยละ 3.9) และอีก 2 ประเทศที่เป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุด คือ จีน (ร้อยละ 8.4) และสหรัฐฯ (ร้อยละ 5.1)

ในตอนแรกของชุดบทความเรื่องความหวานและอำนาจนี้ เดอะอีสานเรคคอร์ด ได้ไล่เรียงการเติบโตขึ้นของน้ำตาลในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นเชื่อมโยงความโปรดปรานที่มนุษย์มีต่อความหวานเข้ากับทาส ลัทธิล่าอาณานิคม ผลกำไรอันมหาศาล รายได้ที่สำคัญของรัฐบาลและการขยายการเพาะปลูกพืชที่อยู่ในวงศ์ตระกูลเดียวกันกับหญ้าที่เติบโตได้ดีในเขตร้อนไปทั่วโลก

ในตอนที่สองบทความชุดนี้ เราจะสำรวจตรวจสอบผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เกิดจากการปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล รวมถึงความเป็นเครื่องเทศที่กลายมาเป็นอาหาร

ข้อมูลเพิ่มเติมโดย เทรีซา มอนทาเนโร นักศึกษาสาขามานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และ ชาร์ลี วอลล์ นักศึกษาสาขาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอมเฮิร์สต์ คอลเลจ โดยทั้งสองคนเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มาศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาและประเด็นสิทธิมนุษยชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในภาคการศึกษาปลาย (ฤดูใบไม้ผลิ) ปี 2019

Read this story in English:

ความหวานและอำนาจ (1) – โลกของความหวาน

image_pdfimage_print