บทความพิเศษชุด: ความหวานและอำนาจ
ในตอนแรกของบทความพิเศษชุด ความหวานและอำนาจ ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์การเติบโตของน้ำตาล ซึ่งครั้งหนึ่งน้ำตาลเคยถูกขนานนามว่า เป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่ง แต่ในภายหลังได้ทำให้มนุษย์ลุ่มหลงจนเปลี่ยนมันกลายเป็นอาหาร
ในตอนที่ 2 นี้จะพูดถึงภาพรวมของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปลูกอ้อยและการผลิตน้ำตาลทั่วโลก รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมว่า คุ้มค่าต่อการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งสสารประเภทหนึ่งที่ไม่ได้ให้คุณค่าทางรอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์หรือไม่
ภาพโดย srv007 / CC BY-NC 2.0
ตอนสอง: ผลกระทบอันขมขื่นจากอ้อยต่อสิ่งแวดล้อมและตัวเรา
เหตุไฟไหม้ป่าในบราซิลที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ได้ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจถึงความสำคัญของผืนป่าดิบชื้นแอมะซอนที่มีบทบาทต่อการลดภาวะโลกร้อน แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา การทำลายป่าจะชะลอตัวลง แต่มีคนกล่าวหาผู้นำบราซิลว่า ใช้วาทศิลป์กล่าวกระตุ้นหนุนเสริมให้กลุ่มคนตัดไม้ คนเลี้ยงสัตว์และเกษตรกรพาแผ้วถางป่าเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชพันธ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อ้อย”
บราซิลเป็นประเทศที่ผลิตอ้อยมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกและยังเป็นประเทศผู้ส่งออกอ้อยมากที่สุดของโลกด้วย
วิธีการเผาไร่อ้อยก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นวิธีดั้งเดิมที่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทั่วทั้งประเทศบราซิล (และทั่วโลก) มักนำมาใช้ วิธีดังกล่าวได้กลายเป็นสาเหตุแห่งความกังวล ช่วงกลางทศวรรษ 2000 เขม่าควันไฟจากการจุดเผาได้กลายเป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุขภาพของมนุษย์
การขยายตัวอย่างรวดเร็วของพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วโลกได้ทำให้ผู้คนหันมาสนใจต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้น เมื่อปี 2008 มีการก่อตั้งองค์กรบอนซูโคร ขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund) เพื่อส่งเสริมเรื่องการปลูกอ้อยอย่างยั่งยืนในหมู่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการปลูกอ้อย
บอนซูโครเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างผู้ผลิตน้ำตาล เจ้าของโรงงานน้ำตาล ผู้ค้าน้ำตาล “ผู้บริโภคปลายทาง” องค์กรภาคประชาสังคม สมาคมเกษตรกร แม้กระทั่งเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเองด้วย สมาชิกขององค์กรบอนซูโคร ที่อยู่ในสหรัฐฯ ที่เป็นผู้บริโภคปลายทาง ได้แก่ โคคา-โคล่า เป๊ปซี่โค เฮอร์ชีย์ส และเจนเนอรัลมิลส์
ปัจจุบันบอนซูโครมีสมาชิกที่เป็นสมาคมเกษตรกรทั้งหมด 11 สมาคม อยู่ในประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย โบลิเวีย บราซิล มอริเชียส แอฟริกาใต้ และเอสวาทินิ
(สวาซิแลนด์) องค์กรนี้ยังมีสมาชิกที่เป็นองค์กรภาคประชาสังคม 15 องค์กร หน่วยงานภาคประชาสังคมเป็นสมาชิก เช่น สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย (สอนท.) และสมาชิกที่เป็นบริษัทน้ำตาลอีกหลายร้อยบริษัท เช่น กลุ่มบริษัทเคเอสแอล (KSL Group) และบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มมิตรผล
ภารกิจ ของบอนซูโคร คือ “การทำให้กระบวนการผลิตอ้อยสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้คน ชุมชน ธุรกิจ เศรษฐกิจ และระบบนิเวศในพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด” การจัดการรับรองมาตรฐานการผลิตจึงถูกนำมาใช้เป็นกลไกหนึ่งเพื่อบรรลุภารกิจดังกล่าว
จากรายงานประจำปี 2019 บอนซูโครพบว่า พื้นที่ปลูกอ้อยทั่วโลกร้อยละ 27 “มีการดำเนินการร่วมกัน” กับองค์กรและทางองค์กรเองก็ได้ให้การรับรองมาตรฐานการผลิตน้ำตาลจากอ้อยกว่า 66 ล้านตัน โดยพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วโลกที่ได้ “ผ่านการรับรองตามมาตรฐานของบอนซูโคร” มีทั้งหมดร้อยละ 4
แนวทางนี้ ดูจะมีหวังสำหรับอุตสาหกรรมทางการเกษตรที่กำลังดิ้นรนจัดการปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมของตนเอง
หนึ่งในรายงานการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปลูกอ้อยที่มีความครอบคลุมมากกว่ารายงานฉบับอื่นๆ คือ รายงานที่จัดทำโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลเมื่อปี 2005 โดยรายงานฉบับนี้ได้ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการการผลิตน้ำตาล แต่ในส่วนครึ่งหลังของรายงานฉบับดังกล่าวกลับอุทิศให้กับการค้นหาวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้การผลิตน้ำตาลมีความยั่งยืน (เนื้อหาที่จะกล่าวถึงต่อไป ส่วนมากนำมาจากรายงานฉบับนี้)

การใช้น้ำ: การปลูกอ้อยจำเป็นต้องใช้น้ำค่อนข้างมาก ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า ในจำนวนพืชไร่ 36 ชนิด อ้อยเป็นพืชที่ใช้เวลาในการเติบโตยาวนานที่สุด คือ 270-365 วัน มากพอ ๆ กับถั่วอัลฟัลฟ่ากับกล้วย ในจำนวนพืชตามฤดูกาล 21 ชนิด ที่ FAO ได้ประเมินการใช้น้ำในการปลูกไว้พบว่า อ้อยใช้ปริมาณน้ำราว 2,000 มิลลิเมตร/6 ไร่/ระยะเวลาการเจริญเติบโต ซึ่งปริมาณการใช้น้ำใกล้เคียงกับการปลูกกล้วย ส่วนกล้วยจะต้องใช้น้ำประมาณ 1,700 มิลลิเมตร/6 ไร่/ระยะเวลาการเจริญเติบโต อ้อยจึงเป็นพืชที่จำเป็นต้องใช้น้ำมากกว่าพืชในกลุ่มส้มถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับการใช้น้ำในการปลูกข้าว มะเขือเทศ หรือหัวบีทถือว่า มากกว่าถึง 3 เท่า
การผลิตน้ำตาลทรายขาว 1 กิโลกรัมจึงจำเป็นต้องใช้น้ำราว 1,775 ลิตร สำหรับการบริโภคโดยเฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 23 กิโลกรัมนั้น ปริมาณน้ำที่ต้องนำมาใช้ในการผลิตน้ำตาลจะอยู่ที่ประมาณ 40,848 ลิตร หรือประมาณ 7.1 ลิตร ต่อปริมาณน้ำตาลที่กินเข้าไป 1 ช้อนชา (ดัดแปลงจากข้อมูลของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล)
เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่หยั่งรากลึกลงไปในดินตลอดทั้งปี ทำให้อ้อยจะต้องแย่งน้ำจากพืชชนิดอื่นที่ปลูกอยู่ใกล้ๆ อ้อยจะดูดน้ำจากใต้ดินขึ้นมาและแย่งน้ำฝนที่ตกลงมาซึ่งอาจทำให้แม่น้ำมีปริมาณน้ำน้อยลง
ระบบการใช้น้ำที่ขาดประสิทธิภาพ: เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวย พวกเขาจึงจัดหาหรือติดตั้งระบบที่ให้น้ำมีความแม่นยำต่อการการปลูกอ้อยไม่ได้ เกษตรกรส่วนใหญ่จึงใช้ประโยชน์จากน้ำที่ทดได้เพียงร้อยละ 30-35 ส่วนที่เหลือจะระเหยหรือไหลทิ้งไป

คุณภาพดิน: จากข้อมูลการสำรวจคุณภาพดินในประเทศปาปัวนิวกินี ระหว่างปี 1979-1996 พบว่า คุณภาพดินของพื้นที่ปลูกอ้อยเสื่อมโทรมลงราวร้อยละ 40
ระดับความเค็มของดินเพิ่มขึ้น: เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่จำเป็นต้องใช้น้ำอย่างมาก การปลูกอ้อยในประเทศปากีสถานได้ทำให้ระดับความเค็มของดินเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศราวร้อยละ 40 มีผลผลิตลดลงกว่าผลผลิตที่ได้จากพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่ได้เผชิญปัญหาสภาพดินเค็มถึงร้อยละ 50
การพังทลายของดิน: ผลจากการจัดการรักษาคุณภาพของดินในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่ไม่ดีเกิดขึ้นในเมืองควาซูลู นาตัล ประเทศแอฟริกาใต้ ได้ทำให้หน้าดินพังทลายและมีการไหลบ่าของดินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พื้นที่บริเวณแม่น้ำและปากแม่น้ำเสื่อมโทรมลง

ผลกระทบต่อมหาสมุทร: ในประเทศออสเตรเลีย ผลจากการตัดสินใจกักเก็บน้ำในปริมาณมากเพื่อใช้สำหรับการปลูกอ้อย ได้กลายเป็นสาเหตุทำให้ปริมาณของสารปนเปื้อนในน้ำจืดที่ไหลลงไปสู่มหาสมุทรมีปริมาณเพิ่มขึ้น เป็นผลให้แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟได้รับผลกระทบ
การพังทลายของที่ลุ่มน้ำในรัฐฟลอริดา: ผลจากการใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสในการปลูกอ้อยในพื้นที่รัฐฟลอริดาในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้ต้นแคทเทล ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งคล้ายต้นอ้อ เติบโตในพื้นที่ชุ่มน้ำแพร่กระจายไปทั่วพื้นที่มากกว่า 500 ตารางกิโลเมตรและกินพื้นที่ ทำให้ไม่มีพื้นที่สำหรับพืชชนิดอื่นและปลาไม่มีที่อยู่อาศัย
การทำลายสภาพแวดล้อมชายฝั่งเดลต้าและเศรษฐกิจ: ในแถบพื้นที่เอเชียกลาง ผลจากการปลูกอ้อย ซึ่งเป็นการเพาะปลูกที่ได้รับประโยชน์จากการสร้างเขื่อนและการจัดการน้ำในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุมากที่สุด เป็นสาเหตุทำให้การผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เดลด้า แห่งแม่น้ำสินธุลดน้อยลงมากถึงร้อยละ 90 ซึ่งทำให้พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณชายฝั่งเดลต้าลดลงร้อยละ 35 และส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าว รวมถึงทำลายวิถีชีวิตผู้คนที่เคยอยู่อาศัยอยู่ที่นั่นกว่า 4 ล้านคนจากทั้งหมดกว่า 5 ล้านคน

การทำลายป่า: ในประเทศบราซิลมีการผลักดันให้นำอ้อยมาใช้ในการผลิตแอลกอฮอล์เชื้อเพลิง ได้ทำให้พื้นที่ป่าในรัฐอาลาโกอัสถูกทำลายไปมากถึงร้อยละ 97 และแนวโน้มดังกล่าวยังเกิดขึ้นในรัฐฟรันกา รัฐอารารากวาร่า รัฐริเบียราโอ และรัฐเซาการ์โลส ส่วนในประเทศอินเดียเองรัฐบาลได้วางแผนที่จะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยในรัฐปัญจาบมากถึงร้อยละ 70 และประเทศไทยรัฐบาลทหารก็มีแผนที่จะเพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อยมากถึงร้อยละ 80 ภายในปี 2026

การใช้สารกำจัดศัตรูพืชและสารกำจัดวัชพืช: ในการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างเข้มข้นนั้น โดยทั่วไปมักจะใช้สารกำจัดศัตรูพืชและสารกำจัดวัชพืชในระดับสูง และการปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลก็มีการใช้สารเคมี “ในระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับการปลูกพืชชนิดอื่น” ผลจากการทดลอง พบว่า การใช้สารกำจัดศัตรูพืชและสารกำจัดวัชพืชในการปลูกหัวบีทในระยะยาวและในปริมาณมากนั้น ส่งผลให้ “การเจริญเติบโตของหัวบีทมีการชะลอตัวและปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ลดลง” ส่วนผลการทดลองในการปลูกอ้อยพบว่า สารกำจัดวัชพืชบางชนิดที่ใช้มีส่วนทำให้ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้จากอ้อยลดลงมากถึงร้อยละ 5
การใช้ปุ๋ยมากเกินไป: การใช้ปุ๋ยในการปลูกอ้อยนั้นไม่ได้แตกต่างจากการใช้ปุ๋ยในการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นๆ และสารอาหารในปุ๋ย “พืชไม่ได้ดูดซึมไปใช้ทั้งหมด” แต่สารอาหารจำนวนมากพวกนี้กลับแพร่กระจายไปตามสิ่งแวดล้อมและชะล้างลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

กากของเสียและน้ำเสียที่ปล่อยออกมาจากโรงงานน้ำตาลและน้ำเสีย: องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ระบุว่า “น้ำเสียที่เป็นมลพิษ คือ ผลกระทบที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปอ้อยและหัวบีท” โรงงานน้ำตาล “ปล่อยของเสียจำนวนมหาศาล” ออกมาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และเนื่องมาจากลักษณะสารอินทรีย์ในกากของเสียที่ปล่อยออกมานั้น “อยู่ในระดับที่เข้มข้น” จึงทำให้ “ระดับออกซิเจน” ในแหล่งน้ำลดลง “ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทางชีวภาพตามธรรมชาติและพันธ์ุสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ” และความบกพร่องของกฎหมายในประเทศนั้นๆ ก็อาจมีส่วนทำให้มลพิษอื่นๆ เช่น “โลหะหนัก น้ำมัน จารบีและสารทำความสะอาด” ปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อม เมื่อระบบการเก็บกักน้ำเสียมีปัญหา ผลกระทบอาจถึงขั้นหายนะ โดยช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ได้เกิดเหตุโรงงานผลิตสุราแห่งหนึ่งปล่อยทิ้งกากน้ำตาลลงในลำน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เจ้ากากน้ำตาลสีเข้มได้ทำให้ปลาตายนับไม่ถ้วน จากนั้นก็ไหลลงสู่ลำน้ำชีและลำน้ำมูล ก่อนที่จะไหลรวมกับแม่น้ำโขง
มลพิษทางอากาศ: ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์และโอโซนในพื้นที่ที่เกษตรกรพากันเผาต้นอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว บางครั้งอยู่ในระดับที่สูงมาก ไม่ได้ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อการเป็นโรคทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ยังทำให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรมไปด้วย เพราะเป็นสารที่ “ทำให้กิจกรรมของจุลินทรีย์ในดินลดลงและลดคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของดิน”
น้ำตาลเป็นอาหารจริงหรือเปล่า
น้ำตาลเป็น “สารอาหารหลัก” ที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์และมีอยู่ตามธรรมชาติในพืชส่วนใหญ่
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างอ้อยกับมนุษย์นั้น เป็นความสัมพันธ์ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร อ้อยเป็นพืชที่กินได้ แต่เมื่อได้รับการแปรรูปอย่างละเอียดจนถึงขั้นสูงสุดแล้ว น้ำตาลที่มาจากอ้อยก็ไม่เหลือคุณค่าทางโภชนาการอะไรเลย เช่น ในรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ อ้อยถือเป็นหนึ่งในพืชที่กินได้และให้คุณค่าทางอาหารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายมนุษย์ในรูปของแร่ธาตุ วิตามิน ไฟเบอร์ หรือคุณค่าทางโภชนาการชนิดอื่น แต่น้ำตาลที่เห็นวางอยู่บนโต๊ะร้านกาแฟและที่บริโภคกันนั้นกลับไม่มีคุณค่าทางสารอาหารใดๆ นอกจากให้พลังงานเพียงอย่างเดียว
การเกษตรในระดับอุตสาหกรรมทุกรูปแบบ ต่างส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงทั้งนั้น แต่การถกเถียงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เรายินยอมให้เกิดขึ้นในระดับที่ดูจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับประเด็นคุณค่าทางสารอาหารที่มนุษย์ได้รับ คือ เราอาจถกเถียงเรื่องรูปแบบการผลิตบางรูปแบบ หากพืชที่เพาะปลูกนั้นเป็นอาหารที่เอามาเลี้ยงชีวิตผู้คนได้น่าจะดีกว่า
หากมองในมุมนี้แล้ว อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลจากอ้อยและหัวบีทจึงแทบจะนำมาถกเถียงอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากน้ำตาลทรายขาว ซึ่งเป็นผลิตผลที่ได้จากกระบวนการผลิตเพื่อให้มนุษย์ได้บริโภค ไม่ได้ให้คุณค่าทางสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เลย หรือที่เรียกว่า “แคลอรี่ที่ว่างเปล่า” ก็เพราะน้ำตาลทรายขาวที่ผ่านการแปรรูปไม่มีคุณค่าทางสารอาหาร กล่าวคือ ไม่มีโปรตีน ไม่มีไขมัน ไม่มีไฟเบอร์ ไม่มีแร่ธาตุ ไม่มีวิตามิน ส่วนกากน้ำตาลและน้ำตาลทรายแดง ทั้ง2 อย่างผ่านการแปรรูปน้อยกว่าน้ำตาลทรายจึงยังพอมีแร่ธาตุที่มีคุณค่าอยู่บ้าง แต่ว่าคุณค่าทางสารอาหารที่น้ำตาลทรายแดงเหล่านี้พอจะมีอยู่น้อยนิดนั้นกำลังถูกปลดเปลื้องออกไป เนื่องจากพบว่า มีผู้ผลิตน้ำตาลบางรายนำเอากากน้ำตาลกลับไปผสมกับน้ำตาลทรายที่ผ่านการฟอกสีขาวแล้ว เพื่อให้น้ำตาลที่ได้มีสีน้ำตาลและเป็นสินค้าทางเลือก “เพื่อสุขภาพ” สร้างกำไรให้แก่ตนเอง
สำหรับน้ำตาลแล้ว ยิ่งถูกแปรรูปและยิ่งมีสีขาว “บริสุทธิ์” มากเท่าไร คุณค่าทางสารอาหารก็ยิ่งมีน้อยลงเท่านั้น เช่นเดียวกับคุณค่าทางสารอาหารที่อยู่ในขนมปังแผ่นสีขาวที่ถูกฟอกออกไปจนเกือบหมด ดังนั้นน้ำตาลจึงเป็นตัวอย่างสารอาหารที่มีแคลอรี่ที่ว่างเปล่าที่สุด
เมื่อเปรียบเทียบน้ำตาลที่ผลิตมาจากอ้อยและน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง (หรือน้ำเชื่อมฟรุคโตสเข้มข้นสูงที่ได้จากข้าวโพด ซึ่งเป็นสารให้ความหวานที่เติมลงไปในอาหารแปรรูปต่างๆ) กับแหล่งความหวานดั้งเดิมและทั่วไปแล้วพบว่า กากน้ำตาล น้ำผึ้งและน้ำเชื่อมจากต้นเมเปิ้ลมีความแตกต่างจากน้ำตาลและน้ำเชื่อมข้าวโพด เนื่องจากมีไขมันน้อยกว่า กากน้ำตาลมีแคลเซียม เหล็ก โพแทสเซียมและน้ำตาลทรายแดงมีสารอาหารเหล่านี้เช่นกัน แต่มีเพียง 1 ใน 3 ของน้ำผึ้ง ซึ่งแตกต่างจากแหล่งเติมความหวานประเภทอื่นที่มีโปรตีน ไฟเบอร์ และวิตามินซี บางคนกล่าวว่า น้ำผึ้งมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์และแบคทีเรียด้วย

ถือเป็นเรื่องที่ชวนตั้งคำถามว่า น้ำตาลทรายขาว (หรือน้ำเชื่อมฟรุคโตสเข้มข้นสูงที่ได้จากข้าวโพด) ควรได้รับการพิจารณาว่า เป็นอาหารอย่างหนึ่งหรือไม่ ประเด็นนี้ชัดเจน เพราะเมื่อเปรียบเทียบน้ำตาลกับอาหารจริงๆ แล้วจะเห็นว่า กระบวนการผลิตอาหาร คือ สิ่งที่นำมาอ้างได้ว่าสิ่งนั้นเป็นอาหารจริงๆ แม้ว่า กระบวนการผลิตจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ตาม
เช่นเดียวกับกิจกรรมทางการเกษตรอื่น ๆ ของมนุษย์ที่ต้องมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สังคมและรัฐบาลต่างพากันถกเถียงเพื่อหาคำตอบว่า ความเสี่ยงจากการปลูกพืชบางอย่างนั้นคุ้มค่าต่อผลประโยชน์ที่เกษตรกรและผู้บริโภคจะได้รับหรือไม่
เมื่อมีการปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลเป็น “อาหาร” การเปรียบเทียบอ้อยกับอาหารที่แท้จริงที่มีคุณค่าทางสารอาหารจึงเป็นเรื่องที่เปรียบเทียบได้ยาก หรือหากเปรียบเทียบกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตอ้อยแล้วก็จะยิ่งไปกันใหญ่
หากพูดถึงเรื่องน้ำตาลแล้ว ผู้บริโภค คือ กลุ่มคนที่มีบทบาทอย่างยิ่งยวด น้ำตาลตอบสนองทั้งความต้องการคาร์โบไฮเดรตและความปรารถนาที่แทบจะเหมือนการเสพติดความหวานของคนเรา
ในตอนที่สามของซีรีย์ เราจะสำรวจดูอิทธิพลของน้ำตาลทรายขาวที่มีต่ออาหารการกินทั่วโลกในยุคสมัยใหม่ว่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไรบ้างและเป็นไปได้หรือไม่ว่า สารให้ความหวานสังเคราะห์รูปแบบใหม่จะช่วยเติมเต็มความอยากหวานของมนุษย์ได้
ในตอนต่อไป เราจะมาตอบคำถามว่า หากคำนวณปริมาณน้ำตาลทั้งหมดที่เราๆ บริโภคกันภายในหนึ่งปีเท่ากับกับลูกฟุตบอล โดยเฉลี่ยแล้ว เรากินลูกบอลน้ำตาลกี่ลูกต่อปี
ข้อมูลเพิ่มเติมโดย เทรีซา มอนทาเนโร นักศึกษาสาขามานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และ ชาร์ลี วอลล์ นักศึกษาสาขาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอมเฮิร์สต์ คอลเลจ โดยทั้งสองคนเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มาศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาและประเด็นสิทธิมนุษยชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในภาคการศึกษาปลาย (ฤดูใบไม้ผลิ) ปี 2019
Read this post in English
Sweetness & Power (2) – Sugarcane’s bitter effects on the environment