บทความพิเศษชุด: ความหวานและอำนาจ

ในซีรี่ส์ ความหวานและอำนาจ หลายตอนที่ผ่านมา เราได้พินิจพิเคราะห์การเติบโตของน้ำตาลจนกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ตลอดจนผลกระทบของน้ำตาลที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและร่างกายมนุษย์ ในตอนที่ 4 นั้น เราได้เจาะลึกว่า น้ำตาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นมาอย่างไร การบริโภคน้ำตาลในไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมเกี่ยวกับรสนิยมและชนชั้นทางสังคมได้อย่างไร 

ในตอนนี้ เราจะมาติดตามดูการเติบโตของไทยจนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกและมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนนับล้าน รวมถึงสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมด้านการเกษตรภายในประเทศมากถึงร้อยละ 16 และในกระบวนการผลิตก็มีการจ้างงานมากถึง 1.5 ล้านคนได้อย่างไร

ตอนที่ 5: ไทยกลายเป็นอู่น้ำตาลแห่งเอเชียอาคเนย์ได้อย่างไร

โดย เดอะอีสานเรคคอร์ด

ข้อมูลเพิ่มเติมโดย เทเรซา  มอนเตเนโร

หากจะมองในภาพรวมทั้งโลก การปลูกอ้อยในไทยมีความโดดเด่นมากกว่าการเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของโลกและเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกเท่านั้น แต่ไทยยังเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลภายในประเทศมากกว่าผู้ผลิตรายใหญ่อื่นๆ โดยเมื่อปี 2561 ไทยผลิตน้ำตาลส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 81

ไทยต้องการโฆษณาตัวเองว่า เป็น “ครัวของโลก” แต่สิ่งที่ต้องการโฆษณามากนั้นคือ  การเป็นผู้จำหน่ายน้ำตาลรายใหญ่ของโลกต่างหาก นั่นหมายความว่า พื้นที่ทางการเกษตรในไทยจำนวนมากถูกนำมาผลิตน้ำตาลเพื่อป้อนให้แก่ประเทศอื่นๆ นั่นเอง

แต่การผลิตอาหารที่มิใช่อาหารในปริมาณมากเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ ในเมื่อไทยอาจผลิตอย่างอื่นที่มีคุณค่าทางสารอาหารแก่ประเทศและโลกใบนี้ได้ดีมากกว่า

4 จังหวัดที่ใหญ่ที่สุดของไทย คือ อ้อย

จากข้อมูลของสำนักงานงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พบว่า พื้นที่ปลูกอ้อยในไทย ปี 2560/2561 มีทั้งหมด 11,542,553 ไร่ หรือราว 18,468 ตร.กม. (4.56 ล้านเอเคอร์) หากจะเปรียบเทียบพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศจะมีขนาดใหญ่ที่สุด 4 อันดับของประเทศ

รายงานของ สอน. เปิดเผยว่า ปีที่แล้วไทยผลิตอ้อยได้ทั้งหมด 135 ล้านตัน ซึ่งมีมากพอที่จะนำต้นอ้อยเหล่านี้มาวางเรียงคลุมเกาะภูเก็ตได้ทั้งเกาะ (สูง 3.39 เมตร) และนำมาคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่สูงราว 1.2 เมตรได้

จากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า เมื่อปี 2560 ที่ดินเพื่อการเกษตรในไทยร้อยละ 27.5 ถูกนำมาใช้เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด ได้แก่ ยางพารา (ร้อยละ 14.96) อ้อย (ร้อยละ 6.5) และมันสำปะหลัง (ร้อยละ 6.38) แต่ใช้ที่ดินปลูกผักเพียงร้อยละ 1.78 ซึ่งรายงานของ สอน. ฉบับล่าสุดยังระบุด้วยว่า  พื้นที่เพาะปลูกอ้อยในไทยมีสูงกว่าข้อมูลดังกล่าวอย่างมีนัยยะสำคัญและจำนวนพื้นที่ปลูกอ้อยในปัจจุบันอาจมีมากถึงร้อยละ 8 ของที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งหมดในไทยก็เป็นได้ 

สถิติการจ้างงานอันน่าทึ่งของ “อ้อย”

“อุตสาหกรรมอ้อยในไทยผ่านตัวเลข” ข้อมูลจากบอนซูโครข้อมูลจากบอนซูโคร

หากดูตัวเลขและการประมาณการที่บอนซูโครเปิดเผยจะพบว่า จำนวนประชากรในไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยเป็นวัยแรงงานมากถึงเกือบร้อยละ 4 โดยน้ำตาลมีส่วนสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มากกว่าร้อยละ 1 และคิดเป็นร้อยละ 16 ของมูลค่าจีดีพีที่เป็นสัดส่วนจากภาคการเกษตร

เมื่อถึงปี 2559 ไทยได้กลายเป็นอู่น้ำตาลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง​ แถมยังเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ผลิตน้ำตาลได้เพียงพอต่อความต้องการการบริโภคภายในประเทศมากถึง  3.5 เท่าครึ่ง ​มีเพียงฟิลิปปินส์ประเทศเดียวที่เกือบจะผลิตน้ำตาลให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศของตนของตน​ ส่วนประเทศอื่นๆ ยังมีความต้องการบริโภคน้ำตาลในระดับที่สูง​ โดยเวียดนามและเมียนมาผลิตน้ำตาลได้มากถึงร้อยละ​ 80 ของความต้องการภายในประเทศ​  แต่อินโดนีเซียกลับผลิตน้ำตาลได้เพียงแค่ 1 ใน 3 ของความต้องการภายในประเทศ​ ส่วนกัมพูชาและลาวต้องนำเข้าน้ำตาลมากถึงร้อยละ 91.5 ​ของความต้องการภายในประเทศ​ สำหรับมาเลเซียและสิงค์โปร์จำเป็นต้องนำเข้าน้ำตาลทั้งหมด 

อีสาน​: อู่น้ำตาลของไทยหรือการล่มสลายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากอ้อย

มีข้อบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นว่า จำนวนที่ดินในภาคตะวันออกเฉียงถูกนำมาปลูกอ้อยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  โดยรายงานปกขาวเกี่ยวกับน้ำตาล  จัดทำโดย​บอนซูโคร​ได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อปี 2558 พื้นที่ที่ใช้ในการปลูกอ้อยร้อยละ​ 38 อยู่ในเขตอีสานและรายงานฉบับล่าสุดของ สอน.​ ปี2561/62 ก็บอกว่า ภาคอีสานก็ผลิตอ้อยถึงร้อยละ​ 46 จากผลผลิตของทั้งประเทศ

ส่วนภาคเหนือก็ผลิตอ้อยได้เพิ่มเช่นเดียวกัน​ ทั้ง 2 ภูมิภาคผลิตอ้อยได้ร้อยละ​ 71 ของปริมาณอ้อยทั้งหมดในประเทศ​ อาจจะมาจากกระแสการผลิตกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกอ้อยในพื้นที่จังหวัดรอบนอก

แหล่งที่มา​ : สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)​ 2560-61

ปัจจุบัน​ผลผลิตอ้อยทั้งหมดมาจากผู้ถือครองที่ดินรายย่อยในภาคอีสาน (ร้อยละ​ 67) มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ จากตารางด้านล่างจะเห็นว่า ผู้ถือครองครองที่ดินรายย่อย คือ ถือครองที่ดินน้อยกว่า 62.5 ไร่ แต่ปริมาณที่ดินที่ถือครองเฉลี่ยในอีสานที่อยู่ระหว่าง 15-45 ไร่ เฉลี่ยเท่ากับ 25 ไร่ต่อคน ดังนั้นจำนวนผู้ถือครองที่ดินรายย่อยในอีสานจึงอาจจะมีน้อยกว่าจำนวนที่ดินในตารางระบุก็เป็นได้

จากการประมาณการของบอนซูโครเกี่ยวกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ในไทยมีจำนวน 336,800 ราย​ และรายงานของของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อ​ปี 2557 พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในไทยได้รับการจัดกลุ่มเป็นเกษตรกร​ “รายย่อย​” มากถึงร้อยละ​ 52 โดยภาคอีสานมีเกษตรกรรายย่อยคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ​ (ประมาณ​ 88,000 คน)​ คิดเป็นร้อยละ​ 49 ของเกษตรกรรายย่อยทั้งประเทศ​ โดยเกษตรกรในภาคอีสานที่ได้รับการจัดว่า เป็นผู้ผลิตระดับกลาง​มีอยู่​ 26,000 คน​ และอีก​ 17,000​ ราย เป็นผู้ผลิตรายใหญ่​  ถือได้ว่า มีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 รองจากภาคกลางที่มีจำนวนเกษตรกรรายใหญ่มากถึงร้อยละ​ 3

การผลิตอ้อยตามขนาดการเพาะปลูกและภูมิภาคในประเทศไทย (2557)

จากปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและยากำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อยอย่างเข้มข้นในพื้นหลายจังหวัดได้กลายเป็นประเด็นที่น่าวิตก

ในภาคเหนือ หากคำนวณจากขนาดพื้นที่ทั้งหวัด (ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ทางการเกษตรอย่างเดียว) พบว่า จังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดนครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมดร้อยละ 14.8 และ 13.3 ตามลำดับ

ส่วนภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรีมีพื้นที่ปลูกอ้อยรวมกันถึงร้อยละ 18.4 ตามมาด้วยลพบุรีร้อยละ 17.4 และชัยนาทร้อยละ 10.6 สำหรับภาคตะวันออกนั้นพบว่า พื้นที่การปลูกอ้อยกระจุกตัวหนาแน่นที่สุดอยู่ในจังหวัดสระแก้วที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยรวมกันถึงร้อยละ 9.6 

ภาคอีสาน จังหวัดที่ปลูกอ้อยมากที่สุด คือ จังหวัดหนองบัวลำภู (ร้อยละ 13.1) ตามมาด้วยจังหวัดกาฬสินธุ์ (ร้อยละ 10) และจังหวัดอุดรธานี (ร้อยละ 9.7) โดยจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นจังหวัดที่มีการใช้ที่ดินเพื่อปลูกอ้อยเพิ่มมากอย่างรวดเร็วที่สุด โดยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัวจาก 280,000 ไร่ (44,800 เฮกตาร์) เมื่อปี 2558 เป็น 600,000 ไร่ (96,000 เฮกตาร์) เมื่อปี 2561

ตั้้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาพื้นที่ปลูกอ้อยมีเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 8 ต่อปี อย่างไรก็ดีมีปัจจัยหลายอย่างที่อาจจำกัดการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ดังกล่าว 

ในประเทศไทย พื้นที่ปลูกอ้อยที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น นอกนั้นเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่ต้องพึ่งพาน้ำฝน จึงทำให้พื้นที่เหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภัยแล้งและผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศ ดังนั้นวิธีปลูกอ้อยในไทยส่วนใหญ่จึงไม่ได้เป็นวิธีที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การปลูกอ้อยแบบเชิงเดี่ยวและการเผาอ้อยก่อนก่อนเก็บเกี่ยวจึงเป็นวิธีที่ผู้ปลูกอ้อยจำนวน 2 ใน 3 นำมาใช้ ซึ่งล้วนแต่ “ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพในดิน ส่งผลให้ดินทรุดและเสื่อมคุณภาพในอนาคต” 

ยิ่งไปกว่านั้น ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบข้างเคียงที่เกิดจากการปลูกอ้อยต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมยังมีที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ปัญหาสำคัญที่สุดที่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอีสานอาจเป็นปัญหาด้านสถานะของที่ดินที่ใช้ปลูกอ้อย โดยบอนซูโครประมาณการว่า ที่ดินที่ใช้ปลูกอ้อยร้อยละ 70-80 นั้นเป็นที่ดินเช่าปลูก สำหรับเกษตกรรายย่อยที่มีที่ดินเป็นของตนเองนั้น ส่วนใหญ่มักจะ “ไม่มีหลักฐานการถือครองที่ดิน” ที่ตนเองทำกิน

ความไม่มั่นคงในการถือครองที่ดินนี่เองที่เป็นสาเหตุให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยผขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนเพาะให้ปลูกอ้อยมีผลผลิต มีความปลอดภัย และความยั่งยืน 

เกษตรกรที่ปลูกอ้อยในไทย (รวมถึงโรงงานน้ำตาลและผู้ค้าน้ำตาล) เคยได้รับประโยชน์จากระเบียบ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะ “รักษาความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและพิทักษ์ผลประโยชน์ของเกษตรกรชาวไร่อ้อย”

พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวได้มีการรับรองรายได้ที่แน่นอนของผู้ปลูกและบริษัทน้ำตาลผ่านระบบโควต้า  เพื่อให้คุ้มครองการขึ้นลงของราคาน้ำตาลในตลาดโลก สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่เป็น “สื่อกลางในการเชื่อมระหว่างผู้ปลูกอ้อยและโรงงานน้ำตาล” และ “ควบคุมการผลิตอ้อย การจัดสรรโควต้าขายอ้อย การกำหนดราคาของอ้อยและน้ำตาล รวมถึงระบบส่วนแบ่งด้านรายได้

เนื่องจากโรงงานน้ำตาลในไทยไม่ได้ปลูกอ้อยเองจึงเป็นผลให้ทางโรงงานต้องทำสัญญากับกลุ่มกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้ปลูกอ้อยป้อนโรงงาน โดยทางโรงงานจะจัดสรรปัจจัยการผลิต (พันธ์ุุอ้อย ปุ๋ย เงินกู้ และบริการต่างๆ) ในขณะที่เกษตกรจะเป็นฝ่ายส่งอ้อยเข้าโรงงานผ่านสัญญาแบบ “70-30” ซหมายความว่า เกษตรกรกรจะได้รับส่วนแบ่งจากยอดการขายอ้อยร้อยละ 70 ส่วนโรงงานจะได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 30 

แต่เมื่อไม่นานมานี้ ระบบการจัดสรรรายได้ระหว่างเกษตรกร โรงงาน และผู้ค้าอย่างที่กล่าวมา ถูกโจมตีจากคู่แข่งนานาประเทศ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเช่นกัน  

อนาคตที่มืดมนของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยไม่เคยประสบปัญหาโดยมองเห็นแต่อนาคตที่สวยหวานของอุตสาหกรมน้ำตาล ส่วนผู้ปลูกอ้อเองต่างก็มีความสุขกับอำนาจที่สมาคมผู้ปลูกอ้อยอีกหลายสมาคมไม่มี บริษัทน้ำตาลยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มมิตรผลก็เริ่มที่จะไปลงทุนในจีนและออสเตรเลีย 

แผนพัฒนาเศรษฐฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ระหว่างปี 2560 ถึง 2565 ที่จัดทำโดยรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับน้ำตาล แผนฉบับดังกล่าวได้ตระหนักว่า “การแข่งขันกับเศรษฐกิจโลกจะทวีความรุนแรงขึ้น” รัฐบาลจึงเตรียมใช้ “ยุทธศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพทางกลไกการค้าเพื่อยกระดับน้ำตาลให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยการพัฒนาขั้นตอนและระเบียบการนำเข้าและส่งออก เช่น  ใบอนุญาตและขั้นตอนการรับรอง”

แผนพัฒนาชาติ 20 ปี มีเป้าหมายที่จะที่จะเพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อยจาก 10.53 ล้านไร่ เป็น 16.1 ล้านไร่  ภายในปี 2565 ซึ่งพื้นที่การปลูกจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 53 และจะทำให้ผลผลิตจากอ้อยเพิ่มขึ้นจากเดิม 105.96 ล้านตัน เป็น 180 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 70   

แต่บราซิล กัวเตมาลา และสหภาพยุโรป ได้ร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลกว่า “ระบบการปันผลกำไร (ซึ่งรวมถึงการมีโควต้าการส่งออกและการประกันราคาภายในประเทศ) เป็น “การสนับสนุนที่ผิดปกติ” ที่สร้างความไม่เป็นธรรมต่อประเทศผู้ผลิตอื่นๆ และละเมิดข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ”

รัฐบาลได้ให้ข้อตกลงว่าจะ “เปลี่ยนแปลงระบบการผลิตและระบบการกระจายสินค้าใหม่ทั้งหมด” ซึ่งอาจจะรวมถึงการยกเลิกระบบการปันผลแบบ 70:30 ที่ใช้กันมาหลายทศวรรษ และยอมให้ราคาของผลผลิตภายในประเทศมีอัตราตามราคาตลาดโลก

ในขณะเดียวกัน เมื่อปีที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลในตลาดโลกกลับดิ่งตัวลงอย่างน่าตกใจ

ขณะเดียวกันสถานการณ์การปลูกอ้อยในภาคอีสานที่มีการขยายตัวกลับสร้างความวิตก เมื่อเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยยังคงเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นการสร้างมลพิษต่อสภาพอากาศ รวมถึงมีการใช้ยาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืชก็ยังเป็นสาเหตุทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนสารเคมีและเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ผู้ฉีดพ่นและหลายพื้นที่ในภาคอีสานต่างเฝ้าระวังถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโรงงานผลิตน้ำตาล

ในเวลาเดียวกันการมองว่า น้ำตาลเป็นอาหารก็กำลังถูกตำหนิจากสาธารณชน เช่นเดียวกันกับที่การบริโภคน้ำตาลก็ทำให้ความกังวลด้านสุขภาพในไทยมีความสำคัญมากขึ้น โดยมีการจัดเก็บ “ภาษีบาป” ฉบับใหม่ทำให้กับน้ำตาลอยู่ในกลุ่มสินค้าไม่ดีเช่นเดียวกับบุหรี่และสุรา

 นอกเหนือจากการผลิตน้ำตาลเพื่อผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว บริษัทน้ำตาลต่างพยายามหาวิธีใช้ประโยชน์จากอ้อยด้วยวิธีการอื่นๆ โดยพบว่า เมื่อปีที่ผ่านมา รายได้ของผู้ผลิตน้ำตาลยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มมิตรผล มาจากการขายน้ำตาลเพียงแค่ร้อย 55 เท่านั้น รายได้ส่วนที่เหลือกลับมาจากการขายผลิตภัณฑ์ “สีเขียว” เช่น “พลังงานหมุนเวียน การสร้างวัสดุที่ใช้แทนไม้ ปุ๋ย และการขนส่ง” ข้อมูลจาก สอน. ยังชี้ให้เห็นอีกว่า กฏหมายเกี่ยวกับน้ำตาลฉบับใหม่ที่รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่นี้ “จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมน้ำมันและอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ” 

ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากกฏหมายฉบับใหม่นี้อาจเป็นกลุ่มมิตรผล ซึ่งได้วางแผนสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากน้ำตาลในเขตอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีกลุ่มคนในพื้นที่ลุกขึ้นมาแสดงความกังวลใจและต่อต้านโครงการ เพราะชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วมและไม่ได้รับการชี้แจงถึงข้อมูลของโครงการ

เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยมักจะต้องเป็นคนที่คอยแบกรับความเสี่ยงอยู่เสมอ หลายต่อหลายครั้งพวกเขาก็แบกรับความเสี่ยงนั้นไม่ได้ หากไม่มีการควบคุมและการสนับสนุนจากทางภาครัฐ อนาคตของน้ำตาลในไทยจะเป็นอย่างไร  อ้อยจะใีเพียงพอที่จะป้อนเข้าโรงงานหรือไม่ เกษตรกรจะยังคงปลูกอ้อยในสภาวะสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงแบบนี้ต่อไปหรือไม่ 

ตอนที่ 5 ของซีรี่ส์ ความหวานและอำนาจ ได้พาผู้อ่านพินิจพิเคราะห์ดูว่า ไทยกลายมาเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลที่สำคัญของโลกได้อย่างไร ในตอนต่อไปนักเขียนรับเชิญของเราจะถ่ายทอดเรื่องราวว่า น้ำตาลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาหารอีสานได้อย่างไร

ข้อมูลเพิ่มเติมส่วนหนึ่งเขียนโดย เทเรซา มอนเตเนโร นักศึกษาสาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และเป็นอดีตนักศึกษาที่เข้ามาเรียนรู้ประเด็นด้านการพัฒนาและสิทธิมนุษยชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำภาคการศึกษาปลาย (ฤดูใบไม้ผลิ) ปี 2562

image_pdfimage_print