สายฝนกลางเดือนกันยายนมาเยือน ทำให้ต้นอ้อยอายุกว่า 9 เดือน ในที่ดินของธวัชชัย ศรีวิบูลย์ ชาวอ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เติบโตเป็นสีเขียวขจี แต่ทว่าอ้อยที่ใกล้ฤดูเก็บเกี่ยวกลับไม่ได้สร้างความหวังให้เขาเหมือนเช่นเคย
“อ้อยราคาตกมาหลายปี ทำให้ผมขาดทุนจนต้องลดการปลูกจาก 180 ไร่ เหลือแค่ 40 ไร่” เขาเล่า
การลดพื้นที่เพาะปลูกทำให้ธวัชชัยกลายเป็นผู้ผลิตรายย่อย ถือเป็น 2 ใน 3 ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยในอีสาน
เมื่อปี 2559 เขาและภรรยาตัดสินใจลดการทำไร่อ้อย เพราะผลผลิตล้นตลาดทำให้อ้อยขั้นต้นราคา 773 ต่อตัน จากเมื่อปี 2558 ราคา 850 บาทต่อตัน
“ไม่คิดว่า ปลูกอ้อยแล้วจะรวย แต่ไม่รู้จะปลูกอะไร เห็นคนอื่นปลูกก็ปลูกตาม” เป็นคำสารภาพของ ธวัชชัย ศรีวิบูลย์ เกษตรกรไร่อ้อยวัย 52 ปี ชาวอ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น
ธวัชชัยเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาทำไร่อ้อยตั้งแต่ปี 2542 ในที่ดินตัวเองกว่า 30 ไร่และเช่าที่ดินอีก 150 ไร่
“เพราะข้าวราคาตกเลยหันมาปลูกอ้อย ช่วงปีแรกๆ ก็ได้ผลผลิต 6-7 แสนบาทต่อปี ตอนนี้เหลือแค่ 3 แสนบาทต่อปี พอหักค่าใช้จ่ายแล้วก็เหลือกำไรไม่มาก” เป็นเหตุผลที่เกษตรชาวไร่อ้อยคนนี้อธิบาย
พื้นที่การเกษตรของธวัชชัยอยู่ใกล้โรงงานน้ำตาลแห่งแรกของจ.ขอนแก่น แม้จะไม่มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพื่อผลิตป้อนสู่โรงงานมากนัก แต่ค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตที่สูงก็ทำให้การปลูกอ้อยไม่สร้างกำไรให้ครอบครัว
เขาอธิบายว่า การปลูกอ้อยแต่ละครั้งต้องจ่ายค่าแรงปีละ 1 แสนบาท จ่ายหนี้ให้โรงงานประมาณ 2 แสนบาท (ค่าปุ๋ยและสารเคมี) จ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) อีกประมาณ 2 แสนบาทและมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าดายหญ้า ค่ารถไถ เป็นต้น
“ผมและภรรยาทำไร่ทั้งปีก็เหลือเงินอยู่ไม่มาก แต่พวกเราไม่มีทางไป ก็ต้องทำไร่ ยิ่งอ้อยราคาตก ผมก็ต้องทำใจ” ธวัชชัยกล่าวอย่างสิ้นหวัง
ชาวไร่อ้อยเตรียมที่ดินเพื่อปลูกอ้อยใน จ.ร้อยเอ็ด ภาพโดย Mike Eckel
ปลูกอ้อยแล้วขาดทุนหนีพึ่งอาชีพเสริม
เนื่องจากสภาพดินและอากาศภาคอีสานมีความแห้งแล้ง เกษตรกรจึงปลูกอ้อยตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมและเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนของปีถัดไป รวมใช้เวลาปลูก 12-14 เดือน ทำให้มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละไม่ต่ำกว่า 7,000-8,000 บาท
“ปกติอ้อยจะให้ผลผลิตประมาณ 10 ตันต่อไร่ ถ้าอ้อยขั้นต้นราคาเหมือนรอบการผลิตล่าสุด แค่ตันละ 650 บาท เกษตรกรก็อยู่ไม่ได้ เพราะมันขาดทุน” สมกิต ศรีนาแก้ว เกษตรกรวัย 50 ปี ชาวอ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น โอดครวญ
แต่สิ่งที่ทำให้ชาวไร่อ้อยในภาคอีสานยังคงปลูกพืชชนิดนี้ตั้งแต่ปี 2527 คือ การกำหนดราคาน้ำตาลแบบแบ่งสัดส่วน 70/30 ระหว่างเกษตรกรและโรงงาน
การขาดทุนเมื่อปีที่แล้วทำให้เขาได้เงินสนับสนุนจากกองทุนอ้อย 50 บาทต่อตันและรัฐบาลให้เงินอุดหนุนอีก 60 บาทต่อตัน
การพึ่งพาราคาอ้อยเป็นไปตามกลไกตลาดโลกที่รัฐบาลไม่มีอำนาจในการกำหนดราคา ทำให้เขาต้องหาอาชีพเสริมด้วยการเปิดร้านปุ๋ยเคมีและยาปราบวัชพืช
ครอบครัวของสมกิตปลูกอ้อยมาตั้งแต่รุ่นพ่อในที่ดินกว่า 50 ไร่ เขาจึงเป็นรุ่นที่สองที่ต้องดูแลผลผลิตของครอบครัว ซึ่งต่อจากนี้เขาไม่แน่ใจว่า ลูกชายเพียงคนเดียวจะรับช่วงการเป็นเกษตรกรต่อหรือไม่
การปลูกอ้อยในภาคอีสานจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมและเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนของปีถัดไป รวมใช้เวลาปลูก 12-14 เดือน ทำให้มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละไม่ต่ำกว่า 7,000-8,000 บาท
ผู้ผลิตอ้อยรายใหญ่ก็กระทบ
ขณะที่ผลผลิตอ้อยราคาตกต่ำทำให้ผู้ปลูกอ้อยแปลงใหญ่กว่า 1,200 ไร่ ที่มีเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ในภาคอีสาน อย่าง ชัยวัตน์ กิตติวราพล ชาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น วัย 49 ปีได้รับผลกระทบตามไปด้วย
“ครอบครัวของผมปลูกอ้อยมากว่า 30 ปี มีทั้งเช่าและเป็นที่ดินของตัวเอง แต่ก่อนอ้อยตันละ 500-600 บาท เราก็ทำมา ต่อมาก็ขึ้นเป็นตันละ 1 พันบาทก็พออยู่ได้ ถ้าถอยหลังไปมากกว่านี้ชาวไร่ก็ไม่ไหว เพราะตอนนี้ก็หันหลังกันแล้ว เขาจะไม่ปลูกกันแล้ว เขาจะไปปลูกมัน” ชัยวัฒน์กล่าว
ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งสูงสุดเมื่อปี 2523 อยู่ที่ 1,010 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,800 บาทต่อตัน และมีสถิติสูงขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2554 อยู่ที่ 730 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน (22,630 บาท) และเมื่อปี 2559 ราคาอยู่ที่ 530 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 16,400 บาท) แต่ตอนนี้ราคาลดลงมาที่ 240 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7,300 บาทต่อตันเท่านั้น
แม้การเป็นผู้ปลูกอ้อยแปลงใหญ่ “เงินทุน” จะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่เมื่ออ้อยราคาตกก็ทำให้ผู้ผลิตอ้อยรายนี้ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน
“ราคาอ้อยมันไม่แน่นอน ถ้าผมเป็นรายเล็กเลิกปลูกไปแล้ว ซึ่งก็เห็นคนเลิกปลูกกันเยอะ แต่ผมมีเครื่องจักรที่เอาไปปลูกอย่างอื่นไม่ได้ก็ต้องสู้กันไป” ผู้ปลูกอ้อยรายใหญ่ กล่าว
สอน.แจงกลไกตลาดโลกทำราคาอ้อยต่ำ
ดูเหมือนชะตากรรมของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ทั้งรายใหญ่รายย่อยจะสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าว แล้วหันมาปลูกอ้อยตามยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาล 10 ปี (2558-2569) ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยในอีสานเป็น 6 ล้านไร่
วรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน). ชี้แจงผ่านเว็บไซต์ สนอ.ว่า การปลูกอ้อยปีที่แล้วน่าจะมีการลงทุนตันละ 1,041 บาท ซึ่งเป็นผลพวงจากนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังหันมาปลูกอ้อย ส่งผลให้มีผลผลิตสูงขึ้น แต่รัฐบาลไม่มีมาตรการรองรับนโยบายผลผลิต จึงทำให้ฤดูการผลิตปี 2561/2562 เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ 700 บาทต่อตัน (ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส)
“เมื่อรวมกับค่าส่วนเพิ่มจากคุณภาพอ้อยที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยและจากโครงการเงินช่วยเหลือ 50 บาท เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับประมาณ 880-900 บาทต่อตัน ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวไร่อ้อยในระดับที่น่าพอใจ” วรวรรณ เอกสารข่าวระบุ
เลขาธิการ สอน.ยังอธิบายในเอกสารข่าวอีกว่า ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปลายปีน่าจะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นและน้ำตาลจะเริ่มปรับสมดุลมากยิ่งขึ้น
“เรารับทราบและเข้าใจว่า ราคาอ้อยต่ำกว่าต้นทุน แต่ปีที่ผ่านมาสภาพอากาศทั้งในไทยและประเทศที่ปลูกอ้อยทั่วโลกมีความเหมาะสม ทำให้ปริมาณอ้อยมากกว่าปกติ ซึ่งไทยก็มีอ้อยมากเป็นประวัติการณ์ถึง 134 ล้านตัน ถือว่า ล้นตลาดโลกและทำให้ราคาตกต่ำ” เลขาธิการ สอน.อธิบายถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น
ระยะสั้นเพิ่มเงินช่วยเหลือ-ระยะยาว Bio Hub
สำหรับมาตรการแก้ในระยะสั้นนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอรัฐบาลให้พิจารณาหาทางการช่วยเหลือชาวไร่อ้อย โดยครม.มีมติเห็นชอบวงเงินกว่า 6,500 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว
“ระยะยาวเราจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการเปลี่ยนจากเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ หรือ Smart Farming ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในไร่อ้อยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพเพื่อให้ไทยเป็น Bio Hub แห่งอาเซียนภายในปี 2570” เอกสาประชาสัมพันธ์ของ สอน.อ้างการอธิบายของเลขาธิการ สอน.
เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ Bio Econony ซึ่งมีพื้นที่นำร่อง 3 เขต คือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกคาดว่า จะมีการลงทุน 9,740 ล้านบาท เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์-กำแพงเพชร) มูลค่าการลงทุน 51,000 ล้านบาท และภาคอีสานตอนกลาง (ขอนแก่น) คาดว่า จะมีการลงทุน 35,030 ล้านบาท
สมาชิกชาวไร่อ้อยร้องเรียนราคาตกต่ำ
ข้อมูลจากสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จ.ขอนแก่นระบุว่า ฤดูการผลิตอ้อย 2561/2562 สมาชิกกว่าร้อยละ 80 จากทั้งหมด 8 พันคน ร้องเรียนถึงราคาอ้อยที่ต่ำกว่าทุน จึงต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายประกันราคาพืชผล
“ถ้ารัฐบาลกล้าตัดสินใจขึ้นราคาน้ำตาลและนำเงินกองทุนช่วยเหลือชาวไร่มาเพิ่มให้เกษตร เท่านี้พวกเราก็สบายแล้ว” วินโญ วงศ์ษา เลขาธิการสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จ.ขอนแก่น เสนอทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ
หลังจากปี 2559 ที่บราซิลได้ยื่นหารือกับไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ประเด็นที่ไทย ซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล ใช้นโยบายอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลในลักษณะที่อาจขัดกับข้อตกลงของ WTO ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลก ทำให้รัฐบาลจึงประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลอย่างเป็นทางการ
ต่อมาไทยก็ได้ยกเลิกระบบโควต้าและการกำหนดราคาขายน้ำตาลภายในประเทศ รวมถึงยกเลิกวิธีการคำนวณราคาอ้อยให้ชาวไร่จากสัดส่วนของรายได้เดิมที่เคยแยกเป็นส่วนของเกษตรกรชาวไร่อ้อยร้อยละ 70 และโรงงานน้ำตาลร้อยละ 30 มาตั้งแต่ฤดูการผลิต 2525/2526
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ชาวบ้านในอำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ในเอเชีย เพราะกังวลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและวิถีชีวิต
นักวิชาการกังวลอ้อยทำระบบนิเวศเสีย
แม้รัฐบาลจะมีนโยบายสร้างความหวังให้กับเกษตรกรด้วยการลดพื้นที่ปลูกข้าวแล้วหันมาปลูกอ้อย แต่ สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มีความกังวลกับนโยบายนี้ เพราะการปลูกอ้อยให้ผลผลิตจำนวนมาก บวกกับต้องปลูกในพื้นที่กว้างและใหญ่ ชาวไร่จึงจำเป็นต้องไถและถางพื้นที่ที่เคยเป็นทุ่งนา ป่าหัวไร่ปลายนาเพื่อปลูกอ้อย
“บางพื้นที่ในอีสานไถที่นาและป่าหัวไร่ปลายนาป่าโคกมากถึง 30 ถึง 50 ไร่ การไถและถางป่าทำให้ระบบนิเวศในป่าเสื่อมโทรม ความหลากหลายทางชีวภาพ หากถูกทำลายไปเท่ากับว่า ความมั่นคงทางอาหารของคนในชุมชนก็ได้รับผลกระทบด้วย” สันติภาพกล่าว
เช่นเดียวกับนักวิชาการที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบในภาคอีสานอย่าง สถาพร เริงธรรม รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ที่เห็นว่า โครงการพัฒนาของรัฐต้องไม่ผลักภาระให้ใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่สร้างผลเสียให้คนบางกลุ่ม
“อยากให้รัฐบาลสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างบริษัทและคนในพื้นที่อย่างแท้จริง อยากให้รัฐบาลประเมินผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ ควรจะตัดสินใจบนพื้นฐานของระบบนิเวศทางธรรมชาติและระบบนิเวศชุมชน ควรเกิดจากการมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนข้อมูลกันให้ชัดเจนว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร” สถาพรเสนอแนวทางเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ความฝันของชาวไร่อ้อย
ความฝันของธวัชชัยไม่ได้แตกต่างจากชาวไร่อ้อยคนอื่นๆ ในภาคอีสาน ที่เริ่มต้นจากการเป็นชาวนา ปลูกข้าวบนผืนดิน 30 ไร่ เมื่อราคาข้าวตกต่ำ ความมีเสน่ห์ของอ้อยก็ทำให้เขาผันตัวเองมาเป็นชาวไร่อ้อยและลงแรงปลูกอ้อยมากกว่า 180 ไร่
แต่ราคาที่ขึ้นๆ ลงๆ ก็ทำให้เขามีทั้งกำไรและหนี้สิน
เขามีลูก 3 คน คนโตเป็นพนักงานขายในตัวเมืองขอนแก่น ส่วนคนที่ 2 ทำงานในโรงงานน้ำตาลใกล้บ้าน ทั้ง 2 คนไม่สนใจที่จะสืบทอดการเป็นเกษตรกรเหมือนพ่อและแม่ ส่วนลูกคนสุดท้องยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา และยังไม่แน่ใจว่า จะหันชีวิตไปทิศทางใด
แต่สำหรับธวัชชัยและภรรยานั้น พวกเขาได้กลับสู่วิถีชีวิตเดิม กลับคืนสู่ผืนดิน 30 ไร่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่พวกเขาผ่านมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว