ภาพปกโดย Kim Seng / CC BY-NC-ND 2.0

บทความพิเศษชุด: ความหวานและอำนาจ

ชาวอีสานหวั่นโรงงานน้ำตาล-ไฟฟ้าชีวมวล 29 แห่ง ตามยุทธศาสตร์อ้อยน้ำตาล 10 ปี กระทบแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชื่อดังก้องโลก นักวิจัยจี้ทบทวนแผนแบบมีส่วนร่วม แนะเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนก่อนตื่นตระหนก  

รถบรรทุกอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งในจ.กาฬสินธุ์  ภาพโดย Mike Eckel

ตอนที่ 8: โรงไฟฟ้าชีวมวลตอบโจทย์หรือฝันร้ายคนอีสาน 

การเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคอีสานและการขยายเขตอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ถือเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนและโรงงานน้ำตาล ที่ชาวบ้านกลัวว่า โรงงานเหล่านั้นจะไม่เพียงแค่ผลิตน้ำตาลเท่านั้น แต่อาจจะนำสารเคมีมาสู่ชุมชนด้วย 

ประเด็นนี้ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ในจังหวัดอำนาจเจริญเห็นไม่ตรงกัน 

“อำนาจเจริญ เมืองธรรมะเกษตร คือ เมืองที่สภาพแวดล้อมดี นาข้าวปลอดสารพิษ แต่ถ้ามีไร่อ้อย มีโรงงานเกิดขึ้น อาจเกิดมลพิษต่อนาข้าวอินทรีย์ที่พวกเราปลูก” วิรัตน์ สุขกุล ผู้ประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ แสดงความกังวลต่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น

 วิรัตน์ เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันแนวทางการพัฒนา จ.อำนาจเจริญ ให้เป็นเมือง “ธรรมะเกษตร” เมืองที่ยังคงวิถีเกษตรดั้งเดิมและปลอดสารพิษ 

เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลที่ออกใบอนุญาตให้บริษัทเอกชนตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่บ้านเซียงเพ็ง ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ซึ่งมีแม่น้ำเซบายไหลผ่าน

นาข้าวอินทรีย์ อ.เสนางคนิคม ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญอีกแห่งของจ.อำนาจเจริญ ภาพโดย พิทักษ์ ปรารถนาวุฒิกุล

โรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เชื้อเพลิงจากกากอ้อยขนาด 61 เมกะวัตต์ ที่จะสร้างนี้เป็นของบริษัทมิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด 

เมื่อปี 2560 กลุ่มมิตรผลมีส่วนแบ่งการตลาดน้ำตาลทั่วประเทศถึงร้อยละ 19.9 และถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก มีการลงทุนที่จีน ลาว กัมพูชา และออสเตรเลีย

วิรัตน์ทราบมาว่า ตอนนี้โรงงานน้ำตาลได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมการปลูกอ้อยลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เพื่อเปลี่ยนแนวคิดให้ชาวนาเปลี่ยนมาปลูกอ้อยเพื่อส่งโรงงานแล้ว 

“หากชาวนาเปลี่ยนมาทำไร่อ้อย อาจมีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในไร่อ้อยอย่างสารพาราควอต ที่อาจแพร่กระจายไปในนาข้าวอินทรีย์และส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกร” วิรัตน์กล่าว

เขาเล่าอีกว่า จ.อำนาจเจริญมีพื้นที่เกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์ ประมาณ 3 ล้านไร่ แต่นโยบายเมืองธรรมะเกษตรรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวอินทรีย์ ทำให้เกิดเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์กว่า 4 แห่งทั่วจังหวัด เครือข่ายนี้ได้ปลูกและส่งออกข้าวหอมมะลิปลอดสารพิษ มาตรฐานส่งออกสหภาพยุโรป (อียู) 

“ปีนี้พื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ในจังหวัดขยายเพิ่มเป็น 80,000 กว่าไร่ จากเดิมที่มีแค่ประมาณ 60,000 ไร่ เมื่อปี 2561 สะท้อนว่า เกษตรกรในอำนาจเจริญ หันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น” วิรัตน์กล่าวอย่างภูมิใจ 

แม้เอกชนจะได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.อำนาจเจริญ แต่คนในพื้นที่ยังมีความกังวล 

ผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นใน จ.อำนาจเจริญ

ในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ช่วงเดือนสิงหาคมปี 2559 และครั้งที่ 2 ช่วงเดือนมีนาคมปี 2560 จัดขึ้นที่โรงเรียนบ้านดงบังพัฒนา ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ชาวบ้านส่วนหนึ่งแสดงความเห็นให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยกเลิกการออกใบอนุญาตตั้งโรงงานนับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน แต่ก็ไม่สามารถหยุดการก่อสร้างโรงงานทั้ง 2 แห่งได้ 

โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ถือเป็น 1 ใน 29 โครงการที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) ภายใต้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติตาม “แผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย” 10 ปี (2558-2567) ให้เพิ่มโรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 20 แห่ง เพิ่มเป็น 49 แห่ง 

หลังการอนุมัติตั้งแต่ปี 2558 โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดอำนาจเจริญจึงถือเป็นแห่งที่ก่อสร้างได้

แสดงตำแหน่งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 24 แห่ง จากทั้งหมด 29 แห่ง (เครดิตกราฟฟิก : เว็บไซต์อีสานใหม่ เผยแพร่เมื่อ 13 กรกฎาคม 2562)

บางจังหวัดมีพื้นที่ปลูกอ้อยเพียงร้อยละ 9 อาทิ หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ อุดรธานี และขอนแก่น เป็นต้น แผนอ้อยและน้ำตาล 10 ปี พุ่งเป้าเพิ่มการเพาะปลูกอ้อยในพื้นที่ที่ปลูกน้อย โดยมีโรงงานน้ำตาลที่อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ในจังหวัดที่ยังไม่มีโรงงานน้ำตาล เช่น จังหวัดบึงกาฬ 5 แห่ง จังหวัดอุบลราชธานี 4 แห่ง จังหวัดหนองคาย ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ จังหวัดละ 2 แห่ง จังหวัดสกลนครและอำนาจเจริญอีกจังหวัดละแห่ง 

หวั่นโรงงานน้ำตาลโรงไฟฟ้าแย่งน้ำชุมชน 

ส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้นปี 2562 เพราะเห็นว่า โรงงานอุตสาหกรรมจะแย่งน้ำชุมชนและจะทำให้เกิดมลพิษต่อชุมชน โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเซบาย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำมูลอาจได้รับผลกระทบด้วย  

มะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบายในพื้นที่ ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร บอกว่า หากเกิดโรงงานทั้งสองอย่างในพื้นที่เรากลัวว่า โรงงานอาจผันน้ำจากลำน้ำเซบายมาใช้ในโรงงาน และอาจทำให้ปริมาณน้ำในลดลง 

“ถ้ามีโรงงานในพื้นที่ก็จะส่งผลกระทบต่อคนใช้น้ำเพื่อการเกษตรและปลูกพืชผักนอกฤดูกาลทำนา” กรรมการเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบายกล่าว

ป้ายข้อมูลการผันน้ำจากลำน้ำเซบายของโรงงานน้ำตาลอำนาจเจริญที่สมาชิกอนุรักษ์ลำน้ำเซบายถ่ายภาพไว้เมื่อเดือนกันยายน ปี 2561 ก่อนที่โรงงานจะไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าพื้นที่  

เธอบอกอีกว่า คนริมลำน้ำเซบายได้ทำข้อตกลงการใช้น้ำจากลำน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรร่วมกันแล้ว เพราะปริมาณน้ำลดลง ทั้งเกิดจากภัยแล้งและเมื่อปี 2558 การประปาส่วนภูมิภาค จ.อำนาจเจริญ ตั้งสถานีสูบน้ำบริเวณริมฝั่งลำน้ำเซบาย

ป้ายห้ามสูบหรี่ในนาข้าวอินทรีย์ทุ่งกุลาร้องไห้ ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เพราะกังวลว่า ควันบุหรี่จะกระจายสู่ผลผลิตและทำให้ข้าวไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพอินทรีย์ ภาพโดย มานะ เหนือโท

ชาวร้อยเอ็ดกลัวกระทบแหล่งปลูกข้าวมะลิ 

ไม่แตกต่างจาก สมยศ ชาลีบุตร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลโนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ตัวแทนเครือข่ายชุมชนทุ่งกุลาโนนสวรรค์ ชุมชนผู้ปลูกข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ บอกเหตุผลการคัดค้านว่า การตั้งโรงงานเพื่อน้ำตาลขนาด 24,000 ตันต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ขนาด 80 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด จะทำให้ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ได้รับผลกระทบ

ตามแผนอ้อยและน้ำตาล 10 ปี จังหวัดร้อยเอ็ดจะมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น 3 แห่ง หนึ่งในนั้นเป็นของกลุ่มบ้านโป่ง ที่ถือเป็น 1 ใน 7 บริษัทยักษ์ใหญ่ของผู้ผลิตน้ำตาลไทย มีโรงงานในจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อปี 2560 มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำตาลในไทยร้อยละ 4.2 

“เราส่งข้าวหอมมะลิขายต่างประเทศ ถือเป็นหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับคนพื้นที่ ถือว่า ข้าวจากที่นี่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะทั้งหอม นุ่ม และได้รับการขึ้นทะเบียนเครื่องหมายผลิตภัณฑ์คุณภาพ รู้แหล่งที่มาจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา (จีไอ)” สมยศ ฝกล่าว

ขณะที่ แสนพิทักษ์ เกษมเหลาชัย ตัวแทนจากเครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตน์ บอกว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ในพื้นที่เพื่อจะสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่คนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยทำให้การเวทีนั้นไม่ประสบความสำเร็จ

ชักชวนให้ทำไร่อ้อยแต่ไม่ได้บังคับ

ชาติชาย โชติสันต์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 4 อุดรธานี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ยอมรับว่า รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ชาวนาเปลี่ยนมาทำไร่อ้อย โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตน้ำตาลส่งออก และต้องการให้เกษตรกรมีรายได้จากการแบ่งพื้นที่ในที่นาดอนหรือบริเวณป่าหัวไร่ปลายนาที่ปลูกข้าวไม่ได้ มาปลูกอ้อยส่งโรงงานแทน 

“นโยบายนี้ไม่ได้บังคับให้ชาวนาหันมาปลูกอ้อย แต่ศูนย์ส่งเสริมฯ จะให้ความรู้เชิงวิชาการในการปลูกอ้อยอย่างไรให้ได้ผลผลิตดี ปลูกอ้อยอย่างไรไม่ให้มีวัชพืชรบกวน” ชาติชายกล่าว 

ยุทธศาสตร์นี้ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยในอีสานให้ได้ 6 ล้านไร่ ในปี 2569 รัฐบาลร่วมกับบริษัทผลิตน้ำตาลและบริษัทน้ำตาลส่งออกรายใหญ่ส่งเสริมให้ชาวนาภาคอีสานทำเกษตรแปลงใหญ่ 

แนวคิดนี้ สุวิทย์ กุหลาบวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่ง แวดล้อมอีสาน วิเคราะห์ว่า เป็นนโยบายที่รัฐบาลชักชวนให้ชาวนาหันมาปลูกอ้อยแปลงใหญ่เพื่อส่งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้า ในนโยบายประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ตามยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2567 

“แม้รัฐบาลจะหวังดีด้วยการส่งเสริมเกษตรกรใช้พื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับพืช ด้วยการลดพื้นที่ปลูกข้าวหันมาปลูกอ้อยแปลงใหญ่ แต่เป็นนโยบายที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่ได้วางแผน เกิดจากบริษัทใหญ่ต้องการหาลูกค้า และมีคนไม่กี่กลุ่มได้ผลประโยชน์ แต่ชาวไร่ชาวนาไม่ได้ประโยชน์” นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอีสานกล่าว 

ปลูกอ้อยเพิ่มเท่ากับเผาอ้อยมากขึ้น 

การเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคอีสานไม่เพียงแต่ทำให้ชาวบ้านกังวลถึงผลกระทบเท่านั้น นักวิชาการอย่าง ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำสาขาการพัฒนาชุมชน ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม เห็นว่า หากอีสานมีไร่อ้อยเพิ่มขึ้น มลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาอ้อยในช่วงโรงงานเปิดหีบรับซื้ออ้อยก็จะมีมากขึ้น 

“การเผาอ้อยจะสร้างปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งเกิดในจังหวัดขอนแก่นเมื่อฤดูแล้งที่ผ่านมา สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพคนในพื้นที่ แม้หน่วยงานราชการและภาคธุรกิจเองก็ต้องออกมาขอความร่วมมือไม่ให้เผาอ้อย” ไชยณรงค์กล่าว

นักวิจัยหวั่นใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าแทนชีวมวล 

สำหรับ แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา นักวิจัยในโครงการศึกษาผลกระทบจากการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบในภาคอีสาน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น อธิบายถึงแผนอ้อยและน้ำตาล 10 ปี ว่า สำนักงานอ้อยและน้ำตาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้วางเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลจากปี 2558 เพียง 1,542 เมกะวัตต์ต่อปี เป็น 4,000 เมกะวัตต์ในปี 2569  

“เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ” แม้นวาดกล่าว 

เธอระบุอีกว่า เมื่อปี 2561 ภาคอีสานมีโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลแล้ว 20 แห่ง แม้จะมีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อย แต่ก็อาจไม่เพียงพอที่จะป้อนโรงไฟฟ้า แม้นวาดจึงเชื่อว่า อาจมีการใช้พลังงานลิกไนต์มาทดแทนพลังงานจากชานอ้อย  

“หากดูสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อนุญาตให้ใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าได้ร้อยละ 25 อยู่แล้ว และมีบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและนำเข้าถ่านหินของไทยก็เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธุรกิจนี้ด้วย จึงมีความเป็นไปได้ที่จะใช้ถ่ายหินในการผลิต” แม้นวาดกล่าวด้วยความกังวล  

อย่างไรก็ตาม แม้นวาด เรียกร้องให้รัฐเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อไม่ตื่นตระหนกกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ขณะเดียวกันก็ควรทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศใหม่แบบมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์จากนโยบายนี้

image_pdfimage_print