โดย แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา

ภาพปกโดย Bo Jayatilaka / CC BY 2.0

บทความพิเศษชุด: ความหวานและอำนาจ

นับตั้งแต่มีการรายงานข่าวเมื่อปี 2558 ที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลขยายกำลังการผลิตและตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ใน 13 จังหวัดภาคอีสาน รวม 29 โรงงาน ซึ่งโรงงานเหล่านี้พ่วงด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลทุกโรงงาน

การออกใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ในคราวเดียวกันนี้ หมายถึงจะต้องมีการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 7 ล้านไร่ จากปัจจุบันในภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกอ้อย 5.54 ล้านไร่ การเพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อยและมีโรงงานน้ำตาล เป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ขนาดใหญ่ 

โดยไม่เคยมีการศึกษาศักยภาพความเหมาะสมของพื้นที่ที่อาจสามารถพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหาร เกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ หรือเป็นแหล่งที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง รวมถึงเป็นแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถเสริมศักยภาพสร้างรายได้ในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืนมากกว่าการปลูกอ้อย 

หากมองในประเด็นการปลูกอ้อยที่ใช้พาราควอตมากกว่าการทำนา 5 เท่า ไม่รวมการใช้น้ำวีนัสผสมยาฆ่าปลวก สารเคมีอื่นๆ และปุ๋ยเคมีอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นการทำลายดิน น้ำ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

หากกล่าวถึงการส่งเสริมการปลูกอ้อยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ก็นับเป็นความล้มเหลวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่แม้จะออกมาตรการโซนนิ่งภาคเกษตร มีการกำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยโรงงาน 

ในทางปฏิบัติของกระทรวงที่มุ่งสนองอุตสาหกรรมการเกษตรให้ความสำคัญกับพืชเชิงเดี่ยวโดยไม่ได้คำนึงว่า ราคาอ้อยไม่เคยสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงของเกษตรกร ทำให้เกษตรเป็นหนี้สิน เป็นแรงงานฟรีบนที่ดินของตัวเอง ขาดโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้ที่ดิน ที่ดินหลุดมือ จนกลายเป็นวงจรปัญหาซ้ำซากที่โยนภาระความผิดไปที่เกษตรกรในฐานะ “ทำตัวเอง” 

หลังจากปี 2558 กระแสคัดค้านเริ่มปรากฎขึ้นหลายจังหวัดในภาคอีสาน โดยการคัดค้านแทบทั้งหมดเริ่มขึ้นเมื่อชาวบ้านเพิ่งรู้ว่า ผู้ประกอบการเริ่มกระบวนการขออนุญาต 

การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานผลการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1). หมายถึงกำลังจะมีโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลก่อสร้างในพื้นที่ โดยก่อนหน้านั้นชาวบ้านไม่ได้รับรู้ข้อมูลใดๆ มาก่อน

ตลอดระยะเวลาในการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของโครงการ ชาวบ้านในหลายจังหวัดยังไม่มีกระทั่งพิกัดข้อมูลที่ชัดเจนว่า โรงงานจะสร้างอยู่บริเวณใด 

ส่วนการจัดเวทีรับฟังความความคิดเห็นที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลผลดีผลเสียอย่างรอบด้านเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ทำความเข้าใจอย่างเพียงพอ กลับเน้นการทำงานมวลชนสัมพันธ์ ขยายความแตกแยกในหมู่บ้าน ให้ผลประโยชน์กับผู้นำ ซื้อนักวิชาการมารับใช้ ใช้ทรัพย์ล่อใจสินล่อจ้างปั่นป่วนให้มวลชนขัดแย้งกันเอง เพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมในหน้าสื่อและให้มีบันทึกเอกสารทางราชการว่า มีมวลชนต้านแต่ก็มีมวลชนหนุน หรือแม้กระทั่งฟ้องคดีปิดปากชาวบ้าน 

การกระทำอย่างขาดความละอายหลบอยู่หลังชาวบ้านอย่างขี้ขลาดเหล่านี้กำลังแผ่ขยายไปในทุกพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างโรงงาน

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น โครงการโรงงานน้ำตาลที่จะเกิดขึ้นใน 13 จังหวัดภาคอีสานพ่วงด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล จะไม่ใช่แค่โรงงานผลิตน้ำตาลอีกต่อไป

ทั้งนี้ ครม. ได้อนุมัติร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่…) พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ 2562 โดยสรุป คือ การแก้ไขบทนิยามคำว่า “โรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ” ให้ครอบคลุมทุกประเภทกิจการของโรงงานลำดับที่ 17, 42 และ 44 คือ โรงงานผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ โรงงานผลิตพลาสติก และโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี ตามที่ระบุในบัญชีท้ายกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และให้โรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบสามารถขออนุญาตตั้งโรงงานได้แม้จะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลเจ้าเดิมไม่ถึง 50 กิโลเมตร โดยต้องได้รับความยินยอมจากโรงงานน้ำตาลในพื้นที่นั้น

ดังนั้นโรงงานเคมีชีวภาพต่างๆ เช่น ไบโอพลาสติก ไบโอก๊าซ พลาสติกชีวภาพ เคมีภัณฑ์ หรือโรงงานผลิตสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยา เครื่องสำอาง ฯลฯ ซึ่งใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบสามารถตั้งได้ในบริเวณเดียวกันกับโรงงานได้ 

นี่คือความเคลื่อนไหวหลังการรัฐประหารเมื่อรัฐบาล คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งภายหลังเรียกง่ายๆ ว่า “ประชารัฐ”  

การประกาศใช้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกปี 2561 หรือ EEC  โครงการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมี การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ และศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นนโยบายที่ถูกผลักดันอย่างรีบเร่ง มีการให้ข่าวให้สัมภาษณ์ทั้งจากนายกรัฐมนตรี ข้าราชการ นายทุนเพื่อกระตุ้นการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง 

โฉมหน้าที่แท้จริงของอุตสาหกรรมชีวภาพที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับโรงงานน้ำตาลในพื้นที่เป้าหมายศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ “Bio Hub” ภาคอีสาน คือ พื้นที่ 4,000 ไร่ ของกลุ่มมิตรผล ในอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ที่รัฐบาลกำลังเร่งขจัดอุปสรรคการลงทุน แก้กฎหมายต่างๆ และสร้างปัจจัยสนับสนุนที่จำเป็นต่อการลงทุนในเฟส 2 ของผู้ประกอบการ และรูปแบบนี้จะเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อขยายผลการพัฒนาพื้นที่ด้วยการเอื้อนักลงทุนอย่างสูงสุดแบบ EEC ต่อเนื่องไปในพื้นที่อื่นที่เหมาะสมทั่วประเทศ 

แต่ขณะที่รัฐบาลประกาศภายในปี 2570 ประเทศไทยจะพัฒนาเป็น Bio Hub of ASEAN อีสานจะมี Bio Hub ที่บ้านไผ่ ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี 2561- 2570 ไปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา 

กลุ่มมิตรผลประกาศจัดเวที ค.1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคมและจัดเวทีขึ้นเมื่อวันที่ 10-12 กันยายนที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น อุตสาหกรรมจังหวัด นายอำเภอ ท้องถิ่น ท้องที่ ผู้รับผิดชอบทั้งหลายต่างปฏิเสธว่า ไม่ทราบข้อมูล ไม่เห็นแผน ไม่มีคำสั่งใดๆ มาจากส่วนกลาง 

หากเป็นดังนั้นจริง หมายความว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่ใช่เป็นแค่ลมปาก แต่ต้องเรียกว่า รัฐบาล คสช. วางแผนรวบอำนาจกับกลุ่มทุนอย่างเบ็ดเสร็จ โดยไม่ได้แยแสหลักการเหล่านี้เลย ข้อพิสูจน์เห็นได้จากแผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่น พ.ศ. 2561-2564 ไม่มีการบรรจุโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชีวภาพแม้แต่โครงการเดียว 

นโยบายแนวดิ่งที่ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนอย่างสิ้นเชิงนี้ จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ น้ำ และอื่นๆ อีกอย่างมหาศาล สารเคมี เทคโนโลยี เครื่องจักร ยานยนต์ แรงงานจะหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ สภาพสังคมและสภาพสิ่งแวดล้อมในอำเภอบ้านไผ่และภาคอีสานอย่างน้อย 13 จังหวัดจะเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ

สำหรับโครงการ Bio Hub อ.บ้านไผ่ ซึ่งกลุ่มฮักบ้านเกิด บ้านเมืองเพีย เครือข่ายอนุรักษ์แก่งละว้า กลุ่มอนุรักษ์ป่าโคกหนองม่วง ได้ยื่นหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นให้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) นั่นคือ สิ่งที่รัฐบาลควรทำตั้งแต่แรกก่อนจะประกาศนโยบาย

หากมีการศึกษา SEA จนแล้วเสร็จและมีการให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้ผลดี-ผลเสียได้อย่างรอบด้านและทั่วถึง 

ถ้ารัฐบาล จังหวัด หรือผู้ประกอบการมั่นใจว่า อุตสาหกรรมชีวภาพจะเป็นคำตอบของอุตสาหกรรมสะอาดในอนาคต อุตสาหกรรมจะไม่ก่อมลพิษ เศรษฐกิจจะดีขึ้น ทรัพยากรที่ดิน น้ำชี แก่งละว้า สิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะไม่ได้รับผลกระทบ วิถีชีวิตความความเป็นอยู่ของชาวบ้านจะดีขึ้นจริง ก็ควรให้ชาวบ้านในอำเภอบ้านไผ่เป็นผู้กำหนดอนาคต ทิศทางการพัฒนาในพื้นที่ของตนเอง โดยไม่มีการปิดกั้น กีดกันการมีส่วนร่วมเช่นการจัดเวที ค.1 ที่ผ่านมา ให้เสียงส่วนใหญ่ได้เป็นผู้ชี้ขาดอย่างแท้จริง 

นี่คือ ประชาธิปไตยทางตรงที่สังคมกำลังพูดถึงในขณะนี้ แต่รัฐบาลและนายทุนจะมีความจริงใจกล้าหาญพอที่จะทำหรือไม่เท่านั้นเอง

image_pdfimage_print