โดย ปฏิวัติ ฤทธิเดช
สถานการณ์มลพิษฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคอีสานปี 2562 มีความรุนแรงมากกว่าทุกปี จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ
รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศประจำวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00 น. เฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่า ปริมาณ PM 2.5 ในอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เกินค่ามาตรฐานที่ 98 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งที่ค่ามาตรฐานกำหนดว่า ไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณ PM 10 อยู่ที่ 162 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
เมื่อเทียบค่ามาตรฐานการวัดคุณภาพอากาศของประเทศไทยแล้ว ถือว่า “มีค่าอ่อน” กว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)

ส่วนค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index, AQI) เพิ่มสูงถึง 208 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในขั้น “มีผลกระทบต่อสุขภาพมาก” สอดคล้องกับผลการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่วิเคราะห์จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมระบบ MODIS (GISTDA, 2562) จากการนำภาพฝุ่น PM 2.5 ที่มีการบันทึกในช่วงเวลา 10.00-11.00 น. และ 13.00-14.00 น. ของทุกวัน ระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2562

ฝุ่นละอองที่มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศที่อยู่ในขั้น “มีผลกระทบต่อสุขภาพ” กระจายตัวอยู่ในภาคอีสานตอนบนในกลุ่มจังหวัดขอนแก่น เลย และหนองบัวลำภู ประกอบกับอิทธิพลของลักษณะความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมในพื้นที่ ครอบคลุมตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคอีสานจนถึงภาคกลางเป็นเวลานานกว่าค่าเฉลี่ยที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดลักษณะมวลอากาศหนักกดทับไม่ให้ฝุ่นละอองแพร่กระจายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า อุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) และปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเร็วและทิศทางลม ระดับความสูงผสม (เขตอากาศปั่นป่วนหรือเขตเมืองที่มลพิษกระจายไปนอกพื้นที่ไม่ได้) เสถียรภาพของบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิตามความสูงและการเกิดอุณหภูมิผกผัน ความชื้น ฝน การระบายอากาศ มีส่วนทำให้มลพิษกักขังในพื้นที่ภาคอีสานนานขึ้น
พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 รุนแรงและบ่อยครั้งที่สุดในภาคอีสาน คือ หนองบัวลำภูและเลย ด้วยลักษณะของภูมิประเทศที่มีภูเขาล้อมรอบหรือพื้นที่ที่เป็นแอ่งกระทะทำให้เกิดการสะสมของสารมลพิษในอากาศได้มาก และทำให้เกิดสภาวะอุณหภูมิผกผันได้ง่าย โดยพื้นที่ที่เป็นหุบเขาทำให้การไหลถ่ายเทของสารมลพิษในอากาศเป็นไปได้ยาก เพราะการไหลเวียนของอากาศที่จะพัดพาทำให้ฟุ้งกระจายมีน้อย
ส่วนพื้นที่ราบจะช่วยทำให้สารมลพิษที่ลอยตัวในบรรยากาศถูกพัดพาถ่ายเทได้ง่าย ทั้งนี้แหล่งที่มาของมลพิษที่มาจากการเผาแปลงเกษตร เช่น อ้อย ซึ่งเป็นแหล่งที่ส่งผลต่อคุณภาพอากาศของฝุ่น PM 2.5 มากที่สุด ส่งผลทั้งความรุนแรงและต่อเนื่องของการฟุ้งกระจาย เนื่องจากการเผาเปลี่ยนรูปแหล่งกำเนิดจากแบบจุด (point source) เป็นแหล่งกำเนิดแบบพื้นที่ (area source) ทำให้เกิดฝุ่นละอองแพร่ตลอดเวลา และมีความเข้มข้นที่สามารถแพร่กระจายได้มากขึ้น
แนวโน้มและสถานการณ์ของ PM 2.5 ในอนาคต
ลักษณะการฟุ้งกระจายของฝุ่น PM 2.5 ในอีสานได้รับผลกระทบมาจากการเผาพื้นที่เกษตรอื่นๆ ทั้งฝั่งประเทศเพื่อนบ้านและการเผาแปลงอ้อยที่อยู่ในพื้นที่ในอีสานเอง จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พบว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 จนถึง พ.ศ. 2562 มีจำนวนโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นจาก 16 โรงงาน เป็น 20 โรงงาน ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดเลย อุดรธานี ชัยภูมิ และเกิดขึ้นอีกแห่งที่จังหวัดนครราชสีมา


พื้นที่ปลูกอ้อยจะกระจายตัวอยู่ในตอนบนของภาคอีสานเพื่อไม่ให้เกิดการขนส่งอ้อยข้ามเขตโควตาอ้อย ซึ่งถือเป็นการเทคนิคของเกษตรกรในขายผลผลิต เพราะประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
จากความต้องการน้ำตาลที่มีมากขึ้นทุกๆ ปี รัฐบาลจึงส่งเสริมให้สร้างโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นทุกปีโดยกลุ่มทุนเอกชนต่างๆ เป็นที่คาดการณ์ว่า ในปี 2569 จะมีโรงงานน้ำตาลในภาคอีสานเพิ่มเป็น 49 โรงงาน ซึ่งจะทำให้มีแนวโน้มว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะมีความรุนแรงมากขึ้นด้วย
(หมายเหตุบรรณาธิการ : โปรดดูซีรีส์ ความหวานและน้ำตาล ตอนที่ 8 และ ตอนที่ 9 เพื่อเปรียบเทียบกับความเห็นของผู้เขียนถึงพื้นที่การปลูกอ้อยที่มีอยู่เดิมกับแผนการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยและการเพิ่มโรงงานน้ำตาล 29 แห่งในภาคอีสาน)

ผลจากการคาดการณ์การขยายตัวของแปลงอ้อยปี 2569 ดังแสดงในรูปที่ 3 ด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์และข้อมูลระบบภูมิสารสนเทศ (Geo-informatics) พบว่า พื้นที่แปลงอ้อยขยายตัวในเขตภาคอีสานตอนกลางและตอนบน ในกลุ่มจังหวัดกาฬสินธุ์ อุดรธานี ขอนแก่น หนองบัวลำภูและจังหวัดเลย เกาะกลุ่มกันมากขึ้นในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งโรงงานน้ำตาลเดิม
ข้อมูลนี้ยืนยันถึงโอกาสเกิดการเผาแปลงอ้อยในพื้นที่จะมีมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงงานน้ำตาลและจำนวนแปลงอ้อยในพื้นที่
ลักษณะการเกิดจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาแปลงอ้อยจะเกิดเป็นแปลงต่อเนื่องกัน อาจจะด้วยจากที่เกษตรกรเป็นกลุ่มเดียวกัน รายเดียวกันที่ครอบครองพื้นที่แปลงอ้อยนั้นๆ ถูกกำหนดโควตาจากกลุ่มอ้อยโรงงานเดียวกัน จึงทำให้มีลักษณะการเก็บเกี่ยวที่คล้ายกัน เพราะทำให้ต้นทุนการเก็บเกี่ยวไม่มากเท่ากับการใช้เครื่องจักร แต่คุณภาพของน้ำตาลก็จะลดลงตาม เกษตรกรที่เผาแปลงในลักษณะนี้จะปลูกอ้อยเป็นจำนวนมากและหลายแปลงต่อราย และจะเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จึงทำให้การตรวจวัดพบจุดความร้อนเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลามากกว่า 8-10 วัน ใน 1 เดือน
จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ระหว่างจุดความร้อน (hot-spot) ที่เกิดจากการเผาแปลงอ้อยและความเข้มข้นของค่า PM 2.5 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น คัดเอาข้อมูลจุดความร้อนช่วงที่มีค่าเกินมาตรฐานในช่วงเดือนมีนาคม 2562 จำนวน 8 จุด (อ้างอิงจากเว็บรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ, 2562) แล้วนำมาซ้อนทับกับข้อมูลแปลงอ้อยเพื่อคำนวณหาพื้นที่ที่มีการเผาอ้อยและเปรียบเทียบกับค่า PM 2.5 ดังแสดงในกราฟรูปที่ 4

ความสัมพันธ์ของกราฟระหว่างพื้นที่จุดความร้อนที่ตรงกับแปลงอ้อย (ไร่) และค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 จากสถานีวัดคุณภาพอากาศ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีความสัมพันธ์แบบแปรผันตามกัน (direct variation) และอธิบายความสัมพันธ์มีความน่าเชื่อถือระดับมากกว่า 85% กล่าวคือ ยิ่งมีขนาดของพื้นที่เผาแปลงอ้อยมาก ก็จะทำให้ค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่วัดได้มีค่ามากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ความสัมพันธ์อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้บ้าง เนื่องด้วยความห่างไกลกันของแปลงที่ถูกเผาก่อให้เกิดฝุ่นและตำแหน่งของสถานีวัด
อาจจะกล่าวได้ว่า ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้การพัดพามาของฝุ่นละอองมายังพื้นที่เขตเมืองและชุมชน โดยเฉพาะในจังหวัดหนองบัวลำภูที่เป็นพื้นที่ล้อมรอบด้วยหุบเขา เนื่องจากจังหวัดหนองบัวลำภูไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศได้อย่างแม่นยำตามแบบของกรมควบคุมมลพิษ ที่ติดตั้งเพียง 3 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น และเลย ดังนั้น การวัดคุณภาพอากาศในจังหวัดหนองบัวลำภูจึงต้องใช้สถานีจากจังหวัดเลย
นอกจากนี้ขอบเขตการแพร่กระจายของฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาของแปลงอ้อย จะรักษาระดับความเข้มข้นของความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในการแพร่ในช่วงระยะ 80-100 กิโลเมตรได้ ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามขนาดและทิศทางความเร็วลมที่สามารถพัดพาไปได้ เมื่อฝุ่นละอองถูกพัดพาออกไปจากแหล่งกำเนิด จะค่อยๆ เจือจางความเข้มข้นลงไปจากสภาวะการถูกกระเจิงจากแสงและปัจจัยอื่นๆ เมื่อแปลงอ้อยอยู่ใกล้เคียงกันและเกาะกลุ่มกันมาก จะทำให้ระดับความเข้มข้นของฝุ่นรักษาระดับความรุนแรงได้ต่อเนื่อง
เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจุด hot-spot ย้อนหลังจะพบว่า เป็นการเผาซ้ำซ้อนในตำแหน่งเดิมจะเกิดขึ้นกับพืชเชิงเดี่ยวเป็นหลัก เช่น อ้อย ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้พื้นที่ในภาคอีสานเกิดเหตุการณ์ที่ฝุ่นละออง PM 2.5 กระจายในพื้นที่ตอนกลางและตอนบนของพื้นที่ในฤดูแล้งและฤดูการเปิดหีบอ้อย และมีช่วงเวลาในการประสบภัยนานกว่าพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อยในภาคอื่นๆ จากจำนวนแปลงที่มากกว่าและลักษณะภูมิประเทศและความใกล้เคียงของพื้นที่กับประเทศเพื่อนบ้าน
การลดผลกระทบของฝุ่นละออง PM 2.5 ในอนาคต
แนวทางการติดตามและประเมินค่าความเข้มข้นฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ที่ไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ เช่น จังหวัดหนองบัวลำภูหรือพื้นที่ที่ใกล้เคียงกันและมีต้นเหตุของมลภาวะทางอากาศคล้ายคลึงกัน สามารถใช้สมการทางคณิตศาสตร์คำนวณค่า PM 2.5 จากค่า PM10 ได้จากสถานีวัดเคลื่อนที่ (ปฏิวัติ ฤทธิเดช, 2560) หรืออาจใช้โมเดลทางภาพถ่ายดาวเทียมและทางอุตุนิยมวิทยามาคำนวณค่า PM 2.5 ได้เช่นเดียวกัน
พื้นที่ที่สามารถตรวจวัด PM 2.5 ได้จากสถานีวัดอากาศแล้วควรแจ้งเตือนประชาชนให้ป้องกันตัวเอง
ปี 2562 ทางกรมควบคุมมลพิษได้เริ่มนำค่า PM 2.5 มาร่วมในการคำนวณค่า AQI แล้ว แต่การคำนวณค่า AQI มีส่วนสำคัญในการรายงานคุณภาพอากาศในพื้นที่นั้นๆ ในแต่ละประเทศทั่วโลกใช้แจ้งต่อสาธารณะว่า ขณะนี้คุณภาพของอากาศเป็นอย่างไร และอาจพยากรณ์ว่า คุณภาพอากาศในอนาคตจะเป็นอย่างไร
แต่ละประเทศอาจจะตั้งค่ามาตรฐานของ AQI แตกต่างกันได้ เช่น สหรัฐอเมริกาใช้มาตรฐาน AQI ของ The United States Environmental Protection Agency (US EPA), แคนาดาใช้ Air Quality Health Index (AQHI), ประเทศมาเลเซียใช้ Air Pollution Index (API), สิงคโปร์ใช้ Pollutant Standards Index (PSI) และประเทศไทยดัดแปลง PSI มากำหนดเป็นมาตรฐาน AQI ของตนเอง
วัตถุประสงค์ของการกำหนดมาตรฐาน AQI มาจากหลักการเดียวกัน คือ ต้องแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศในขณะนั้นหรือในอนาคต
การกำหนดมาตรฐาน AQI แต่ละประเทศมักสะท้อนถึงพัฒนาการด้านการจัดการมลภาวะทางอากาศของประเทศนั้นๆ ยิ่งมีการกำหนดค่าที่ต่ำกว่ามาตรฐานมากเพียงใด ก็แสดงว่า ประเทศนั้นยังอยู่ในขั้นต้นๆ ของพัฒนาการด้านการจัดการมลภาวะทางอากาศมากเพียงนั้น
การตอบสนองต่อฝุ่น PM 2.5 ในอีสาน
เมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงของ PM 2.5 เกิดขึ้นไม่เฉพาะภาคเหนือของไทย แต่ภาคอีสานก็รุนแรงและยาวนานต่อเนื่องไม่ต่างกัน เพียงแต่ในพื้นที่ภาคอีสานยังไม่มีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่สามารถวัดค่าทั้ง PM 10 และ PM 2.5 ได้ครอบคลุมพื้นที่ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษกำลังดำเนินการติดตั้งอยู่ ซึ่งราคาที่แพงและการบริหารจัดการยุ่งยากน่าจะใช้เวลาหลายปีกว่าจะกระจายติดตั้งได้ครบทุกจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีแผนติดตั้งเฉพาะในตัวเมืองใหญ่เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถสะท้อนคุณภาพอากาศรอบนอกได้
ปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเซนเซอร์ขนาดเล็กที่มีความน่าเชื่อถือได้พอสมควรและมีราคาถูก จึงนำไปติดตั้งในพื้นที่ห่างไกลได้ง่าย โดยใช้งบประมาณต่ำกว่าเครื่องวัดระดับอ้างอิงน้อยกว่าหลายเท่า
แม้จะตรวจวัดคุณภาพอากาศได้อย่างแม่นยำและสร้างดัชนี AQI เพื่อเตือนภัยฝุ่นได้ถูกต้องแม่นยำ แต่ก็เป็นเพียงแค่การสะท้อนถึงระดับความรุนแรงปลายเหตุ การจะแก้ไขหรือลดความรุนแรงของผลกระทบลง รัฐจะต้องจริงจังในการควบคุม สร้างแนวทางการควบคุมและติดตามปัญหา เช่น การออกกฏหมายเพื่อควบคุมผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่ผ่านการเผา การตรวจสอบแปลงอ้อยด้วยระบบเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับสร้างฐานข้อมูลติดตามเกษตรกรและโควตาอ้อย การบังคับใช้ไม่ให้มีการขนส่งอ้อยข้ามเขตระยะทางเกินกว่า 100 กิโลเมตร เป็นต้น
การนำนโยบายต่างๆ ไปใช้บังคับหรือควบคุมจริงๆ ในพื้นที่ อาจจะไม่สามารถทำได้จริงทั้งหมด แต่ก็จะเป็นการเริ่มต้นที่ทำให้เกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดได้ตระหนักถึงความรุนแรงและอันตรายของฝุ่น PM 2.5 หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในทุกๆ ปีของฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าสู่โรงงาน บางทีผู้เผาอาจจะไม่คำนึงถึงอันตรายและผลกระทบที่อาจจะไม่ส่งผลต่อผู้เผาแปลงโดยตรงในเวลานั้น แต่ฝุ่นสามารถแพร่กระจายและสร้างผลกระทบให้กับผู้คนในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลออกไปได้ และเมื่อยังไม่มีการริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงจากทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ปัญหาก็จะถูกรายงานในลักษณะนี้มากยิ่งขึ้นต่อไป
รายการอ้างอิง
- กรมควบคุมมลพิษ. (2562). http://www.pcd.go.th/
- รายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย. (2562). http://air4thai.pcd.go.th/webV2/
- ข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์. (2562). หน่วยวิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- ข้อมูลสนับสนุนด้านการแพร่กระจายของฝุ่น PM 2.5. (2562). หน่วยวิจัย Climate Changes, Mitigation and Adaptation Research Unit; CMARE คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
- ข้อมูลแปลงอ้อย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย. (2561). http://www.ocsb.go.th/th/home/index.php
- ระบบติดตามและรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศด้วยข้อมูลดาวเทียม (AQMRS). (2562). GISTDA และศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีทางอากาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. https://web.facebook.com/gistnorth/photos/a.284257581766607/1154199964772360/?type=3&theater
- รายงานสถานการณ์ PM รายวัน. (2562). http://fire.gistda.or.th/download.html
- ปฏิวัติ ฤทธิเดช. (2560). แบบจำลองเชิงพื้นที่สำหรับวิเคราะห์การแพร่กระจายความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ในพื้นต้นแบบจังหวัดเลย ขอนแก่น และนครราชสีมา วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม) ปีที่ 36 หน้า 465-477.