บทความพิเศษชุด: ความหวานและอำนาจ

น้ำผึ้งเป็นสารให้ความหวานที่มีมาตั้งแต่อดีตกาล แต่ตอนนี้ถูกน้ำตาลแทนที่ไปเกือบทั้งหมด โดยน้ำผึ้งที่ประเทศไทยผลิตนั้นเทียบได้เพียง 0.01% ของปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ แต่ด้วยราคาตลาดที่สูงกว่ามาก น้ำผึ้งที่ผลิตได้อันน้อยนิดก็เทียบได้เพียงร้อยละ 1.07 ของมูลค่าน้ำตาลทั้งหมดที่ประเทศไทยผลิต

แต่น้ำผึ้งแตกต่างจากอ้อยอย่างมีนัยยะสำคัญ หากไม่นับผู้ที่เคยโดนผึ้งต่อยแล้วล่ะก็ การเลี้ยงผึ้งถือได้ว่า เป็นธุรกิจการเกษตรที่ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคที่สามารถซื้อหาผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง เหล่าผึ้งก็เพลิดเพลินอิ่มอร่อยไปกับมวลน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ส่วนคนเลี้ยงผึ้งก็มีรายได้ และพืชพันธ์ุต่างๆ ก็ได้ผสมพันธุ์ผลิดอกออกผลต่อไปด้วย

ทว่าวิถีการเกษตรยุคใหม่กลับกำลังทำลายแหล่งที่มาของน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ เป็นสาเหตุให้คนเลี้ยงผึ้งต้องย้ายถิ่นฐานมากขึ้นและนำตัวผึ้งออกเดินทางไปทั่วภาคอีสานและภูมิภาคอื่น เพื่อแสวงหาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ให้ผึ้งได้กินอิ่ม

เดอะอีสานเรคคอร์ด ได้แบ่งสารคดีเกี่ยวกับผึ้งออกเป็น 2 ตอน ในการติดตามผึ้งกับคนเลี้ยงผึ้งฝูงหนึ่ง เพื่อดูว่า การลดขนาดของแหล่งน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผึ้งและความเป็นอยู่ของคนเลี้ยงผึ้งเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยด้วย 

ท่ามกลางต้นไม้ที่ยืนต้นเรียงกันเป็นแถว ล้อมรอบด้วยผืนดินรกร้างแห่งหนึ่งในจังหวัดเลย ชุดสีขาวเหมือนชุดอวกาศยับๆ ถูกวางทิ้งไว้บนพื้น

“ผมเอาชุดนี่มาให้” นิคม โคตรสุวรรณ กล่าวท่ามกล่างเสียงหึ่งๆ ของผึ้งในกว่า 50 รัง

“คุณจะใส่ด้วยไหมครับ” ผู้เขียนถาม 

“ไม่ครับ” คนเลี้ยงผึ้งกล่าวอย่างสบายๆ ว่า “ผมโดนผึ้งต่อยจนชินแล้ว”

รังผึ้งจำนวน 50 รัง ถูกนำมาวางเรียงกันเป็นวงกลม มองดูไกลๆ คล้ายกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ขนาดย่อส่วน แต่ผึ้งเหล่านี้ไม่ได้อาศัยอยู่ที่นี่อย่างถาวร บ้านแท้ๆ ของพวกมันอยู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดเลยไปทางทิศใต้ราว 140 กิโลเมตร ผึ้งเหล่านี้เดินทางมาที่นี่เพื่อมาผลิตน้ำผึ้ง ก่อนที่พวกมันจะต้องย้ายไปที่อื่นเพื่อหาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ 

รัศมีในการหาอาหารของผึ้งมีระยะทางไม่กี่กิโลเมตร เพื่อพวกมันมีชีวิตรอดและขยายพันธุ์ ผู้เลี้ยงอย่าง นิคม จึงต้องพาพวกมันออกเดินทางไกล 

สำหรับประชากรผึ้งแห่งภาคอีสาน การเดินทางไปยังต่างถิ่นเป็นประจำเช่นนี้ กลายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความอยู่รอด 

คนเลี้ยงผึ้งในภาคอีสานเองได้สร้างพันธมิตรกับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เพาะปลูกผลไม้หลักๆ หลายแห่งในประเทศไทย เพื่อให้แน่ใจว่า พวกเขาจะมีแหล่งน้ำหวานมาเลี้ยงผึ้งให้มีชีวิตรอดส่งเสียงร้องหึ่งๆ ได้ตลอดทั้งปี 

จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนเลี้ยงผึ้ง คนปลูกผลไม้และผึ้ง เป็นความสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ความสัมพันธ์นี้ยังเป็นความสัมพันธ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้ำจุนความหลากหลายทางชีวภาพด้วย 

แต่ทั้ง 3 ฝ่ายก็มีภัยคุกคามที่ต้องเผชิญร่วมกัน เป็นภัยที่กำลังรุกรานเหล่าฝูงผึ้ง รวมถึงอุตสาหกรรมผลไม้และสิ่งแวดล้อมของไทยอยู่ในตอนนี้ นั่นคือ การใช้ยาฆ่าแมลงที่แพร่หลายและวิถีเกษตรแบบกรรมเชิงเดี่ยวนั่นเอง

สัญญาณแห่งอัมพาตเปลี่ยนชาวนาเป็นคนเลี้ยงผึ้ง

นิคม อายุ 53 ปี เลี้ยงผึ้งมามากกว่า 20 ปี และเขายังเป็นประธานสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย สมาคมแห่งนี้มีสมาชิกที่เป็นคนเลี้ยงผึ้งทั่วทั้งอีสาน  120 คน 

นิคมและภรรยา คือ จันเพ็ง สิริจันท์ วัย 55 ปี นำผึ้งที่พวกเขาเลี้ยงมายังจังหวัดเลย เพื่อให้พวกมันได้ดื่มกินน้ำหวานจากเกสรดอกสาบเสือ ซึ่งเป็นพืชที่เติบโตตามธรรมชาติตามท้องทุ่งนาที่ถูกปล่อยทิ้งไว้หลังการเก็บเกี่ยว แล้วผลิตน้ำผึ้งดอกไม้ป่าเป็นผลลัพธ์

ก่อนจะเปิดรังผึ้งเพื่อตรวจดูสภาพรัง คนเลี้ยงผึ้งจะต้องเตรียมเครื่องพ่นควันผึ้งแบบปั๊มมือ ควันจะช่วยป้องกันไม่ให้ “ผึ้งเฝ้ายาม” ผลิตสารฟีโรโมนส์ออกมาเตือนให้ผึ้งตัวอื่นๆ รู้ตัวเมื่อภัยร้ายใดย่างกรายมาถึง ภาพโดย Mike Eckel

แรกเริ่มเดิมที นิคม เป็นชาวนาปลูกข้าวและเลี้ยงหมู ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยคิดว่า ผึ้งจะมีความสำคัญไปกว่าแมลงที่ชอบสร้างรำคาญชนิดหนึ่ง​ แต่เมื่อเขาอายุ 20 ปลายๆ ขณะกำลังทำนาอยู่เขารู้สึกแปลกๆ ที่แขนขวา เช้าวันถัดมา เขาขยับแขนข้างขวาไม่ได้ เขาจึงไปหาหมอ แต่หมอก็ช่วยอะไรไม่ได้ ที่แย่ไปกว่านั้น คือ หมอเองอธิบายอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้ด้วย นิคมรู้สึกหดหู่เมื่อรู้ว่า ตัวเองอาจต้องกลายเป็น “คนพิการ”

หลังจากนั้น 2 ปี นิคมใช้เวลาอ่านหนังสือและค้นคว้าทุกอย่างที่ขวางหน้า โดยพยายามประกอบเรื่องราวที่อ่านเจอเกี่ยวกับกับภาวะการเป็นอัมพาต ในที่สุดเขาก็ค้นพบวิธีรักษาที่เรียกว่า การบำบัดด้วยพิษผึ้ง ซึ่งเป็นการบำบัดด้วยการให้ผึ้งต่อยบริเวณที่เป็นอัมพาตซ้ำๆ หลายรอบ 

“บทความที่อ่านบอกว่า ตอนนั้นคนที่เข้ารับการรักษาจะต้องจ่ายเงิน 200 บาท ต่อผึ้งหนึ่งตัวที่ผ่านการคัดเลือกมาเป็นพิเศษ เป็นผึ้งที่โตเต็มวัยและอายุไม่มาก ผู้ได้เข้ารับการรักษาจะถูกผึ้งต่อยซ้ำหลายครั้งในแต่ละรอบการรักษา ผึ้งหนึ่งตัวจะต่อยได้เพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น” นิคมหยุดเสมือนหนึ่งรอฟังว่า ผู้ฟังเข้าใจในสิ่งที่เขาพูดหรือเปล่าก่อนจะหันหน้าไปยังรังผึ้ง 

สำหรับราคาค่ารักษาด้วยการให้ผึ้งต่อยครั้งละ 200 บาทนั้น นิคมรู้ตัวว่า ไม่มีทางที่เขาจะจ่ายค่ารักษาได้

“ชัดเจนว่า คุณจะต้องรวยถึงจะจ่ายค่ารักษาได้” เขากล่าวพร้อมหัวเราะเบาๆ “ผมก็เลยไปซื้อผึ้งมาเลี้ยงเป็นของตัวเองเสียเลย”

การมีรังผึ้งเป็นของตัวเองทำให้นิคมเรียนรู้วิธีดูแลและการผสมพันธ์ุผึ้ง เพื่อที่เขาจะได้ยื่นแขนขวาเจ้าปัญหาให้ผึ้งกัดต่อยได้ เขาทำแบบนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทั่งเริ่มรู้สึกว่า ความรู้สึกสัมผัสได้กลับมาเยือนแขนข้างนั้นอีกครั้ง

“ผมดีใจมาก น้ำตาแทบไหล เพราะผมรู้ว่า ผมต้องให้พวกมันต่อยไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกเจ็บจริงๆ” นิคมหัวเราะ พลางใช้แขนซ้ายปัดไปมาบนแขนข้างขวาที่เคยเป็นอัมพาต หลังจากต้องเผชิญกับความเจ็บปวดแบบนั้นกว่าครึ่งค่อนปี ในที่สุดฝีมือการต่อยของผึ้งก็ทำให้อาการของนิคมหายเป็นปกติและตัวเขาเองก็เริ่มรู้สึกชื่นชอบการเลี้ยงผึ้งด้วยเช่นกัน

จันเพ็งกล่าวเสริมว่า “พี่บอกเขาว่า ถ้าจะใช้เวลาอยู่กับผึ้งทั้งวันแบบนั้นก็น่าจะเริ่มทำมาหากินกับการเลี้ยงผึ้งได้แล้ว”

และนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นในฐานะคนเลี้ยงผึ้งของสามีภรรยาคู่นี้

ผึ้งของนิคมกับจันเพ็งอาศัยอยู่ในรังแบบเคลื่อนที่ ครึ่งหนึ่งของพวกมันมีหน้าที่ผสมพันธ์ุเพื่อขายให้กับคนเลี้ยงผึ้งเจ้าอื่นๆ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมีหน้าที่ผลิตน้ำผึ้ง รังผึ้งหนึ่งรังซึ่งมีราคา 1,800 บาท รูปโดย Mike Eckel

ให้ฉันพาเธอไปไกลๆ 

นิคมไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ฝูงผึ้งของเขากำลังดื่มด่ำน้ำหวานจากเกสรดอกไม้อยู่ 

ในฤดูที่มวลดอกไม้ป่าพากันผลิบาน ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม บางครั้งยาวนานไปจนถึงมกราคมหรือกุมภาพันธ์ นิคมจะขับรถพาเหล่ามวลผึ้งไปทั่วภาคอีสานเพื่อให้พวกมันผลิตน้ำผึ้งจากดอกไม้ป่า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลและเป็นสินค้าโดดเด่นอย่างหนึ่งของภาคอีสาน

แหล่งเกสรดอกไม้ที่ผลิตน้ำหวานให้ผึ้งได้ดื่มกินอย่างมีเสถียรภาพ คือ สวนผลไม้เชิงธุรกิจที่อยู่ในภาคเหนือและจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกผลไม้สำคัญของภาคตะวันออก

ทุกปี 2 สามีภรรยาคู่นี้ พร้อมกับเหล่าผึ้งที่พวกเขาเลี้ยงดูจะพากันเดินทางไปทั่วประเทศเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อไปยังสวนผลไม้ พร้อมกับเก็บเกี่ยวน้ำหวานจากมวลเกสรดอกไม้

ผึ้งฝูงนี้จะทำหน้าที่ผสมเกสรในสวนผลไม้ให้ฟรี แลกกับการได้ดื่มกินน้ำหวานจากดอกไม้เพื่อผลิตน้ำผึ้งให้กับสามีภรรยาเพื่อนำไปจำหน่าย หากไม่มีผึ้งฝูงนี้มาทำหน้าที่นี้ เจ้าของสวนผลไม้อาจจะต้องจ้างคนงานให้ผสมเกสรเทียม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าผึ้ง

ข้อมูลจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดขอนแก่น พบว่า ประเทศไทยมีผลผลิตน้ำผึ้งต่อปีทั้งหมดประมาณ 10,000 ตัน โดยมีน้ำผึ้งที่ผลิตในภาคอีสานเพียงร้อยละ 8-10 ในขณะที่ผลผลิตส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือ ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 80 และผลผลิตน้ำผึ้งส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10-12 มาจากภาคอื่นๆ

นิคมและจันเพ็ง พบที่ดินแปลงนี้ครั้งแรกขณะที่พวกเขาตระเวนหาที่ดินแปลงเมื่อปีที่แล้วใน จ.เลย “หลังจากที่วางรังผึ้งลง ผมก็ปล่อยให้ผึ้งทำงานของมันไป แล้วผมก็ขับรถไปเรื่อยๆ เพื่อหาแหล่งน้ำหวานแห่งใหม่ให้กับผึ้ง” รูปโดย Mike Eckel

การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นต้นตอของปัญหา

การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นวิถีการปลูกพืชเศรษฐกิจเพียงชนิดบนที่ดินแปลงเดียวอย่างต่อเนื่อง เช่น การปลูกอ้อย ซึ่งเป็นวิธีที่พืชเกาะกินแปลงเพาะปลูกในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้โอกาสด้านความมั่นคงทางอาหารของประชากรผึ้งในภาคอีสานดูจะริบหรี่ไร้ความหวัง 

อ้อยอาจเป็นพืชที่ให้ความหวาน แต่ก็เป็นพืชที่เป็นแหล่งอาหารให้แก่ผึ้งได้น้อย แม้ว่าอ้อยจะไม่สามารถผลิตน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ แต่ผึ้งก็อาจดูดดื่มน้ำอ้อยหวานๆ ที่หยดไหลออกมาจากตออ้อยหลังถูกตัดเก็บเกี่ยวไปแล้ว 

ผึ้งสามารถเก็บเกี่ยวละอองเกสรจากดอกอ้อยได้ แต่การดอกของต้นอ้อยนั้นก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะบางครั้งสภาะแวดล้อมก็ไม่เอื้ออำนวยทำให้ต้นอ้อยอาจไม่จะออกดอกเลยตลอดทั้งปี จึงทำให้อ้อยเป็นแหล่งละอองเกสรที่ไม่แน่นอนและดอกอ้อยเองก็ไม่ได้มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจใดๆ ต่อผู้ปลูกอ้อย ดังนั้นเกษตรกรจำนวนจึงปลูกพันธุ์ที่ไม่ออกดอกเลย

พื้นที่การปลูกอ้อยในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้มีการใช้ยาฆ่าแมลงในระดับสูง ระหว่างปี 2550 ถึงปี 2558 พื้นที่การปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 6.5 ล้านไร่ เป็นกว่า 11 ล้านไร่ โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ตั้งเป้าให้มีการเก็บเกี่ยวอ้อยเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 80 ภายในปี 2569

คนอีสานมีวิธีการจัดการที่ดินดั้งเดิมแต่โบราณเรียกว่า “หัวไร่ปลายนา” ซึ่งเป็นการจัดการที่ดินโดยแบ่งพื้นที่ป่าให้กระจายอยู่ตามพื้นที่แนวเกษตรกรรม ป่าเล็กๆ เหล่านี้ทำหน้าที่ทำให้สภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แก่มวลพืชพันธุ์และสัตว์ป่านานาชนิดได้อยู่อาศัยและแน่นอนว่า ผึ้งก็ชื่นชอบผืนป่าแบบนี้ เพราะเป็นผืนป่าที่มีดอกไม้ป่าคอยล่อตาลอยใจ ทว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้ทำให้ภูมิทัศน์การจัดการที่ดินและผืนป่าของอีสานหายไป

“แต่ก่อนเคยมีที่ดินที่เป็นแหล่งอาหารมากมายให้กับผึ้ง ตอนนั้นเราไม่ได้ปลูกพืชแบบนี้” นิคมกล่าว “แต่ทุกวันนี้ คนพากันปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง ข้าวโพด หรืออ้อย ดินก็เลยไม่เคยถูกปล่อยให้รกร้างและฟื้นตัว”

ที่ดินที่ถูกปล่อยรกร้างเป็นอีกจุดที่ดอกไม้ป่าเจริญเติบโตได้ ผึ้งเองก็เช่นเดียวกับมนุษย์ที่ต้องการอาหารหลากหลายเพื่อให้เจริญเติบโตได้ หากปราศจากความหลากหลายทางอาหารแล้วล่ะก็ ผึ้งก็จะมีสุขภาพไม่ดีและมีโอกาสน้อยที่จะรอดจากโรคภัยต่างๆ รวมถึงการสัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรเชิงพาณิชย์ด้วย 

ถ้ามองในแง่ดีอาจมองได้ว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยวบังคับให้ผึ้งต้องยังชีพด้วยอาหารจำเจ แต่หากมองในแง่ร้ายการปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้ทำให้ผืนดินกลายเป็นเหมือนทะเลทราย อันแห้งแล้งอาหารสำหรับผึ้ง การปลูกพืชเชิงเดี่ยวยังมีผลข้างเคียงทำให้สิ่งแวดล้อมมีสารเคมีและเป็นพิษสำหรับผึ้ง

ปัญหาความท้าทายของการผนึกกำลังของเกษตรเชิงเดี่ยวกับการใช้ยาฆ่าแมลงได้ทำให้คนเลี้ยงผึ้ง นักวิชาการ และนักสิ่งแวดล้อม ต่างออกมาเรียกร้องเพื่อให้มีการปกป้องผึ้ง รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพและธุรกิจต่างๆ ที่ใช้น้ำผึ้ง

โปรดติดตามตอนที่  2 ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย. 2562) 

image_pdfimage_print