ผมตั้งใจว่า ช่วงนี้จะยังไม่แสดงความเห็นเรื่องนี้มากนัก เพราะเข้าใจว่า ทุกฝ่ายกำลังวุ่นอยู่กับการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ จ.อุบลราชธานี และผมเองก็อยากจะเข้าช่วยระดมทรัพยากรเพื่อส่งต่อไปยังผองเพื่อนที่กำลังอยู่ในสนามเท่าที่ผมจะทำได้
แต่ด้วยเหตุที่ว่า ประเด็นภัยพิบัติอุทกภัยไม่ได้มีแค่เรื่องการเตือนภัย การช่วยเหลือช่วงเกิดเหตุ และการฟื้นฟูและเยียวยา แต่สังคมต้องพิจารณาถึงสาเหตุของการเกิดภัยพิบัติอุทกภัย เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการป้องกันอุทกภัยในอนาคตด้วย ผมจึงตัดสินใจเขียนบทความนี้ขึ้นมา
บทความนี้เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นและสามารถถกเถียงกันได้ อาจมีประโยชน์ในการแสวงหาแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยในภาคอีสาน
น้ำท่วมปี 2562 สูงกว่า 3 เมตร ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง จ.อุบลราชธานี ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์
1. ผังเมืองที่เป็นอันตราย
อุทกภัยที่เกิดขึ้นในอีสาน หลายพื้นที่มีสาเหตุมาจากปัญหาผังเมืองที่ปล่อยให้มีการถมทางน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และการก่อสร้างที่กีดขวางทางไหลของน้ำ มีทั้งบ้านเรือน อาคารพานิชย์ โครงการพัฒนาของรัฐ และสถานที่ราชการ
ขณะที่การสร้างถนนส่วนใหญ่ไม่มีทางระบายน้ำหรือมีแต่ขนาดเล็กมาก ทำให้ถนนกลายเป็นเขื่อนที่ยาวขวางกั้นการไหลของน้ำ การสร้างสะพานที่แคบ แค่น้ำไหลมาพร้อมผักตบชวาก็ล้นขึ้นสะพานและอุดตันจนน้ำไหลไม่ได้
เหตุการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ภาคอีสานในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.บึงกาฬ สกลนคร ร้อยเอ็ด อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ฯลฯ

แปลงเพาะปลูกอ้อยใน จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งถือเป็นทำเกษตรแผนใหม่ที่มีกว่า 5 ล้านไร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2. เกษตรแผนใหม่
น้อยคนนักที่จะคิดว่า การเปลี่ยนแปลงการทำเกษตรจากไร่นาไปสู่เกษตรแผนใหม่จะส่งผลให้เกิดอุทกภัยได้มากขึ้น แต่สาเหตุหนึ่งของการเกิดอุทกภัยในอีสานที่รุนแรงมากขึ้นมาจากสาเหตุนี้
ตัวอย่างเช่น ลำน้ำฮวย ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย เกิดอุทกภัยที่บ้านวังมนหนักมากขึ้นทุกวัน ชาวบ้านระบุว่า สาเหตุหนึ่งมากขึ้นมาจากการเปลี่ยนพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ทำการเกษตรไปเป็นสวนยางพารา
ลักษณะสำคัญของยางพารา ก็คือ ใบย่อยสลายยาก เมื่อใบยางพาราทับถมกันหนามากๆ ก็ทำให้พื้นดินมีสภาพเหมือนกับมีผ้าใบรองไว้ไม่ให้น้ำฝนไหลซึมลงใต้ดิน และน้ำก็จะไหลลงไปยังเชิงเขาอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ในอีสานปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่ได้เปลี่ยนการทำเกษตรไปเป็นสวนยางพารามากขึ้น หลังจากรัฐบาลได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกยางพารานับตั้งแต่ยุคอีสานเขียว
ในหลายพื้นที่มีข้อสังเกตว่า นาข้าวในอีสานจะมี “คันแท” หรือคันนา คอยกักเก็บน้ำบนผิวดิน ทั้งจากฝนที่ตกมาจากฟ้าและที่ไหลมาจากผืนป่าโคก ระบบการทำนาแบบนี้มีมาแต่โบราณ
ไม่เพียงช่วยให้ชาวนามีน้ำทำนาเท่านั้น แต่ระบบการชลประทานที่โบราณที่สุดนี้ เป็นตัวช่วยชะลอน้ำไว้ไม่ให้ไหลลงทางตอนล่างอย่างรวดเร็ว เพราะนาแต่ละผืนจะสามารถกักเก็บน้ำไว้จำนวนมาก
แต่พื้นที่การทำนาถูกเปลี่ยนไปเป็นไร่อ้อย มีการรื้อคันนาออกหมด เมื่อฝนตกลงมา น้ำก็ไหลบ่าลงด้านล่างอย่างรวดเร็ว และเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ทำให้เกิดอุทกภัยรุนแรงมากยิ่งขึ้น
อีสานมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากกว่า 5 ล้านไร่ หมายความว่า ที่นาหลายล้านไร่ที่เคยช่วยกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากได้หายไปด้วย
หากมีการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 29 แห่งทั่วอีสาน ผืนนาที่เคยช่วยในการกักเก็บและชะลอน้ำอาจจะหายไปได้ถึง 5 ล้านไร่ นั่นเท่ากับว่า เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุทกภัยในอีสานและทำให้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นได้
3. ลำน้ำถูกทำให้เป็นคลอง
การขุดลอกลำน้ำเป็นโครงการที่รัฐเริ่มนำมาปฏิบัติในอีสานนับแต่โครงการอีสานเขียวเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่มีการขุดลอกลำน้ำเสียว สายน้ำสำคัญอีกสายในเขตทุ่งกุลาร้องไห้
การขุดลอกลำน้ำมีมากขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลให้ระบบนิเวศน์สองฝั่งลำน้ำถูกทำลาย ต้นไม้และพรรณพืชต่างๆ ริมลำน้ำที่เคยยึดตลิ่งและดูดซับน้ำไว้ถูกขุดออกและแทนที่ด้วยดินจากการขุดลอกลำน้ำ
นอกจากทำให้ขาดแคลนน้ำ เพราะน้ำระเหยได้ง่าย และทำให้น้ำในลำน้ำไหลลงทางตอนล่างอย่างรวดเร็วแล้ว ในฤดูน้ำหลาก การขุดลอกลำน้ำที่ทำให้น้ำไหลจากข้างบนลงล่างอย่างรวดเร็ว ยังทำให้เกิดอุทกภัยกับชุมชนที่อยู่ด้านล่างด้วย
ตัวอย่างเช่น อุทกภัยในลุ้มน้ำฮวย อ.สังคม จ.หนองคาย หลังจากสองฝั่งลำน้ำถูกขุดลอก ทำให้ในฤดูน้ำหลาก น้ำได้ไหลจากตอนบนของลุ่มน้ำลงมาทางล่างอย่างรวดเร็ว เนื่องจากลำน้ำถูกทำให้มีสภาพเป็นคลอง และเป็นสาเหตุหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอุทกภัยรุนแรงขึ้นในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำฮวย

น้ำท่วมถนนทางไปวารินชำราบ – อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ที่กลายเป็นทางน้ำผ่าน ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์
4.แม่น้ำถูกทำให้เป็นซุปเปอร์ไฮเวย์
ระบบนิเวศน์แม่น้ำในอีสานไม่ได้มีเพียงลำน้ำ แต่ลำน้ำทุกสายจะมีพื้นที่ชุ่มน้ำสองฝั่งลำน้ำ เช่น แม่น้ำชีตอนบน แถบขอนแก่นและมหาสารคาม มี “แก่ง” ที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ เช่น แก่งละว้า แก่งเลิงจาน และแม่น้ำห้วยหลวง
แถบอุดรธานีมีหนองน้ำขนาดใหญ่ เช่น หนองแด ขณะที่แม่น้ำสงคราม แม่น้ำชีตอนล่าง และแม่น้ำมูล จะมีป่าบุ่งป่าทามขนาดใหญ่กระจายเกือบทั่วสายน้ำ
แก่ง หนอง และป่าบุ่งป่าทาม คือ ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์แม่น้ำ และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในการรักษาความสมดุลของระบบการไหลของน้ำในลุ่มน้ำ ในฤดูแล้งจะมีน้ำขังตลอดปีและช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้
ขณะที่ในฤดูฝนเมื่อเกิดน้ำท่วมหลาก พื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้จะเป็นเหมือนฟองน้ำที่คอยซับน้ำไว้ไม่ให้เกิดอุทกภัยหรือลดอุทกภัยให้แก่พื้นที่ทางตอนล่าง เพราะน้ำจากลำน้ำจะไหลเข้าไปยังแก่ง หนอง และป่าบุ่งป่าทามในฤดูน้ำหลาก และเป็นที่วางไข่ของปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำโขง ถือเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกให้แก่ชุมชนสองฝั่งลำน้ำ
สองทศวรรษที่ผ่านมา การจัดการน้ำของรัฐได้มีการสร้างพนังกั้นน้ำรอบพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้ระบบการไหลของน้ำระหว่างแม่น้ำกับพื้นที่ชุ่มน้ำถูกตัดขาดออกจากกัน นำไปสู่การเกิดอุทกภัยที่รุนแรง เช่น อุทกภัยที่บ้านชีกกค้อ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น
หลังจการสร้างพนังกั้นน้ำเป็นแนวยาวที่ตัดขาดแม่น้ำชีกับแก่งละว้า ตลอดลำน้ำชียังมีการสร้างพนังกั้นน้ำสองฝั่งแม่น้ำเป็นระยะๆ และทำให้น้ำไหลเข้าไปในพื้นที่ชุ่มน้ำไม่ได้ บ่อยครั้งทำให้พนังกั้นน้ำพังและเกิดอุทกภัยในพื้นที่หลังพนังกั้นน้ำ
การสร้างพนังกันน้ำที่บังคับให้น้ำไหลไปตามลำน้ำอย่างเดียว ได้ทำให้แม่น้ำกลายเป็นทางด่วนพิเศษ (super highway) ที่มวลน้ำเคลื่อนตัวจากทางตอนบนลงไปทางตอนล่างอย่างรวดเร็ว จึงไม่แปลกที่จะเกิดอุทกภัยในพื้นที่ปลายน้ำอย่างรุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะแถบอุบลฯ และวารินชำราบ
5.สายน้ำถูกล่ามโซ่
อีสาน คือภูมิภาคที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แบ่งภูมินิเวศน์ออกเป็นแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช โดยมีสายน้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่เป็นแม่น้ำนานาชาติทางทิศตะวันออกของภูมิภาค
ในแอ่งสกลนคร มีสายน้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำสงคราม และยังมีสายน้ำกลางและเล็กๆ อีกหลายสาย เช่น น้ำเลย น้ำฮวย ฯลฯ
ส่วนแอ่งโคราช มีแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล และมีแม่น้ำสาขาอีกหลายสาย เช่น น้ำพอง ลำตะคอง ลำพระเพลิง ฯลฯ
ในการจัดการน้ำที่ผ่านมา วิธีการหลักที่รัฐนำมาใช้ในการจัดการน้ำก็คือ การสร้างเขื่อน ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และวิธีการนี้ก็ยังไม่ได้สิ้นสุด จนทำให้ลุ่มน้ำในอีสาน โดยเฉพาะลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล มีเขื่อนมากที่สุดในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปากแม่น้ำมูลที่โขงเจียม จนเรียกได้ว่าเป็นสายน้ำที่เต็มไปด้วย “สลัมเขื่อน” ขณะที่แม่น้ำสาขาเล็กๆ ก็เต็มไปด้วยฝาย สายน้ำบางสายมีฝายเต็มไปหมดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปากน้ำ
จากการติดตามสถานการณ์อุทกภัย การลงภาคสนาม และการให้นิสิตลงไปทำวิจัย พบว่า การล่ามโซ่สายน้ำเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภัยพิบัติอุทกภัย
ตัวอย่างของลำน้ำสายเล็กๆ แต่เกิดอุทกภัยถี่มากขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ก็คือ ลำน้ำฮวย อ.สังคม จ.หนองคาย แต่เดิมน้ำฮวยไม่ได้เกิดอุทกภัย แต่ 3-4 ปีมานี้เกิดอุทกภัยรุนแรงขึ้น ทั้งที่ปริมาณน้ำฝนก็ไม่ได้มากไปกว่าปีที่ไม่เกิดอุทกภัย
การสำรวจสายน้ำของนิสิตพบว่า สายน้ำเล็กๆ เต็มไปด้วยฝายคอนกรีต ตั้งแต่ต้นน้ำจนเกือบถึงปากแม่น้ำก่อนไหลลงน้ำโขง ฝายเหล่านี้มีหน่วยงานต่างๆ เข้าไปสร้างโดยไม่มีการมีส่วนร่วมของชุมชน เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ทิ้งไว้
นอกจากการออกแบบจะไม่เหมาะสมแล้ว ยังไม่มีการบำรุงรักษาอีกด้วย ทำให้เมื่อเกิดฝนตก ฝายบางแห่งได้พังลงมา และทำให้น้ำลงมาตอนล่างอย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องมาปะทะกับฝายที่อยู่ตอนล่าง น้ำที่ลงมานั้นยังมีต้นไม้กิ่งไม้มาด้วย จึงทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ท้ายน้ำอย่างรวดเร็ว
ขณะที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำได้ทำให้เกิดอุทกภัยที่รุนแรงในระดับของภัยพิบัติ ดังเช่น เขื่อนห้วยทรายขมิ้นที่แตกเมื่อ 2 ปี ที่แล้ว และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่เมืองสกลนคร
ขณะที่ในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว เขื่อนน้ำพุง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนลำปาว และเขื่อนอุบลรัตน์ ต่างก็เป็นสาเหตุให้เกิดอุทกภัยพื้นที่ท้ายเขื่อนหนักมากและกินเวลายาวนาน เพราะต้องเร่งระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อน
อุทกภัยในอีสานก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่เกิดท้ายเขื่อนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสกลนคร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ไปจนถึงยโสธร และอุบลราชธานี
สำหรับการเกิดอุทกภัยในปีนี้ เขื่อนใหญ่ๆ ทางต้นน้ำดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ปล่อยน้ำลงมาและทำให้เกิดอุทกภัยท้ายเขื่อนเหมือนก่อนหน้านี้ เพราะมีน้ำน้อย
แต่เขื่อนทางตอนล่างที่กั้นแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีตั้งแต่มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ ไปจนถึงอุบลฯ บริเวณที่กล่าวถึงนี้มีเขื่อนกั้นลำน้ำชีและมูลที่เป็นแม่น้ำสายหลักถึง 6 เขื่อน คือ เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา และเขื่อนปากมูล
การสร้างเขื่อนเหล่านี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความคิดที่ว่า “จะไม่ปล่อยให้น้ำในอีสานไหลลงแม่น้ำโขงอย่างสูญเปล่า” แต่เขื่อนเหล่านี้กลับเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุทกภัย
โดย 5 เขื่อนแรก ถูกสร้างขึ้นภายใต้โครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล โดยลวงชาวบ้านว่า จะสร้างฝายยางที่จะเติมลมหน้าแล้งเพื่อกักเก็บน้ำ และปล่อยลมออกเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน แต่เมื่อสร้างจริงกลับเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำ
เขื่อนต่างๆ เหล่านี้ เมื่อสร้างเสร็จก็ไม่มีประโยชน์ทางด้านชลประทานอย่างที่วางแผนไว้ ขณะที่เขื่อนปากมูลที่เป็นเขื่อนเอนกประสงค์ที่อยู่ล่างสุดก่อนน้ำมูลไหลลงแม่น้ำโขงเพียง 6 กิโลเมตร และได้ปิดตายลุ่มน้ำมูล ก็ไม่ได้มีประโยชน์ด้านพลังงานและชลประทานอย่างที่วางไว้
อุทกภัยที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เขื่อนเหล่านี้สร้างเสร็จ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงมากขึ้น เพราะปิดประตูระบายน้ำไว้ ขณะที่การเปิดประตูเขื่อนเกิดขึ้นหลังจากระดับน้ำวิกฤตแล้ว
ดังเช่นเขื่อนปากมูลที่อยู่ท้ายสุด เพิ่งเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งที่พายุเข้าอีสานตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม
6. ไม่มีการไม่ประเมินความเสี่ยงและไม่มีแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน
การบริหารจัดการเขื่อนหลายแห่งไม่มีการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment : RA) ที่ต้องซ่อมบำรุงเขื่อนให้ปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ ดังกรณีเขื่อนห้วยทรายขมิ้นที่แตกและทำให้เกิดอุทกภัยในจังหวัดสกลนครเมื่อปี 2560 ทั้งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเขื่อนแห่งนี้รู้ว่า การออกแบบเขื่อนมีความผิดพลาดที่ไม่ได้มีทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน แต่ก็ไม่ได้แก้ไข
ที่สำคัญอีกประการ คือ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำทุกแห่งไม่มีแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Emergency Response Plan : EERP) ซึ่งแผนนี้ หน่วยงานเจ้าของเขื่อนจะต้องเป็นแกนกลางจัดทำให้แก่ชุมชนท้ายเขื่อนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องซ้อมแผน และมีการปฏิบัติที่ชัดเจน
ทั้งนี้เชื่อว่า เขื่อนและอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ในภาคอีสาน (รวมถึงเขื่อนทั่วประเทศ) ไม่มีแผนนี้ หรือมีก็เฉพาะสำหรับตัวเขื่อน แต่ไม่ได้รวมพื้นที่ท้ายเขื่อนที่จะประสบกับภัยพิบัติอุทกภัย หากมีการระบายน้ำออกจากเขื่อนแบบเร่งด่วนหรือกรณีที่เขื่อนวิบัติ
ดังจะเห็นว่า กรณีที่มีการเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนเมื่อปริมาณน้ำในอ่างมีมากเกินกว่าเขื่อนจะรับได้ ก็มีแค่การแจ้งเตือนไปตามระบบราชการว่า จะปล่อยน้ำ แต่ไม่เคยมีแผนรองรับสำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำ ดังที่เคยเกิดกับเขื่อนน้ำอูน เขื่อนลำปาว และเขื่อนอุบลรัตน์
ส่วนกรณีของเขื่อนวิบัติ เห็นได้ชัดเจนจากกรณีเขื่อนห้วยทรายขมิ้นแตกเมื่อปี 2560 และทำให้เกิดอุทกภัยครั้งร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมืองสกลนคร ที่ไม่มีแม้แต่การเตือนภัย และเมื่อเกิดภัยพิบัติอุทกภัย ก็ไม่มีการสอบสวนเอาผิดผู้ดูแลเขื่อน หน่วยงานที่เกี่ยวกับเขื่อนไม่ได้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังปกปิดข้อมูลโดยการอ้างว่าเป็นแค่ “น้ำกัดเซาะ”
7. ไร้แผนเผชิญเหตุอุทกภัย การเยียวยา และการฟื้นฟู
แผนเผชิญเหตุอุทกภัย คือแผนที่จัดทำขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะต้องเป็นผู้จัดทำและเป็นผู้บัญชาการ แผนนี้ไม่ใช่การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในยามปกติ แต่ในแผนนี้ต้องมีการสรุปสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา และประเมินสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งพื้นที่เสี่ยง

รถบรรเทาทุกข์กำลังนำสิ่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี น้ำท่วมปี 2562 ทำให้รถเล็กสัญจรลำบาก ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์
การกำหนดภารกิจของหน่วยงานราชการว่า หน่วยงานใดต้องรับผิดชอบอะไร พื้นที่ไหน การกำหนดการปฏิบัติการอย่างเป็นระบบทั้งการเตือนภัย การอพยพ การปฏิบัติในภาวะฉุกเฉินที่ต้องมีโครงสร้างการบัญชาการ การกำหนดที่มาของงบประมาณ และรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพยากรต่างๆ ที่จะถูกนำมาใช้ในการจัดการกับภัยพิบัติ
ขณะที่แผนการเยียวยาและการฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติ จะต้องเร่งจัดทำโดยทันทีหลังจากเกิดภัยพิบัติ และนำมาปฏิบัติทันทีหลังจากสามารถกู้ภัยพิบัติเสร็จสิ้นแล้ว
ปัจจุบัน หลายจังหวัดในภาคใต้ได้จัดทำแผนเผชิญเหตุภัยพิบัติที่ครอบคลุมถึงอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม และสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้ดีขึ้น ขณะที่ในภาคอีสาน เชื่อว่า ไม่มีจังหวัดไหนที่มีแผนนี้ นอกจากแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในยามปกติ
นอกจากระดับจังหวัดแล้ว องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็สามารถจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัยได้ด้วย และใช้หลักการเดียวกันกับการจัดทำแผนในระดับจังหวัด แต่ยังไม่พบว่า มี อปท.ไหน ที่มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย จะมีก็แต่แผนเผชิญเหตุภัยแล้ง
การขาดแผนเผชิญเหตุอุทกภัยในแต่ละจังหวัด จึงทำให้ไม่สามารถรับมือกับอุทกภัยได้ทันท่วงที แม้แต่การเตือนภัยซึ่งเป็นการจัดการภัยพิบัติเบื้องต้นที่สุดก็แทบจะไม่มี
ขณะที่การกู้ภัยก็ทำกันตามยถากรรม ไม่มีระบบ ไม่สามารถระดมทรัพยากรได้ทันท่วงที ในบางกรณี แม้แต่ผู้บัญชาการในระดับจังหวัดและระดับอำเภอก็ยังไม่รู้ว่าตนเองต้องมีหน้าที่ทำอะไร เมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น ที่อำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ช่วงเกิดอุทกภัย นายอำเภอยังขับรถไปดูน้ำท่วมไม่แตกต่างจากไทยมุง
การขาดแผนเผชิญเหตุอุทกภัยจึงทำให้ภัยพิบัติอุทกภัยสร้างความเสียหายมาก ทั้งที่สามารถเตรียมรับมือและลดปัญหาผลกระทบได้
การรับมือกับอุทกภัยหลายพื้นที่ในอีสาน ไม่ได้มาจากการปฏิบัติของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง แต่มาจากภาคประชาชน เช่น การเตือนภัยส่วนใหญ่มาจากสื่อสังคมออนไลน์
ขณะที่ประชาชนต้องช่วยเหลือกันเองในการแจ้งเตือนในระดับชุมชนและช่วยกันอพยพกันเอง
ปัญหาที่เกิดขึ้นยังเชื่อมโยงกับโครงสร้างของอำนาจในการจัดการภัยพิบัติในระดับชาติ ที่รวมศูนย์และผูกขาดการจัดการภัยพิบัติไว้ที่รัฐ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทำให้การจัดการภัยพิบัติอุทกภัย (ที่บ่อยครั้งไม่มีการจัดการ) ไม่ตอบสนองต่อปัญหาอุทกภัยในอีสานที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน