บทความพิเศษชุด: ความหวานและอำนาจ

ตอนแรกของสารคดีเกี่ยวกับผึ้ง (อ่านที่นี่) เดอะอีสานเรคคอร์ด ได้พาผู้อ่านติดตามดูเรื่องราวของคนเลี้ยงผึ้ง รวมถึงความท้าทายที่พวกเขาและฝูงผึ้งต่างเผชิญจากการเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งทำให้แหล่งอาหารที่เหล่ามวลผึ้งเสาะหาเพื่อผลิตน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ลดน้อยลง

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำผึ้งรายใหญ่อันดับสองของเอเชียอาคเนย์ รองจากเวียดนาม โดยภาพรวมทวีปเอเชียสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ถึงร้อยละ 49 ของโลก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่า เอเชียได้อนุรักษ์สภาพแวดล้อมที่มีสำคัญอย่างมากต่อผึ้ง 

แต่ตอนนี้การเลี้ยงผึ้งในประเทศไทยกำลังถูกคุกคาม ซึ่งตอนนี้เราจะดูผลกระทบอันเลวร้ายที่เกิดจากยาฆ่าแมลงต่อชีวิตผึ้ง ซึ่งเป็นความท้าทายที่เกิดจากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวกับการใช้ยาฆ่าแมลงที่ทำให้คนเลี้ยงผึ้ง นักวิชาการ และนักสิ่งแวดล้อม ออกมาเรียกร้องให้มีการปกป้องผึ้ง รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพและธุรกิจใช้น้ำผึ้ง

บรรดาผู้ฟังที่มีประมาณ 20 คน หลายคนมีผิวคล้ำกร้านแดดเหมือนคนที่ทำมาหากินอยู่กลางแจ้ง ทั้งหมดต่างตั้งใจฟัง นิคม โคตรสุวรรณ เล่าประสบการณ์ตรงจากการเลี้ยงผึ้ง 

นิคม คนเลี้ยงผึ้งวัย 53 ปี แต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตสีเทาเอาเสื้อเข้าในกางเกงสแลคสีดำอย่างดูดี เขาเป็นประธานสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย เขายืนอยู่พร้อมกำไมโครโฟนอยู่ในมือข้างหนึ่ง 

วันนี้ใบหน้าของเขาดูจริงจังเป็นพิเศษ พลางกล่าวขอบคุณผู้ฟังทุกคนที่มาร่วมรับฟังและขอบคุณเจ้าหน้าที่เกษตรฯ จังหวัดขอนแก่นที่จัดการประชุมเร่งด่วนขึ้น

สถานการณ์เลวร้าย

“อย่างที่ทุกคนน่าจะทราบแล้วที่ภาคเหนือ สมาชิกของเราเสียผึ้งไปเยอะมาก” เขากล่าว “สมาชิกบางคงกลับมาพร้อมกับผึ้งที่มีชีวิตอยู่แค่ครึ่งรัง” เขาหยุดเนื่องจากผู้ฟังส่งเสียงฮือฮาตกใจกับคำบอกเล่าของเขา

ทางสมาคมฯ​ เชื่อว่า เมื่อปีที่ผ่านมาประชากรผึ้งที่อยู่ภายใต้การดูแลของสมาชิกลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง

“เราต้องคุยกันเกี่ยวกับสารเคมีชื่อว่า SS-55” นิคม กล่าว

แนวโน้มการใช้ยาฆ่าแมลง

สำหรับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่อย่างอ้อยหรือมันสำปะหลัง เกษตรกรมักพ่นยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งยาฆ่าแมลงส่วนหนึ่งมีสารนีโอนิโคตินอยด์ที่เป็นสารเคมีที่ใกล้เคียงกับสารนิโคตินและเป็นสารที่ทำลายระบบประสาทส่วนกลางของแมลง

ในจำนวนยาฆ่าแมลงที่ขายทั่วโลก พบว่า 1 ใน 4 มีสารนีโอนิโคตินอยด์เป็นส่วนประกอบ แม้ว่าสารเคมีประเภทนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูกและไม่มีจุดประสงค์เพื่อฆ่าผึ้ง แต่ผึ้งก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

ขณะเดียวกันผึ้งจะเสพติดสารนีโอนิโคตินอยด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้มันเสียสมาธิจากการเก็บน้ำหวานเกสรดอกไม้เพื่อนำกลับไปยังรังผึ้ง ยิ่งไปกว่านั้น ผึ้งยังสูญเสียความจำและความสามารถในการบินกลับรัง หลังจากบินไปยังต้นพืชที่ปะปนไปด้วยสารนีโอนิโคตินอยด์ โดยจะมีผลให้ผึ้งบินกลับรังของตัวเองไม่ได้ ส่งผลให้ผึ้งนำน้ำหวานกลับรังน้อยลงทำให้ผึ้งที่เหลืออยู่ในรังจะไม่มีอาหารกิน และรังก็จะตายลงไปในที่สุด แม้ว่าผึ้งจะบินกลับมายังรังได้แต่น้ำหวานที่ปนสารเคมีก็จะค่อย ๆ ทำให้ผึ้งตัวอื่นติดสารพิษไปด้วย 

การวิจัยจากปรากฏการณ์นี้ได้ส่งผลให้เมื่อเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้สั่งห้ามสารนีโอนิโคตินอยด์ 3 ชนิด คือ โคลไธอาไนดิน อิมิดาโคลปิด และไธอาเมโธแซม ขณะเดียวกันฝรั่งเศสก็สั่งห้ามสารนีโอโคตินอยด์อีก 2 ชนิด ได้แก่ ไธอาโคลปิดและเอซตามิปริด

แต่ในประเทศไทยการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีสารเคมีคร่าชีวิตผึ้งกลับมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ 

หนึ่งในสารนีโอนิโคตินอยด์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด คือ สารอิมิดาโคลพริด ที่จำหน่ายในประเทศไทยภายใต้เครื่องหมายการค้าโพรวาโด ส่วนยาฆ่าแมลงชนิดอื่นที่ไม่มีสารนีโอนิโคตินอยด์ เช่น คลอไพริฟอส ซึ่งเป็นสารที่ไม่ได้ถูกสั่งห้ามโดยรัฐบาลช่วงต้นปีนี้ก็ยังเป็นอันตรายต่อผึ้งอยู่

ฆาตรกรรมหมู่ด้วยสารเคมี

สารคลอไพริฟอสรูปแบบใหม่ที่กำลังทำการตลาดอย่างหนักหน่วงในหมู่เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ในไทยใช้ชื่อยี่ห้อ “SS-55” สมาคมผู้เลี้ยงผึ้งประเมินว่า “SS-55” ได้ฆ่าชวิตประชากรผึ้งที่ถูกนำไปกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ที่ภาคเหนือกว่าครึ่งหนึ่งแล้วปีนี้

“พนักงานขายสารเคมีบอกเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ว่า สูตรใหม่นี้ใช้พ่นใส่ดอกไม้ช่วงที่บานเต็มที่” ธีระพงศ์  เศวตสุวรรณ คนเลี้ยงผึ้งเจ้าของฟาร์มในจังหวัดเลยและนครราชสีมา กล่าว พร้อมกับตั้งคำถามว่า “ยาฆ่าแมลงจะช่วยผสมพันธ์ุดอกไม้ได้อย่างไร ในเมื่อมันฆ่าผึ้งที่เป็นตัวผสมพันธ์ุดอกไม้เสียเอง”

นิคมอธิบายว่า เกษตรกรปลูกผลไม้บางรายที่เขามีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนานได้ตกลงว่า จะไม่ใช้ยาฆ่าแมลงชนิดนี้ แต่คนอื่นตัดสินใจทดลองใช้ ถึงแม้มันจะให้ผลลัพธ์ที่เป็นหายนะต่อผึ้งก็ตาม 

“ตอนที่ยังไม่มีการพ่นใส่ดอกไม้ที่กำลังบานเต็มที่ เพราะว่าถ้าพ่นไป ดอกไม้ก็จะถูกสารเคมีทำลาย ตอนนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร” นิคมอธิบาย พร้อมกล่าวว่า ผึ้งสามารถแยกแยะระหว่างดอกไม้บานที่โดนพ่นยากับดอกที่ยังไม่โดนพ่นยาไม่เป็น “มีคนฉีดไม่กี่คน แต่ก็พังกันทุกคน”

“แต่เราห้ามเกษตรกรพ่นยาไม่ได้” เขายอมรับ “มันเป็นสิทธิ์ของเขา”

ธีระพงศ์คิดว่า รัฐบาลควรจะเข้ามาช่วยกำกับดูแลการใช้ยาฆ่าแมลงมากขึ้น หากต้องการให้อุตสาหกรรมน้ำผึ้งไทยรอดพ้นจากหายนะที่เกิดจากยาฆ่าแมลง

สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านผึ้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผึ้งขาดแหล่งอาหาร ซึ่งเป็นข้อมูลเดียวกับ นิคม ที่คิดว่า เป็นภัยที่คุกคามประชากรผึ้งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นผึ้งป่าหรือผึ้งเลี้ยง ก็ได้รับผลกระทบจากฆ่าแมลงเช่นกัน 

“เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะเกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงเพิ่มมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจวิธีการใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม” เขากล่าว “สิ่งที่เราจะทำได้เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ก็คือ การทำให้เกษตรกรลดการใช้ยาฆ่าแมลง แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องทำอย่างไร” ผู้เชี่ยวชาญด้านผึ้ง กล่าว

การใช้ยาฆ่าแมลงอย่างแพร่หลายในการทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ทำให้ประชากรผึ้งทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยง โดยพบว่า ยาฆ่าแมลงที่ขายทั่วโลกประมาณ 1 ใน 4 มีสารนีโอนิโคตินอยด์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีผลต่อความสามารถในการบินกลับรังของผึ้ง รูปโดย Mike Eckel

เมื่อในรังไม่มีผึ้ง

ผึ้งมีความสำคัญต่อสภาพแวดล้อม แต่การลดลงของประชากรผึ้งทำให้ สิริวัฒน์ มีความกังวล เนื่องจากจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมการปลูกผลไม้ในประเทศไทยตามมาด้วย หากเมื่อเทียบกับแมลงสัตว์มีปีกที่ทำหน้าที่ผสมเกสรดอกไม้นั้น ผึ้งถือว่า มีบทบาทสำคัญอย่างมากและการหายไปของพวกมันจะทำให้ระบบนิเวศเกิดช่องว่างขนาดใหญ่

“ธุรกิจผลไม้จะได้รับผลกระทบอย่างมาก”​ เขากล่าว “สวนผลไม้ทั้งหมดในจังหวัดทางภาคเหนือและในจังหวัดที่ปลูกผลไม้ เช่น จันทบุรี ที่ปลูกลองกองและลิ้นจี่ จะทำให้มีผลผลิตลดน้อยลง”

สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของผึ้งต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

สุภากล่าวว่า ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ดอกไม้และพืชพันธ์ุต่างๆ จะทำหน้าที่เสมือนเครื่องมือที่มีความสามารถเฉพาะตัว แต่เป็นความสามารถที่ทับซ้อนกัน เช่น ในปีที่ผีเสื้อมีจำนวนลดน้อยลง ประชากรผึ้งที่มีจะช่วยทำให้ระบบนิเวศเกิดการผสมเกสรได้เพียงพอจนกว่าจำนวนประชากรผีเสื้อจะฟื้นตัว

ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเสมือนเครื่องมือปกป้องผลกระทบที่จะเกิดกับธรรมชาติ สุภา อธิบายว่า เป็นเพราะความหลากหลายทางชีวภาพช่วยให้เรามีทางเลือกต่างๆ ในการบำรุงรักษาระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์

หากไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศจะมีความเปราะบาง เพราะธรรมชาติมีทางเลือกในการจัดการกับวิกฤติน้อยลง ปัญหาขนาดย่อยในระบบนิเวศที่มีความหลากหลายสูง อาจกลายเป็นปัญหาระดับวิกฤติในพื้นที่ที่มีความหลากหลายต่ำ

“ความหลากหลายทางชีวภาพทำหน้าที่รักษาสมดุลในธรรมชาติและตัวมนุษย์ เพราะทำให้ธรรมชาติและมนุษย์สามารถต่อกรกับวิกฤติสิ่งแวดล้อมได้”

สุภากล่าวเตือนด้วยว่า ความหลากหลายทางระบบนิเวศที่ลดลงยังจะทำให้การต่อสู้กับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องยากขึ้น

“นอกจากความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงอย่างมากที่เกิดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สภาพอากาศเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง จากร้อนจัดไปฝนตกหนัก ทำลายเกษตรกรรม ซึ่งรุนแรงเกินกว่าที่เกษตรกรจะรับมือได้” สุภากล่าว “สถานการณ์แบบนี้ทำให้เกษตรกรหันมาใช้สารเคมีเพื่อให้ควบคุมปริมาณผลผลิตของตัวเองจากการเผชิญกับปัจจัยเหล่านี้ได้”

สุภาเชื่อว่า ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรแล้ว 

นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังกล่าวอีกว่า ควรมีการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งเพื่อยังชีพให้ดีกว่านี้ เพราะมีคนจำนวนมากไม่สนใจที่จะถูกต่อย ศิริวัฒน์แนะนำว่า เกษตรกรทุกที่อาจช่วยกันรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและผสมเรณูต้นผลไม้ของตนได้ด้วยผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน หรือที่เรียกว่า ผึ้งชันโรง (Meliponini)

ผู้ซื้อและเหล่ามวลผึ้ง

แต่ผู้บริโภคก็จะต้องร่วมรับผิดชอบเช่นกัน

“ถึงแม้ว่า จะเป็นเรื่องดีที่เกษตรกรรุ่นใหม่ดูเหมือนจะให้ความตระหนักต่อเรื่องการเษตรอินทรีย์และแบบยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งวิธีการเกษตรที่ผึ้งจะทำหน้าที่เป็นตัวผสมเกสรหลัก”

“แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคด้วยที่จะต้องเข้าใจเกี่ยวกับอาหารที่ตัวเองบริโภคและจะต้องร่วมรับผิดชอบต่อทางเลือกในการบริโภคของตัวเองด้วย” สุภา กล่าว 

ข้อเสนอในการทำให้การปลูกกัญชาเชิงพาณิชย์เป็นเรื่องถูกกฎหมายถือเป็นความหวังใหม่ของผึ้งแห่งภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งนี้

ผึ้งเติบโตได้ดีเมื่อมีกัญชา 

“โห พวกมันชอบดอกกัญชามาก” นิคมกล่าวอย่างตื่นเต้น เขาจำได้ว่า กัญชาเคยเป็นพืชที่ปลูกกันอย่างแพร่หลาย ในฐานะสมุนไพรหลังบ้านของคนอีสานในอดีต

“ถ้าคนเอากัญชามาใส่ในอาหารได้ ผึ้งก็กินกัญชาเหมือนกัน” จันทร์เพ็งหัวเราะพร้อมกับกล่าวว่า “กลายเป็นผึ้งมีความสุขไปเลย”

ผลจากการเพาะปลูกกัญชาเชิงพาณิชย์ในทวีปอเมริกาเหนือได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาและออกมายอมรับว่า จริงๆ แล้ว กัญชาเป็นแหล่งสารอาหารที่สำคัญของผึ้ง

ขวดบรรจุน้ำผึ้งเกรดพรีเมี่ยมราคาประมาณขวดละ 300-400 บาท โดยน้ำผึ้งที่บรรจุได้มาจากผึ้งรังเดียวกันใช้เวลาการผลิตนานกว่าน้ำผึ้งชนิดนี้ผ่านการกรองและไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน  รูปโดย Mike Eckel

นิคมและจันทร์เพ็ง กำลังช่วยกันสร้างศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้เลี้ยงผึ้งคนอื่น ๆ 

ด้วยความสามารถทางด้านธุรกิจ จันทร์เพ็ง ต้องการใช้ความสำเร็จของเธอสร้างโอกาสในการขายผลผลิต เนื่องจากผู้ที่เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฯ อาจต้องการเป็นตัวแทนขายสินค้ามากกว่าเป็นคนเลี้ยงผึ้ง

“ลองคิดดูนะ” จันทร์เพ็งกล่าว “ในปีแรก เราขายได้แค่หนึ่งโหลเอง ทำทั้งปีเราได้เงินรวม 1,200 บาท แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ แล้วดูตอนนี้สิ เรามีรายได้ปีละ 3-4 ล้านเพราะผึ้งทั้งนั้น ประมาณ 1,400 รัง ใช้รถปิกอัพแค่ไม่กี่คันเองและมีลูกน้องประจำแค่ 4 คน”

จันทร์เพ็ง กล่าวว่า คนเลี้ยงผึ้งอาจเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้แก่ผลผลิตน้ำผึ้งของตัวเองด้วยการแปรรูปเป็นขนมหรืออาหารเสริม

โดยทั่วไปพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของน้ำผึ้งที่ผลิตได้ในประเทศจะถูกขายให้แก่บริษัทผลิตยา ซึ่งบริษัทยาจะนำไปผลิตครีม โลชั่น และเครื่องสำอางอื่น ๆ 

การทำงานของผึ้งเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ยากต่อการควบคุมของมนุษย์ นับตั้งแต่คนเลี้ยงผึ้ง เกษตรกรปลูกผลไม้ ผู้ผลิตสินค้าจากธรรมชาติ ผู้บริโภค ไปจนถึงสภาพแวดล้อม

ต้องขอบคุณผึ้ง

นิคมและจันทร์เพ็งรู้ดีว่า ผึ้งได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาไปอย่างไรบ้าง ผึ้งทำให้แขนที่เคยใช้การไม่ได้ก็กลับมาใช้ได้เหมือนเดิม และผึ้งยังได้นำพาพวกเขาไปสู่เส้นทางชีวิตเส้นทางใหม่

นิคมยอมรับว่า ตัวเขาไม่เคยชอบเลี้ยงหมู เพราะการเลี้ยงหมูส่งกลิ่นเหม็นแล้วก็เสียงดัง

“ตราบใดที่ยังมีน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ให้ผึ้งได้ดื่มกิน เราก็ไม่จำเป็นต้องมีที่ดินผืนใหญ่เลย” นิคมเน้นย้ำ และจันทร์เพ็งพยักหน้าเห็นด้วย ทั้งสองเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองก่อนและหลังการเลี้ยงผึ้งให้ฟังว่า พวกเขาต่างประหลาดใจกับการเลี้ยงผึ้งนั้นแสนจะง่ายดายและเป็นงานที่สงบเงียบแค่ไหน ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายอยู่บ้างเมื่อเทียบกับการเลี้ยงหมูหรือการทำงานในทุ่งนา

“เราแบ่งปันความรู้ด้วยการสร้างศูนย์ฝึกให้เพื่อนบ้านหรือใครก็ได้มาเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงผึ้ง เพราะผึ้งได้ให้ประโยชน์กับพวกเรามาตลอด”จันทร์เพ็ง กล่าวด้วยความรู้สึกตื้นตันใจ 

ทุกครั้งที่กลับจากการเดินทางไปภาคเหนือหรือจังหวัดจันทบุรี ทั้งสองมักจะไปทำบุญที่วัดอยู่เสมอ และยังอนุเคราะห์ส่วนบุญให้ผึ้งด้วย

สำหรับจันทร์เพ็งแล้ว การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความขอบคุณต่อ “วิญญาณศักดิ์สิทธิ์” ที่คอยปกป้องคุ้มครองผึ้ง ที่เรียกว่า นางพญาผึ้ง 

“เราประสบความสำเร็จเพราะผึ้ง” จันทร์เพ็งกล่าวและยิ้มอย่างตื่นเต้น ก่อนจะกล่าวต่อว่า

“ที่จริง เรากำลังจะสร้างศาลบูชาผึ้งที่ศูนย์ผึ้ง ก็ไม่แน่นะ ในอนาคตเราอาจจะต้องกราบไหว้นางพญาผึ้งก็ได้” จันทร์เพ็ญ กล่าวทิ้งท้าย 

image_pdfimage_print