โดย สมานฉันทร์ พุทธจักร
อุตสาหกรรมการเกษตรของโลกมุ่งไปในทิศทางที่ใช้สารเคมีเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีสารพิษตกค้างในห้วงโซ่อาหาร กระทั่งปะปนในจานอาหารในมื้อกลางวันของเด็กนักเรียน
“เรารอภาครัฐไม่ได้” อุทัย แก้วกล้า กล่าวขณะที่พาเราเดินสำรวจแปลงผักปลอดสารพิษ ในอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งแปลงผักนี้เป็นแปลงสาธิตผักปลอดสารพิษของกลุ่ม “ปันบุญ” กลุ่มเกษตรในพื้นที่ ต.ฆ้องชัยพัฒนา อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ เพื่อทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ หลังจากเมื่อหลายปีก่อนคนในชุมชนตรวจพบสารเคมีในกระแสเลือด
กลุ่มของอุทัยจึงพยายามปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรให้เป็นเกษตรปลอดสาร ซึ่งมีสมาชิกกว่า 40 คน กระจายในหมู่บ้านต่างๆ โดยทางกลุ่มยังทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตออกไปส่งจำหน่ายออกพื้นที่
อุทัย เคยทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์และประธานสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ เขายังเป็นหนึ่งในคนที่คอยผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี
เกษตรกรกำลังเก็บผักปลอดสารพิษจากแปลงผัก “ปันบุญ” เพื่อส่งขายตามห้างสรรพสินค้าในจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียง
เมื่ออาหารของเด็กๆ ไม่ปลอดภัย
“เขาซื้อของราคาถูกจากตลาด มาประกอบอาหารให้เด็กนักเรียน เป็นผักที่ไม่รู้ต้นตอว่ามาจากไหน เช็คกลับไปไม่ได้ ไม่รู้ที่มาว่าใครปลูก ปลูกอย่างไร” ด้วยอีกหน้างานหนึ่งของอุทัย คือ การทำงานด้านการศึกษา โดยมีตำบลแหน่งเป็นประธานสภาพัฒนาการศึกษา ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มักอยู่อันดับรั้งท้ายเสมอๆ เมื่อมีการประเมิน เขามองว่า คุณภาพการศึกษาและระดับสติปัญญาของเด็ก เกี่ยวโยงไปกับประเด็นหลายๆ เรื่อง
แม้การเข้าถึงอาหารกลางวันของเด็กไทยจะมีมากขึ้น แต่สำหรับอุทัยมีคำถามว่าคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารนั้นดี มีคุณภาพหรือไม่ ทำให้หันมาเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันเด็กๆ ในโรงเรียนในพื้นที่ได้เข้าถึง อาหารที่มีคุณภาพและปลอดสารพิษ
“อาหารเป็นเรื่องจำเป็นที่จะทำให้เด็กมีสภาวะร่างกายที่ดี เด็กควรได้รับอาหารครบถ้วนและปลอดภัย ถ้าเขาได้รับอาหารไม่ปลอดภัยก็จะมีความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง” อุทัยกล่าว
รายงานเรื่อง ‘ความเข้าใจต่อผลกระทบจากสารจำกัดศัตรูพืชต่อเด็ก’ ของ UNICEF ที่เผยแพร่เมื่อต้นปี 2561 ชี้ให้เห็นว่า เด็กจะได้รับผลกระทบจากการใช้ยาฆ่าแมลงอย่างไม่สมสัดส่วน
รายงานยังบอกอีกว่า เด็กๆ ที่มีความเสี่ยงต่อสารกำจัดศัตรูพืช เพราะเด็กกินมากกว่าผู้ใหญ่เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว ในเวลาเดียวกันตับและไตไม่สามารถ “กำจัดยาฆ่าแมลง” ได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ปริมาณสารเคมีตกค้างในร่างกายของเด็กมากกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า การสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เมื่อปี 2559 มีสารกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดถูกสั่งห้ามนำเข้าประเทศไทย โดยพบว่า ผักและผลไม้ในตลาดและห้างสรรพสินค้ากว่าร้อยละ 35 มีสารคลอร์ไพริฟอส ผลิตโดยบริษัท โดว์ เคมี ประเทศสหรัฐฯ ที่เป็นยากำจัดศัตรูพืชที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการเกษตรและพบมากเป็นอันดับ 2 ในผักและผลไม้ในประเทศไทย
การสำรวจของมูลนิธิการศึกษาไทยเมื่อปี 2561 พบตัวอย่างผักผลไม้จาก 34 โรงเรียนใน 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ 21 แห่ง ปทุมธานี 2 แห่ง สกลนคร 6 แห่ง และพังงา 5 แห่ง พบว่า จาก 335 ตัวอย่างที่เก็บสำรวจนั้นมีตัวอย่างผักผลไม้ถึง 210 ตัวอย่างที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 63 และเมื่อตรวจสารเคมีในร่างกายของนักเรียนและครูใน 4 จังหวัดดังกล่าวรวม 6,495 คน ผลปรากฎว่า ร้อยละ 21 อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงและร้อยละ 7 อยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัย
ผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า สารเคมีที่ตกค้างในอาหารที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางปัญญาของเด็ก โดยมีรายงานของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐอเมริกาที่พบว่า ความล่าช้าในพัฒนาการทางจิตใจและร่างกายเป็นเรื่องปกติที่เด็กจะได้รับจากสารคลอร์ไพริฟอส
ทวงคืนอาหารปลอดภัยให้นักเรียน
อุทัยได้ผลักดันโครงการเมื่อปีการศึกษา 2562 ด้วยการทำให้โรงเรียนรอบๆ ชุมชนมีผักปลอดภัยเพื่อนำไปประกอบอาหารให้นักเรียน โดยให้โรงเรียนเข้ามาเรียนรู้การทำเกษตรปลอดสารพิษ แล้วนำไปปลูกในโรงเรียนหรือบางโรงเรียนที่มีพื้นที่ไม่พอกลุ่มปันบุญก็จะแบ่งพื้นที่ให้โรงเรียนปลูก โดยมีสมาชิกในกลุ่มปันบุญคอยเป็นพี่เลี้ยง
“บ้านเราใส่ใจเรื่องนี้น้อยมาก การจะให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัย เพื่อพัฒนาการของเด็กน้อย เราเลยต้องทำเอง” อุทัย กล่าว
โครงการนี้มีโรงเรียน 4 แห่งรอบๆ ชุมชนเข้าร่วมโครงการ ระยะแรกโรงเรียนอาจยังต้องซื้อผักเอง แต่ระยะยาวจะสามารถปลูกได้เพียงพอต่อการประกอบอาหารกลางวันทั้งหมด แม้จะเป็นสิ่งที่รัฐควรจะให้ความสำคัญ แต่อุทัยย้ำว่า เป็นปัญหาที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วนไม่สามารถรอภาครัฐได้
ทั้งนี้การสำรวจของมูลนิธิการศึกษาไทย สรุปข้อจำกัดในการเข้าถึงอาหารกลางวันที่ปลอดภัย คือ พื้นที่สำหรับเพาะปลูกภายในโรงเรียนไม่เพียงพอต่อการป้อนอาหารกลางวันในโรงเรียน รวมถึงวัตถุดิบที่ซื้อในท้องตลาดมีสารเคมีปนเปื้อน
นอกจากนี้ยังพบว่า ขาดการตระหนักต่อผลกระทบของสารกำจัดศัตรูพืชที่มีต่อเด็ก โรงเรียนส่วนใหญ่ใช้วิธีว่าจ้างในการจัดทำอาหารกลางวัน ชุมชนไม่มีการผลิตวัตถุดิบที่ปลอดภัย และ ขาดนโยบายการส่งเสริมอาหารกลางวันปลอดภัยที่จริงจัง
เดนมาร์กเป็นตัวอย่างประเทศที่ออกนโยบายสนับสนุนให้โรงเรียนใช้อาหารปลอดสารพิษ มาประกอบอาหารให้นักเรียนรับประทาน ทำให้มากกว่า 90% ของโรงเรียนในเมืองหลวงอย่าง โคเปเฮเกน ใช้อาหารหารปลอดสารพิษ และเริ่มทำโครงการขยายไปสู่หน่วยงานรัฐอื่นๆ อย่างโรงพยาบาลหรือค่ายทหาร
นอกจากจะทำให้เด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความต้องการอาหารปลอดสารพิษเพิ่มมากขึ้นตามด้วย เกษตรกรจึงเริ่มปลูกอาหารปลอดสารพิษทำให้เดนมาร์กเป็นหนึ่งประเทศที่มีการทำเกษตรปลอดสารพิษมากที่สุดในโลก
แม้ว่า ปี 2556 คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ปรับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้กับเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เพิ่มจาก 13 บาทมาเป็น 20 บาทต่อหัว แต่การจะหาอาหารที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนยังเป็นเรื่องยาก เพราะมีราคาที่สูงและไม่สามารถหาซื้อในชุมชน
ขณะเดียวกันระบบการผลิตอาหารของโลกส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรมการเกษตรที่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ด้วยการปลูกพืชชนิดเดียวในบริเวณกว้างทำให้เกิดปัญหาที่ตามมา เช่น การสูญเสียหลากหลายทางชีวภาพ การทำลายพื้นที่ป่า มลพิษต่างๆ รวมไปถึงการใช้ยาฆ่าแมลงอย่างรุนแรง ทำให้สายพันธุ์ของแมลงทั่วโลกลดลงมากกว่าร้อยละ 40 และจำนวนลดลงร้อยละ 2.5 ต่อปี
การลดลงขนาดนี้ถือว่า มีอัตราการลดลงมากว่าเผ่าพันธ์อื่น อย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีกหรือสัตว์เลื้อยคลาน ถึง 8 เท่าตัวเลยทีเดียว สาเหตุหลักอย่างหนึ่งมาจากการใช้สารเคมีกำจัดแมลงอย่างเข้มข้น ทั้งที่แมลงเหล่านี้มีส่วนสำคัญในระบบนิเวศที่เปรียบเสมือนแรงงานในระบบนิเวศ
เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผืนดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ โดย UN Convention to Combat Desertification (UNCCD) ได้ออกรายงาน ที่พบว่า ผลผลิตการเกษตรทั่วโลกลดต่ำลงกว่าร้อยละ 20 จากการขาดความอุดมสมบูรณ์ในดิน
เช่นเดียวกันกับ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FA) ได้ประเมินว่า ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ เราจะเหลือเวลาไม่ถึง 100 ปีที่พื้นที่เกษตรส่วนใหญ่จะสามารถใช้เพาะปลูกได้
และรายงานเรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพของอาหารและการเกษตรของโลก ของ FAO ที่เก็บข้อมูลจาก 96 ประเทศทั่วโลกพบว่า การทำการเกษตรเชิงเดี่ยวที่ทำลายความหลากหลายของพันธ์ุพืชทำให้การผลิตอาหารบนโลกลดลง
การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางอาหารครั้งใหญ่ ปัจจุบันอาหารบนโลกผลิตมาจากพืชและสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น มีพืช 6,000 สายพันธุ์ที่ถูกนำมาเพาะปลูกและร้อยละ 66 ของอาหารบนโลกมาจากพืชเพียง 9 สายพันธุ์ ขณะที่เราเลี้ยงสัตว์เพียงแค่ 40 สายพันธุ์เท่านั้น
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์เรื่องเกษตรกรรมทางเลือกระบุว่า ทั่วโลกกำลังมุ่งทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่คำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศแถบยุโรป ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีหรือการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาก่อน
“เราเริ่มเห็นบางประเทศมีความพยายามยกระดับเกษตรเชิงนิเวศน์ อย่างเดนมาร์กหรือสวีเดนที่มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนประเทศให้เป็นระบบการเกษตรกรรมแบบยั่งยืนทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ตอนนี้ก็ประมาณร้อยละ 10 แล้ว”ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว
วิฑูรย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในประเทศไทยมีเกษตรกรรมทางเลือกประมาณ 3 แสนไร่ เมื่อนำไปเทียบกับพื้นที่เกษตรกรรมของไทยที่มีกว่า 150 ล้านไร่ เท่ากับว่า มีไม่ถึงร้อยละ 1 อุปสรรคใหญ่ของการเติบโตของเกษตรทางเลือกของไทย คือ รัฐมีความแนวโน้มไปสนับสนุนการเกษตรแบบกระแสหลักมากกว่าและไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมเกษตรทางเลือกอย่างจริงจัง
แต่ดูเหมือนเส้นทางนี้ยังอีกยาวไกล เพราะมีการทำเกษตรทางเลือกเพียง 3 แสนไร่ หรือคิดเป็น ร้อยละ 0.02 จากพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ 150 ล้านไร่
งานวิจัยจากสถาบันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างประเทศ (IDDRI) ระบุว่า การทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถผลิตได้อาหารได้เพียงพอต่อความต้องการ ไม่ต่างกับการเกษตรแบบเดิม หลังการศึกษาการทำเกษตรทางเลือกในยุโรปพบว่า การไม่ใช้สารเคมีในการเกษตรไม่ได้ทำให้ผลผลิตลดน้อยลง ทั้งยังมีแนวโน้มจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
แสงจันทร์ ผลเรือง หนึ่งในเกษตรกรใน อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ที่เปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรแบบปลอดสาร
ตัวอย่างเกษตรกรต้นแบบ
แม้การทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีจะทำให้พืชผลจากสวนของเกษตรกรไร้แมลงและสวยงามน่ารับประทาน รวมทั้งไม่ได้ผลผลิตตามความต้องการของตลาด แต่ก็มีเกษตรกรที่หันหลังให้เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวและมุ่งสู่เกษตรอินทรีย์
“เขาว่ามันช้า มันไม่มีคนทำ เพราะต้องใช้แรงงงาน ลูกเต้าก็ไปทำงานในเมืองหมด” แสงจันทร์ ผลเรือง อายุ 62 ปี เกษตรกรในหมู่บ้านดอนแคน อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ที่เปลี่ยนมาทำเกษตรปลอดสารพิษ เล่าถึงปัญหาที่ทำให้เพื่อนบ้านหลายคนยังคงทำเกษตรแบบใช้สารเคมี
เธอยืนยันว่า การทำเกษตรแบบปลอดสารเคมีสามารถทำในเชิงธุรกิจได้ เพราะลงทุนน้อย ไม่ต้องใช้สารเคมี แต่ยังมีปัญหาเรื่องตลาดรองรับผลผลิตที่ยังมีน้อยและต้องนำไปส่งขายห้างสรรพสินค้า
นักเรียนในโรงเรียนธนบุรีโคกสีหนองเต่าวิทยายน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบเกี่ยวกับการทำให้อาหารกลางวันปลอดสารเคมีกำลังกำจัดวัชพืชในแปลงผัก
การต้องการให้เด็กห่างไกลจากสารเคมีในการบริโภคอาหารจึงต้องเริ่มต้นจากรั้วโรงเรียน
สนิท ศรีลำไพ ผู้อำนวยการโรงเรียนธนบุรีโคกสีหนองเต่าวิทยายน จ.กาฬสินธุ์ เล่าถึงความเป็นมาของโครงการปลูกผักปลอดสารในโรงเรียนว่า ก่อนหน้านี้เคยมีแปลงผักในโรงเรียน แต่ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง กระทั่งเขาเข้ามาเป็นผู้อำนวยการเมื่อปี 2559 จึงมีโครงการปลูกผักปลอดสารกว่า 10 ชนิด เพื่อนำไปทำอาหารให้นักเรียน 144 คน
“เรามีงบอาหารรายหัวอยู่แล้ว 20 บาทต่อคนเพื่อนำไปซื้อเนื้อกับไข่ ส่วนผักไม่ต้องซื้อ” สนิท แจกแจงรายละเอียด ทั้งยังอธิบายอีกว่า นักเรียนสามารถความรู้ไปประกอบเป็นอาชีพในอนาคตได้ เพราะตลาดพืชปลอดสารพิษเริ่มขยายตัวมากขึ้น
ห่างจากรั้วโรงเรียนประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ปลูกเกษตรปลอดสารพิษขนาดกว่า 32 ไร่ ที่มีโรงเรือน 40 หลัง เรียงกันเป็นแนวยาว ซึ่งเป็นแปลงผักที่ขยายจากโรงเรียนแล้วเปิดให้เกษตร อย่าง กลุ่มวิสาหกิจชุมชุน เกษตรกรรายย่อย เข้ามาใช้พื้นที่ด้วยเป็นการทำงานหนุนเสริมระหว่างโรงเรียนและชุมชนกลายเป็นกลุ่มเกษตรปลอดสารพิษขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกมากกว่า 100 ร้อยคน
“ช่วงแรกๆ มีแค่ 10 กว่าคน พอเห็นว่า เราทำได้ก็เริ่มมีคนเข้ามาเรื่อยๆ มีบางคนที่นำไปทำในที่ดินของตัวเอง” ทองดี นาไชยสิทธิ์ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชน กล่าวและว่า เงินทุนส่วนหนึ่งเป็นการออกกันเองภายในและได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จากหน่วยงานรัฐ
นอกจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจที่ได้แล้ว ทองดี ยังคำนึงถึงสุขภาพ เพราะหลังจากทำการเกษตรแบบใหม่ ค่าสารเคมีในเลือดของคนในชุมชนก็ลดลงเรื่อยๆ
โครงการนี้ถือเป็นตัวอย่างอาหารปลอดภัยในโรงเรียน ขยายไปสู่การทำเกษตรปลอดสารพิษในชุมชน แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่เป็นจุดเริ่มต้นสู่อุตสาหกรรมเกษตรแบบมหภาคในอนาคต