“กาฬสินธุ์” แหล่งรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ ?

เปลวแดดระยิบยามเที่ยงวัน มาพร้อมกับกลิ่นฉุนของการเผาพลาสติกกลางบ่อขยะใน ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ที่ผู้ประกอบการรายย่อยคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์นำมาทิ้งและเผาทำลาย
แม้พื้นที่นี้เมื่อต้นเดือนตุลาคม ปี 2561 กรมควบคุมมลพิษและผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์จะมีมาตรการห้ามประชาชนที่ยึดอาชีพรับซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าเพื่อนำคัดแยกเอาชิ้นส่วนที่มีค่าไปขายและนำส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีค่าไปเผาทำลาย
อีกทั้งสั่งห้ามนำส่วนประกอบที่มีสารตะกั่วไปทิ้งข้างทุ่งนาและลำคลอง เพราะสร้างมลพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้กับคนในพื้นที่
ทั้งที่ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข 2535 ระบุว่า หากใครสร้างเหตุเผาสิ่งปฏิกูลหรือสร้างรำคาญให้กับชุมชนเจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนและปรับไม่เกิน 5 พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 เดอะอีสานเรคคอร์ด ยังพบการเผาฝาครอบโทรทัศน์และตัวถังของตู้เย็นจนทำให้ควันไฟยังคงลอยพุ้งทั่วบริเวณพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอยใน ต.โคกสะอาด

เศษโฟมสีเหลืองที่เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนประกอบของตู้เย็นวางกระจัดกระจายในบ่อขยะ ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์
เหตุครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก “เมื่อช่วงเดือนตุลาคมปี 2561 ฝ่ายบริหารของ อบต.โคกสะอาดและตัวแทนชุมชน พร้อมฝ่ายบริหารของตำบลหนองตอกแป้นได้ทำข้อตกลงร่วมกันว่า ห้ามไม่ให้เผาขยะอิเล็กทรอนิกส์บริเวณนี้ เพราะชุมชนเดือดร้อน” รังสรรค์ โพธิ์ชัย กำนันตำบลหนองตอกแป้น อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าว
นอกจากการทำข้อตกลงห้ามเผา กำนันตำบลหนองตอกแป้น ผู้นี้ยังกล่าวอีกว่า ผู้นำใน 2 ตำบล คือ ต.หนองตอกแป้น และต.โคกสะอาด ยังทำข้อตกลงกันอีกว่า หากมีใครในชุมชนฝ่าฝืนและยังเผาอยู่จะมีโทษและจับในข้อหาทำลายสิ่งแวดล้อม
“ผมยังเห็นการลักลอบเผา รับจ้างเผาในที่นาส่วนบุคคล ข้างถนน จะแอบเผาตอนกลางคืน แต่ควันลอยเข้าหมู่บ้าน” รังสรรค์ กล่าว

บริเวณบ่อขยะ ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ยังมีผู้ประกอบการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์นำชิ้นส่วนที่ขายไม่ได้มาทิ้ง
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า เมื่อปี 2561 มีของเสียอันตรายเกิดขึ้นในประเทศไทยประมาณ 638,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 หรือร้อยละ 3.2 โดยร้อยละ 65 เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 414,600 ตัน และร้อยละ 35 เป็นของเสียอันตรายจากชุมชนประเภทอื่น ๆ เช่น แบตเตอรี่ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมีอีก 223,400 ตัน
เอกสารวิชาการของสภาผู้แทนราษฎรเรื่อง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ มหันตภัยร้ายจากเทคโนโลยี สรุปสถานการณ์นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกในปี 2561 ว่า มีใบขออนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศกว่า 2 แสนตัน สูงกว่าปี 2560 ที่มีกว่า 1 แสน 4 หมื่นตัน
การลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ ที่ ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ที่ผ่านมาได้ทำรายชื่อผู้ประกอบการคัดแยกขยะไว้ในฐานข้อมูลมีท้ังสิ้น 181 คน
ส่วนใหญ่รับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์จากบ้านเรือนทั่วประเทศเพื่อนำมาคัดแยก สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2 หมื่นบาทต่อครัวเรือน

ปาริชาติ ภูโสภา อายุ 60 ปี ชาวบ้านบัวน้อย ม.3 ต.หนองตอกแป้น อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ชี้ให้ดูห้องนอนของเธอและลูกหลานที่มักได้กลิ่นเหม็นไหม้จากบ่อขยะ
ควันพลาสติกสร้างความรำคาญ
เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนร้องเรียนถึงปัญหาฝุ่นควันและกลิ่นพลาสติกที่เกิดจากการเผาในบ่อขยะโคกสะอาด
บ้านของ ปาริชาติ ภูโสภา วัย 60 ปี ชาว ต.หนองตอกแป้น อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ อยู่ริมทุ่งนาที่หันหน้าไปทางบ่อขยะที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร
เธอเล่าว่า ได้กลิ่นเหม็นไหม้พลาสติกมานานกว่า 5 ปีแล้ว โดยจะได้กลิ่นทั้งช่วงกลางวัน กลางคืน แต่หลังจากผู้นำชุมชนทั้งสองชุมชนทำข้อตกลงห้ามเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์เมื่อปีที่แล้วทำให้มีกลิ่นเฉพาะช่วงกลางคืน
“ควันมักลอยเข้าห้องนอนในช่วงกลางดึก จนทำให้นอนหลับไม่สนิท สร้างความรำคาญมาก หลานที่อยู่ในบ้านก็นอนไม่หลับ” เธอกล่าวและบอกว่า “กลัวว่า ถ้าสูดดมกลิ่นนี้เป็นประจำจะทำให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ”

เด็กเล็กกับผู้สูงอายุที่หมู่บัวน้อย ต.หนองตอกแป้น อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้กลิ่นควันจากบ่อขยะ
คล้ายกับ นุช (นามสมมุติ) อายุ 39 ปี ที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ เนื่องจากเกรงจะมีความขัดแย้งในชุมชน เธออาศัยอยู่ในหมู่บ้านบัวน้อย ต.หนองตอกแป้น อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ที่มักได้กลิ่นเหม็นในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะช่วงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา (2562) เธอและครอบครัวได้กลิ่นควันไหม้พลาสติกอย่างหนักจนทำให้นอนไม่หลับ
“มักได้กลิ่นตอนดึกประมาณ 5 ทุ่ม เที่ยงคืน เราลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำ ได้กลิ่นควันเหม็นไหม้พลาสติก เมื่อได้กลิ่นก็จะทำให้รู้สึกปวดหัวหนักมาก มันสร้างความรำคาญตอนนอนมาก” นุช กล่าว
สุขภาพของนุชไม่ค่อยดีนัก เพราะมีปัญหาในระบบทางเดินหายใจและเป็นโรคภูมิแพ้ ทำให้เธอกังวลว่า หากบริเวณบ่อขยะยังมีการเผาขยะเหล่านี้อีกต่อไป สุขภาพจะแย่ลง

สมควร ภูแข่งหมอก ผู้ใหญ่บ้านบัวน้อย ต.หนองตอกแป้น อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการร้องเรียนจากลูกบ้านถึงกลิ่นเผาไหม้พลาสติกอยู่บ่อยครั้ง
ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา
สมควร ภูแข่งหมอก ผู้ใหญ่บ้านบัวน้อย ต.หนองตอกแป้น อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์เปิดเผยข้อมูลกับเดอะอีสานเรคคอร์ดว่า ได้รับการร้องเรียนจากลูกบ้านมากกว่า 10 ครั้งในรอบ 6 เดือน ตั้งช่วงต้นปีนี้ (2562) โดยลูกบ้านร้องเรียนว่าได้กลิ่นควันไฟไหม้พลาสติกฉุนตอนช่วงตี 2 ตี 3 ช่วงกลางคืน นอกจากกลิ่นควันจะสร้างความรำคาญ แต่ยังทำให้ลูกบ้านหายใจไม่สะดวกด้วย
“ลูกบ้านส่วนใหญ่เป็นคนแก่มักมาแจ้งกับผมว่า ได้กลิ่นจนแสบจมูก นอนไม่หลับช่วงกลางคืน ผมก็ได้แค่บอกไว้ว่า ระดับผู้นำหมู่บ้านได้ทำข้อตกลงกันแล้วว่าจะไม่ให้เกิดการเผาขยะในพื้นที่อีก แต่ก็คิดว่า ยังผู้ประกอบการลักลอบเผา”ผู้ใหญ่บ้านบัวน้อยตั้งข้อสังเกต
อย่างไรก็ตาม ทั้งรังสรรค์และสมควร ในฐานะผู้นำชุมชนได้วางแผนติดตามและจับกุมผู้ที่ลักลอบเผาขยะในพื้นที่แล้ว

จุฑามณี คำแหงพล ผอ.รพสต.หนองตอกแป้น อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งในตัวแทนตำบลที่เข้าร่วมทำข้อตกลงห้ามเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่บ่อขยะบ้านโคกสะอาด
พบผู้ป่วยโรคทางเดินทางใจไม่ทราบสาเหตุ
แม้จะมีผู้สะท้อนอาการเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงว่า เกิดจากอะไร
จุฑามณี คำแหงพล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) หนองตอกแป้น อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งในตัวแทนตำบลที่เข้าร่วมทำข้อตกลงห้ามเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่บ่อขยะบ้านโคกสะอาด เปิดเผยว่า ปัญหากลิ่นเหม็นไหม้ในต.หนองตอกแป้น เกิดขึ้นตั้งแต่คนกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ใช้วิธีเผาตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา
คนในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้บ่อขยะประมาณ 2 กิโลเมตร มักมาบอกเจ้าหน้าที่ว่า มีกลิ่นควันช่วงกลางวันและกลางคืน ทำให้หายใจไม่สะดวก
รพสต.ได้รับการร้องเรียนและจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยทางเดินหายใจทุกปี โดยปี 2559 มีตัวเลขผู้ป่วยจำนวน 627 คน แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2561ได้ทำข้อตกลงระหว่างชุมชนห้ามเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์มีตัวเลขผู้ป่วยลดลงเหลือ 522 คน
ส่วนใหญ่ป่วยเป็นไข้หวัด หายใจไม่ออก ผื่นคันตามตัว รวมถึงแสบจมูก โพรงจมูกอักเสบ ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากอากาศหนาว ตากฝน แพ้อากาศ ส่วนอาการเจ็บป่วย เพราะการสูดควันจากพลาสติกยังไม่สามารถพิสูจน์ได้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสถานีวัดคุณภาพอากาศเพียง 12 แห่ง กระจายในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และเลย แต่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ไม่มีสถานีวัดคุณภาพอากาศ ต้องใช้ข้อมูลจากสถานีวัดอากาศในจังหวัดใกล้เคียง จึงไม่มีข้อมูลมลพิษในพื้นที่นี้
นิรวรรณ แสนโพธิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ (สกลนคร) ผู้เก็บตัวอย่างเลือดของผู้ประกอบการคัดแยกขยะใน ต.โคกสะอาด จ.กาฬสินธุ์ว่า ยังอยู่ค่าที่ยอมรับได้
“ค่าของแคดเมียมและตะกั่วในเลือดยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แต่ระยะยาวอาจจะทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคมะเร็งและการเสื่อมสมรรถภาพการได้ยิน ทั้งต่อคนคัดแยกขยะและคนในชุมชนใกล้เคียง”นักจัยผู้นี้ กล่าว

เศษขยะและน้ำเสียจากบ่อขยะบ้านโคกสะอาด ต.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ไหลลงที่นาข้างเคียงบ่อขยะ ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562
ผลกระทบการเกษตรและเลี้ยงสัตว์
นอกจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาขยะขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่บ่อขยะบ้านโคกสะอาด ซึ่งสร้างความรำคาญและเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจให้คนในชุมชนต.หนองตอกแป้นแล้ว ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงพืชผลทางเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คนในชุมชนแห่งนี้กังวล
รังสรรค์ โพธิ์ชัย กำนัน ต.หนองตอกแป้น อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ช่วงที่มีการเผาขยะทั้งกลางวันและกลางคืน ควันดำจะไม่เพียงแค่ลอยเข้ามาในหมู่บ้านเท่านั้น แต่ยังผ่านไปยังที่นาที่ปลูกข้าวอินทรีย์และพื้นที่เพาะปลูกของคนในตำบลด้วย
โดยเขาสังเกตว่า ช่วงปี 2557-2558 ต้นข้าวและต้นสวนมะม่วงของคนในชุมชนก็ไม่ผสมเกสร รวมถึงหมูที่คนในชุมชนเลี้ยงก็เป็นหมันอย่างไม่รู้สาเหตุ
“เกษตรกรในชุมชนได้ทำข้อตกลงว่า จะทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกข้าวอินทรีย์ แต่มันขัดตรงที่บ่อขยะปล่อยน้ำเสียที่มีสารโลหะหนักลงน้ำและลงดินข้างที่นา แปลงเกษตรและมีการเผาขยะพิษ ในอนาคตสัตว์น้ำอยู่ไม่ได้ น้ำใต้ดินก็จะใช้ไม่ได้” รังสรรค์กล่าว
สำหรับรังสรรค์แล้วเข้าใจว่า การคัดแยกขยะขายเป็นอาชีพของคนใน ต.โคกสะอาด แต่อยากให้คนในชุมชนตระหนักถึงผลกระทบทางสุขภาพที่จะตามมาจากอาชีพดังกล่าวด้วย
คนในชุมชนของโคกสะอาดประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์มากว่าเวลา 18 ปีแล้ว บางคนได้ยึดอาชีพนี้แทนเป็นการเกษตรกรที่เคยเป็นอาชีพหลัก
เขาจึงเสนอให้หน่วยงานของรัฐ แก้ปัญหานี้ โดยทำข้อตกลงกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งในและนอกประเทศว่า ให้บริษัทรับซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่สามารถใช้งานได้คืน เพราะน่าจะเป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด
กรมควบคุมมลพิษได้เสนอร่าง พรบ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. มานานกว่า 10 ปี ล่าสุดที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่กฎหมายยังไม่ผ่านการพิจารณา
หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะกำหนดให้ผู้ผลิตหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้าบนผลิตภัณฑ์มีหน้าที่รับคืน จัดเก็บและรวบรวมซากผลิตภัณฑ์ รวมถึงซากผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ หากฝ่าฝืนผู้ผลิตจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ยังมีสาระอีกว่า ห้ามไม่ให้ทิ้งซากผลิตภัณฑ์ในที่สาธารณะ ที่รกร้างว่างเปล่าหรือทิ้งปะปนกับขยะมูลฝอย หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สถานการณ์รุนแรงขึ้นในยุคทีวีดิจิตัล
สถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิคส์ที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2557 ที่ประเทศไทยเปลี่ยนการรับชมทีวีจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตัลทำให้มีประมาณขยะจากจอทีวีเพิ่มขึ้นหลายแสนตัน
“เรายังพบการลักลอบการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีกฎหมายห้ามนำเข้าของเสียอิเล็กทรอนิคส์เมื่อปลายปี 2560” เพ็ญโฉม บอก
หลังพบการลักลอกนำเข้าเมื่อปีที่ผ่านมา มูลนิธิบูรณะนิเวศและองค์กรเอกชนหลายแห่งได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีให้มีมาตรการแก้ไขการนำเข้าที่ไม่ถูกต้อง กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศ ห้ามนำขยะอิเล็กทรอนิคส์เข้าประเทศ
“แม้กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมจะสั่งห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิสค์จากต่างประเทศ แต่ก็เกิดช่องโหว่ของกฎหมาย เพราะในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ตามชายแดนยังสามารถนำเข้าชิ้นส่วนเหล่านี้เพื่อนำมาคัดแยกอยู่” เพ็ญโฉม กล่าว
ตั้งแต่ปี 2558 ประเทศไทยได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง ติดกับประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และมาเลเซีย
ทางออกการจัดการ e-waste
การจัดพื้นที่คัดแยกขยะอิเลคทรอนิคส์ใน จ.กาฬสินธุ์ ที่ถือเป็นแหล่งคัดแยกขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นิรวรรณ แสนโพธิ์ ผู้ทำวิจัยจึงเสนอทางออกว่า หน่วยงานในท้องถิ่น ควรควบคุมการคัดแยกขยะอิเลคทรอนิคส์อย่างเคร่งครัด ด้วยการทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการให้ขึ้นทะเบียนและเสียภาษีให้กับท้องถิ่นเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม
“การคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้เลวร้ายนัก สามารถลดปริมาณขยะพิษในสิ่งแวดล้อมได้” นิรวรรณกล่าวและว่า “ แต่จะต้องมีการจัดการที่ดี มิฉะนั้นจะทำลายสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อชุมชน ทั้งจากกลิ่นและควัน”
เธอหวังว่า ร่างกฎหมายจะได้รับการอนุมัติเพื่อให้การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น
“รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมี road map ในการจัดการขยะอิเลคทรอนิคส์ ด้วยการกำหนดให้ผู้ผลิตมลพิษเป็นผู้จ่ายภาษีและรับผิดชอบในการกำจัดขยะ และไม่ควรรับขยะจากต่างประเทศเข้ามาจำกัดในประเทศไทยเพื่อเพิ่มภาระให้สิ่งแวดล้อม”นิรวรรณ กล่าวทิ้งท้าย