โดย พรียา ไวคุณธพาตี
ตามแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาล 10 ปีของรัฐบาล ภายในปี 2567 ในแดนอีสานจะมีโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มอีก 29 แห่ง คนในพื้นที่จึงเกรงว่า โครงการเหล่านี้จะส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน
เมื่อวันที่ 10-12 กันยายนที่ผ่านมา ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ บ้านไผ่ ชนบท และโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้น
แต่ชาวบ้านกลุ่มฮักบ้านเกิดที่เป็นกลุ่มคนไม่เห็นด้วยกับโครงการกลับถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วม การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่อำเภอโนนศิลาจึงมีความรุนแรงขึ้นทำให้กลุ่มฮักบ้านเกิด 2 คนได้รับบาดเจ็บ
ทว่าการคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในจังหวัดขอนแก่น ก็มีท่วงทำนองของการคัดค้านมานานนับปี พรียา ไวคุณธพาตี นักศึกษาชาวอเมริกัน ได้บันทึกเรื่องราวการต่อสู้ของพวกเขาไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ในตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านกำลังวางแผนคัดค้านโครงการของกลุ่มมิตรผล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลและพลังงานชีวมวลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอชียในโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลใกล้ชุมชน
ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านได้เรียกร้องให้บริษัทและรัฐบาลเคารพถึงสิทธิชุมชนของพวกเขาที่ต้องการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม
ชาวบ้านหลายคนมีความกังวลว่า โครงการนี้อาจทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทำให้การจราจรติดขัดและทำให้แก่งละว้าปนเปื้อน นอกเหนือจากการทำไร่แล้ว หนึ่งในรายได้หลักของชุมชน คือ การเก็บของป่า เช่น สมุนไพร เห็ด เพื่อนำไปขายที่ตลาด
ชาวบ้านกังวลว่า บริษัทอาจซื้อที่ดินป่าบางส่วนและจำกัดการเข้าถึงพื้นที่ของพวกเขา
สุดารัตน์ ติมายม หรือ “ติ๊ก” เป็นหนึ่งในแกนนำของกลุ่ม “ฮักบ้านเกิด” เธอเคยทำงานที่โรงงานผลิตสำลีในภาคกลาง ก่อนที่จะย้ายกลับยังบ้านเกิดเพื่อดูแลลูกชาย “โลตัส” วัยที่ยังไม่ถึงหนึ่งขวบ
เช่นเดียวกันกับชาวบ้านหลายคนในตำบลเมืองเพีย ติ๊กภาคภูมิใจในทักษะการทอผ้าของตัวเอง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับครอบครัว
กลุ่มฮักบ้านเกิดมักจะประชุมกันที่วัดเพื่อวางแผนการคัดค้านโครงการของบริษัทน้ำตาลและเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลังงานชีวมวลและอันตรายที่อาจจะเกิดต่อสิ่งแวดล้อม
ติ๊กเตรียมอาหารกับครอบครัวและเพื่อนบ้านหนึ่งคืนก่อนการชุมนุม ผู้ที่ร่วมคัดค้านหลายคนอายุมากกว่าเธอและพวกเขาตั้งใจจะประท้วงนานเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงข้อควรระมัดระวังทุกอย่าง
ติ๊กและแกนนำคนอื่น ๆ วางแผนการคัดค้านกับนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน โดยมีการพูดถึงสโลแกนและคำปราศรัยที่จะใช้ในการชุมนุม รวมถึงข้อกังวลที่จะเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว (วันที่ 1 มีนาคม) ชาวบ้านเกือบ 200 เดินบนท้องถนนจังหวัดขอนแก่นไปยังสำนักงานจังหวัด กลุ่มผู้คัดค้านใส่หน้ากากเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนความหวาดกลัวมลพิษที่เกิดจากโรงงานอ้อย
เสื้อสีเขียวของพวกเขามีข้อความที่เขียนว่า “กลุ่มฮักบ้านเกิด” และ “เราไม่ต้องการอุตสาหรรมพลังงานชีวมวล” หลายครอบครัวนำเด็กมาร่วมแสดงพลังด้วย โดยกลุ่มผู้คัดค้านได้ขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพูดคุยถึงปัญหา
ติ๊กส่งเสียงผ่านลำโพงของรถกระบะ “เราไม่ได้อยู่รอดด้วยน้ำตาล เราอยู่รอดด้วยข้าว เราไม่เอาโรงงาน” และ “เราไม่อยากจะสวมหน้ากากแบบนี้ตลอดชีวิต เอาโรงงานออกไป”
ติ๊กพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น สมศักดิ์ จังตระกุล โดยขอให้เขาพบกับชาวบ้านทุกคนเพื่อฟังเรื่องราวและความกังวลของพวกเขา
กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดบอกว่าจะเจอกับแกนนำในวันอื่น พวกเขายังคงปิดล้อมทางเข้าอาคารและเรียกร้องให้มีการพบปะชาวบ้านทุกคน ในขณะที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ตลอดการเคลื่อนไหว
ในที่สุดกลุ่มผู้คัดค้านเข้าไปในห้องประชุมเพื่อเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดหลังจากการชุมนุมที่ยาวนานท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารหลายนายเข้าไปในห้องกับกลุ่มผู้คัดค้าน
ในห้องประชุม ชาวบ้านได้พูดถึงความกังวลใจของพวกเขาและยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ขอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อวิจัยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และขอให้เลื่อนการรับฟังความคิดเห็นจนกว่าจะทำตามข้อเรียกร้อง 2 ข้อแรก ช่วงท้ายของการประชุม ชาวบ้านได้ลงนามในข้อตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัด
หลังจากการชุมนุมที่ยาวนาน ติ๊ก ครอบครัวของเธอ และกลุ่มผู้ประท้วงได้ขึ้นไปบนรถกระบะเพื่อกลับบ้าน
หลังการคัดค้าน ชาวบ้านกลุ่มฮักบ้านเกิดยังคงต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขา โดยป้ายประท้วงที่ตั้งอยู่ที่หน้าบ้านของครอบครัวของติ๊กแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของชุมชน
“ทุกอย่างที่ฉันทำไม่ใช่เพื่อหยุดการพัฒนา” ติ๊ก กล่าวถึงการดำเนินกิจกรรมของเธอ “แต่ฉันอยากให้พวกเขารู้ว่า เรามีสิทธิที่จะปกป้องผืนดินและธรรมชาติที่สวยงามของพวกเรา โดยปราศจากฝุ่นควันและมลพิษ”
หมายเหตุบรรณาธิการ : โรงงานน้ำตาลทรายพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่มมิตรผลจะตั้งอยู่ในพื้นที่กว่า 4 พันไร่ เป็นรอยต่อของ 3 อำเภอ บ้านไผ่ ชนบท และโนนศิลา จ.ขอนแก่น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรม บ้านไผ่ไบโอฮับที่เชื่อมโยงกับระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคตะวันออก (EEC)
ถือว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 (ค.1) ที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านกระบวนการแล้ว ต่อจากนี้คณะทำงานจะได้ทำรายงานเสนอไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
ขณะเดียวกันคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน (คปน.) ก็ได้ยื่นหนังสือต่อ 8 พรรคการเมืองเพื่อให้ยกเลิกกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้น โดยอ้างว่า เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พรียา ไวคุณธพาตี เป็นนักศึกษาด้านโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐอเมริกา โดยภาคการศึกษาที่ผ่านมา เธอได้ศึกษาประเด็นสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่จังหวัดขอนแก่น