ซีรีส์พิเศษชุด “ความหวานกับอำนาจ” ในตอนที่ผ่านๆ มาเราได้พูดคุยกับนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว เกษตรกรชาวไร่อ้อย รวมถึงความกังวลของคนในชุมชนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาล 10 ปีของรัฐบาล  

ในตอนนี้เราได้สนทนากับผู้บริหารของกลุ่มมิตรผล ซึ่งเป็นบริษัทน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและได้พูดคุยกับตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) ในฐานะผู้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยทั่วประเทศ

เดอะอีสานเรคคอร์ดติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารของกลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผลในจังหวัดขอนแก่น ถึงนโยบายที่เกี่ยวกับการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคอีสาน โดยไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้บริหารโครงการมิตรบ้านไผ่ กลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล จ.ขอนแก่น ตอบคำถามและให้ประชาสัมพันธ์องค์กรส่งคำตอบมายังกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ดผ่านทางอีเมล

ไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้บริหารโครงการมิตรบ้านไผ่ กลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล จ.ขอนแก่น ชี้แจงถึงนโยบายมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มที่จะทำให้แปลงเกษตรปลอดสารเคมีและรักษาสิ่งแวดล้อม

เดอะอีสานเรคคอร์ด: บริษัทมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรลดพื้นที่ทำนาแล้วหันมาปลูกอ้อยตามยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลของรัฐบาลอย่างไร 

ไพฑูรย์: พื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคอีสานเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เกษตรกรส่วนใหญ่มีรายได้น้อยถึงปานกลางเนื่องด้วยหลายปัจจัย ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวและจัดทำเป็น Agri Map ขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งผลสำรวจได้เป็น 4 ประเภท คือ เหมาะสมต่อการปลูกข้าวมาก เหมาะสมปานกลาง เหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม ทางกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชทางเลือกอื่นให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งอ้อยก็เป็นหนึ่งในนั้น 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ประโยชน์ที่ชุมชนในอีสานจะได้รับนอกจากการสร้างอาชีพจากโครงการนี้และโรงไฟฟ้าชีวมวล คืออะไร  

ไพฑูรย์: ชุมชนอีสานเป็นชุมชนที่ทำเกษตรมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ราคาไม่ยุติธรรม การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่จะเป็นการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรโดยตรงทำให้เกษตรกรได้ราคาที่ยุติธรรม ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย อยู่ดีกินดีขึ้น 

การมีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จะช่วยให้เกษตรกรส่งผลผลิตทางการเกษตรได้ใกล้ขึ้น ลดต้นทุนในการขนส่งได้ นอกจากนี้ชาวบ้านจะมีแหล่งจ้างงาน มีอาชีพ มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ลดปัญหาหนี้นอกระบบ ชีวิตความเป็นอยู่ก็จะดีตามมา ลูกหลานที่เคยต้องออกไปทำงานไกลบ้านก็จะได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด ครอบครัวมีความสุขและสังคมในท้องถิ่นและระดับจังหวัดเกิดการพัฒนา

เดอะอีสานเรคคอร์ด: เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทได้สร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่หันมาทำอ้อยอินทรีย์และไม่เผาหรือไม่ 

ไพฑูรย์: กลุ่มมิตรผลมีแนวทางการทำไร่อ้อยแบบ “มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม” ซึ่งเป็นแนวทางการทำไร่อ้อยสมัยใหม่มาตรฐานระดับโลกที่ได้ศึกษาและพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของไทย ซึ่งเป็นวิถีการทำไร่อ้อยที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเข้ามาปรับใช้ มาตรฐานการทำไร่อ้อยของกลุ่มมิตรผลยังได้รับการรับรอง Bonsucro ซึ่งเป็นมาตรฐานการดำเนินงานของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลระดับโลก ที่มุ่งเน้นการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เพิ่มผลผลิต ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีข้อกำหนดสำคัญ อาทิ การผลิตอ้อยโดยลดใช้สารเคมี ไม่บุกรุกป่าสงวนและไม่ใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย นอกจากนี้ยังออกนโยบายไม่ให้ชาวไร่ใช้สารเคมีอันตราย เช่น พาราควอต ไกลโฟเซต เป็นต้น 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: คนในพื้นที่กังวลว่า โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจะแย่งน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ บริษัทคิดเห็นอย่างไร

ไพฑูรย์: ในการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรามีแผนการบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจน โดยไม่มีการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เราจะทำการสูบน้ำจากบ่อแก้มลิงเมื่อน้ำหลากล้นตลิ่งเท่านั้น นอกจากนี้ตัวพืชอ้อยเองมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ประมาณร้อยละ 65 เราจึงสามารถนำน้ำในส่วนนี้มาใช้ในกระบวนการผลิตของเรา โดยไม่สร้างผลกระทบต่อแหล่งน้ำสาธารณะ 

นอกจากนี้โรงงานยังมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียรอบโรงงานมาโดยตลอด ซึ่งยืนยันว่า ทุกขั้นตอนเป็นการดำเนินงานที่โปร่งใสและถูกต้องตามขั้นตอนทางกฎหมาย มุ่งเน้นรับฟังความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบข้างเพื่อนำมาวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

เดอะอีสานเรคคอร์ด: มีความกังวลว่า เชื้อเพลิงจากชานอ้อยที่ใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่พอ เป็นไปได้หรือไม่ที่อาจมีการนำเชื้อเพลิงประเภทอื่น เช่น ถ่านหินมาใช้ในโรงไฟฟ้าที่อีสาน

ไพฑูรย์ : ยืนยันว่า เราไม่มีการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินมาผลิตเป็นพลังงานอย่างแน่นอน เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลจะใช้เชื้อเพลิงที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเท่านั้น โดยวัตถุดิบหลักของเรา คือ ชีวมวลจากชานอ้อย ซึ่งเป็นวัสดุทางการเกษตรที่เหลือจากการผลิตน้ำตาลและใบอ้อยที่เราส่งเสริมให้เกษตรกรตัดอ้อยสด 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: เกษตรกรชาวไร่อ้อยในอีสานมักจะเผาไร่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว บริษัทมีนโยบายให้พวกเขาลดการเผาหรือไม่ 

ไพฑูรย์ : เราสนับสนุนให้เกษตกรตัดอ้อยสดเพื่อให้ใบอ้อยชุ่มชื้นเพื่อให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในดิน โดยเกษตรกรสามารถเก็บสิ่งที่เหลือในไร่อ้อยของพวกเขาเป็นวัตถุดิบชีวมวลที่สามารถขายให้กับโรงไฟฟ้าและสร้างรายได้เพิ่ม

นอกจากนี้เรายังได้พูดคุยกับ ชาติชาย โชติสันต์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 4 อุดรธานี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) ถึงการส่งเสริมเกษตรให้ปลูกอ้อยตามนโยบายของรัฐบาล 

ไร่อ้อยใกล้ฤดูเก็บเกี่ยว ถือเป็นความหวังของเกษตรกร ตามยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลภาคอีสานจะปลูกอ้อยเพิ่มอีก 6 ล้านไร่

เดอะอีสานเรคคอร์ด: สอน. มีหน้าที่อะไร สนับสนุนให้เกษตรปลูกอ้อยหรือไม่ 

ชาติชาย: ไม่ เราไม่มีเป้าหมายอย่างนั้น เราไม่มีหน้าที่ขายอะไรให้ใคร เรามีห้องทดลองดินและค่อนข้างได้รับความนิยม เกษตรกรมักนำดินมาให้เราและเราก็จะบอกพวกเขาว่า ควรใช้ปุ๋ยชนิดไหนที่จะทำให้พวกเขาประหยัดเงิน เพราะเกษตรกรบางคนใช้เงินจำนวนมากไปกับการซื้อปุ๋ยที่ผิดประเภทมากว่า 5-10 ปี หลังจากมารับคำปรึกษาพวกเขาอาจประหยัดเงินได้หลายร้อยบาท นอกจากนี้เรายังแนะนำให้พวกเขาปลูกข้าวอย่างไรให้คลุมดิน ซึ่งคำแนะนำเหล่านี้ไม่ต้องจ่ายตังค์ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: สอน.มีบทบาทในการปรับปรุงสายพันธุ์อ้อยอย่างไร 

ชาติชาย: เรานำเอาอ้อยสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีธรรมชาติที่เป็นวิธีดั้งเดิม ไม่ได้เกี่ยวกับการถ่ายยีน อย่างที่เขาเป็นห่วงกัน เราคัดเลือกพันธุ์ไหนที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ จากนั้นก็จะส่งเสริมพันธุ์นั้น เพื่อที่จะทดแทนพันธุ์เก่า เพราะพันธุ์เก่านี่ใช้มาจะเกิดอาการเสื่อมพันธุ์ ใช้มา 10-15 ปี การต้านทานโรคต้านทานแมลงก็จะลดลงไป แมลงปรับตัวได้เร็วกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นอยู่แล้ว เราอาจจะหาพันธุ์ที่แข็งแรงขึ้นมาทดแทน 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: บทบาทของคณะกรรมการอ้อยน้ำตาลในพื้นที่อุดรธานี ทำเรื่องอะไร 

ชาติชาย: เราส่งเสริมเรื่องความรู้วิชาการ ผมไม่ได้ไปส่งเสริมหรือบอกให้คุณเปลี่ยนนาเป็นอย่างอื่น เราไม่ได้บอกอย่างนั้น เราไม่ได้มีสิทธิ์บอกเขา ส่วนของโรงงานจะเป็นโปรโมชั่นอะไรก็ว่าไป ก็แล้วแต่โรงงาน เราไม่ได้ไปส่งเสริมว่า ให้มาปลูกอ้อยนะ 

สำหรับผมก็ให้ความรู้เรื่องอ้อย ส่วนเขาจะไปทำเกษตรอะไรก็แล้วแต่เขาให้เขาตัดสินใจเอง แต่ถ้าเขาอยากจะได้ความรู้ในการทำอ้อย ผมยินดีมอบให้ แต่ว่าผมไม่ได้ไปโจมตีว่า ปลูกมันไม่ดี ราคาตก คือในส่วนของราชการ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: สอน.ได้แนะนำให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวเปลี่ยนมาปลูกอ้อยหรือไม่ 

ชาติชาย: สภาพความแห้งแล้งในภาคอีสานทำให้นาข้าวจำนวนมากไม่สามารถผลิตข้าวได้อย่างเพียงพอ เพราะขาดน้ำ บางพื้นี่ต้องเปลี่ยนนาข้าวให้กลายเป็นพื้นที่ปลูกอ้อย ผมคิดว่า ทุ่งนาดอนเหมาะสำหรับการปลูกอ้อย ไม่เหมาะสำหรับการปลูกข้าว 

ลองนึกภาพดูว่า ถ้าคุณมีที่ดิน 10 ไร่ที่เป็นพื้นที่แห้งแล้ง ไม่สามารถปลูกต้นไม้ได้เลย แล้วคุณสามารถปลูกอ้อยที่นั่นได้และมันเติบโต นั่นหมายความว่า อ้อยเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับบางคน ถ้าใครต้องการปลูกป่าทดแทนหรือรอ 5-10 ปีเพื่อดูผลลัพธ์ก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับพวกเขาเอง มันเป็นการตัดสินใจของพวกเขา 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: การมีโรงน้ำตาลอยู่ใกล้ๆ อาจจะเป็นการสนับสนุนเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งหรือไม่ 

ชาติชาย: แน่นอน ถ้ามีโรงงานน้ำตาลอยู่ใกล้เคียงแล้วเกษตรกรต้องการสร้างผลผลิตที่สร้างมูลค่า เช่น ข้าว หรือ บางทีก็อาจจะปลูกอ้อย 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: มีความกังวลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย ตรงนี้ สอน.ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรกำจัดวัชพืชหรือส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์หรือไม่ 

ชาติชาย: ตามจริงแล้ว ถ้ามีคนต้องการใช้สารกำจัดวัชพืชต้องลงทะเบียน แต่เกษตรกรบางคนใช้มากเกินไป พวกเขาคิดว่า วัชพืชจะตาย พวกเขาจึงเพิ่มปริมาณมากขึ้นและทำให้สารตกค้างเพิ่มขึ้น ถ้าไม่ใช้จะดีกว่า 

เรากำลังจะหาคนที่ไม่ใช้สารเคมีเลย แล้วก็ให้รางวัลเขาด้วยการให้ไปดูงานเพื่อให้เขาเรียนรู้จากคนอื่นเพื่อปรับปรุงไร่ของเขา สารเคมีที่อันตรายที่สุด คือ พาราควอท ไกลโฟเสตและคลอร์ไพริฟอสเขาจะยกจะเลิกกันแล้ว เพราะมันส่งผลกระทบมาก 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: สามารถควบคุมเกษตรกรให้ใช้หรือไม่ใช้สารเคมีได้หรือไม่ 

ชาติชาย: ไม่ได้ แต่เรากำลังขอให้เขาลดลง เราไม่สามารถบังคับหรือขอให้เขาหยุดได้ พวกเขาควรเปลี่ยนพฤติกรรม ผมคิดว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารเคมีให้น้อยลง เพราะมันอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้ สิ่งที่เราเคยทำ คือ แนะนำให้เกษตรกรลดต้นทุนด้วยการบำรุงดินอย่างไร เพราะอ้อยไม่แตกต่างจากพืชชนิดอื่นที่ต้องการดินที่ดี ต้องการการเพิ่มอินทรีย์ในดิน 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ตอนนี้มีบางชุมชนกังวลว่า ถ้ามีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจะสร้างมลพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน สอน.มีบทบาทในเรื่องนี้อย่างไร 

ชาติชาย: ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งกรมโรงงานเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ สอน.เป็นผู้สังเกตการณ์ ไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับ EIA ได้ เพราะไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ 

สิ่งที่เราทำได้ คือ บอกวิธีการลงทะเบียนไร่อ้อยของเกษตรกรและสอนวิธีการปลูกอ้อยที่มีความหลากหลาย ส่วนข้อดีข้อดีของโรงงานน้ำตาลเป็นเรื่องของโรงงานที่จะสื่อสารกับชุมชนว่า จะสร้างกี่แห่ง คนในพื้นที่จะมีงานอย่างไร 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: รัฐบาลมีเป้าหมายจะปลูกอ้อยเพิ่มในภาคอีสานอีก 6 ล้านไร่ภายในปี 2569 พร้อมกับสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 29 แห่ง สอน.มองเรื่องนี้อย่างไร 

ชาติชาย: เราต้องการเห็นการปลูกอ้อยมากขึ้นเพื่อเพิ่มการส่งออกน้ำตาล ส่วนตัวเห็นว่า โรงงานเยอะแล้วนะ ส่วนที่จะมาอยู่อีสานเนี่ย คือ ย้ายจากที่อื่นเพื่อมาขยาย เพราะภาคกลางพื้นที่ค่อนข้างตัน ส่วนภาคตะวันออกก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าการทำไร่ อีกอย่างพฤติกรรมก็เปลี่ยนไป เช่น ชลบุรี สระแก้ว ส่วนอีสานพื้นที่แห้งแล้งก็เหมาะกับการปลูกอ้อย

ถ้าเราทำอ้อยเยอะๆ ผมเป็นห่วงนะ ถ้าอ้อยเยอะ ราคาน้ำตาลก็จะไม่ดี เกษตรกรก็จะลำบาก ผมอยากให้พวกเขาพึ่งตัวเองได้ แต่พวกเขากลับต้องแบกภาระต้นทุนที่สูง หลังอ้อยล้นตลาด เพราะบราซิลก็ผลิตเยอะ ส่วนเราเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับที่ 2 ของโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาตกต่ำ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ถ้าอีสานปลูกอ้อยมากขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของคนอีสานหรือไม่  

ชาติชาย: ผมอยากเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำตาล อุตสาหกรรมมีมา 70-80 ปีแล้ว การจัดการก่อนหน้านี้เราปลูกอ้อยเพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเพื่อการส่งออกแล้วแบ่งกำไร 70/30 แต่ตอนนี้ราคาอ้อยขึ้นอยู่กับกลไกตลาดโลก ซึ่งผมคิดว่า มันตันๆ แล้ว แต่ถ้ามีโรงงานที่เขารับซื้ออ้อย แล้วไม่ได้ทำน้ำตาล เช่น พลาสติกชีวภาพ เครื่องสำอาง หรือ เอทานอล มีอีกหลายอย่างที่ทำจากอ้อยได้ ซึ่ง สอน.ได้ศึกษาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากอ้อยได้ นี่คือวิธีที่เกษตรกรจะได้ราคาดีกว่าการขายอ้อยตามปกติ 

หมายเหตุบรรณาธิการ: บทสัมภาษณ์ถูกปรับแก้เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน 

image_pdfimage_print