โดย ภาณุพงศ์ ธงศรี
กาพย์รถไฟหลวงแต่งด้วยขนบแบบลาว เล่าเรื่องคล้ายนิราศของไทย ใส่ความรู้ภูมิบ้านนามเมือง แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัว มีความร่วมสมัย คือ การทับศัพท์คำที่มาจากต่างประเทศ
เป็นภาพแทนความเป็นลาว ก่อนถูกกลืนกลายเป็นคนไทยในปัจจุบันเป็นงานเขียนของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ผู้วางรากฐานการศึกษาของภาคอีสาน อีกทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกธรรมยุตินิกาย
ในยุคแรกๆ อีกด้วย พร้อมกันนั้นเจ้าคุณยังเป็นอาจารย์ของนักปราชญ์ที่สำคัญหลายท่าน เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสมโม) มหาสีลา วีรวงศ์ นักปราชญ์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ พระภิกษุฝ่ายเถรวาท คณะธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี
กาพย์รถไฟหลวง แต่งด้วยฉันทลักษณ์กาพย์ การเขียนคล้ายนิราศ พรรณนาถึงความคิด ความหวัง การเดินทาง พบฉันทลักษณ์ในเซิ้งบั้งไฟ เต้านางด้ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมดั้งเดิม
แปลกจากนิราศโดยทั่วไปก็คือ ไม่ได้พรรณนาถึงความรัก คนรัก แตกต่างจากกลอนลำเดินดง คือ ไม่ได้พรรณนาถึงโลกอุดมคติ เป็นโลกแห่งความเป็นจริง ถือว่าเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกและสยาม จัดให้อยู่ในวรรณกรรมแบบสัจนิยม (Literary realism)
สถานีรถไฟอุบลราชธานี (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 2562 )
ผู้เขียนเห็นด้วยกับอัษฎางค์ ชมดี (2556) ที่กล่าวว่า กาพย์รถไฟหลวง น่าจะเขียนในช่วงปี 2473 – 2475 เนื่องจากในปี 2464 เพิ่งจะเริ่มการก่อสร้างทางรถไฟจากเมืองโคราชไปยังเมืองอุบลฯ
กว่าจะถึงเมืองอุบลฯ ก็ล่วงเข้าปี 2473 โดยมีพิธีเปิดการเดินรถไฟ ในวันที่ 1 เมษายน 2473 ถึงอย่างไรเสียพระอุบาลีท่านก็คงจะเขียนกาพย์รถไฟหลวง หลังวันที่ 1 เมษายน 2473
ประเด็นแรก การเปลี่ยนรูปแบบของภาษา ก่อนหน้านี้วรรณกรรมใช้คำลาว เขียนด้วยตัวอักษรไทน้อย อักษรธรรม กาพย์รถไฟหลวงบันทึกด้วยอักษรไทยสยาม
ผู้ประพันธ์ได้รับการศึกษาของรัฐสยาม ด้วยเหตุนี้ตัวอักษร การจัดพิมพ์ ขนบการแต่ง จึงคล้ายคลึงกับวรรณกรรมมาตรฐานของสยาม เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศรถไฟ แต่ผู้เขียนยังคงเค้าวัฒนธรรมล้านช้าง ผ่านการใช้ฉันทลักษณ์ และถ้อยคำลาว
อุกาสวันทาก้มขาบ อย่าให้บาปคุณแก้วทั้งสาม
ขอคุณงามความดีทุกสิ่ง คุณล้ำยิ่งบิดามารดา
…………………………… ……………………………
ทางรถไฟอุบลโคราช ของประหลาดแต่ก่อนบ่มี
…………………………… ……………………………
ขึ้นรถแดงชั้นสามขนาด สิบสองบาทกรุงเทพฯ อุบล
บทขึ้นต้น ผู้ประพันธ์ใช้ขนบวรรณกรรมแบบดั้งเดิม กล่าวถึงพุทธศาสนาและครูอาจารย์ที่ตนเองนับถือ เห็นถึงการพัฒนาภูมิภาคอีสานจากส่วนกลาง โดยรถไฟเชื่อมอำนาจและความเจริญ จากกรุงเทพมหานคร พร้อมกันนั้นในบทกลอนเห็นราคารถไฟเดินทางไปจังหวัดอุบลฯ ในราคา 12 บาท
ประเด็นที่สอง ผู้ประพันธ์เรียกตัวเองว่าเป็นลาว ในช่วงการแต่งคำประพันธ์นี้สำนึกความเป็นชาติพันธุ์ ไม่ได้ถูกกลืนกลายให้เป็นพลเมืองส่วนหนึ่งของสยาม เป็นเพียงการกลืนอาณาเขต และอำนาจทางการเมือง แต่จิตสำนึกและการรับรู้ยังไม่สามารถกลืนความรู้สึกนึกคิดได้
รถไปทอดที่บ้านหนองบัว บ้านหนองบัวเป็นที่ 24
บอกให้ถี่หนองใหญ่มีบัว น่าอยากหัวพวกลาวขึ้นรถ
สั่นทด ๆ ย้านแต่บ่ทัน เป็นน่าขันพายถงหามหาบ
พายทั้งดาบทั้งห่อรุงรัง เป็นตาซังแบกแคนไปพร้อม
แคนก้อม ๆ พาหม่วนพาเมา รถบ่เซาแล่นไปภายหน้า
ความดังกล่าว ใช้ขนบการเล่าผ่านสถานี อธิบายศัพท์ และความเป็นมาของสถานที่ถึงสถานีบ้านหนองบัว ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ผู้ประพันธ์ฉายภาพของคนลาว ที่กระจายตัวอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย หลายบทที่ผ่านมาก็ได้กล่าวถึงในหลายครั้ง สะท้อนถึงการคมนาคมและการถูกกวาดต้อนไปตั้งแต่สมัยเจ้าอนุวงศ์ น้ำเสียงที่ใช้เล่า มีทั้งความขบขันและเยาะเย้ยไปพร้อมกัน
ความที่ว่า เป็นตาซังแบกแคนไปพร้อม แต่ในบทต่อมาก็เฉลยด้วยความภาคภูมิว่า แคนก้อม ๆ พาหม่วนพาเมา เห็นว่า แคน คือ สัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว นำพาความสุขและความสบายใจ เป็นความเมาที่สร้างความสุข
บ่สู้ไกลที่ 35 พอดี บอกไว้ทีพวกลาวพายัพ
เขาช่างรับว่าเขาเป็นญวณ ดูกระบวนเขานุ่งซิ่นต่าง
ลายมันห่างบ่ล่องลายขวง ลายทั้งปวงดำแดงเท่านั้น
บ่ส่างขั่นเหลืองมุ่ยคือลาว พวกคนลาวนุ่งซิ่นลายล่อง
ลายเป็นช่องลายล่องตามขา เขาซ่างหาลายสีมาขั้น
นอกจากการสะท้อนภาพของภูมิศาสตร์แล้ว ยังให้ภาพ การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์อีกด้วยลาวพายัพ หมายถึง ชาวล้านนา หรือเรียกอีกอย่าง คือ ญวณ คำนี้ไม่ได้หมายถึง คนแกว หรือ คนเวียดนาม เช่นคนอีสาน ความหมายของคำนี้คงได้รับศัพท์มาจากสยาม เพราะมีวรรณกรรมที่เรียก ชาวล้านนา ว่าญวณ ในเรื่อง ลิลิตญวณพ่าย ส่วนชาวลาวอีสานเรียกคนภาคเหนือ คนไทใหญ่ว่า กุลา
มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันมีจุดสังเกต คือ ผ้าซิ่นลาวจะเป็นลายล่องตามขา และชาวล้านนาจะเป็นผ้าถุงลายขวาง
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เจ้านายสตรีของเมืองอุบลราชธานี ใส่ผ้าถุงแบบลาวเป็นลายล่อง
มีชื่อล้วนเมืองบุรีรัมย์ บุรีรัมย์เป็นเมืองมาก่อน
แต่เป็นบ่อนสิ้นเขตคนไทย แต่นี้ไปเขมรมีมาก
…………………………… ……………………………
แถบนี้ตลอดเป็นเขตเขมร ตามบริเวณป่าไพรมีมาก
พวกลาวจากฝ่ายใต้ขึ้นมา จับไฮ่นาฮั้วสวนสร้างบ้าน
ลาวบ่ค่านจับไฮ่จับนา ตามมรรคาบ้านลาวตลอด
มาอยู่สอดแกมบ้านเขมร บอกสะเกนไว้พอให้ฮู้
เมื่อรถไฟมาถึงเขตบุรีรัมย์ เป็นเขตพื้นที่ของเขมร ด้วยมีภาษา และวัฒนธรรมแตกต่างกัน เมื่อรถไฟมาถึงคนลาวจากศรีษะเกษและอุบลราชธานี ก็เข้ามาตั้งถิ่นฐานปะปนกับคนเขมร วัฒนธรรมลาว
เป็นส่วนหนึ่งที่คนบุรีรัมย์ในเขตย่านการค้า นอกจากเขตเขมร อำเภอห้วยทับทัน เป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว ประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของการตั้งทัพเจ้าอนุวงศ์จากเวียงจันทน์ ความว่า
ห้วยทับทันมันเป็นห้วยใหญ่ มีป่าไม้อ่าวกว้างเป็นนา
อยู่คับคาเขมรหมดเขต จงสังเกตต่อนี้แดนลาว
เฮาจักสาวทับทันมาเว้า ทัพของเจ้าอนุเวียงจันทน์
เกิดสำคัญกบฏกรุงเทพฯ เขามาเสพตั้งค่ายเกณฑ์พล
อยู่ตำบลใกล้ห้วยอันนี้ ห้วยอันนี้มีต้นทันหลาย
อีกตำนานแตกต่างจากการรับรู้ของผู้ประพันธ์ คำว่า “ห้วยทับทัน” เกิดขึ้นในคราวศึกปราบฮ่อ สมัยรัชกาลที่ 5 ขบวนทัพที่จะยกไปปราบฮ่อได้มาประทับแรมที่ต้นมะม่วงใหญ่ หน้าที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน ทัพหลังได้เดินทางมาทันทับหน้าที่บริเวณแห่งนี้ จึงเรียกที่แห่งนี้ว่า “ลำห้วยทัพมาทันกัน” พูดไปพูดมาเพี้ยนไปเหลือแต่คำว่า ห้วยทับทัน
อย่างไรก็ตามพื้นที่แห่งนี้เป็นจุดแบ่งเขตแดนของลาว เขมร และสยาม ความคิดของผู้ประพันธ์ เมื่อผ่านลำห้วย เข้าสู่เขตอำเภออุทุมพรพิสัย ศรีษะเกษ กันทรารมย์ มีชุมชนเขมรค่อนข้างน้อย
หลักฐานบ่งชี้คือ คำว่าบ้านลาวเดิม ตำบลดินแดง อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษชี้ว่า กลุ่มชาติพันธ์ลาวตั้งถิ่นฐานมานนานแล้ว
ทางรถไฟเผิ่นมาฮอดแล้ว มันบ่แค่วคงฮ่างคงมี
ให้ยินดีเฮ็ดสวนของปลูก ของเป็นลูกเป็นเหง้าเป็นใบ
…………………………… ……………………………
เฮ็ดจริง ๆ ฮ่างมีแท้ ๆ อย่าให้แพ้ไทยต่างภาษา
โยนิกาจบลงเพียงนี้ ฯ
กาพย์รถไฟหลวง จบปลายทางที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อความชมเมืองและเศรษฐกิจของจังหวัดอุบลราชธานี ในตอนสุดท้ายผู้ประพันธ์บอกเล่าการทำมาหากินสร้างรายได้ให้กับครอบครัว เพราะรถไฟเดินทางมาถึงจังหวัด พร้อมกันนั้นยังกล่าวด้วยว่า อย่าให้แพ้ไทยต่างภาษา ชี้ชัดให้เห็นได้ว่าคนอีสานในอดีต ยังไม่ได้มีสำนึกความเป็นคนไทยเหมือนในปัจจุบัน
สถานีรถไฟจังหวัดอุบลราชธานี ถ่ายภาพโดยทหารอเมริกา ช่วงปี 2507 – 2517
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นนักปราชญ์คนสำคัญ เชี่ยวชาญทางโลกและทางธรรม มีผลงานกาพย์กลอนอีสานจำนวนมาก ที่ท่านรื้อฟื้นและรักษาคุณค่าของความเป็นเอกลักษณ์ในภูมิภาคให้อยู่ ไม่ให้ถูกครอบคลุมความคิดหรือถูกกลืนไปกับวัฒนธรรมสยามที่ควบคุมพื้นที่ และการปกครอง