โดย วิทยากร โสวัตร

ภาพหน้าปกโดย เคอร์มิต ครูเกอร์

น้ำท่วมอีสานปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ นี้ ยืนยัน “แง่” ที่ผมมีต่อความพยายามของศูนย์กลางอำนาจรัฐในการที่จะทำให้คนอีสานกลายเป็นคนไทย (ไทยอีสาน) ว่าจริงใจที่จะมุ่งมั่นทำให้เป็นแบบนั้นอย่างสมบูรณ์แท้จริงแค่ไหนในบทความก่อน (ผมทิ้งประเด็นไว้ในสองย่อหน้าสุดท้าย)

แต่ถ้ามองจากความจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว การละเลย “คนอีสาน” เสมือนหนึ่งว่า ไม่ใช่คนของประเทศหรือเป็นพลเมืองชั้นสองชั้นสามของรัฐส่วนกลาง (ผมหมายถึงรัฐที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เรื่อยมาจนปัจจุบัน แม้จะมีรูปแบบของประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่โครงสร้างหลักในการบริหารยังคงเป็นแบบเก่า หลักฐานที่ยืนยันได้ชัดเจนที่สุด คือ ระบบราชการ ยิ่งสมัยไหนที่รัฐมีนโยบายที่จะเป็นรัฐราชการก็ยิ่งเหมือนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น) นั้นเป็นเรื่องปกติ

คุณจะเชื่อหรือไม่นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมอยากให้ดูสิ่งนี้หน่อย—

พ่อลูกกำลังเลี้ยงควายที่ชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดมหาสารคามเมื่อ 50 ปีก่อน ภาพโดย เคอร์มิต ครูเกอร์ อาสาสมัครพีซคอร์จากสหรัฐอเมริกา

“…ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นปีหนึ่งที่ประชาชนอีสานได้ประสบความทุกข์ยากลำบากอันสาหัสเนื่องด้วยฝนแล้ง ข่าวความอดอยากยากแค้นของชาวอีสานได้แพร่เข้ามาถึงกรุงเทพ โดยการเปิดเผยของผู้แทนราษฎรอีสานและชาวหนังสือพิมพ์ที่มีความเห็นใจต่อความทุกข์ยากของชาวอีสาน… ครั้นถึงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายนและวันต่อมา ตำรวจก็ทำการจับกุมคุมขังผู้คนนับร้อยด้วยข้อหาว่า เป็นกบฏ ในการจับกุมและดำเนินคดีแก่บุคคลเหล่านี้ ทางตำรวจได้ถือเอาการทำบุญสงเคราะห์ประชาชนอีสานเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชญากรรมด้วย”  

“นายอำเภอผู้หนึ่งได้เปิดเผยความรู้สึกของทางการบ้านเมืองออกมาด้วยความเผลอตัวในระหว่างเบิกความในฐานพยานโจทก์ว่า การสงเคราะห์ที่ประชาชนอำนวยให้แก่ประชาชนด้วยกันนี้ ทางการบ้านเมืองเห็นว่า เป็นการกระทำที่หักหน้ารัฐบาล และเพราะเหตุนั้นการประกอบการกุศลของประชาชนผู้มีเมตตาจิตในครั้งนั้น จึงถูกระบายสีว่า เป็นการกระทำของคอมมิวนิสต์และถูกกล่าวหาว่า เป็นส่วนหนึ่งของแผนการกบฏโค่นล้มรัฐบาล”  

“และรัฐบาลก็พยายามปฏิเสธความจริงว่า ประชาชนอีสานมิได้ประสพความอดอยากยากแค้นดังที่หนังสือพิมพ์ได้รายงาน…ด้วยเหตุนั้น เมื่อได้มีข่าวการอพยพหนีความอดอยากยากแค้นของชาวอีสานเข้ามาหากินในพระนครเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จึงได้มีเสียงจากวงการรัฐบาลที่พยายามกลบเกลื่อนให้เห็นเป็นว่า เป็นเรื่องปรกติธรรมดาในการครองชีพของชาวอีสาน…”

บันทึกนี้ลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๑ และถ้าคุณได้เห็นว่า ใครเป็นคนเขียนบันทึกนี้ คุณจะเชื่อมั่นในความจริงของเหตุการณ์นี้ – กุหลาบ สายประดิษฐ์ 

ใช่! คุณอ่านไม่ผิดหรอก กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือในนามปากกาอันลือลั่น ศรีบูรพา นั่นเอง ข้อเขียนนี้ชื่อว่า ความเหลียวแลที่ประชาชนมีต่อประชาชน เป็นคำนิยมในหนังสืออีสาน ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา ของสุชาติ ภูมิบริรักษ์

เรื่องของเรื่องก็คือ อีสานเผชิญภัยแล้งที่หนักหนาและยาวนานที่สุด ๗ ปี (๒๔๙๕ – ๒๕๐๑) จนเกิดการอพยพย้ายถิ่นหาที่อุดมสมบูรณ์ (ภาพนี้มีในนิยายเรื่อง ลูกอีสาน) หรือไม่ก็อพยพลงไทยไปขอทาน (โดยเฉพาะชาวอีสานในจังหวัดที่ทางรถไฟพาดผ่าน) เหตุการณ์นี้เองที่เป็นภาพจำของคนทั่วไปว่า อีสานแห้งแล้ง  

ช่วงปีแรกแห่งภัยแล้งสาหัสนั้นเองที่รัฐบาลเผด็จการทหารและตำรวจในครั้งนั้นไม่เหลียวแล และพอข่าวแพร่สะพัดไปก็เกิดสิ่งที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เรียกว่า ความเหลียวแลที่ประชาชนมีต่อประชาชน 

“…หนังสือพิมพ์หลายฉบับพร้อมด้วยประชาชนผู้รักสันติได้ร่วมมือกันวิงวอนประชาชนชาวนครหลวงและชาวจังหวัดอื่นๆให้บริจาคเงินทองและสิ่งของสงเคราะห์ประชาชนอีสาน เมตตาจิตก็หลั่งไหลมาโดยพลันจากสารทิศ  

จากพวกที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบากเช่นเดียวกัน เช่น กรรมกรสาขาอาชีพต่างๆ แม่ค้าพ่อค้าหาบเร่ ผู้ขับขี่จักรยานสามล้อ และจากผู้มีฐานะพอมีอันจะกิน หนังสือพิมพ์หลายฉบับรวบรวมเงินจากผู้บริจาคในงวดแรกได้เป็นจำนวนประมาณหกหมื่นบาท พร้อมด้วยเสื้อผ้าและหยูกยาอีกเป็นจำนวนมาก 

หนังสือพิมพ์ได้มอบเงินและสิ่งของให้กรรมการสงเคราะห์ประชาชนอีสานไปดำเนินการแจกจ่ายแก่ชาวอีสานผู้อัตคัตขาดแคลน คณะสงเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุ นักหนังสือพิมพ์ และนักศึกษาชายหญิง ได้ออกปฏิบัติงานสงเคราะห์แทนประชาชนผู้มีเมตตาจิตจำนวนพันในต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕…”

เหตุการณ์นี้เองที่ “นายผี” ได้เขียนบทกวี “อีศาน” ขึ้นแทบจะทันที ในฐานะหนึ่งก็เพื่อโหมกระจายข่าวที่รัฐไม่สนใจและพยายามบิดเบือนนี้  และในฐานะหนึ่ง (ผมเข้าใจว่าเป็น) การระดมทุนอย่างน้อยที่สุดก็ในทางอ้อมและก็ปลุกคนอีสานให้ตื่นขึ้นทวงสิทธิ์ของตัวเองได้อย่างมีพลัง

“อีศานนับแสนแสน สิจะพ่ายผู้ใดหนอ?”

แต่คณะสงเคราะห์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ก็โดนจับในข้อหาที่ถูกเรียกตอนนั้นว่า “กบฏสันติภาพ” ไม่เว้นแม้แต่กุหลาบ สายประดิษฐ์และสุชาติ ภูมิบริรักษ์ นักข่าวคนชัยภูมิที่เขียนหนังสืออีสาน ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตาในปีเดียวกันนั้น

เมื่อได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ และ ๓ เดือนหลังจากนั้น – – “ระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้เกิดปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนใจข้าพเจ้าอย่างหนึ่ง คือ การอพยพหนีภัยแล้งของชาวอีสานนับจำนวนหมื่นๆ ซึ่งบ้างก็หนีข้ามโขงไปสู่ประเทศลาว บ้างก็หนีเข้าสู่กรุงเทพ และมีบางส่วนที่หนีเตลิดไปเป็น “กรรมกรทาส” ใน “ค่ายนรก” ทางภูมิภาคตะวันออกและปักษ์ใต้…” (อีสาน แผ่นดินแห่งเลือดและน้ำตา คำนำของผู้เขียน)

และที่สะเทือนใจที่สุดในฐานะลูกอีสานและคนเขียนหนังสือและทำงานสื่อ นอกจากการเคลื่อนไหวช่วยเหลือชาวอีสานผู้ประสบภัยในปี ๒๔๙๕ ในนามคณะสงเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุ นักหนังสือพิมพ์และนักศึกษาชายหญิง (และเข้าใจว่า คงมีการเคลื่อนไหวช่วยกันมาตลอดของภาคประชาชนในช่วงแล้งเข็ญยาวนานนั้น) แล้วก็ตรงนี้ครับ – –

คำอุทิศ

ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนดีของหนังสือเล่มนี้แด่ชาวอีสานผู้ยากไร้ทั้งมวล

สุชาติ  ภูมิบริรักษ์

แด่อีสาน

รายได้จากการจำหน่ายหนังสือ “อีสาน – ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา” ๒๐๐ เล่มแรกเป็นเงิน ๑,๔๐๐ บาท (หนึ่งพันสี่ร้อยบาทถ้วน) “อักษรวัฒนา” จะส่งมอบให้สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเพื่อสมทบทุนสงเคราะห์ชาวอีสาน โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ 

อักษรวัฒนา

มีนาคม  ๒๕๐๑

ผ่านมา ๖๐-๖๗ ปีแล้ว จากภัยแล้งยาวนานครั้งนั้นถึงน้ำท่วมใหญ่อีสานครั้งนี้ แต่ท่าทีของรัฐส่วนกลางก็ไม่เคยเปลี่ยน และที่น่าแปลกใจก็คือสำนึกต่อชะตากรรมของคนอีสานขององค์กรนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และศิลปินไทย กลับตกต่ำลงและเชื่องช้าเหมือนรัฐบาลส่วนกลาง

image_pdfimage_print