เดอะอีสานเรคคอร์ดทำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“วันนี้ขอเตือนเรื่องอาหารไทย ไม่ว่าที่รับรองแขกต่างประเทศและในประเทศ ร้านค้าขอความกรุณาลดการปรุงด้วยน้ำตาลลงหน่อย เพราะรสชาติค่อนข้างหวาน คนไทยติดหวานเกินไป ทำลายสุขภาพเป็นโรคเบาหวานได้ หรือเป็นโรคต่างๆ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก อะไรที่ป้องกันตัวเองได้ควรทำ ขอความร่วมมือพ่อค้าแม่ค้าในทุกระดับ ลดเค็ม ลดน้ำตาล” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2562

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลว่า คนอีสานป่วยเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนภาคอื่น โดยพบผู้ป่วยเบาหวานทั่วประเทศประมาณร้อยละ 7 พบมากในคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปหรือประมาณ 22 ล้านคน พบผู้ป่วยโรคเบาหวานในคนกลุ่มนี้ร้อยละ 12.6 ส่วนในภาคอีสานมีผู้อายุมากกว่า 40 ปีประมาณ 7.88 ล้านคนพบผู้ป่วยโรคเบาหวานร้อยละ 14.85 

ปัจจุบันภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกอ้อยราว 5.54 ล้านไร่ มีโรงงานน้ำตาล 20 แห่ง 

คนอีสานเป็นทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรไร่อ้อย นำมาสู่คำถามว่า ปัญหาของโรคเบาหวานจะจบลงด้วยการให้ประชาชนลดหวาน ลดเค็ม อย่างที่ท่านนายกฯ กล่าวหรือไม่ 

บทความนี้ชวนให้ท่านผู้อ่านขบคิดถึงโรคเบาหวาน ผ่านประเด็น ได้แก่ หนึ่ง การต่อสู้กับโรคเบาหวานผ่านวาทกรรมการดูแลตนเองที่สร้างโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สอง น้ำตาลทำให้เสพติดได้จริงหรือไม่ สาม กลไกรัฐในการอุ้มชูอุตสาหกรรมน้ำตาล และสี่ วงจรอุบาทว์ของน้ำตาลและโรคเบาหวาน 

สสส. อาสาต่อสู้ความหวาน

หลังการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้ตั้งหน่วยงาน สสส. ขึ้นเมื่อปี 2544 องค์กรนี้สถาปนาตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสุขภาวะทั้งสุขภาพกายและจิต การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและควบคุมดูแลชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 

เขาเสนอให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นครูที่ช่วยสอนศีลธรรมให้กับประชาชนให้หลุดพ้นจากระบอบทุนนิยม ผ่านกองทุน สสส. ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีเหล้าบุหรี่กว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเป็นคนดีและดูแลสุขภาพด้วยตนเอง

นายแพทย์ประเวศ วะสี ร่วมแถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สสส. กับ กลุ่มมิตรผล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” เพื่อร่วมสร้างสุขภาวะที่เข็มแข็ง ภาพจาก www.thaihealth.or.th )

เขากลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อกลุ่มองค์กรสุขภาพรวมไปถึงแพทย์ที่ออกจากป่าหลังจากการล่มสลายของพรรคคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยช่วงทศวรรษที่ 2520 ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้สร้างรากฐานของสถาบันให้หยั่งลึกในสังคมไทยได้อย่างมั่นคง อดีตฝ่ายซ้ายที่ออกจากป่าเหล่านี้ได้สมาทานความคิดของนายแพทย์ประเวศว่า โรคเบาหวาน เกิดจากวัฒนธรรมทุนนิยมตะวันตกและคุกคามชาติ 

สสส. ให้ความสนใจการติดหวานที่เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก จนกระทั่งปี 2545 เกิดโครงการ “เด็กไทยไม่กินหวาน” ภายใต้แนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของนายแพทย์ประเวศ ด้วยแนวคิด “อิ่มพอเพียง ไม่ทำลายสุขภาพ” ไปจนถึง “ขอทำดีเพื่อพ่อ ไม่ง้อขนมหวาน” นำโดยทันตแพทยสภา เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2548 ในโรงเรียนที่กรุงเทพฯ และขยายผลไปทั่วประเทศ ผ่านภาคีเครือข่ายรณรงค์ให้ผู้ประกอบการบอกค่าน้ำตาลที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม 

ผลของโครงการบางโรงเรียนได้ลดน้ำตาลในอาหารและขนมหวานในโรงเรียน แข่งขันประกวดห้องที่สามารถลดการบริโภคหวาน นิทานไม่กินหวาน เกมไม่กินหวาน วันปลอดขนมถุงและปลอดไอศครีม ไปจนถึงการสร้าง “ยุวทูตพลังอ่อนหวาน” ที่คอยตักเตือนเพื่อนเมื่อบริโภคหวาน บางจังหวัดเผยผลโครงการว่า อัตราฟันผุลดลงร้อยละ 20 

สสส. ยังร่วมมือกับบริษัทน้ำตาลมิตรผล ร้านกาแฟแบล็คแคนยอน ร้านคาเฟ่อเมซอน ห้างแม็คโคร และผู้ประกอบการโรงแรมให้ผลิตน้ำตาลแค่เพียง 4 กรัมต่อซอง เพื่อใช้การจัดประชุมผ่านโครงการอาหารว่างเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีความหวังว่า จะทำให้ข้าราชการที่ไปอบรมมีสุขภาพดีและกำลังขยายผลไปที่พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ความหวานกับการเสพติด

ข้อมูลจาก สสส. ระบุว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยปีละ 30 กิโลกรัมต่อคนหรือวันละ 20 ช้อนชา ถือว่า สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 3 เท่า จึงนำไปสู่คำถามว่า นอกจากปัจจัยด้านสังคมแล้ว น้ำตาลเป็นสารเคมีที่คล้ายคลึงกับยาเสพติดซึ่งทำให้เกิดการเสพติดความหวานหรือไม่

งานศึกษาปี ค.ศ. 2018 เรื่อง Sugar Addiction: From Evolution to Revolution ของ David A. Wiss เป็นการศึกษากลไกการเสพติดอาหารเพื่อเข้าใจความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะอ้วน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารแปรรูปที่ไปกระตุ้นสมองส่วนระบบรางวัล (reward center) ทำให้เกิดการกระตุ้นพฤติกรรมผ่านการใช้สารสื่อประสาท โดปามีน (dopamine) น้ำตาลในอาหารแปรรูปจะเข้าไปรบกวน “กระบวนการตัดสินใจ” ซึ่งคล้ายกับการติดสารเสพติด

แสดงกลไกการกระตุ้นความหวานด้วยน้ำตาล : เริ่มจากน้ำตาลที่ถูกบริโภคและย่อยเข้าสู่กระแสเลือด กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งสมองส่วนลิมบิก (limbic system) และสไตรเอตัม (striatum-thalamus) จะเกี่ยวข้องกับระบบการให้รางวัล รูปภาพจาก American Diabetes Association

นอกจากปัจจัยทางด้านชีวเคมีแล้ว สสส. ยังได้เผยข้อมูลว่า กลไกการติดหวานเริ่มมาตั้งแต่ “แบบแผนการบริโภคอาหาร” ที่ค่อยๆ สร้างขึ้นเมื่อเด็กอายุ 6 เดือน ร่วมกับธรรมชาติของเด็กเองที่มีพัฒนาการของตุ่มรับรสหวานเร็วกว่าตุ่มรับรสอื่นๆ น้ำตาลและความหวานเป็นสื่อกลางถึงความรัก ความสุข และรางวัลแห่งชีวิต 

“รัฐอ่อนหวาน” อุดหนุนธุรกิจน้ำตาล

ช่วงทศวรรษที่ 2500 ประเทศไทยผลิตน้ำตาลทรายได้เกินความต้องการของคนในประเทศ จึงเริ่มมีการส่งออก แต่ก็ขาดทุนเพราะต้นทุนในการผลิตสูง รัฐไทยอุดหนุนด้วยการตั้งราคาในประเทศไว้สูงกว่าราคาตลาดโลก แล้วนำส่วนต่างไปอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ขายขาดทุน ทำให้คนไทยซื้อน้ำตาลได้แพง 

รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมให้คนไทยบริโภคน้ำตาลมากขึ้น คนไทยจึงกินน้ำตาลจากทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งปรุงเองและแทรกอยู่ในเครื่องปรุงหรืออาหารสำเร็จรูป

จนกระทั่งประเทศบราซิลยื่นฟ้องประเทศไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ตั้งแต่ต้นปี 2559 ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากการที่ไทยขายน้ำตาลในประเทศแพงและการแทรกแซงราคาน้ำตาล คสช. แก้ปัญหาด้วยการซุกไว้ใต้พรมผ่านการใช้มาตรา 44 ยกเลิกพรบ.นี้ แล้วยึดราคาตามตลาดโลก แต่สุดท้ายก็ยังเกิดการ “ฮั้ว” กัน ซึ่งมีผลทำให้ราคาอ้อยลดลงอย่างมาก ส่งผลกับเกษตรกร

อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล ควบตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หนึ่งในคณะทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่และยังเป็นนักธุรกิจใหญ่ที่อยู่ในเครือข่ายประชารัฐ นำทีมโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นโฆษณาว่า นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจกระแสใหม่นี้จะทำให้เกษตรกรจะมีรายได้จากเดิม 48,000 บาท/คน/ปี เป็น 65,000 – 85,000 บาท/คน/ปีในปี 2570 

รวมทั้งยังมีแผนจะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 10.53  ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ ในปี 2569 ร่วมกับการใช้อำนาจมาตรา 44 ยกเว้นบังคับใช้กฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.การผังเมืองปี 2518 เอื้อทุนใหญ่ให้สร้างโรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน 29 โรงงาน ซึ่งเป็นการจัดการพื้นที่โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของเกษตรกร ไม่ได้ศึกษาอย่างรอบคอบถึงตำแหน่งที่เหมาะสมของโรงงานกับชุมชน แหล่งอาหาร ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงนิเวศน์ของพื้นที่ในอีสานกว่าล้านไร่ เพื่อให้ผลประโยชน์กับนายทุนไม่กี่ราย และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

การจัดการปัญหาน้ำตาลและเบาหวานของภาครัฐที่ดูเหมือนจะเน้นโอบอุ้มทุนใหญ่ ล่าสุดมีประกาศจากกรมสรรพสามิตว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จะเก็บภาษีสรรพสามิตความหวานเพิ่มเป็น 3 บาท/ลิตร ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และหลังจากนั้นจะปรับเพิ่มสูงสุด 5 บาท/ลิตร 

วิชช์ เกษมทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เสนอว่า การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเกินมาตรฐานนั้นเป็นมาตรการที่ได้ผลมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมและควรทำดำเนินการร่วมไปกับมาตรการอื่นๆ 

เช่นเดียวกับ ชญาดา ภัทราคม อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอว่า ถ้ามีการปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลจนทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้คนไทยลดการบริโภคน้ำตาลลงเฉลี่ยวันละ 2.122 กรัม 

ข้อเสนอของอาจารย์ทั้งสองท่านที่คล้ายกับว่า ประเทศไทยได้พบทางออกของปัญหาเบาหวาน แต่แท้จริงแล้วภาษีได้ถูกจัดเก็บครอบคลุมถึงนายทุนและทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวงจรอุบาทว์นี้จริงๆ หรือไม่ หรือนี่เป็นเพียงการสร้างภาพฝันว่าเราจะได้พบสังคมอันสดใสไร้เบาหวาน

สามภาคส่วนผู้ติดหล่มในวงจรความหวาน

จะเห็นได้ว่า ผู้เล่นสำคัญในวงจรอุบาทว์ของการผลิตน้ำตาลทรายขาวและการเกิดโรคเบาหวานของประชากร ได้แก่ 

หนึ่ง กลุ่มทุนโรงงานน้ำตาลที่ขูดรีดชนชั้นแรงงานตลอดมา ด้วยการผูกกับอำนาจของชนชั้นนำที่สามารถแปลงร่างฝังแนบแน่นกับรัฐทุนนิยม และยังใช้อำนาจตุลากาลออกกฎหมายเอื้อผลประโยชน์ ทั้งสององค์กรเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ที่หลั่งไหลเข้ามาในรัฐไทยช่วงปลายศตวรรษที่ 20 

สอง ระบอบสาธารณสุขไทยที่แม้จะก่อกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต่อรัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 5 หากแต่การดูแลสุขภาพประชากรได้ตกถึงรากหญ้าอย่างแท้จริงก็หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ผ่านการสร้างรัฐเวชกรรมที่การแพทย์และองค์ความรู้สมัยใหม่เป็นเครื่องมือของรัฐในการเข้าควบคุมวิถีชีวิตประชาชน

เรื่อยมาจนถึงจุดเติบโตอย่างมากหลังได้รับเงิบสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็น พร้อมกับการเติบโตของกองทัพและสถาบัน จนกระทั่งหลังการรัฐประหาร 2549 ก็เกิดวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียงที่เข้ามาผนวกรวมกับการส่งเสริมให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพตนเองอยู่ในครรลองคลองธรรมที่รัฐต้องการ พร้อมกันก็สร้างปีศาจให้น้ำตาลในฐานะมรดกจากทุนนิยมชาติตะวันตก

และสาม ประชาชนที่ส่วนหนึ่งเป็นผู้เสพติดน้ำตาลทรายขาวผ่านกลไกตอบแทนรางวัลในสมอง อีกส่วนก็เป็นชนชั้นกรรมมาชีพใต้เกษตรพันธะสัญญากับนายทุนที่เสมือนข้อผูกมัดปิดปากการเรียกร้องสิทธิและยังถูกกดทับด้วยคำแนะนำการดูแลรักษาตัวจากองค์กรสุขภาพ ให้มีสุขภาพและเป็นประชากรที่ดี เพื่อที่จะสร้างกำไรเม็ดเงินให้กับนายทุนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะที่ประชาชนเองก็มิได้มีทางเลือกกับการทานอาหารมากนัก 

เป็นที่น่าสนใจว่า กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศกลับเป็นผู้เทศนาให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างสมถะ อย่างน้อยที่สุดก็เมื่อสองร้อยปีที่ผ่านมาที่ชนชั้นนำเหล่านี้ร่วมมือสมัครสมานกับชาติตะวันตกเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจประเทศเป็นแบบตลาด ยกเลิกระบบไพร่ทาสเพื่อให้ประชาชนหาเงินมาเสียภาษีให้แก่รัฐบาล รวมไปถึงยุคพัฒนาของเผด็จการสฤษดิ์ที่ใช้วาทกรรม “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” เพื่อหว่านล้อมให้คนอีสานเข้าสู่ระบอบทุนนิยมอเมริกาอยู่เบื้องหลัง จากเกษตรยังชีพไปเป็นเกษตรอุตสาหกรรม

บทสรุป

ที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน ผู้เล่นคนที่หนึ่ง ชนชั้นพ่อค้า คงจะพ้นเกินความคาดหวังไปอยู่มาก หากจะให้ชนชั้นนายทุนร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการแล้วมองว่า กำลังเกิดวิกฤตระบบโภชนาการครั้งใหญ่ที่รัฐไทยกำลังเผชิญ 

ดูจากการแก้ปัญหาที่แม้แต่นักวิชาการ ตำแหน่งผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ใช้คำว่า “ซุกขยะไว้ใต้พรม” การแก้วิกฤตนี้ได้คงต้องรอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่โปร่งใส รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและคณะรัฐบาลที่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ในประชาชนผู้เลือกเขาเข้าไปในสภาฯ

ผู้เล่นคนที่สอง คือ กระทรวงสาธารณสุข แม้ว่า จะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545 ที่ช่วยอุ้มชูและมองเห็นถึงความเป็นมนุษย์ของประชาชนแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องท้าทายอีกมากในการจัดการกับโรคเบาหวาน 

ยุทธศาสตร์เชิงป้องกันของกระทรวงสาธารณสุข ผ่าน สสส. ที่ผลิตโครงการสร้างสุขภาวะร่วมมือกับนายทุนและเชิดชูสถาบัน ได้แก่ โครงการน้ำตาลซองละ 4 กรัม เป้าหมายมุ่งไปที่กลุ่มข้าราชการจำนวนอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับประชากรที่ใช้สิทธิ์สามสิบบาท 

โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน สร้างกองทัพยุวชนให้อยู่ในครรลองของความพอเพียง เพื่อเป็นกำลังให้กับชาติ บ่มเพาะให้เกลียดชังความหวาน คอยสอดส่องเฝ้าระวัง เป็นหูเป็นตาให้กับ สสส. โครงการที่เน้นการ “ทำตัวเองให้ดี” เหล่านี้ จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ได้บดบัง ละทิ้งประวัติศาสตร์และเบื้องหลังของอุตสาหกรรมความหวานว่าเจริญรุ่งเรืองในรัฐไทยได้อย่างไร

การขึ้นภาษีที่ดูเหมือนจะเป็นกลยุทธ์ในการเรียกร้องจริยธรรมจากผู้ประกอบการไม่ต่างจากภาษีเหล้าบุหรี่ อย่างปฏิเสธมิได้ว่า นี่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและยังเป็นการเก็บภาษีเฉพาะ “เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบ” เช่น ชา กาแฟ น้ำผักและผลไม้ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงธุรกิจ “น้ำตาลทรายขาว” หรือ “น้ำตาลแอบแฝงในอาหาร” ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปอื่นๆ จากบริษัทกลุ่มทุนที่มีผลประโยชน์กับรัฐบาล 

การรณรงค์ให้คนดูแลป้องกันตัวเองจากภัยน้ำตาลตั้งแต่เด็ก ละเว้นการพูดถึงปัญหานายทุนที่รีดนาทาเร้นประชาชน ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า จะช่วยแก้ไขได้ถึงรากของปัญหาได้อย่างไร

ผู้เล่นคนที่สาม ประชาชนที่ต้องรับเอาเคราะห์กรรมจากการเอารัดเอาเปรียบของนายทุนและการจัดการระบบสุขภาพที่ไม่ขยับเขยื้อนไปไหนมาหลายปี 

คงจะไม่เป็นกล่าวเกินจริงไปมากเท่าไรนักหากจะกล่าวว่า วงการสาธารณสุขมิเพียงเป็นเหมือนถังขยะของปัญหาของรัฐบาล หากแต่องคาพายพนี้เองก็มีส่วนในการสร้างปัญหากองโต แถมยังเป็นการช่วยรัฐบาลซุกซ่อนปัญหาไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม  

นั่นหมายความว่า หากจะแก้ปัญหาเบาหวานลำพังแค่กระทรวงเดียวคงไม่ทางรอดพ้นวิกฤตสุขภาพและอาหารนี้ไปได้เป็นแน่แท้

ผู้นำบอกว่า คนไทยติดกินหวานทั้งๆ ที่พื้นที่เดิมของอีสานมิได้มีวิถีการบริโภคอาหารหวานมาแต่ไหนแต่ไร ตรงกันข้ามรัฐเองมิใช่หรือ ที่เป็นผู้นำวัฒนธรรมการบริโภคอาหารหวานแบบสังเคราะห์มาจากตะวันตกและหากินกับกลุ่มทุนนอกประเทศอย่างสุขสบาย 

เห็นได้ชัดว่า การแก้ปัญหาเบาหวานมิใช่แค่การเทศนาให้คนไข้งดอาหารหวาน หรือออกกำลังกายวันละสามสิบนาที ห้าวันต่อสัปดาห์ เพราะต้นตอของวิกฤตทางอาหารที่กำลังมาถึงนี้อย่างน้อยก็ยังมีผู้เล่นอีกสองฝ่ายที่ถูกละเลยที่จะถูกวิพากย์วิจารณ์น้อยกว่ามาก 

ถ้าความผิดของประชาชน คือ การติดหวานแล้วความผิดของท่านที่อยู่เบื้องบน คือ อะไร

ถ้าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศนี้จริง ภาษีที่เราจ่ายทุกวันอย่างน้อยก็ผ่านการจับจ่ายซื้ออาหารที่มีน้ำตาลแปรรูปจากร้านสะดวกซื้อของนายทุนพลังประชารัฐ เกิดเป็นเงินเดือนของท่านผู้ทรงเกียรติในสภาเดือนละหลายแสนบาท 

หวังว่า สักวันพวกท่านจะเห็นหัวพวกเราบ้าง 

อ้างอิง

– ชาติชาย มุกสง รัฐ โภชนาการใหม่กับการเปลี่ยนแปลงวิถีการกินในสังคมไทย พ.ศ. 2482-2517

– ชาติชาย มุกสง น้ำตาลกับวัฒนธรรมการบริโภครสหวานในสังคมไทย พ.ศ. 2504-2539

– ชาติชาย มุกสง จากน้ําตาลแดงสู่น้ําตาลทรายขาวบริสุทธิ์กับภัยเงียบคุกคามสุขภาพ

– กฤช เหลือลมัย. คนไทย (ไม่) กินหวาน? โอชากาเล https://waymagazine.org 2018

– ปลุกนักส่งเสริมสุขภาพลุยงานรณรงค์ ‘ลดกินหวาน’ ในมิติวัฒนธรรม. https://www.hfocus.org 2018

– ทวีศักดิ์ แสวงสาย. ฤดีมาศ แสวงสาย ภูมิปัญญาอาหารชาติพันธุ์เพื่อสุขภาพของชาวไทยเขมร ไทยกูยและไทยลาวในเขตอีสานใต้

– อรัญญา แสนสระ. ภูมิปัญญาท้องถิ่นในภาษาและวัฒนธรรมอีสาน 2560

– ธันวา วงศเสงี่ยม. รัฐไทยกับสุขภาพพลเมือง พ.ศ.2475-2500

– นภนาท อนุพงศ์พัฒน์. อาหารห้าหมู่ สู่อาหารปลอดภัย 2560

– ระชา ภุชชงค์. นภนาท อนุพงศ์พัฒน์. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. แพทย์ชนบท ธรรมาภิบาลกับการเมืองสุขภาพ. 2556

– สุภาพร คชารัตน. จาก”สุขภาพ” สู่ “สุขภาวะ” : การปฏิรูประบบสุขภาพของวงการสาธารณสุขไทย 2560

– สุภาพร คชารัตน์. การสถาปนารัฐเวชกรรมผ่านโฆษณาชุดเสริมสร้างสุขภาวะในประเด็น. ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ของส านักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 2559

– ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาล หาจุดสมดุลระหว่างชาวไร่กับโรงงาน: วิโรจน์ ณ ระนอง 2018 https://tdri.or.th

– ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ใครอยู่เบื้องหลัง นโยบาย Zoning ภาคเกษตร ถึงอุตสาหกรรมชีวภาพ 4.0. 2018 https://prachatai.com 

– ‘คนรักษ์ปทุมรัตต์’ ค้านโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล กป.อพช. ขอรัฐยุติโครงการทั้งอีสาน 2018 https://prachatai.com 

– ทวีศักด์ เผือกสม คำสัญญาของความปรารถนา การเมืองว่าด้วยเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพกับวาทกรรมของศีลธรรมในช่วง 2490-2550 ฟ้าเดียวกัน 2557

– อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง การเมือง ศีลธรรม และความปรารถนา ปัญหาและข้อคิดเห็นบางประการต่อบทความ “คำสัญญาขความปรารถนา” ของทวีศักดิ์ เผือกสม ฟ้าเดียวกัน 2558

image_pdfimage_print