เรื่อง คริสโตเฟอร์ เบอร์เด็ทธ์
ภาพ อติเทพ จันทร์เทศ
กลิ่นอายเสียงพิณ แคน ผสมกับกีตาร์ เบสและกลอง มาพร้อมกับลูกคอลูกทุ่งแบบฟิวชั่นของนักร้องนำทำให้ “จุลโหฬาร” วงดนตรีจากแดนอีสาน เข้าถึงผู้ฟังที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้ไม่ยาก
ด้วยเนื้อหาของเพลงที่แหวกแนวและเสียงดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้การปล่อยเพลงบนโลกออนไลน์ทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว อย่างเพลง เด้ออ้ายเด้อ วงโคจร มียอดกดฟังบนยูทูปนับล้านครั้ง
เดอะอีสานเรคคอร์ด มีโอกาสนั่งสนทนากับสมาชิกจุลโหฬารทั้ง 3 คน คือ เกมส์ – สุจิตรา โถตันคำ (ร้องนำ) ยั๊วะ – อลงกฎ เจริญธรรม (กีตาร์) และ เป้ – ณัฐพงษ์ นาพงษ์ (พิณ/แคน) ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของวง “จุลโหฬาร”

สมาชิกวงจุลโหฬาร: ยั๊วะ – อลงกฎ เจริญธรรม (ซ้าย-กีตาร์) เกมส์ – สุจิตรา โถตันคำ (กลาง-ร้องนำ) และ เป้ – ณัฐพงษ์ นาพงษ์ (ขวา-พิณ/แคน)
การรวมตัวเป็นวง “จุลโหฬาร”
เดอะอีสานเรคคอร์ด: เป็นมาอย่างไรถึงได้เป็นวงจุลโหฬาร
เกมส์ (สุจิตรา โถตันคำ): เริ่มแรกเลย คือ เมื่อ 10 ปีก่อนมีวงจุลโหฬารอยู่แล้ว ตอนนั้นพี่ยั๊วะก็เป็นจุลโหฬาร แต่ว่าจะเป็นนักร้องผู้ชาย ซึ่งเกมส์มาทีหลัง เพราะเกมส์รู้จักกับพี่ยั๊วะ เกมส์เพิ่งเป็น “เกมส์จุลโหฬาร” ได้ 7 ปีเอง ต้องให้พี่ยั๊วะเล่า
ยั๊วะ (อลงกฎ เจริญธรรม): สมาชิกคนแรกจริงๆ ของจุลโหฬารเป็นนักร้องผู้ชาย ส่วนผมเป็นมือกีตาร์ ตอนนั้นหางานประจำเล่นตามร้านกลางคืนกัน แต่ด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่รู้เขาไม่ว่าง เกมส์ก็เลยได้มาร้องแทน
เป้ (ณัฐพงษ์ นาพงษ์): ส่วนผมมาทีหลังหมดเลยครับ เพิ่งเป็น “เป้จุลโหฬาร” ได้ 4 ปีเอง พี่ยั๊วะชวนผมไปเล่นพิณเล่นแคน ก่อนจะมาอยู่กับจุลโหฬารเคยรวมวงกับวงกรุงกวี เป็นวงเร็กเก้ ที่สกลนครครับ
เดอะอีสานเรคคอร์ด: แล้วคนอื่นเขาหายไปไหน
ยั๊วะ: คนอื่นก็มีการมีงานทำแล้ว เพราะเขาโตขึ้นแล้ว แต่เราก็ยังอยู่แบบนี้อยู่
เดอะอีสานเรคคอร์ด: ทำไมถึงชื่อ “จุลโหฬาร”
เกมส์: ก่อนที่จะเป็นเกมส์ที่มาเป็นนักร้อง ก็จะเป็นพี่กอล์ฟ ตัวอ้วนๆ หนาๆ เลยค่ะ ส่วนพี่ยั๊วะเขาก็ผอม พี่เขาก็เลยเป็นจุลโหฬาร คือ จุลละ มโหฬาร จุลโหฬาร ก็คือ จุลเขาก็เล็ก มโหฬารก็คือใหญ่
เดอะอีสานเรคคอร์ด: ในเพลง “จุลโหฬาร” มีท่อนนึงที่ร้องว่า “คือวงดนตรีลูกอีสานภูธร ในท่วงทำนองที่จริงใจ” มันเกี่ยวอะไรกับการเอาเสียงดนตรีพื้นเมืองของอีสานมาผสมเชิง fusion กับดนตรีโฟล์คหรือเปล่าครับ
เกมส์: ตั้งแต่เล่น cover ตอนแรกๆ กับพี่ยั๊วะก็จะเล่นแบบมีกลิ่นลูกทุ่ง มีความเป็นลูกทุ่งในทุกเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงสตริงหรือสากล มันจะมีสำเนียงลูกทุ่งผสมเข้าไปด้วยอยู่แล้ว แต่เมื่อช่วงหลังมีเป้เข้ามาก็มีเสียงพิณ มีเสียงแคนเพิ่มเข้ามา หมอลำเกมส์ก็พอร้องได้บ้าง เพราะว่าเกมส์เกิดมากับหมอลำ เพราะตากับยายเปิดคณะหมอลำค่ะ
เดอะอีสานเรคคอร์ด: คณะอะไรครับ
เกมส์: ชื่อเพชรดาวรุ่งยอดลำเพลินค่ะ เป็นลำเพลิน บ้านนาขาม อำเภอกุดบาก แถวภูพานค่ะ ก็อยู่บ้านนอกเลยค่ะ เมื่ออายุ 5-6 ขวบก็เห็นเขาซ้อมเต้น เขาซ้อมรำอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็จะนั่งดู แล้วก็ไปหัดฟ้อน หัดอะไรกับเขาด้วย คือ มันซึมซับมาคั้งแต่เด็กค่ะ มันก็เลยพอร้องหมอลำได้ค่ะ แต่ถ้าบอกว่ารู้เยอะอะไรมากไหม คงไม่ แต่ก็พอได้ หลังๆ มาพอมีเป้เข้ามา มีพิณมีแคนเข้ามา ในแต่ละเพลงมันก็จะรู้สึกว่า มันก็จะมีกลิ่นอีสาน ด้วยน้ำเสียงเราด้วย
เดอะอีสานเรคคอร์ด: หัดร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กหรือเปล่า
เกมส์: หัดค่ะ หัดกับวิทยุ ฟังสำเนียงการร้องจากศิลปินในวิทยุ แต่เกมส์เองไม่เคยเรียนร้องเพลงค่ะ จะเป็นการเรียนรู้การฟังจากผู้ใหญ่จากลุงป้าน้าอามากกว่า ถ้ามีงานวันเด็กอะไรแบบนี้ พ่อกับแม่เลี้ยงก็จะพาไป แล้วเกมส์ก็ขึ้นไปร้องเลยค่ะ พอได้ทิปจากผู้ใหญ่มันก็รู้สึกดี มันรู้สึกว่า เราทำได้ ทำแล้วได้เงินรางวัลด้วย ทีนี้อยากกินอะไรในงานก็ได้กิน ประมาณนี้
เป้: ส่วนผมต้องไล่ตั้งแต่รุ่นทวดเลยครับ ทวดผมเป็นหมอลำ ชื่อหมอลำศรีวัยครับ รุ่นตั้งแต่หมอลำเคนดาเหลา ไล่ตั้งแต่ยุคนั้นลงมา แล้วพ่อก็เป็นนักดนตรีครับ พ่อผมเล่นกีต้าร์เล่นพิณ แต่ก่อนพ่อเป็นนักดนตรีคาเฟ่ที่กรุงเทพฯ เล่นพวกเพลงสากลเพลงฝรั่ง แต่เมื่อประมาณปี 2532 พ่อก็ย้ายกลับมาทำวงที่บ้าน ผมก็เลยได้ซึมซับจากพ่อ ลุงป้าอะไรพวกนี้เขาก็เป็นหมอลำกันหมดเลย
เริ่มแรกพ่อกลับมาบ้าน พ่อก็ทำวงตนตรีชื่อว่า “วงดอกกระเจียว” เมื่อผมอายุ 19-20 ปีแล้ว ผมก็เป็นคนชวนพ่อทำวงกลองยาวที่มีผมเล่นพิณเอง ออกงานไปด้วยกันเรื่อยๆ ตามงานบวช งานวัด งานบุญ งานแต่ง อะไรพวกนี้อ่ะครับ แล้วพอผมโตขึ้นสักพักผมก็ทำวงหมอลำเอง ทำวงหมอลำซิ่ง ก็เป็นหัวหน้าวง ก็หาทีมมาจัดวง แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ จนมาเรียนมหาวิทยาลัย พอเรียนได้สักพักก็มาเจอพี่ยั๊วะ พี่ต่าย เขาก็ชวนมาเล่นด้วยจนถึงปัจจุบันครับ
เดอะอีสานเรคคอร์ด: ตอนที่หยิบเครื่องดนตรีมาหัดเล่นชอบฟังแนวไหนครับ
ยั๊วะ: ตอนที่ผมหยิบเครื่องดนตรีมาหัดเล่นแรกๆ เลย ผมชอบฟังเพลงสายเฮฟวี่ (หนัก) เพราะช่วงนั้นเมืองไทยดนตรีเฮฟวี่ มันจะเป็นเหมือนพวกหินเหล็กไฟอะไรประมาณนี้ ชอบร็อค เทปแรกที่ผมซื้อมาฟัง คือ เทปของวง Iron Maiden
แต่ถ้าพูดถึงอิทธิพลที่ได้รับในการเล่นทุกวันนี้ก็มาจากพ่อแม่ คนรอบข้าง มันก็จะได้ยินว่า เขาเปิดอะไรฟังกัน รวมไปถึงลูกค้าที่มานั่งฟังที่ร้านด้วย เพราะเราก็มองเห็นว่า เขาชอบเพลงอะไรแบบไหน เวลาเราเล่น

บรรยากาศวงจุลโหฬารเล่นเต็มวงที่ร้านบางบาร์ จ.ขอนแก่น ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
ว่าด้วยเสียงเพลง
เดอะอีสานเรคคอร์ด: เห็นจาก YouTube จุลโหฬารก็เล่นเพลง cover เยอะเหมือนกัน มีเพลงไหนบ้างที่แต่งเอง
ยั๊วะ: ก็มี “วงโคจร” เพลงหนึ่ง แต่ก็มีรุ่นพี่มาช่วยทำเพลงนี้ด้วยครับ เช่น พี่ต่าย (ประกาศิต แสนปากดี – อภิรมย์)
เดอะอีสานเรคคอร์ด: เวลาเขียนเพลงมีคอนเสปต์หรือแนวทางในการเขียนเพลงไหมว่า ต้องการจะสื่อประเด็นไหน สื่อแนวไหน สื่อเรื่องอะไร
ยั๊วะ: ก็ไม่ได้คิดขนาดนั้น เหมือนอย่างเพลงวงโคจร ก็นึกออกมาเป็นภาพ แล้วก็ค่อยเขียนออกมาได้เป็นท่อนๆ อะไรแบบนี้ บางอย่างก็ให้พี่ต่ายหรือพี่คนอื่นมาช่วย
เดอะอีสานเรคคอร์ด: เวลาแต่งเพลง อะไรมาก่อน เนื้อหรือว่าทำนองเพลง
ยั๊วะ: มันก็แล้วแต่ครับ อย่างเช่นวงโคจรเนี่ย มันมาพร้อมกันหมดเลย เริ่มเขียนนานแล้วแต่ก็รู้สึกว่ามันยังไม่จบดี มันยังขาดๆ เกิน ๆ ก็เลยยังไม่อยากจบการเขียน ดีที่ได้พี่ต่ายเข้ามาช่วยด้วย เพราะว่าตัวเองก็ไม่ได้เก่งขนาดนั้น
เกมส์: กว่ามันจะออกมาเหมือนที่มีให้ฟังทุกวันนี้นะ เกมส์เห็นตั้งแต่เริ่มมาแรกๆ พี่ยั๊วะก็เขียนเพลงนี้มานานแล้วนะคะ กว่าจะเขียนเสร็จก็ใช้เวลานานมาก
เดอะอีสานเรคคอร์ด: อย่างเพลง “เด้ออ้ายเด้อ” ล่ะครับ เป็น cover หรือเป็นเพลงของจุลโหฬารเอง
เกมส์: ตอนแรกเพลงนี้พี่ต่ายเขียนให้พี่แฮนดี้ “เฌิบ มิวสิค” ค่ะ เป็นเวอร์ชั่นผู้ชายร้อง ก็เป็นพี่ต่ายที่เขียนเพลงนี้ไว้ ตอนหลังเกมส์ก็ไปเล่นด้วย ตอนเขาซ้อมกันก็ไปลำ ไปเกริ่นเล่นๆ เฉยๆ พอได้ยินเสียงผู้หญิงแล้วพี่ต่ายก็เลยอยากให้เป็นเวอร์ชั่นของผู้หญิง เลยลองเขียนเนื้อเพลงให้เข้ากับเสียงผู้หญิงร้องมาแบบคร่าวๆ เกมส์ก็ท่องเนื้ออยู่ข้างหลังร้านแล้วก็ลองร้องดู พวกเราเล่นกันที่ร้านมานานแล้วแต่ก็เป็นเนื้อของผู้ชายอ่ะค่ะ เพิ่งแก้เป็น “เด้ออ้ายเด้อ” มาไม่ถึงปี
เดอะอีสานเรคคอร์ด : แล้วเวลาร้องเพลงเหมือนกับการสวมบทไหม
เกมส์:ใช่ค่ะ มันต้องเป็นตัวละคร รู้สึกว่าเราต้องบอกทุกคนว่า ความหมายของเพลง อย่างเช่น ถ้ามีคนไปอยู่กรุงเทพฯ แล้วกลับมาเยี่ยมบ้านก็ให้พูดภาษาถิ่นด้วยกันนะ แบบไม่ต้องพูดภาษาต่างถิ่นกันแล้วได้ไหม “เจ้ากะเว้าลาวนำข่อยแหน่ อย่าสิลืมภาษาบ้านเจ้าของ” ในความรู้สึกเกมส์ตอนที่ร้องก็จะบอกกับทุกคนมากกว่าว่าอย่าลืมภาษาถิ่นของตัวเอง อย่าลืมเด้ออ้ายเด้อ
เดอะอีสานเรคคอร์ด: ฟังแล้วมันค่อนข้างจะมีกลิ่นของความย้อนยุคดีนะ
เกมส์: ใช่ค่ะ เราก็ต้องการให้มันเป็นแบบนั้น

สุจิตรา โถตันคำ หรือ เกมส์จุลโหฬาร นักร้องนำกำลังร้องเพลงอย่างออกรสที่ร้านบางบาร์ จ.ขอนแก่น ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
จุลโหฬารเป็นไทบ้านได๋
เดอะอีสานเรคคอร์ด: แต่ละคนมาจากไหนกันครับ
เกมส์: เกมส์เป็นคนสกลนครค่ะ มาจากอำเภอกุดบาก เป็นไทกะเลิง
เป้: ผมก็มาจากสกลนครเหมือนกันครับ เป็นไทโส้
ยั๊วะ: บ้านเกิดอยู่จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอเมือง อยู่บ้านเชียงเครือ
เดอะอีสานเรคคอร์ด: ไหนลองพูดเป็นสำเนียงที่บ้านให้ฟังหน่อยสิครับ
เกมส์: ถ้าเป็นกะเลิงบ้านเกมส์ก็จะเป็นแบบ “ไปไส” “แม่นหยัง” “เฮ็ดหยังหนะ” ก็จะพูดแบบกระแทกๆ แต่ถ้าอยู่ในเมืองกะสิ “อีหยัง” “ไปไสหนะ” “แม่นละเบ๋อ” “ละเบ๋อ” อะไรประมาณนี้ คล้ายๆ กันกับภูไท มันจะมีสำเนียงคล้ายๆ กัน เพราะว่ากะเลิงกับภูไทมันไม่ได้ห่างกันนะคะ อย่างเกมส์อยู่กุดบากก็จะเป็นกะเลิง อยู่ใกล้ๆ ก็จะเป็นภูไท ขึ้นไปทางพรรณา ทางโซนนั้นก็จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่จะเป็นคนพูดภาษาโส้ เกมส์ฟังไม่รู้เรื่องเลย
เป้: ภาษาโส้บ้านผม ถ้ากิน คือ “เจี๊ยะ” หรือ “เจีย” “โป๊ะเมาะ” แปลว่า ไปไหน สวัสดีก็ “เลอะออ” ไม่มีเขียน มีแต่ภาษาพูด เป็นเผ่าพันธุ์ที่นับถือผี
เกมส์: คือ โส้ เกมส์ไปสัมผัสมาแล้ว ไม่รู้เรื่องจริงๆ
ยั๊วะ: ที่สกลฯ มีหลายภาษา หลายชนเผ่า เยอะจริงๆ
เดอะอีสานเรคคอร์ด: แล้วในฐานะมีเครื่องดนตรีพื้นเมืองในวง เป้เอาลวดลายการเล่นของเผ่าโส้มาใส่ในเพลงของจุลโหฬารบ้างไหม
เป้: ก็มีอยู่นะ ในอัลบั้มนี้ที่กำลังทำอยู่ก็มีลายพิณที่เป็นของโส้อยู่ ก็ใส่ไปนิดๆหน่อยๆ ถ้าไม่เคยฟังก็จะฟังไม่ออกว่า มันมาจากไหน เป็นลูกเล่นที่แปลกๆ ลายพิณที่อาจจะไม่เคยได้ยินกันในพื้นที่อื่น แต่ในอัลบั้มที่ผมทำกับ รัสมี อีสานโซล ผมก็ใส่ลายแคนของชนเผ่าโส้เลย
เดอะอีสานเรคคอร์ด: แล้วไปเรียนรู้ลายเพลงแบบนี้มาจากไหนครับ
เป้: เรียนกับคนเฒ่าคนแก่นี่แหละครับ เวลาจะเอาวิชาก็มีการแต่งขันธ์
เดอะอีสานเรคคอร์ด: แล้วการแต่งขันธ์ แต่งเพลง แต่งอะไรพวกนี้ มันสำคัญกับการนับถือผีของชาวโส้ไหมครับ
เป้: โดยเอกลักษณ์ของโส้ คือ สมัยก่อนอยู่บนภูเขา นับถือต้นไม้ นับถือผี นับถือผีบรรพบุรุษ นับถือปู่ย่าตายาย
เกมส์ : จริงๆ แล้วถ้าเรื่องนับถือผีก็น่าจะมีทุกชนเผ่า
เดอะอีสานเรคคอร์ด: การที่เราต้องมาหัดเล่นเพลง เล่นดนตรี มันเกี่ยวข้องกับเพลงอย่างไร
เป้: โส้เนี่ย มีเอกลักษณ์ดนตรีเป็นของตัวเองอยู่แล้วครับ สำเนียงการร้องก็เป็นภาษาโส้ melody (ท่วงทำนอง) ที่ใช้ก็เป็นของโส้โดยเฉพาะ เราใช้ดนตรีในการประกอบพิธี เช่น พิธีเกศรา เป็นพิธีรักษาคนป่วยโดยการอัญเชิญวิญญาณบรรพบุรุษมาช่วย อะไรอย่างนี้ แต่สุดท้ายก็ไปหาหมอเหมือนเดิม
ยั๊วะ: ในมุมมองผม มันเป็นเรื่องของกำลังใจ
เกมส์: ใช่ๆ ค่ะถูกต้อง
เดอะอีสานเรคคอร์ด: แล้วก่อนขึ้นเวทีทำพิธีกรรมอะไรไหม
เกมส์: ก่อนขึ้นเกมส์ก็จะไหว้เจ้าที่ แล้วก็นึกถึงพ่อแม่ เพราะท่านก็ไม่อยู่แล้ว นึกถึงปู่ตา นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำแบบนี้ทุกงานเลย เกมส์จะหยิบดินที่พื้นมาใส่หัว ซึ่งเกมส์ทำมานานแล้ว มันเป็นพิธีการไหว้ของหมอลำ ไปเรียนรู้มาจากคุณตาค่ะ ถ้าจะให้จัดแบบเต็มของหมอลำก็จะมีเหล้าขาว แล้วก็ให้เรากินเป็นเครื่องคาย (พอเป็นพิธี)
เป้: ถ้าภาษาหมอลำเขาจะเรียกว่า ไหว้ครูก่อนเล่น เหมือนนักมวยหน่ะครับ ไหว้ครูก่อนเล่น คือ ผู้นำของวงจะเป็นผู้นำพูด ภาษาสวด แล้วก็เทลงดินให้พระแม่ธรณี หรือว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษา ณ สถานที่นั้นรับรู้ว่า เรามาเล่นที่นี่แล้วนะ ขอเบิกทางให้ท่านอย่ามารบกวนหรือว่าสิ่งใดๆ ในการเล่นในครั้งนี้ ไม่ให้ติดขัด ก็เหมือนบอกเจ้าที่เจ้าทางแหละครับว่า เรามาขอความอนุเคราะห์สถานที่ของท่านนะ อะไรอย่างนี้

ณัฐพงษ์ นาพงษ์ หรือ เป้จุลโหฬาร ขณะกำลังเล่นพิณที่ร้านบางบาร์ จ.ขอนแก่น ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
การเป็นศิลปินอิสระ
เดอะอีสานเรคคอร์ด: การเป็นศิลปินอิสระที่ไม่ได้อาศัยค่ายเพลงใหญ่ๆ มีความยากง่ายอย่างไรครับ
เกมส์: อิสระ แต่ก็ยังมีระบบอยู่ค่ะ ยังมีผู้ใหญ่มาช่วยเป็นผู้จัดการวงให้ รับงานต่างๆ ให้ ประสานงานกับร้านให้ โดยที่เราไม่ได้รับงานเอง คือ เราก็อยู่ของเราแล้วเขาก็ป้อนงานมาให้
แต่ก่อนเกมส์เคยมีความคิดว่า สักวันเราต้องได้อยู่ค่ายเพลงใหญ่ๆ ดังๆ ถึงจะมีคนฟังเยอะๆ สิ่งที่หวังตอนนั้น คือ การออกรายการ การประกวด สักวันเดี๋ยวคงมีค่ายใหญ่ๆ มาเห็นและคงมีโอกาสได้ไปแบบนี้ เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนคิดแบบนี้จริงๆ
แต่ว่าตอนนี้ คือ ไม่มีค่ายก็ได้ ขอแค่มีงาน ซึ่งค่าตัวเราอาจจะไม่ได้แพง แต่ว่าเราขอให้มีงานเรื่อยๆ ให้คนรู้จักเราไปแต่ละงาน งานนี้อาจจะได้เพิ่มสัก 5 คน งานต่อไปอาจจะได้เพิ่มขึ้นไปอีก เกมส์ขอแค่นี้ก็พอ ไม่ต้องอยู่ค่ายก็ได้
ยั๊วะ: วงจุลโหฬาลก็เหมือนงานโปรเจคที่เราลองทำสนุกๆ กันครับ ทำไปทำมามันก็มีระบบขึ้นมาเอง
เดอะอีสานเรคคอร์ด : ทำไมคิดว่า การที่เราไม่ได้อยู่ค่ายใหญ่จะดีกว่า
เป้: ผมคิดว่า มันเข้าหาคนฟังง่ายกว่า ไม่ใช่ว่าเล่นเสร็จกลับบ้าน ไม่ตายตัวว่า ตรงนี้ตรงนั้นต้องเป็นแบบนี้แบบนั้นตลอดเวลา เป็นอิสระกว่า เวลาเราเล่นเสร็จก็สามารถเข้าไปหาคนฟังได้ แลกเปลี่ยนกันได้คุยกันได้ เรามีเวลาว่างที่จะทำอย่างอื่นได้ด้วย แต่อยู่ค่าย คือ คุณต้องอยู่ในสเป็คที่เขากำหนดและจัดการให้ อย่างผมนี่ คือ ถ้าไม่มีงานดนตรี ผมก็กลับไปทำสวนที่บ้าน แล้วมีงาน ผมก็ค่อยออกไป
เกมส์: อีกอย่าง คือ ถ้าจะอยู่ค่ายใหญ่เราต้องเก่ง เราต้องรู้เรื่องเงื่อนไขต่างๆ เราต้องทันเขา ซึ่งตอนนี้เรายังไม่รู้อะไรมากค่ะ ถ้าเกิดเราไปอยู่ค่าย โปรเจคส์ที่เขาอยากจะทำมันอาจจะเปลี่ยนเราไปเลยก็ได้ เราอาจจะไม่ใช่จุลโหฬารที่เป็นอยู่
ยั๊วะ: บางคนเขาก็พอใจแค่นี้ เขาอาจจะรู้สึกประสบความสำเร็จแล้วก็ได้
เกมส์: แต่เรายังไม่รู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จแล้วนะคะ
เดอะอีสานเรคคอร์ด: ต้องถึงขนาดไหนถึงจะรู้สึกว่า พอใจแล้ว
เกมส์: สำหรับเกมส์ ก็คือ มีเพลงเต็มอัลบั้ม แล้วที่เหลือก็ปล่อยให้เพลงมันทำหน้าที่ของมันไป ถ้าเกิดว่า มันโอเค เดี๋ยวเราก็มีงานไปเรื่อยๆ เกมส์เคยไปเดินตลาดนัดแล้วได้ฟังเพลงตัวเอง “เด้ออ้ายเด้อ” เปิดเฉยเลย หนูก็ไม่กล้าเข้าไป เดินไปก็มองๆ ยิ้มๆ แล้วก็แบบ แอบๆ ดีใจ คิดในใจว่า “เปิดเพลงเราด้วย…” แล้วก็ยืนยิ้มอยู่คนเดียว
เป้: สำหรับผม คือ เราเล่นที่ไหนก็ได้ ไปโชว์ที่ไหนก็ได้ทั่วโลก สร้างผลงานกับใครก็ได้ เล่นกับใครก็ได้ คือ เข้าหาคนฟังทุกประเภท อันนั้น คือ “สุด” แล้วครับ อาจจะไปเดินโรบินสันแล้วได้ยินเพลงตัวเอง
ยั๊วะ: สำหรับผมมัน คือ การนั่งฟังเพลงตัวเองออกสื่อแบบไหนก็ได้

อลงกฎ เจริญธรรม ยั๊วะจุลโหฬาร ขณะกำลังเล่นกีตาร์อย่างเมามันส์ที่ร้านบางบาร์ จ.ขอนแก่น ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
ต่อไปจะเป็นอย่างไร
เดอะอีสานเรคคอร์ด : มองถึงอนาคตอย่างไร
เกมส์: เกมส์ยังไม่มองถึงอนาคตข้างหน้า แต่ในความคิดตอนนี้ คือ ขอแค่มีเพลงเต็มอัลบั้ม ให้มันได้สัก 10 – 12 เพลงก็ได้ ตอนนี้มีแค่ 5 เพลง ต้องให้มันได้สัก 10 เพลง 12 เพลง นั่นคือ เกมส์โอเคแล้ว ถ้าถึงจำนวนนั้น
เดอะอีสานเรคคอร์ด: จุลโหฬารยืนอยู่ตรงไหนของวงการเพลงอีสาน
เกมส์: เล็กมาก เหมือนชื่อวง ตอนนี้ยังมองว่า อยู่ในจุดเล็กๆ แต่ก็อยู่ในจุดที่พอใจค่ะ มีกลุ่มคนฟัง ตอนนี้เราไปทัวร์งานไหนก็รู้สึกอิ่มใจอยู่ มีคนร้องตามเพลงของพวกเราได้แล้ว