บทความพิเศษชุด: ความหวานและอำนาจ

ตอนที่ 17 ของซีรี่ส์พิเศษว่า ด้วยความหวานและอำนาจนี้ เราจะวิเคราะห์ถึงภูมิทัศน์ใหม่ของโรงงานน้ำตาลจำนวน 57 แห่งและปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย 384,708 คนต้องเผชิญ ทั้งจากราคาน้ำตาลที่ต้องเป็นไปตามกลไกตลาดโลก เกษตรกรขาดทุนจากการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการต่อต้านปฏิบัติการใหม่ๆ ในระดับท้องถิ่น แต่รัฐบาลไทยยังคงสนับสนุนการทำเกษตรอัจฉริยะ “Smart Farming” ซึ่งจะเพิ่มการผลิตอ้อยร้อยละ 80 ภายในปี 2569 รวมถึงการสร้างโรงงานน้ำตาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก 29 แห่ง แผนเหล่านี้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างไร

สัปดาห์ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) แจ้งข่าวร้ายต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลว่า ในฤดูเก็บเกี่ยวอ้อยที่จะมาถึงนี้มีการคาดว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลอาจจะขาดทุนถึง 1 หมื่นล้านบาท 

ไม่เพียงเท่านั้น สอน. ยังกล่าวไว้ด้วยว่า ปริมาณน้ำตาลทั่วโลกที่มีอยู่มากเกินไปในปัจจุบันจะยังทำให้อีกหลายปีข้างหน้าราคาน้ำตาลจะลดลง เท่านั้นยังไม่พอ สอน. “คาดว่าภาวะความแห้งแล้งจะเกิดขึ้นในประเทศอย่างกว้างขวาง” จะทำให้ผลผลิตอ้อยจะลดลงประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ด้านวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการ สอน. กล่าวว่า ความหวังเดียวของชาวไร่อ้อย คือ “การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ” ที่จะเพิ่มความหวานให้แก่ผลผลิตของพวกเขา

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น วรวรรณ ทำได้แค่คาดการณ์ว่า “เกษตรกรและโรงงานอ้อยในไทยจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบเหล่านี้”

เวลาสิบเดือนก่อนนี้เลขาธิการผู้นี้ออกมาประกาศอย่างน่าประหลาดใจว่า “เรารู้และเข้าใจว่า ราคาอ้อยต่ำกว่าต้นทุนการผลิต”

ไร่อ้อยใกล้ฤดูเก็บเกี่ยว ถือเป็นความหวังของเกษตรกร ตามยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลภาคอีสานจะมีเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีก 6 ล้านไร่

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การปลูกอ้อยในประเทศไทยอาจจะขาดทุน เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องเผชิญกับผลลัพธ์จากการเป็นหนี้ต่อไป

ตั้งแต่ทหารยึดอำนาจเมื่อปี 2557 แผนน้ำตาล 10 ปี เป็นนโยบายด้านการเกษตรเพียงอันเดียวที่รัฐบาลทหารพุ่งเป้ามาที่ภาคอีสาน 

แผนการนี้มีความเหมาะสมอย่างไรภายในโครงสร้างพื้นฐานเชิงอุดมการณ์ของกลยุทธ์ “เกษตรอัจฉริยะ 4.0” (Smart Farming 4.0) ที่รัฐบาลทหารนำเสนอ

การเกษตรอัจฉริยะกับน้ำตาลอัจฉริยะ

หลังรัฐประหารปี 2557 ไม่นาน รัฐบาลทหารออกแผนพัฒนาภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน บัตรคนจน รวมถึงยุทธศาสตร์อ้อยและโรงงานน้ำตาลฉบับนี้ยังเป็นการอนุมัติให้มีการสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ในภาคอีสานล่วงหน้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 245 หรืออีกจำนวน 29 แห่ง

แผนน้ำตาลนี้น่าจะอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ใหญ่กว่านั้น คือ Smart Farming (การเกษตรอัจฉริยะ) ภายใต้ “ Thailand 4.0” (ดูบทบรรณาธิการของเราเกี่ยวกับเรื่องนี้) ซึ่งเป็น “นโยบายปักธง” ของรัฐบาลทหารเมื่อปี 2559  โดยออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้กลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายใน 5 ปี และแผนนี้รายงานว่าเป็น “กลไกการเติบโตใหม่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปข้างหน้าด้วยอุตสาหกรรมและนวัตกรรมไฮเทคที่จะผลักดันประเทศให้ผลิตสินค้าและบริการมูลค่าเพิ่มในระดับสูง”

วาทกรรมเรื่อง Smart Farming ต้องอยู่ในบริบทของประเทศไทย 4.0 โดยก่อนหน้านี้การทำการเกษตร “สมัยใหม่” มักใช้เพื่ออ้างถึงการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การใช้สารเคมี อุตสาหกรรมเกษตร ตรงกันข้ามกับการเกษตรเพื่อยังชีพแบบ “ดั้งเดิม” แต่ตอนนี้การทำการเกษตรสมัยใหม่ที่ทันสมัยกว่าจะถูกกำหนดด้วยวิธีการทางเทคโนโลยีที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เรียก เกษตร 1.0 ว่า “การเปลี่ยนจากแรงงานสัตว์มาเป็นเครื่องจักรกล” เกษตร 2.0 คือ “เครื่องยนต์เผาไหม้” เกษตร 3.0 คือ “ระบบนำทางและการเกษตรที่แม่นยำ” และการเกษตร 4.0 คือ “การเกษตรแบบครบวงจร”

ที่มา: พรรณิการ์ งามเจริญ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ “A Comparison study of applying Smart Farming concept in China and Thailand”

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)  ซึ่งเป็นหน่วยงานชั้นนำด้านเทคโนโลยีแห่งประเทศ คือ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำตามกลยุทธ์ Smart Farmer โดยการนำเสนอเมื่อเดือนกันยายน 2559 นั้น NECTEC ด้นนำเสนอข้อกังวลต่างๆ ที่ภาคเกษตรและอาหารกำลังเผชิญ จับใจความเป็นคำถามได้ว่า “ใครจะปลูกอาหารให้เรากิน” สิ่งนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า อายุเฉลี่ยของชาวนาไทยนั้นอยู่ที่ 58 ปี และคนรุ่นใหม่ต่างไม่ต้องการทำการเกษตร คำตอบสำหรับคำถามนี้ คือ Smart Farmers จะเป็นเครื่องมือใหม่ของการเติบโต โดยพื้นฐานแล้วก็คือ สตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีเป็นอาวุธและทำให้ยังมีเกษตรกรอยู่ในภาคเกษตร

ที่มา: การแปลบางส่วนจาก “Smart Agriculture under Thailand 4.0” ของ NECTEC

กลยุทธ์ดังกล่าวถูกตกแต่งด้วยกราฟิกสีสันสดใสและเต็มไปด้วยถ้อยคำสวยหรูขององค์กร เช่น “แผนที่ทางความคิด” “รูปแบบความคิด” “วิสัยทัศน์ร่วมกัน” “การเรียนรู้เป็นทีม” “การคิดเชิงระบบ” และ “การคิดนอกกรอบ” กลยุทธ์นี้จะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อเกษตรกรยินดีที่จะใช้ “ชุดความคิดใหม่” สะท้อนให้เห็นถึงความพยายาม “ปรับทัศนคติ” ของรัฐบาลทหาร

ระยะแรกของแผนนี้ว่าด้วยเรื่อง “ความคิดสร้างสรรค์” เพื่อสร้าง “ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ โดยอาศัยความเป็นไทย” จบลงเมื่อปี 2558 ส่วนระยะที่สองที่จะดำเนินจนถึงปี 2020 นั่นคือ “ตราสินค้าไทย” ซึ่งจะทำให้ประเทศ “ได้รับการยอมรับทั่วโลกในด้านความมั่งคงทางอาหารและความปลอดภัยของอาหาร” ผ่านการทำเกษตรที่มีความแม่นยำ” และในที่สุดประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศผู้ผลิต “สินค้าเกษตรและอาหารของโลก” ภายในปี 2568

วิสัยทัศน์นี้ดูเข้าท่าดีทีเดียว หากเป้าหมาย คือ เกษตรกรจะสมาร์ทได้อย่างทันท่วงทีหรือไม่ 

ที่มา: “Smart Agriculture under Thailand 4.0” ของ NECTEC

ความเป็นจริงอันแสนจะขมขื่น

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่า ความต้องการบริโภคน้ำตาลต่อหัวในประเทศที่มีการบริโภคน้ำตาลสูง “ไม่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น” “ซึ่งความกังวลเรื่องสุขภาพทำให้ทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อน้ำตาลเปลี่ยนไป” เป็นผลให้ความต้องการน้ำตาลในประเทศกำลังพัฒนาบางแห่ง เช่น ประเทศไทย ลดลง

จึงคาดว่า การบริโภคน้ำตาลทั่วโลกจะชะลอตัวลงและเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.48 ต่อปี เพราะ “การเติบโตของประชากรที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ซบเซา” และการบริโภคน้ำตาลทรายต่อประชากรทั่วโลกก็ลดลงร้อยละ 5.9

องค์การอาหารและเกษตรฯ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำตาล “จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของมูลค่าที่เป็นตัวเงินตลอด 25 ปีที่ผ่านมา แต่จะต่ำกว่าเมื่อแสดงเป็นมูลค่าที่แท้จริง” เมื่อมีการคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 2.3

องค์การอาหารและเกษตรฯ ยังคาดการณ์ด้วยว่า “การปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลจะขยายตัวในหลายประเทศทั่วโลก” โดยการปลูกอ้อยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ต่อปี เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตในทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนดังกล่าวถือว่า การผลิตน้ำตาลทั่วโลกลดลงถึงร้อยละ 48 

องค์การอาหารและเกษตรฯ ยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทย “จะเผชิญกับการเติบโตที่ช้าลง” อันเป็นผลมาจาก “การยกเลิกการอุดหนุนราคา” และจะมีการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยในประเทศ “ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก”

กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า หลังจากราคาน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและโรงงานน้ำตาลมีการสนับสนุนให้ขยายที่ดินเพาะปลูกอ้อยมาเป็นเวลาหลายปี เกษตรกรภาคอีสานจำนวนมากจึงเลือกที่จะเปลี่ยนจากการปลูกมันสำปะหลังมาเป็นการปลูกอ้อยแทน แต่หลังจากที่ราคาน้ำตาลตกต่ำลงเพียงไม่กี่ปี “ดูเหมือนว่า จะทำให้เกษตรกรชะลอการปลูกอ้อยด้วยเมล็ดพันธุ์ใหม่แทนต้นอ้อยที่โตแล้ว ซึ่งจะทำให้การเพิ่มผลผลิตลดลง”

ที่มา: ดัดแปลงข้อมูลจากรายงานขององค์การอาหารและเกษตรฯ

จากการวิเคราะห์อุตสาหกรรมน้ำตาลเมื่อปี 2561 ของธนาคารกรุงศรี มีข่าวที่ดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย โดยรายงานเปิดเผยว่า สภาพปัจจุบันโดยรวม “เป็นสาเหตุทำให้ราคาน้ำตาลทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” และภาษีน้ำตาลอัตราใหม่จะทำให้ “อุปสงค์ภายในประเทศหดตัวลงเล็กน้อย”

อุตสาหกรรมนี้ยังจะต้องเผชิญกับผลลัพธ์จากการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลที่อาจจะทำให้รายได้ของโรงงานน้ำตาลได้รับผลกระทบตามไปด้วย

การวิเคราะห์ชี้ให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตน้ำตาลของไทยนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำ คือ 13.6 เซนต์/ ปอนด์ เมื่อเทียบกับบราซิลที่ต้นทุนการผลิตต่ำสุดคือ 11.2 เซนต์/ปอนด์

เหตุผลเดียวที่การผลิตน้ำตาลอาจเพิ่มสูงขึ้น คือ สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและการขยายตัวของการเพาะปลูกอ้อย ด้วยการสนับสนุนจากโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ๆ (“สอดคล้องกับการลงทุนที่วางแผนไว้ ซึ่งมีการออกใบอนุญาตให้แล้ว”) นั่นหมายความว่า น้ำตาลและ “รายได้สำหรับผู้ประกอบการไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากเท่าใดนัก” เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่องค์กรด้านการเงินทั่วโลกเห็นว่า เศรษฐกิจทั่วโลกในอีกสามปีข้างหน้าจะเติบโตที่ร้อยละ 3.9 แต่ทว่าความต้องการบริโภคน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อย 1-1.5 ต่อปีเท่านั้น

จากการที่องค์การการค้าโลกหยุดให้เงินอุดหนุนแก่โรงงานและผู้ผลิตน้ำตาล ทำให้รัฐบาลทหารเริ่มรื้อโครงการอุดหนุนที่คอยประคบประหงมบรรดาบริษัทและผู้ผลิตน้ำตาลมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นเงินภาษีของคนไทยนั่นเอง ที่นำมาจ่ายให้แก่โครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่พยุงราคาน้ำตาลไว้ขายให้แก่ผู้บริโภคในประเทศในราคาที่สูงและขายให้แก่ตลาดโลกในราคาต่ำ หากปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาลราคาน้ำตาลในตลาดโลกก็จะเป็นตัวกำหนดราคาน้ำตาลในประเทศไทยแทน

การวิเคราะห์ยังระบุอีกว่า แม้ราคาน้ำตาลจะอยู่ในระดับต่ำ แต่โรงงานก็น่าจะ “รักษาผลกำไรที่มั่นคง” ไว้ได้ เพราะโรงงานเหล่านี้จะ “ได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์พลอยได้และปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้ใช้ในเชิงพาณิชย์” และ “ช่วยรักษาอัตราการทำกำไรได้อย่างมั่นคง” ผู้ค้าน้ำตาลจะทำทุกหนทางเพื่อทำให้การส่งออกนั้น “เพิ่มผลกำไรสูงสุด” ให้ตนเองได้ เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาตลาดในประเทศที่ไม่มีการควบคุมแบบใหม่นี้ได้

ผู้ปลูกอ้อยจะต้องพึ่งพาสภาพภูมิอากาศและพากันปลูกอ้อยที่มีรสหวานมากขึ้น ดังนั้น ราคาน้ำตาลที่ตลาดโลกกำหนดไว้ “จะทำให้ผู้ปลูกมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนมากขึ้น” การวิเคราะห์แสดงให้เห็นถึงความหวังอันน้อยนิดที่คลุมเครือว่า “รัฐบาลและ/หรือโรงงานน้ำตาลจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยพยุงรายได้ให้แก่ผู้ปลูกอ้อย เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีอ้อยป้อนให้โรงงานอยู่เสมอ”

วรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการ สอน. กล่าวเมื่อวันที่ 26 กันยายน ว่า “ความยากลำบากในการขยายพื้นที่เพาะปลูก” เป็นสาเหตุทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาเน้นใช้ “เทคโนโลยีใหม่ๆ” ที่จะช่วยเพิ่มความหวานให้อ้อยและทำให้รายได้ของพวกเขาเพิ่มขึ้นด้วย

เธอบอกว่า เทคโนโลยีอาจทำให้ความหวานของอ้อยเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 15

วิธีที่จะช่วยทำให้ชาวไร่อ้อยเพิ่มรายได้ของตนเองได้นั้นมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตและ/หรือเพิ่มความหวานของอ้อย ตัวอย่างแรกก็คือ ปริมาณอ้อยที่เก็บเกี่ยวได้ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหกสิบปีที่ผ่านมา

ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 5.87 ตัน เมื่อช่วงทศวรรษ 2500 เป็น 11.72 ตันในปัจจุบัน ทว่าในความเป็นจริงแล้วเมื่อเทียบกับช่วงปี 2543 ถึง 2552 ผลผลิตในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23

นอกเหนือจากการเพิ่มผลผลิตแล้ว วิธีอื่นที่ชาวไร่อ้อยอาจนำมาใช้เพิ่มรายได้ของตนเอง ก็คือ การเพิ่มปริมาณน้ำตาลหรือความหวานของอ้อยที่เก็บเกี่ยวได้

ปกติแล้วอ้อยมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบร้อยละ 12 ถึงร้อยละ 16 รายงานที่จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวว่า มาตรฐานความหวานของอ้อยในญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 13.1 ถึงร้อยละ 14.3 อ้อยที่ปลูกได้ในออสเตรเลียมีปริมาณความหวานอยู่ที่ประมาณร้อยละ 13 แต่บางครั้งก็สูงถึงร้อยละ 18 เป็นต้น

ประเทศไทย มีรายงานเกี่ยวกับความหวานว่า ช่วงครึ่งหลังช่วงทศวรรษ 2530 ปริมาณน้ำตาลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 11.6 ปีนี้ สอน. บันทึกไว้ว่า อ้อยมีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ร้อยละ 12.6 หากโดยทั่วไปแล้ว ความหวานเพิ่มขึ้นมากกว่าจุดร้อยละห้า นั่นหมายถึง ปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 แม้ว่าความหวานอาจเชื่อมโยงกับสภาพอากาศมากกว่าสิ่งอื่นใดก็ตาม

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความหวานของอ้อยมีหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งจากระยะเวลาระหว่างการเก็บเกี่ยว การเปิดหีบอ้อยและการเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว ต่างเป็นปัจจัยที่มีความโดดเด่น

การศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะความแห้งแล้งต่อความหวานของอ้อยช่วยทำให้เรารับรู้ถึงเรื่องราวเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยความหวานของอ้อยที่เก็บเกี่ยวในฤดูแล้งพบว่า ลดลงอย่างชัดเจนในวันที่ 10 หลังเก็บเกี่ยว นอกจากนี้อ้อยในฤดูแล้งยังหวานน้อยกว่าอ้อยที่เก็บเกี่ยวในฤดูอื่นถึงร้อยละ 13 แต่ในวันที่ 4 หลังเก็บเกี่ยวปริมาณความหวานที่สูญเสียไปจะมีความคล้ายคลึงกันระหว่างอ้อยตัดสดกับอ้อยที่เผาก่อนเก็บเกี่ยว

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอีกฉบับหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ในวันที่ 15 หลังเก็บเกี่ยว อ้อยที่เผาก่อนเก็บเกี่ยวจะสูญเสียความหวานประมาณร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับอ้อยที่ตัดสด การศึกษาดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าในตอนแรกอ้อยที่เผาก่อนเก็บเกี่ยวจะหวานน้อยกว่าอ้อยสดร้อยละ 16 แต่ในวันที่ 4 นั้น อ้อยที่เผาก่อนเก็บเกี่ยวจะมีความหวานเท่ากันกับอ้อยตัดสด โดยมีความหวานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในขณะที่อ้อยตัดสดมีความหวานเพิมขึ้นเพียงร้อยละ 3 ส่วนอ้อยที่เผาก่อนเก็บเกี่ยวจะมีความหวานเท่ากันกับอ้อยตัดสดในวันที่ 9 และ 10 หลังเก็บเกี่ยว

ประเด็นก็คือ การศึกษาทั้งสองชิ้นต่างชี้ไปที่ช่วงวันแรกๆ หลังเก็บเกี่ยว ทั้งในช่วงฤดูแล้งหรืออ้อยที่ถูกเผาก่อนเก็บเกี่ยว ระดับของความหวานจะคล้ายกันในวันที่ 4 หลังการเก็บเกี่ยว เกษตรกรที่มีเครื่องมือเก็บเกี่ยวอ้อยอาจได้ประโยชน์จากความหวานที่ลดลงและรายได้ที่มากขึ้นจะมากกว่าเกษตรกรที่ตัดอ้อยด้วยมือ อ้อยที่เผาก่อนเก็บเกี่ยวจะมีความหวานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 110 ในวันที่ 7 และ 9 ส่วนอ้อยตัดสดจะมีระดับความหวานสูงสุดในวันที่ 5 หลังการเก็บเกี่ยว แต่หลังจากนั้นความหวานจะลดลงเหลือร้อยละ 30 ในวันที่ 15 ทั้งนี้ความหวานของอ้อยที่เผาก่อนเก็บเกี่ยวจะลดลงในวันที่ 15 เท่านั้น โดยความหวานจะลดลงร้อยละ 26 นับจากวันที่ 1 และลดลงต่ำกว่าวันที่ 4 ถึงร้อยละ 45

เมื่อผู้ปลูกรายย่อยขาดแรงงานหรือเงินที่จะมาจ้างแรงงานตัดอ้อย วิธีการเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวจึงอาจเป็นวิธีที่เหมาะสมก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามการเผาอ้อยยังถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ หากมองดูนโยบายของรัฐไทยที่มีมาตั้งแต่ปี 2552 จะพบว่า อัตราการเผาอ้อยในประเทศไทยในทศวรรษที่ผ่านมาไม่ได้ลดลงเลย 

ที่มา: รายงานเกี่ยวกับอ้อยที่เผาก่อนเก็บเกี่ยวในไทย; สอน.

จังหวัดที่มีโรงงานน้ำตาลที่มีสถิติการผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่เผาก่อนเก็บเกี่ยวมากที่สุดในปีนี้ ได้แก่ ชัยภูมิ หนองบัวลำภู และอุดรธานี โดยพบว่า มีการผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่เผาก่อนเก็บเกี่ยวสูงถึงร้อยละ 70 โดยโรงงานน้ำตาลที่มีการผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่เผาก่อนตัดน้อยกว่าร้อยละ 60 ได้แก่ โรงงานในจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น โคราช และบุรีรัมย์ ส่วนโรงงานที่จังหวัดเลย มุกดาหาร มหาสารคาม และสุรินทร์ ผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่เผาก่อนเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่างร้อยละ 60 ถึง 66 

สมมติว่า สถานการณ์การเผาอ้อยในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานน้ำตาลแย่กว่าพื้นที่อื่น นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณภาพอากาศในจังหวัดที่ไม่มีโรงงานน้ำตาลจะดีกว่า ซึ่งปัจจุบันเราไม่มีทางรู้เลยว่า คุณภาพอากาศเป็นอย่างไร เพราะรัฐบาลมีการติดตามสภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ติดตั้งในภาคอีสานเพียง 4 แห่ง เท่านั้น ได้แก่ ขอนแก่น เลย นครราชสีมา และอุบลราชธานี

แล้วเราเห็นอะไรบ้างจากตรงนี้

ประการแรก คือ รัฐบาลฝันถึงการเพิ่มการเพาะปลูกอ้อยในภาคอีสานในอีกประมาณ 8 ปีข้างหน้าด้วยการทำการเกษตรแบบ “Smart Farming”

ประการที่สอง ราคาอ้อยในตลาดโลกในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินตั้งแต่ปีที่แล้วให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในภาคอีสานได้ และมีเหตุผลหลายประการที่ทำให้เชื่อได้ว่า สิ่งนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ประการที่สาม การที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในภาคอีสานส่วนใหญ่จะเพิ่มผลผลิตของตนเองได้นั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ และมีแนวโน้มด้วยว่า เหตุผลทางการเงินจะยังคงทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้เผาไร่อ้อยต่อไปและมีส่วนทำให้คุณภาพอากาศในภูมิภาคและประเทศโดยรวมแย่ลง

ประการสุดท้าย สิ่งที่ปรากฏก็คือ การอุดหนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะลดลงหรือสิ้นสุดลง แล้วเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยขนาดกลางและขนาดเล็กจะอยู่รอดได้หรือไม่ แผนการของรัฐบาลที่จะวางโรงงานน้ำตาลทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีต่อภูมิภาคและคนอีสานหรือไม่

ในตอนต่อไปของซีรีส์ชุดนี้ เดอะอีสานเรคคอร์ด จะพาผู้อ่านมาวิเคราะห์ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมน้ำตาล ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสำรวจดูว่า การทำอย่างนี้มีผลต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยในอีสานอย่างไร

image_pdfimage_print