พฤษภา’53 เหตุการณ์ที่อำมหิตกว่า 6 ตุลา 2519
โดย วิทยากร โสรวัตร
ขอบคุณภาพจาก ไลน์ทูเดย์
ทุกๆ เดือนตุลาคมเราจะหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และ 14 ตุลา 2516 ผมจึงอยากชวนกลับไปอ่านบทความ ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน ของ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ในหนังสือ “สยามยามเปลี่ยน (ไม่) ผ่าน” ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (พฤษภาคม 2555)
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารอ่าน ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 (มกราคม-มีนาคม 2554) หน้า 32-56 เพื่ออย่างน้อยที่สุดจะได้หวนนึกถึงเหตุการณ์หนึ่งที่อาจารย์ชูศักดิ์ชี้ว่า อำมหิตกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
“ในฐานะที่เคยผ่านเหตุการณ์นองเลือดใหญ่ 3 เหตุการณ์ อันได้แก่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ในสมัยนุ่งกางเกงขาสั้นไปเรียนหนังสือ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในสมัยที่เป็นนักศึกษาปี 1 ที่ธรรมศาสตร์ และเหตุการณ์ 17 พฤษภา 2535 ตอนมาเป็นอาจารย์อยู่ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
สำหรับผมแล้วเหตุการณ์นองเลือดเดือนเมษาและพฤษภาฯ ปี 2553 เป็นการปราบปรามประชาชนอย่างอำมหิตที่สุดเท่าที่ได้ประสบพบเห็นมา
“หลายคนอาจท้วงว่า การเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนในกรณี 6 ตุลา 2519 นั้นมีความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนาที่สุดแล้วในสังคมไทย”
ดังที่เราเห็นจากหลักฐานภาพถ่ายฝูงชนนำศพมาแขวนคอและทุบตีด้วยเก้าอี้ นำเชือกมาผูกคอศพลากไปตามท้องถนน ลากคนที่ถูกยิงล้มบาดเจ็บมาสุมไฟพร้อมยางรถยนต์และเผาให้ตายทั้งเป็น รุมใช้ไม้ตอกลงไปที่หน้าอกคนเจ็บและคนตาย บังคับให้ผู้ชุมนุมนับพันถอดเสื้อผ้าจนเหลือแต่ชุดชั้นใน นอนก้มหน้าอยู่กลางสนามหญ้า
จริงอยู่ความโหดเหี้ยมในลักษณะดังกล่าว ไม่ปรากฏให้เห็นในกรณีเมษา-พฤษภา 2553 แต่ก็มีความอำมหิตอีกประเภทหนึ่งมาแทนที่
“การสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เกิดขึ้นอย่างโหดเหี้ยม รุนแรง เฉียบขาด แต่ก็จบลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง คือ นับตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 6 ถึงก่อนพลบค่ำในวันเดียวกัน แต่การไล่ล่าและเข่นฆ่าผู้ชุมนุมที่ราชดำเนินและราชประสงค์นั้นเป็นไปอย่างยืดเยื้อและเลือดเย็น เกิดการปะทะย่อยๆ ในหลายจุดหลายครั้งหลายครา แต่ละชั่วโมงแต่ละวันที่ผ่านไป มีผู้ชุมนุม นักข่าวและผู้สังเกตการณ์ถูกยิงจากกองกำลังทหารที่โอบล้อมอยู่โดยรอบที่ชุมนุมจนล้มตายและบาดเจ็บที่ละคนสองคน ยังไม่นับการลอบยิงด้วยทหารแม่นปืนเพื่อเด็ดชีพผู้ชุมนุมรายแล้วรายเล่า ทั้งหมดนี้ได้รับการแพร่ภาพถ่ายทอดไปทั่วโลก ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของคนเมืองบางกลุ่ม และการนิ่งดูดายของบรรดาผู้อวดอ้างตนเองมาตลอดว่ารักสันติ ต่อต้านความรุนแรง รักประชาชนและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม…”
เพราะอย่างไรเสียเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ก็จะยังมีคนพูดถึงอยู่เสมอและพูดถึงไปตราบนานเท่านาน
ด้วยความที่ทั้งสองเหตุการณ์กินพื้นที่ความทรงจำของสังคมไทยไปแล้วแม้ว่าจะยังไม่มีการกล่าวถึงในตำราเรียนอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่การที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ทั้งสองเป็นนิสิต-นักศึกษา ชนชั้นกลางที่ต่อมามีบทบาทนำในสังคมไทยจนถึงทุกวันนี้ ก็เป็นเครื่องการันตีได้ว่า เหตุการณ์นี้จะไม่ถูกลืม
ต่างจากเหตุการณ์เมษา-พฤษา 2553 ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นรากหญ้าเป็นคนไร้ชื่อและแทบจะมองไม่เห็นอนาคตว่าคนเหล่านี้จะมีบทบาทนำในสังคมไทยได้อย่างไร เท่านั้นยังไม่พอเหตุการณ์นี้สำหรับคนชั้นกลางในเมืองแล้วก็ยังเป็นอย่างที่อาจารย์ชูศักดิ์สะท้อนไว้
“ความอำมหิตของเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 คือ ความโหดเหี้ยมในการฆ่าของฝ่ายรัฐและความเลือดเย็นของคนเมืองที่ปล่อยให้การเข่นฆ่าดำเนินไปโดยไม่รู้ร้อนหนาว…” (น. 94)
ด้วยความที่เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 มีบริบทแบบนี้จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่า มันจะถูกเล่าขานต่อไปยาวนานจนดูเหมือนว่าจะไม่ตายเหมือนเช่นสองเหตุการณ์สำคัญในเดือนตุลาคมนั้น
ที่สำคัญคนอีสานที่ไปชุมนุมในช่วงเมษา-พฤษภานั้นมีสัดส่วนที่มากแทบจะที่สุดและคนที่ตายไปส่วนใหญ่ก็เป็นคนอีสาน
ถ้าลองไปสำรวจคนที่ตายไปทั้งหมดด้วยการยึดตามมาตุภูมิ อาจพบว่า คนที่ตายอาจเป็นคนอีสานมากกว่าที่ปรากฏก็ได้ เพราะหลายคนได้ย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่ในกรุงเทพฯ และภาคกลาง
บทความสำคัญของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะญาณทัศน์วิปลาสของกวีและนักเขียนผู้มีชื่อเสียงของไทยที่มีต่อเหตุการณ์นี้ที่พุ่งความสำคัญไปที่ตึกรามบ้านช่องที่ถูกเผาโดยละเลยความเป็นคนที่ถูกทำลาย การเข่นฆ่าโดยอำนาจรัฐ
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงน้ำเสียงเย้ยหยันรังเกียจของกวีและนักเขียนเหล่านี้ที่มีต่อประชาชนฝ่ายที่ถูกรัฐเข่นฆ่า
ถ้าเราเริ่มต้นศึกษาลักษณะและแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏการณ์ของกวีและนักเขียนมีชื่อเหล่านี้จากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 จะพบว่าขบวนการได้แผ่ขยายออกไปสู่วงการศิลปินสาขาอื่น ทั้งนักดนตรี นักร้อง คนในวงการหนังสือ ดารา จิตรกร และงานของพวกเขาก็ขยายไปสู่การผนึกกำลังกับกปปส. ล้มการเลือกตั้งและเป็นนั่งร้านให้การรัฐประหาร 2557 และเรื่อยมาจนถึงการสนับสนุนรัฐธรรมนูญ 60 ของมีชัย ฤชุพันธุ์ การแต่งตั้ง ส.ว. และผนึกกำลังกับบางพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ (รายละเอียดตรงนี้ ผมว่า คงจะมีนักวิชาการด้านวรรณกรรมการเมือง, ประวัติศาสตร์การเมืองวัฒนธรรม รวบรวมข้อมูลไว้แล้วและคงมีงานวิจัยออกมาในอนาคต)
กล่าวอย่างถึงที่สุด เวลาเราศึกษาเหตุการณ์เหล่านี้ มันจะเกิดความรู้สึกหนึ่งขึ้นมาเสมอ นั่นก็คือ ทำไมคนเราถึงสามารถฆ่ากันได้ขนาดนั้น ผมว่าคำถามหรือความรู้สึกแบบนี้มันสะท้อนถึงความที่เรามีมโนธรรมหรือมนุษยธรรม
และมนุษยธรรมมันไม่ได้แบ่งสีหรือจุดยืนทางการเมือง ไม่ได้แบ่งศาสนา ไม่ได้แบ่งเชื้อชาติ ชนชั้น มันเป็นเนื้อแท้แห่งหัวใจของความเป็นมนุษย์ ยกเว้นก็แต่เราไม่เห็นว่า อีกคนเป็นคนเป็นมนุษย์ แต่เป็นสัตว์เป็นภูติผีปีศาจไป
ในทางมนุษยธรรม การที่คนเราจะเปลี่ยนวิถีคิดหรือจุดยืนทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องธรรมดาและในจริยธรรมของประชาธิปไตยนั้นก็ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย แต่ในกรณีที่บางคนเป็นปัญญาชน นักเคลื่อนไหว ศิลปินที่ผ่านเหตุการณ์แบบ 6 ตุลา 2519 มา และใช้เหตุการณ์นี้สร้างชื่อสร้างโปรไฟล์ สร้างเครดิตให้ตัวเองจนมั่นคงและยังใช้หากินเลี้ยงชีพได้จนทุกวันนี้
แล้ววันหนึ่งก็มีกลุ่มคนลุกขึ้นมาคัดค้านอำนาจนิยมแบบที่คุณเองก็เคยค้านเคยต่อสู้ แล้วถูกกลุ่มอำนาจนิยมยิงทิ้ง ฆ่าทิ้งอย่าโหดเหี้ยมและกลุ่มที่ฆ่าก็เป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยฆ่าพวกคุณเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนนั่นแหละ แต่คุณกลับสนับสนุนการฆ่านั้น – –
เราจะอธิบายความเคลื่อนไหวที่ปรากฏนี้อย่างไร?
ทำไมเราฆ่ากันได้ขนาดนี้?
ถ้า 6 ตุลา 2519 ได้สร้างความรังเกียจต่อนิสิต-นักศึกษา ชาวนากรรมกร จนเกิดเห็นดีในการล้อมฆ่าแล้ว การดูดายหรือยินดีต่อการฆ่าประชาชนรากหญ้าในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ของผู้คนหรือศิลปิน กวี นักเขียน เหล่านี้ อธิบายเป็นอื่นไม่ได้เลย นอกจากว่าเขาเหล่านั้นสมาทานศีลแห่งความชิงชังรักเกียจเดียวกับกลุ่มคนที่ฆ่าเพื่อนๆ พวกเขาเมื่อ 40 กว่าปีก่อนและเขายอมให้ความชิงชังรังเกียจนั้นได้ทำลายสำนึกแห่งมนุษยธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ของตัวเองไป
จะว่าไปทำไมมี ตลอดระยะเวลาอันยาวนานตั้งแต่เมษา-พฤษภา 2553 ภายหลังการตายมากมายของคนอีสานจนถึงวันนี้ กลับมีศิลปิน นักดนตรี นักร้อง คนเขียนรูป กวี นักเขียนลูกอีสานมากมายมีท่าทีชิงชังรังเกียจประชาชนแดง (ซึ่งถือเป็นความหลากหลายทางการเมือง) มีท่าทีสนับสนุนการฆ่าพี่น้องประชาชนเหล่านี้ในนามการกระทำของรัฐ
ถามว่าอะไรหรือถึงทำให้คนที่มีการศึกษา มีสติปัญญา และเป็นคนอีสานเหมือนกันถึงรังเกียจกันจนสนับสนุนการฆ่าคนบ้านเดียวกันหรือมีท่าทีเฉยเมยกระทั่งแสดงความสะใจต่อการถูกฆ่าของคนอีสานด้วยกันได้ขนาดนี้
และเชื่อได้เลยว่า ความตายของคนอีสานเหล่านี้จะไม่ถูกเอ่ยถึงในนามของมนุษยธรรมจากปากหรือและข้อเขียนของศิลปิน กวี นักเขียนลูกอีสานเหล่านี้
และนี่ไม่ได้กล่าวเกินเลย ถ้าท่านลองค้นหาในไทม์ไลน์เฟสบุ๊คและการแสดงทัศนะของคนเหล่านี้ตั้งแต่ปีหลังการฆ่า 2553 เป็นต้นมา ก็จะพอเห็นจริงได้ ยกเว้นแต่ว่าเขาเหล่านั้นได้ลบหลักฐานเหล่านั้นไปแล้ว (แต่เชื่อเถอะว่า ข้อมูลหลักฐานเหล่านั้นได้ถูกบันทึกหรือเก็บไว้แล้วจากคนที่สนใจเรื่องนี้
และวันหนึ่งมันจะปรากฏออกมาเป็นงานวิจัย เป็นงานเขียนอีกมากมาย)
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะเตือนความทรงจำถึงเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ที่คนอีสานได้ล้มตายเป็นจำนวนมากและเพื่อจะย้ำคำถามเดิมว่าอะไรทำให้คนเราฆ่ากันหรือสนับสนุนและสะใจต่อการฆ่ากันได้ขนาดนี้