โดย ภาณุพงศ์ ธงศรี
ฮีตสิบสองคองสิบสี่ เป็นแบบแผนการปฏิบัติของชาวอีสาน แต่ละเดือนมีประเพณีกำหนดชัดเจน
หนึ่งในประเพณีของฮีตสิบสองคองสิบสี่ที่เพิ่งผ่านมา คือ บุญออกพรรษา ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็น “วันมหาปวารณา” คำว่า “ปวารณา” แปลว่า “อนุญาต” หรือ “ยอมให้” คือ เป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกันว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ในข้อที่ผิดพลั้งล่วงเกินระหว่างที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน
ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ชาวอีสานทำบุญอุทิศส่วนกุศล ลอยประทีป ไหลเรือไฟ และแห่ปราสาทผึ้ง ถือเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนถือปฏิบัติกันมาหลายชั่วอายุคน
บทความนี้จะชวนผู้อ่านได้ไปรู้จักต้นปราสาทผึ้งของชาวบ้านยางขี้นก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ที่สืบทอดและอนุรักษ์ตามแบบฉบับดั้งเดิมจากบรรพบุรุษ
บรรยากาศการทำต้นปราสาทผึ้งของชาวบ้านยางขี้นก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ที่ทำตามแบบที่สร้างจากกาบกล้วยและร้อยติดกันด้วยตอกไม้ไผ่
บ้านยางขี้นก เป็นชุมชนของกลุ่มคนชาติพันธุ์ลาว คนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา การทำปราสาทผึ้งจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านจะอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไป โดยมีพื้นฐานความเชื่อมาจากวันที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการโปรดพระพุทธมารดา
ในโอกาสนั้นทรงสำแดงฉัพพรรณรังสี เป็นเหตุให้โลกภูมิทั้งหลาย ตั้งแต่พรหมภูมิไปจนถึงนรกภูมิเปิดสว่าง จนแลเห็นซึ่งกันและกันได้ จึงเป็นโอกาสที่ลูกหลานจะได้อุทิศส่วนกุศลไปถึงญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
เมื่อทำโครงสร้างเสร็จแล้วจะห่อด้วยก้านกล้วยเพื่อปิดโครงสร้างของไม้ไผ่ แล้วนำกาบกล้วยส่วนหนึ่งมาหุ้มก่อนนำลายหยวกกล้วยที่แทงลายเรียบร้อยมาประกอบเป็นปราสาทผึ้งที่สมบูรณ์
ต้นปราสาทผึ้งจะสร้างก่อนวันออกพรรษา 1 วัน ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ชาวบ้านฝ่ายชาย จะเป็นฝ่ายทำโครงสร้าง โดยใช้ไม้ไผ่ 2 ชนิด คือ ไม้ไผ่สร้างไพ และไม้ไผ่บ้าน (อายุไม่เกิน 1 ปี) ประกอบเป็นโครงสร้างของต้นปราสาทผึ้ง โดยใช้เสาค้ำเป็นฐาน 4 เสาและมีฐานเรียงเป็นลำดับน้อยใหญ่ 3 ชั้น
จากนั้นช่างก็จะนำไม้ไผ่บ้านที่เหลาเป็นวงกลมมาล้อมรอบและบิดไปตามฐานเพื่อให้ต้นปราสาทผึ้งมีความคงทนแข็งแรง เมื่อครบทั้งสามชั้นแล้วจะใช้ใบตองกล้วยทั้งก้าน หุ้มล้อมรอบเพื่อปิดช่องว่างของตัวปราสาทโดยใช้ไม้ไผ่ยึดให้คงทน
ลายหยวกกล้วยของต้นปราสาทผึ้ง บ้านยางขี้นก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ในแบบต่างๆ
เมื่อโครงสร้างของต้นปราสาทผึ้งเสร็จ ต่อไปก็เป็นการแทงหยวกกล้วย ในอดีตช่างแทงหยวกจะมีเกียรติมาก เพราะถือว่าเป็นนายช่างและเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการทำต้นปราสาทผึ้งจากต้นกล้วยส่วนที่ลอกออกมาเป็นกาบเท่านั้น โดยมักใช้หยวกนอกหรือกาบกล้วยตานี เพราะมีสีขาวดีและไม่เปลี่ยนสีเร็ว
ส่วนแกนอ่อนของต้นกล้วยช่างจะไม่ใช้ในการประกอบต้นปราสาทผึ้งก็จะนำไปแกงกับไก่บ้านเป็นอาหารกลางวันสำหรับผู้ที่มาร่วมแรงในการทำต้นปราสาทผึ้ง
ดอกผึ้งหงวย ชาวบ้านช่วยกันตกแต่งทำเป็นช่อ ยอดบนสุดจะใส่ดอกไม้สีขาวและใช้ด้ายสีขาวมัดไว้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ดอกผึ้งหงวยนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง แสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมและการแสดงความนับถือ
ลายหยวกกล้วยของต้นปราสาทผึ้งบ้านยางขี้นก อ.เขื่องใน จ. แบ่งเป็น 6 ลาย ประกอบด้วย ลายโหง่ใหญ่ ลายโหง่น้อย ลายกะทอด ลายแข่วหมา ลายตีนเต่า และลายนกน้อย ซึ่งโครงสร้างแต่ละส่วนจะคล้ายคลึงกัน
โดยลายกะทอด จะประกอบด้วย ลายแข่วหมา ลายตีนเต่า เป็นส่วนฐานของต้นปราสาทผึ้ง
เหตุที่เรียกว่า “กะทอด” เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกับกะทอดของบ้าน มีลักษณะเป็นคานไม้พาดยาวติดกับเสาอยู่ใต้ตัวบ้านก่อนปูพื้น
ส่วนคำว่า “ลายนกน้อย” น่าจะมาจากคำว่า กระหนก เมื่อเวลาผ่านไปคนอีสานไม่ถนัดออกเสียงคำควบกล้ำ เลยเหลือเพียงคำว่า “นก” กลายเป็นคำว่า “นกน้อย”
ชาวบ้านได้แกะสลักตกแต่งลูกโพธิ์ให้เป็นแฉกตามต้องการ จากนั้นก็นำมาจุ่มขี้ผึ้งขณะร้อนก่อนจะนำไปแช่น้ำเย็นเพื่อให้แข็งตัว จากนั้นขี้ผึ้งจะหลุดออกกลายเป็นดอกไม้ตามแม่พิมพ์
เมื่อต้นปราสาทผึ้งเป็นรูปร่างแล้วก็จะประดับประดาด้วยดอกผึ้งที่ใช้ขี้ผึ้งแท้ต้มกระทั่งขี้ผึ้งละลาย แล้วใช้ลูกของต้นโพธิ์แกะอย่างประณีตลงจุ่มขี้ผึ้ง แล้วนำมาพักในน้ำเย็นจนแข็งและกลายเป็นดอกผึ้งเพื่อใช้ตกแต่งปราสาทผึ้งให้งดงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การประดับประดาต้นปราสาทผึ้งด้วยขี้ผึ้งจะทำให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ถือเป็นแนวทางในการสร้างปราสาทผึ้งเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและสร้างกุศลสืบมา
ต้นปราสาทผึ้งต้นใหญ่จะต้องมีต้นดอกผึ้งหงวย (น่าจะมาจากคำว่าหงาย) จำนวน 1 คู่เป็นบริวาร โดยจะไม่ตกแต่งด้วยดอกผึ้งที่จุ่มขี้ผึ้ง แต่จะใช้ดอกผึ้งที่ผ่านการผึ่งแดดจนอ่อนตัว แล้วนำมาบีบเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วใช้ดอกไม้ (จริง) ประดับเป็นช่อให้ดูสวยงาม
ในช่วงเย็นก็จะเป็นพิธีแห่ต้นปราสาทผึ้ง โดยแต่ละคุ้มในหมู่บ้านก็จะนำปราสาทผึ้งมารวมกันที่วัด แต่ครอบครัวจุดเทียนและบูชาดอกข้าว (ข้าวที่กำลังตั้งท้อง) บน “ฮ้านประทีป” ถือเป็นการคารวะต่อการล่วงเกินพระแม่โพสพและฝากบุญเพื่อให้พระแม่โพสพเจริญงอกงามหล่อเลี้ยงผู้คนต่อไป
ในงานบุญจะมีเทศน์ “อานิสงค์ปราสาทเผิ่ง” ซึ่งเป็นวรรณกรรมอีสานโบราณ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ที่ชาวอีสานได้ปฏิบัติกันสืบมา
การแห่ปราสาทผึ้งเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและเป็นการสร้างกุศลให้ตัวเอง รวมทั้งเป็นการสร้างความสามัคคีและเป็นการทำบุญร่วมกันของคนในชุมชน
ต้นปราสาทผึ้งถือเป็นเสน่ห์วัฒนธรรมจากการสร้างสรรค์ของชุมชนอีสาน สร้างพลังและรอยยิ้มให้เกิดขึ้นในชุมชนผ่านวัฒนธรรมและประเพณี
ปราสาทผึ้งจึงมีนัยทั้งความเชื่อ การช่วยเหลือกันในชุมชนและสังคม อีกทั้งมีความหมายเพื่อระลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไป ตลอดจนสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างของคนที่มีชีวิตอยู่
ผู้เขียนเห็นว่า หน่วยงานราชการควรให้ความสำคัญด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มิได้ลงถึงรากหญ้า แต่ยังเป็นการทำลายวัฒนธรรมทางสังคมและละเลยฐานความคิดดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติมา ซึ่งการจะพัฒนาประเทศ ควรเห็นความสำคัญของเสน่ห์วัฒนธรรมที่สร้างสรรค์เหล่านี้เพื่อให้คงอยู่สืบไป