สกลนคร – เดอะอีสานเรคคอร์ดร่วมกับหลายองค์กรเครือข่ายจัดเวทีวิชาการเรื่อง “ผู้หญิงอีสาน บนถนนการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมในวิถีประชาธิปไตย” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเสวนาในหัวข้อ “ความท้าทายของผู้หญิงกับการเมืองและการเมืองเลือกตั้ง” ซึ่งมีตัวแทนจากพรรคการเมืองร่วมแลกเปลี่ยน 

อ่านเวทีช่วงเช้าที่นี่

ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยฝ่ายนโยบาย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ (ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ) “รู้สึกผิดหวังกับรัฐสภาไทย”

ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยฝ่ายนโยบาย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ในสังคมไทยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศยังมีอยู่ในงานการเมือง ซึ่งสัมผัสจากประสบการณ์ตรงในสภาผู้แทน เช่น มีการนินทากันในสภาว่า ส.ส.หญิงคนนี้เป็นลูก-เมียนักการเมืองผู้ชายคนไหนถึงได้เข้ามาทำงานการเมืองได้ โดยคนที่นินทาไม่มองเลยว่า เราก็ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน หรือกรณีมีผู้หญิงในสภาน้อยไม่ถึง 20 คน ทำให้อำนาจของผู้ชายมีมากกว่า 

“จะเห็นได้ว่าตอนประชุมสภาฯ ส.ส.ผู้ชาย หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีมีใช้คำพูดกับ ส.ส.หญิงในพรรคเราในสภาว่า เป็นยังไงบ้างคนสวย ต้องขอให้พื้นที่สภาฯ เป็นพื้นที่ที่เคารพความแตกต่างทางเพศ ทำให้รู้สึกผิดหวังกับรัฐสภาไทย” ศิริกัญญากล่าว 

เธอกล่าวว่า เมื่อผู้หญิงในสภาฯ มีค่อนข้างน้อย ผู้หญิงจึงมักถูกมองว่าเป็นเพียงไม้ประดับ ไม่จำเป็นต้องมีบทบาทอะไร  

“สื่อและสังคมก็จะสนใจ ส.ส.หญิงเพียงว่า วันนี้จะแต่งตัวอย่างไร สีผมอะไร ไม่สนใจเนื้อหาสาระที่พวกเราพยายามจะอภิปรายหรือร้องเรียน ทำให้ต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อไม่ให้โดดเด่นเรื่องการแต่งตัว” ศิริกัญญา กล่าว 

สำหรับศิริกัญญา เธอเห็นว่า สังคมไทยยังมีมายาคติที่มองผู้หญิงที่เข้ามาทำงานในสภาฯ ว่า ควรจะแสดงความเป็นกุลสตรี มีความเป็นหญิง เมื่ออภิปรายในสภาไม่ควรพูดจาที่แข็งกร้าว ต้องแสดงออกด้วยความอ่อนโยน 

“มายาคตินี้ส่งผลให้สังคมคาดหวังให้ ส.ส. หรือ รัฐมนตรีหญิง ต้องดูแลความเป็นหญิง ความเป็นแม่ ต้องพูดเรื่องสวัสดิการสังคม พูดเรื่องแม่และเด็ก ไม่ควรพูดเรื่องกองทัพ เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะเป็นของผู้ชาย” ศิริกัญญากล่าว 

สำหรับศิริกัญญา ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในการทำงานเมืองไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการแก้ไขกฎหมายหรือออกกฎหมายคุ้มครองทุกเพศที่ทำงานการเมือง ถ้าจะแก้ไขได้ ต้องแก้ไขเรื่องตั้งแต่การสร้างปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อของคนในสังคมว่า ผู้หญิงหรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็สามารถทำงานการเมืองเพื่อสังคมได้

ณัฐพร อาจหาญ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขต 5 พรรคสามัญชน (ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์) “การออกมาต่อสู้มันก็เกินกว่าจะอธิบายด้วยคำว่า การเมือง แต่เป็นการออกมาเพื่อสร้างความเป็นธรรม โดยไม่มีการแบ่งเพศ”

ณัฐพร อาจหาญ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เขต 5 พรรคสามัญชน แสดงความคิดเห็นว่า ความเป็นเพศผู้หญิงไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานการเมืองและการเคลื่อนไหวปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอีสาน แต่เป็นความท้าทายมากกว่า เพราะในสังคมอีสานปัจจุบันยังมีความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่ ความเชื่อนี้แทรกซึมไปถึงเรื่องทางการเมืองด้วย ดังนั้นเธอต้องพิสูจน์ความสามารถให้กับคนในพื้นที่ที่ยังมองว่า ผู้หญิงไม่สามารถทำงานการเมืองได้

“ช่วงลงพื้นที่มักจะถูกชาวบ้าน คนเฒ่าคนแก่บางคนถามว่า เป็นผู้หญิงและยังเป็นเด็กอยู่จะทำงานการเมืองได้หรือ” ณัฐพรกล่าว

ความเชื่อเช่นนี้สำหรับณัฐพรสะท้อนว่า คนในสังคมอีสานบางส่วนยังไม่เชื่อมั่นว่าผู้หญิงมีศักยภาพในการทำงานด้านการเมืองหรืองานด้านการเคลื่อนไหว ซึ่งควรจะเป็นบทบาทของผู้ชาย 

“เราเป็นผู้หญิง เมื่อเข้ามาทำงานการเมืองแบบนี้ต้องใช้ความสามารถมากกว่าผู้ชายหนึ่งถึงสองเท่า เพื่อยืนยันว่า เราสามารถทำงานการเมืองได้ เป็นตัวแทนพี่น้องได้” ณัฐพรกล่าว

เธอให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เพศสภาพ จากความเป็นเพศหญิง เพศชาย หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ควรเป็นเงื่อนไขหรืออุปสรรคในการจะเข้ามาทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน

เธอยอมรับว่า สังคมบางส่วนยังมีความเชื่อและคาดหวังต่อผู้หญิงที่ลุกขึ้นมามีบทบาททางการเมือง เรียกร้องประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมว่า ต้องใช้ความสวย ความน่ารัก ออดอ้อน อ่อนแอ หรือเรียกร้องความสงสาร เพื่อต่อสู้ ต่อรองทางการเมือง ซึ่งสำหรับเธอเป็นความคาดเชื่อที่ผิด

“ความคาดหวังนี้มันลดทอนคุณค่าหรือสิ่งที่ผู้หญิงทำ มันลดทอนคุณค่าของการเคลื่อนไหว เพราะผู้หญิงที่มีบทบาททางการเมืองหลายคนใช้เนื้อหา สาระที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวต่อสู้ ไม่ได้ใช้ความเป็นหญิงอย่างที่สังคมคาดหวัง และการออกมาต่อสู้มันก็เกินกว่าจะอธิบายด้วยคำว่า การเมือง แต่เป็นการออกมาสร้างความเป็นธรรม โดยไม่มีการแบ่งเพศ” อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคสามัญชนกล่าว

อรนุช ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน จ.ชัยภูมิ และอดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขต 5 พรรคอนาคตใหม่ (ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์) “ผู้หญิงสามารถปกป้องชุมชนได้ไม่แตกต่างผู้ชาย”

คล้ายกับ อรนุช ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน จ.ชัยภูมิ และอดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขต 5 พรรคอนาคตใหม่ ที่เห็นว่า บทบาทผู้หญิงทางการเมืองและการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องนำความเป็นหญิงที่สังคมมองว่า อ่อนแอ อ่อนโยน แล้วคนต้องเห็นใจมาใช้ในการเคลื่อนไหว เพราะการปกป้องสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม ผู้หญิงก็สามารถแสดงความเข้มแข็ง มุ่งมั่น กล้าหาญเหมือนอย่างที่สังคมคาดหวังให้ผู้ชายทำได้ 

“ผู้หญิงก็สามารถปกป้องครอบครัว ชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือมีส่วนร่วมทางการเมืองได้” อรนุชกล่าว

เธอกล่าวอีกว่า ช่วงที่เธอตัดสินใจลงเล่นการเมืองโดยสมัครเป็น ส.ส. ยังถูกคนในพื้นที่ถามว่า จะสามารถทำงานการเมืองได้หรือไม่ เพราะเป็นผู้หญิง 

“คำพูดเหล่านี้สะท้อนว่า ชาวบ้านบางคนยังติดภาพว่า นักการเมืองที่ทำงานเป็นผู้แทนประชาชนควรจะเป็นผู้ชาย โดยพวกเขาไม่ได้มองว่า ผู้หญิงอย่างเราเคยทำงานหรือประสบการณ์ทางการเมืองอะไรมาบ้าง” อรนุชกล่าว

สำหรับอรนุช เธออยากให้คนในสังคมเปลี่ยนทัศคติจากที่เชื่อว่า ผู้หญิงไม่สามารถทำงานการเมืองและปกป้องชุมชมได้ เพราะตอนนี้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ปัญหาสังคม ไม่แตกต่างจากผู้ชาย 

ผู้ร่วมฟังงานเสวนา (ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ)
image_pdfimage_print