ร้อยเอ็ด – เฟชบุ๊คของชมรมคนรักษ์ตำบลโนนสวรรค์ เผยแพร่กิจกรรมการคัดค้านการเปิดเวทีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ในโครงการก่อสร้างน้ำตาลขนาด 24,000 ตันอ้อยต่อวันและโรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจัดขึ้นที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ในวันที่ 29 และ 31 ตุลาคมนี้ 

ข้อความบนเฟซบุ๊คยังระบุอีกว่า สมาชิกเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาและ 11 องค์กรเครือข่ายฯ ได้ถือป้ายรณรงค์ที่มีข้อความคัดค้านโครงการฯ บนถนนรอบที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ก่อนจะเข้าไปภายในหอประชุมที่ว่าการอำเภอฯ

สมาชิกเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาและ 11 องค์กรถือป้ายรณรงค์ที่มีข้อความคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ก่อนจะเข้าไปชุมนุมภายในหอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ภาพจาก เฟชบุ๊คของชมรมคนรักษ์ตำบลโนนสวรรค์

หนูปา แก้วพิลา สมาชิกเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา เปิดเผยว่า เราจะปักหลักชุมนุมในหอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ตลอดทั้งวันทั้งคืน และจะไม่ยอมให้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและไม่โปร่งใส 

จากนั้น พิชณ์ณัฎฐ์ คำโพธิ์ ตัวแทนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ได้อ่านแถลงการณ์มีใจความว่า ขอให้ยกเลิกการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นคร้ังที่ 2 (ค.2) ในโครงการผลิตน้ำตาลของบริษัทน้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด และโรงไฟฟ้าชีวมวล 

แถลงการณ์ยังระบุเหตุผลการคัดค้านว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา บริษัทน้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) และบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้จะได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง 

สมาชิกเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาและ 11 องค์กร ร่วมปักหลักชุมนุมในหอประชุม อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลคร้ังที่ 2 (ค.2) ภาพจากเฟชบุ๊คของชมรมคนรักษ์ตำบลโนนสวรรค์

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นคร้ังที่แล้วก็ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพราะที่ประชุมอยู่นอกรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของการทำอีไอเอ  

“ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งให้ผลของเวทีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เป็นโมฆะ เพราะการจัดประชุมไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” แถลงการณ์ระบุ  

นอกจากนี้ยังขอให้รัฐมนตรีฯ มีคำสั่งยุติการรับฟังความคิดเห็นคร้ังที่ 2 (ค.2) และขอให้สอบสวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดประชุม เพราะขัดกับกฎหมาย รวมทั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยกเลิกการอนุมัติให้บริษัทเทคนิคสิ่งแวดล้อมไทยจัดประชุมครั้งที่ 2 

เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ตัวแทนจาก 6 องค์กรภาคประชาชน ประกอบด้วย เครือข่ายภาคประชาเครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์ สภาองค์กรชุมชน ตำบลโนนสวรรค์ และตำบลสระบัว อ.ปทุมรัตต์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ได้ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลยกเลิกการผลักดันโรงงานอ้อย น้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เนื่องจากเกรงว่า อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลาร้องไห้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม

image_pdfimage_print