เวทีรับฟังความคิดเห็น ค.2 ก่อนสร้างโรงงานน้ำตาล จ.ร้อยเอ็ด ป่วน
เรื่อง หทัยรัตน์ พหลทัพ
ภาพ อติเทพ จันทร์เทศ
ร้อยเอ็ด – บริษัทน้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด และหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน ร่วมจัดเวทีแสดงความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ค.2) ต่อโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาล มีผู้ร่วมรับฟังความคิดเห็นกว่า 1,600 คน จาก 32 หมู่บ้าน และประชาชนที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรของโครงการฯ
ขณะเดียวกันมีกลุ่มคนฮักทุ่งกุลา ซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการมาปักหลักชุมชนภายในหอประชุมซึ่งเป็นสถานที่จัดเวทีตั้งแต่คืนที่ผ่านมา ทำให้ผู้จัดต้องย้ายมาจัดเวทีบริเวณลานจอดรถที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด

กลุ่มคนฮักทุ่งกุลาเผชิญหน้ากับตำรวจควบคุมฝูงชนขณะการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นก่อนการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด
เลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวต่อผู้ร่วมเวทีว่า เวทีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 (ค.1) มีหลายคนกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ผู้จัดจึงนำความคิดเห็นจากเวทีครั้งที่แล้ว โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องสุขภาพ ฝุ่นละออง การขนส่ง และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นมาศึกษาโดยนักวิชาการ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อรายงานต่อประชาชน
“ต้องขออภัยในความไม่สะดวก เพราะมีเหตุขัดข้องต้องย้ายเวทีเพราะมีคนไม่เห็นด้วยกับโครงการมาชุมชนในหอประชุม ซึ่งไม่ว่ากัน แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย อันนี้ผมส่งสัญญาณแล้วนะ ถ้าใครทำผิดกฎหมาย ต้องรอรับผลกระทำนั้น” รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าว

เลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อกรณีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลที่จัดโดยบริษัทน้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด และหน่วยงานราชการ ณ ที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด
การจัดเวทีแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ ผู้ร่วมงานได้รับเอกสารเป็นรายงานผลการศึกษาการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนในโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ที่จัดทำโดยนักวิชาการ ได้แก่ อนุชา เพีชรชนะ และ พิสดาร แสนชาติ เพื่อประกอบการพิจารณา
ขณะที่ พิมพ์ ผานพ อายุ 60 ปี ชาวตำบลโนนสวรรค์ ผู้ร่วมเวทีฯ กล่าวว่า เห็นด้วยกับโครงการฯ นี้ เพราะต้องการให้คนในพื้นที่มีงานทำ ไม่ต้องไปทำงานกรุงเทพฯ แม้ว่าบ้านจะอยู่ติดสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาลก็ไม่กลัว

กลุ่มคนฮักทุ่งกุลา จ.ร้อยเอ็ด พยายามเข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ค.2) ต่อโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ณ ที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ทำให้เกิดการปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชน
ส่วน เอมอร สิงธิมาศ แกนนำกลุ่มคนฮักทุ่งกุลา จ.ร้อยเอ็ด แสดงความเห็นว่า ทุ่งกุลาเป็นแหล่งข้าวหอมมะลิ ไม่มีที่อื่นเหมาะสมเท่านี้ แต่เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐกลับมาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกอ้อย โดยพบว่า ในตำบลโนนสวรรค์และตำบลสระบัว ที่เป็นพื้นที่เตรียมจะสร้างโรงงาน เกษตรกรได้ไถไร่อ้อยทิ้งหมดไปแล้วกว่าร้อยละ 90
“ตอนนี้ไม่มีแปลงปลูกอ้อยเพื่อส่งให้โรงงาน แล้วจะมาสร้างโรงงานและโรงไฟฟ้าทำไม เพราะนอกจากจะทำลายสิ่งที่มีดีอยู่แล้ว กลับจะนำฝุ่นพิษและน้ำเสียมาในชุมชน” แกนนำกลุ่มคนฮักทุ่งกุลา จ.ร้อยเอ็ด กล่าว และเกรงว่า โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจะแย่งน้ำจากประชาชน
“นี่คือปัญหาใหญ่ที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้าน ประเด็นนี้โรงงานไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนกับประชาชน” เธอกล่าว

ตำรวจควบคุมฝูงชน จ.ร้อยเอ็ด หลายร้อยนายมารักษาความปลอดภัยตลอดการชุมชุมของผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล จ.ร้อยเอ็ด
ส่วน เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน ผู้เกาะติดนโยบายอ้อยและน้ำตาลของรัฐบาล กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนที่จะสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 29 แห่งในภาคอีสาน ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะต้องยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านอีกประมาณ 5-6 ล้านไร่ และเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อย
“ชาวบ้านในอีกหลายจังหวัดยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องลำบาก เพราะจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง แม้พื้นที่นี้ชาวบ้านจะออกมาคัดค้าน แต่ก็คิดว่ายังไม่เป็นผล ต้องรอกระบวนการที่ชาวบ้านขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้การแสดงความคิดเห็นในเวที ค.1 เป็นโมฆะ” เลิศศักดิ์ กล่าว
เขายังเสนอทางออกต่อโครงการฯ นี้ว่า รัฐต้องหยุดและยกเลิกผลการจัดแสดงความคิดเห็นคร้ังที่ 1 (ค.1) ส่วน ค.2 ต้องชะลอไว้ก่อน แล้วกลับไปพิจารณา ค.1 เพื่อไม่ให้เป็นกระบวนการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วค่อยกลับมาทำ ค.2 ใหม่

หนูปา แก้วพิลา สมาชิกกลุ่มคนฮักทุ่งกุลา จ.ร้อยเอ็ด ถูกนำตัวไปปฐมพยาบาลหลังเป็นลมระหว่างปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชน

เยาวชนกลุ่มคนฮักทุ่งกุลา จ.ร้อยเอ็ด มาร่วมคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลพร้อมผู้ปกครอง
การชุมนุมคัดค้านของกลุ่มคนฮักทุ่งกุลาที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ชุมตำรวจควบคุมฝูงชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 1 ราย คือ วราภร มุ่งเห่งกลาง อายุ 16 ปี ส่วน หนูปา แก้วพิลา อายุ 45 ปี เป็นลม และต้องนำตัวไปปฐมพยาบาล
การจัดเวที ค.2 ยังคงมีอีกในวันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งจะเป็นการรายงานถึงผลกระทบที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 80 เมกะวัตต์ จากนั้นบริษัทเอกชนจะนำความคิดเห็นรายงานไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มคนฮักทุ่งกุลา จ.ร้อยเอ็ด ยืนยันจะปักหลักชุมชนภายในหอประชุมของที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ต่อไป