เรื่อง หทัยรัตน์ พหลทัพ

ภาพ อติเทพ จันทร์เทศ

ร้อยเอ็ด – เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ค.2) ต่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด มีประชาชนมาร่วมรับฟังถึง 1,956 คน โดยเป็นผู้อาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรและนอกรัศมีการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาลของบริษัทน้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด

การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นวันนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบจากเดิมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยให้ผู้รับฟังความคิดเห็นที่นั่งฟังจากภายในเตนท์ผ้าใบบริเวณลานจอดรถด้านหน้าที่ว่าการอำเภอปทุมรัตน์มาเป็นเวทีภายในห้องประชุมของที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์

ผู้ร่วมรับฟังความคิดเห็นทุกคนจะได้รับเอกสารเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อโครงการและหนังสือการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความหนากว่า 300 หน้า และจัดทำโดยบริษัทเทคนิคสิ่งแวดล้อมไทย จำกัด

ส่วนการรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ได้นำแผ่นพลาสติกมากั้นรอบพื้นที่เพื่อกันไม่ให้เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ เข้าร่วมเวที

ทั้งที่มาชุมนุมตั้งแต่ช่วงเช้ามืด ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เจรจาให้เครือข่ายฯ ส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นเพียง 5 คน ทำให้กลุ่มผู้คัดค้านไม่พอใจ

พิชณ์ณัฎฐ์ คำโพธิ์ แกนนำเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา 1 ใน 2 แกนนำที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แสดงเอกสารการถูกแจ้งความ

เวลาประมาณ 09.40 น.ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรปทุมรัตต์ ได้นำหนังสือมาแจ้งความดำเนินคดีต่อแกนนำว่า การชุมนุมครั้งนี้ขัดต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) และให้ยกเลิกการชุมนุมภายในเวลา 09.00 น. ทำให้สมาชิกเครือข่ายฯ ไม่พอใจ

จากนั้นได้อ่านแถลงการณ์โดยมีใจความระบุว่า เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ไม่ยอมรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และ 2 เพราะมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่กีดกันไม่ให้สมาชิกฯ เข้าร่วมเวที

“การจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นเพียงพิธีกรรมและการรับฟังความคิดเห็นที่จอมปลอม เพื่อให้ครบตามขั้นตอน แต่ไม่ต้องการให้คนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” แถลงการณ์ระบุ

หลังแกนนำเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาถูกแจ้งความดำเนินคดีทำให้สมาชิกไม่พอใจและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับเวที โดยมีการจุดไฟเผาหุ่นไล่กาที่ทำขึ้นเป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 4 ตัว ก่อนสลายการชุมนุม

สมาชิกเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีคำสั่งยกเลิกผลการรับฟังความคิดเห็นทั้งครั้งที่1 และครั้งที่ 2 โดยให้ถือว่าเป็นโมฆะ และขอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไม่ยอมรับรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

ส่วนบรรยากาศในเวทีการรับฟังความเห็น สมชาย ปิยะวรสกุล ทีมที่ปรึกษาจากบริษัทเทคนิคสิ่งแวดล้อม กล่าวชี้แจงว่า โรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) มีกำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ โดยกระบวนการจะเป็นการหมุนเวียนการใช้พลังงานด้วยการนำชานอ้อยที่มีอยู่มาเข้าเตาเผาที่เรียกว่า หม้อต้มไอน้ำ และจะนำพลังงานไอน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้า

“จากการศึกษาพบว่า ไม่มีโรงงานไหนที่ไหนที่ไม่มีมลพิษ แต่ขึ้นอยู่กับการจัดการ ทั้งอากาศและทิศทางลม ส่วนผลกระทบจากการลำเลียงเชื้อเพลิงจากกากชานอ้อยจะเป็นระบบปิดทั้งหมดและจะมีตาข่ายกันการฟุ้งกระจายของกากชานอ้อยที่มีการออกแบบได้มาตรฐาน” ทีมที่ปรึกษาจากบริษัทเทคนิคสิ่งแวดล้อมกล่าว

บรรยากาศเวทีการรับความคิดเห็นภายในหอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด โดยมีตำรวจรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้น

 

ตำรวจควบคุมฝูงชนจำนวน 1 กองร้อย ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยระหว่างการแสดงความคิดเห็นในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

ผู้รับฟังความคิดเห็นที่ทีมข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ดสัมภาษณ์ประมาณ 10 คน เป็นผู้อยู่อาศัยนอกพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบหรืออาศัยเกินรัศมี 5 กิโลเมตรที่ตามข้อกำหนดการทำอีไอเอระบุว่า ผู้ที่ร่วมรับฟังจะต้องเป็นผู้รับผลกระทบร่วมแสดงความคิดเห็น

มะณี บึงลอย อายุ 68 ชาวตำบลโนนสง่า อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ที่อยู่ห่างจากพื้นที่การก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลประมาณ 10 กิโลเมตร กล่าวว่า มาร่วมรับฟังความเห็นครั้งนี้ เพราะเพื่อนบ้านชวนมาและได้ค่าลงทะเบียน 100 บาท

“อยากได้โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้า เพราะจะทำให้เจริญขึ้น” มะณี กล่าว และว่า “ถ้าเขาส่งเสริมให้ปลูกอ้อยก็จะลองปลูก แม้จะมีที่ดินเพียง 7 ไร่ก็จะแบ่งปลูกข้าวหอมมะลิ 4 ไร่ ส่วนอีก 3 ไร่จะปลูกอ้อย”

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นทุกคนจะได้รับคูปอง โดยบางคนอ้างว่า คูปองที่ได้รับจะนำมาแลกเป็นค่าเดินทางคนละ 300 บาท

image_pdfimage_print