โดย รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์ 

เราต่อสู้ให้ครอบครัวอยู่รอด อยากบอกให้คนทั้งโลกรู้ว่า เราเดือดร้อน มีคนเดือดร้อน” เป็นคำพูดของ แม่สิมมลา หงษามนุษย์ ผู้ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจนครพนม (25 ตุลาคม 2562) 

เธอต้องการสื่อสารในพื้นที่สาธารณะ เรื่องการจัดการทรัพยากรของรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน โดยไม่มองว่า ชาวบ้านมีตัวตนในพื้นที่ 

แม่สิมมลาเล่าต่อว่า ครอบครัวของเธอและชาวบ้านในพื้นที่ติดกับภูกระแต ถูกรัฐบาลบีบบังคับให้ออกจากเขตพื้นที่ โดยยัดเยียดข้อหาว่า ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่สาธารณประโยชน์ภูกระแต ประมาณ 6,000 ไร่ 

ซึ่งถือว่า เป็นที่ดินของรัฐเมื่อปี 2557 ตอนนั้นรัฐต้องการนำที่ดินกลับคืนจากชาวบ้านเพื่อพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม แต่ชาวบ้านตั้งถิ่นฐาน อยู่อาศัย และใช้ที่ดินในบริเวณนั้นมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2483 และมีหลักฐานเอกสารที่ดิน เช่น สค.1 และ นส.3 

แต่รัฐแจ้งว่า ที่ดินที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์เป็นที่ดินสาธารณะของทางราชการมาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะมีเอกสารที่ดินสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.)

สิมมลา หงษามนุษย์ ผู้ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจนครพนม (ขวา)

“คำว่า ‘ถอย’ สะกดไม่เป็น” “เฮาสิถอยกะถอยบ่ได้” 

เป็นอีกคำพูดหนึ่งของแกนนำเคลื่อนไหวผู้หญิงอีสานอย่าง สุดตา คำน้อย จากกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร (25 ตุลาคม 2562) ที่เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการให้สัมปทานเหมืองแร่โพแทสที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เพราะวิตกกังวลต่อการเข้ามาสำรวจและจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนของรัฐและเอกชนจากประเทศจีน ผู้ได้รับสัมปทานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในพื้นที่ 

เธอและชาวบ้านผู้คัดค้านมีความเห็นว่า เหมืองแร่จะนำความเสี่ยงมาสู่ชุมชน เช่น การแย่งน้ำจากลำน้ำเล็กๆ จำนวนมากซึ่งเป็นที่พึ่งพาของชาวบ้าน อีกทั้งฝุ่นละอองจากการทำเหมือง ดินถล่ม เพราะใต้พื้นดิน คือ การขุดอุโมงค์เพื่อทำเหมือง และเกิดความแตกแยกในชุมชน ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและคัดค้าน

สุดตา คำน้อย กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร (ขวา)

กลุ่มผู้หญิงอีสานในขบวนการเคลื่อนไหว

นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ที่ผู้หญิงออกมาต่อสู้เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรในภาคอีสานมากหมายหลายกลุ่ม และผู้หญิงมักมีบทบาทเป็นแถวหน้าในการเคลื่อนไหว แทบจะไม่แตกต่างจากผู้ชาย ได้แก่ กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร เพื่อต่อต้านเหมืองโพแทส กลุ่มเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์ อำเภอวาริชภูมิ จ.สกลนคร กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายเพื่อต่อต้านเหมืองหินที่เข้ามาทำลายแหล่งน้ำของชุมชน กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดร กลุ่มคนอนุรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย  

กลุ่มอนุรักษ์น้ำอูน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร กลุ่มเครือข่ายสำนึกรักษ์บ้านเกิดศรีสะเกษและ เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบก เพื่อต่อต้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่กำลังผุดขึ้นในภาคอีสานในขณะนี้ เครือข่ายสมัชชาคนจนปากมูล และสมาคมคนทามเพื่อจัดการระบบนิเวศแม่น้ำเพื่อประมงพื้นบ้านและรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ (ป่าบุ่งป่าทาม) และการชดเชยผลกระทบจากโครงการโขงชีมูล เป็นต้น

เวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “ผู้หญิงอีสาน บทถนนการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมในวิถีประชาธิปไตย” วันที่ 25 ตุลาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

ความท้าทายของผู้หญิงในการเคลื่อนไหว               

การออกมาเคลื่อนไหวของผู้หญิงอีสานมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบหรือราบรื่น เพราะพวกเธอต้องเผชิญกับระบอบชายเป็นใหญ่ในสังคมและความเสี่ยงจากกลไกของรัฐและทุน กล่าวคือ การลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวในแถวหน้าแบบไม่สยบยอมกับอำนาจรัฐและทุนได้ท้าทายอำนาจชายเป็นใหญ่ (patriarchy regime) 

เห็นได้จากคำพูดของผู้ชายในหมู่บ้านพื้นที่การเคลื่อนไหวของแม่สิมมลา ผู้กล่าวหาแม่สิมมลาว่า เป็นคนหัวรุนแรงและไม่มีเหตุมีผล “เป็นคนหัวรุนแรง บ่ฟังไผ๋” (ไม่รับฟังใคร) 

นอกจากนี้ ผู้หญิงแกนนำกลุ่มนี้กำลังแหวกขนบเดิมของสังคมแบบชายเป็นใหญ่ เพราะพวกเธอมิใช่สตรีเรียบร้อยเชื่อฟังว่านอนสอนง่าย 

ในทางตรงข้ามพวกเธอกลับกล้าที่จะถกเถียงกับรัฐและทุน โดยอ้างอิงข้อมูล ใช้ความรู้และเครือข่ายในการสนับสนุนการเคลื่อนไหว 

นอกจากนี้การลุกออกมาเคลื่อนไหวของผู้หญิงยังทำให้แนวคิดการแบ่งงานกันทำที่แข็งทื่อตายตัว ดังคำกล่าวที่ว่า “ผู้หญิงทำงานในบ้าน ผู้ชายทำงานนอกบ้าน” นั้นมีความพร่าเลือนและไม่ชัดเจนอีกต่อไป 

ภาพผู้หญิงอีสานจากมุมมองของการเคลื่อนไหว เป็นภาพที่ผู้หญิงทำงานแทบไม่ต่างจากผู้ชาย 

พวกเธอแบกรับภาระหนักอึ้ง ดังคำพูดของผู้หญิงแกนนำบางคนที่ว่า เธอเคยคิดอยากจะฆ่าตัวตาย เพราะภาระงานบ้านก็มาก รายได้ก็ต้องหา ต้องเดินทางออกไปรับจ้างต่างถิ่น สู้ก็ต้องสู้ ผู้หญิงมีภาระมาก ดังนั้น การต่อรองและการสร้างความร่วมมือระหว่างสามีกับลูกขณะออกมาเคลื่อนไหว จึงกลายเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิง 

ในขณะเดียวกันการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสู้กับทุนและรัฐก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความท้าทาย และความเสี่ยง โดยเฉพาะภายใต้สังคมประชาธิปไตยแบบถดถอยเช่นนี้ เนื่องผู้หญิงกลุ่มนี้กำลังสู้กับโครงสร้างอำนาจรัฐที่เอื้อให้กับทุน เช่น  กฎหมาย นโยบายด้านทรัพยากร (ทวงคืนผืนป่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ เหมืองแร่โปแทช) กองกำลัง (ทหาร ตำรวจ และข้าราชการในพื้นที่) และทุน 

ผู้หญิงหลายคนถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกตั้งข้อหาในฐานะที่ทำผิดกฎหมาย รวมทั้งบางกรณี ถูกจับเข้าคุก ขาดเงินประกันตัว เป็นต้น                       

นิเวศวิทยาการเมืองสตรีนิยมในอีสาน 

ผู้เขียนเห็นว่า เงื่อนไขสำคัญทำให้ผู้หญิงอีสานออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องสิทธิ์ในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากร ได้แก่ 

ผู้เขียนเห็นว่า “สตรีนิยมอีสาน” ในมิติการจัดการทรัพยากร มีความหมายกว้างๆ ดังนี้ 

1) การตั้งการคำถามต่อโครงสร้างอำนาจรัฐและทุนในการจัดการทรัพยากรในอีสานที่สร้างความไม่เป็นธรรมและสร้างความเดือดร้อนต่อการดำรงชีพ เพราะทรัพยากรถูกแย่งชิงโดยรัฐและทุน 

2) การปกป้องสิทธิในการใช้และจัดการทรัพยากรด้วยการลุกขึ้นมาท้าทายทุนนิยมเสรีที่มีอิทธิพลต่อการจัดการและควบคุมการใช้ทรัพยากรมายาวนาน

3) การท้าทายระบอบชายเป็นใหญ่พร้อมๆ กับใช้กลยุทธ์ต่างๆ ทั้งการต่อรอง ขอความร่วมมือและสร้างการยอมรับจากสมาชิกในครอบครัวเพื่อออกมาเคลื่อนไหว

4) แม้ว่าจะอยู่ภายใต้วัฒนธรรมแบบมาตาลัย (matrilineal culture) แต่วัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ก็ยังครอบงำสังคมอยู่ ดังนั้นจึงพบว่า ผู้หญิงยังคงต้องแบกรับภาระสามอย่าง (Tripple burden) ในเวลาเดียวกัน ได้แก่ ภาระงานบ้าน ภาระด้านเศรษฐกิจที่ยังต้องหารายได้และภาระการรักษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

5) การลดการซ้ำเติมความเสียเปรียบ ความไม่เท่าเทียม และเบียดขับผู้หญิงออกจากกระบวนการจัดการทรัพยากร ทั้งที่ผู้หญิงมีสิทธิการจัดการทรัพยากรตามประเพณีแต่เดิมอยู่แล้ว

6) ความรู้ มุมมองและตัวตนของผู้หญิง มีพื้นที่ในกระบวนการจัดการและการตัดสินใจระดับนโยบายด้านการจัดการทรัพยากร เพราะที่ผ่านมาผู้หญิงมักไม่ค่อยมีโอกาสหรือได้เป็นตัวแทน ( Underrepresented) หรือถูกจำกัดบทบาทในการตัดสินใจการจัดการทรัพยากร

ผู้เขียนเห็นว่า “สตรีนิยมอีสาน” สอดคล้องกับแนวคิดนิเวศวิทยาการเมืองสตรีนิยม (a feminist political ecology -FPE) ซึ่งเป็นแนวคิดที่วิเคราะห์กระบวนการผลิตและผลิตซ้ำรูปแบบความหลากหลายของความไม่เท่าเทียมเชิงความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมและการเลือกปฏิบัติต่อเพศ ภายใต้ความเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ความสัมพันธ์ชายหญิง ชาติพันธุ์ ชนชั้น ความรู้ และประสบการณ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม  (Recurrecion 2019)

พร้อมกับตั้งคำถามต่ออำนาจและความชอบธรรมที่ใช้ในการจัดการทรัพยากร เน้นการแสดงให้เห็นถึงกระบวนการผลิตสร้างความรู้ที่มาจากกลุ่มคนที่หลากหลาย ธรรมาภิบาลการจัดการทรัพยากร และการตัดสินใจเชิงนโยบายที่คำนึงถึงเพศภาวะ เพื่อให้กลุ่มคนไร้เสียงได้มีพื้นที่ทางการเมืองและไม่ถูกกีดกันออกจากกระบวนการจัดการทรัพยากรและระบบนิเวศ และเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิงในการจัดการทรัพยากร (Recuerrecion and Elmhirst 2009)

เอกสารอ้างอิง

  • Resurreccion, B and Elmhirst, R. (2009). Gender and Natural Resources Management. London: 
  • Earthscan.
  • Recurrecion, B. 2019. Knowledge, Power and Practice in Environment and development. 
  • Presented at the Political Ecology in Asia 2019 conference, Chulalongkorn University, 10-11 October, 2019.

หมายเหตุ

เนื้อหาที่นำเสนอในบทความนี้มาจากเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “ผู้หญิงอีสาน บทถนนการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมในวิถีประชาธิปไตย” วันที่ 25 ตุลาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จัดโดยเดอะอีสานเรคคอร์ด มูลนิธิ Hienrich Boll Stiftung และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

image_pdfimage_print