หมายเหตุ: ส่วนหนึ่งของบทปาฐกถาโดย เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว นักวิชาการจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เรื่อง “ผู้หญิงกับบทบาทการเมืองในสังคมไทย” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว นักวิชาการจากสถาบันสิทธิมนุษย์ชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ปาฐกถาหัวข้อ “ผู้หญิงกับบทบาทการเมืองในสังคมไทย” เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2562
ผู้หญิงกับสิ่งแวดล้อม
เวลานึกถึงบทบาทของผู้หญิงในการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม นอกจากแกนนำที่แข็งขันแล้ว มีอีก 2 เรื่องที่เข้ามาในใจ
อย่างแรก ผู้หญิงในการชุมนุมมักจะต้องออกไปเป็นฝ่ายดันกับฝ่ายตำรวจ ทหาร เพราะเขามองว่า เปราะบาง เจ้าหน้าที่คงไม่กล้าทำอะไร หรือให้ผู้หญิงไปเป็นแนวหน้าดีกว่า
แต่นั่นมาจากฐานคิดที่ว่า ผู้หญิงเป็นคนอ่อนแอกว่า จึงถูกนำออกไปเผชิญหน้า ไม่ใช่เพราะเข้มแข็งกว่า
อีกกรณีหนึ่งคือ เหตุการณ์เมื่อสัก 2 ปีก่อน ได้ไปเยี่ยมการชุมนุมที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในที่ดินในภาคเหนือ ปรากฎว่า คนที่มาคุยกับเรานั้นเป็นผู้หญิงหมดเลยก็คิดว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ชุมชนนี้มีแกนนำการต่อสู้เป็นผู้หญิงหมด แต่สาเหตุที่พวกเธอออกมาต่อสู้ เพราะพ่อ ผัว ถูกจับติดคุกไปกันหมดแล้ว คนที่เป็นลูกเป็นเมียจึงต้องออกมาเคลื่อนไหว
ส่วนใหญ่เวลามองเห็นผู้หญิงในขบวนการเคลื่อนไหว เรามักจะเห็นภาพอยู่ 2 ภาพ
อย่างแรกคือ เป็นคนที่น่าทะนุถนอม บอบบาง เปราะบาง ที่จะต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ หรือนำมาใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวเผชิญหน้ากับตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้ชาย
สอง เห็นผู้หญิงที่เป็นญาติเป็นภรรยาของผู้ชายนักเคลื่อนไหวที่ถูกอุ้มหายหรือถูกทำร้าย และผู้หญิงในฐานะที่เป็นผู้หญิง และบทบาทการเคลื่อนไหวมักจะเป็นภาพที่บางครั้งมีความลางเลือนในสายตาของคนที่มองเข้าไป

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมร่วมเสวนาในเวที “ผู้หญิง : การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม การช่วงชิงพื้นที่และนโยบายทางการเมืองในท้องถิ่น” เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2562
ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม
แต่ทำไมเราต้องคุยกันถึงเรื่องที่ผู้หญิงเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม
ทำไมการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิ เรื่องการจัดการทรัพยากรจำเป็นจะต้องมองประเด็นผู้หญิง
การพูดถึงสิทธิผู้หญิงโดยไม่สนใจปัญหาเชิงโครงสร้างในการจัดการทรัพยากรเลย หรือไม่สนใจการเมือง เรื่องการจัดการทรัพยากรหรือประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องไม่เพียงพอเช่นกัน
การที่มีผู้หญิงมีส่วนร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ได้แปลว่า เรากำลังสร้างความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้จะต้องไปด้วยกัน
เรื่องที่กำลังต่อสู้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นเรื่องความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม คือไม่ใช่แค่การปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่กำลังพูดถึงการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียม
การเข้าถึงทรัพยากรก็พูดถึงสภาพแวดล้อมที่ดี และการที่จะต้องได้รับการคุ้มครองจากผลกระทบของปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ว่า คนกรุงเทพฯ เจอฝุ่นจะต้องได้รับการคุ้มครอง แต่จะว่าอย่างนั้นก็ไม่ใช่
เพราะคนกรุงเทพก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจากรัฐเหมือนกัน อย่างน้อยเรื่องฝุ่นก็ทำให้คนตื่นตัวสนใจมาก แต่ปัญหาเหมืองทอง มลพิษในลำห้วยที่เหมืองทอง หรือมลพิษในอากาศอย่างแม่เมาะ คนที่กรุงเทพฯ อาจจะไม่ได้สนใจ
ผู้หญิงกับชายเป็นใหญ่
แนวคิดเรื่องการกำกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติปฏิเสธไม่ได้ว่า ถูกกำกับด้วยแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ เพราะความเป็นธรรมในการกระจายทรัพยากรและการได้รับความคุ้มครองจากภาระทางสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นได้จริง ต้องอาศัยความเป็นธรรมในการตัดสินใจ
จำเป็นต้องอาศัยความยุติธรรมและประชาธิปไตย ถ้าเรามองเรื่องนี้จากมิติเรื่องผู้หญิง ก็ต้องการกระบวนการประชาธิปไตยที่เห็นมิติเรื่องความเป็นผู้หญิงด้วย ไม่ใช่จากมุมมองว่า ผู้หญิงอ่อนแอกว่า
เราพบว่า ผู้หญิงที่อยู่บ้าน อยู่ในชุมชน ก็จะเป็นผู้ที่รับผลกระทบมากกว่า อย่างชุมชนหนึ่งที่ดิฉันเคยไปศึกษา เป็นชุมชนที่ใช้ประโยชน์จากป่าคือ ไปเก็บหน่อไม้
ในเมื่อชุมชนพยายามที่จะรักษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ก็ต้องมีการต่อรองการจำกัดว่าจะเก็บหน่อได้เท่าไร อย่างไร ถ้าวันหนึ่งชุมชนถูกไล่ออกจากป่า คนที่ได้รับผลกระทบมากกว่าคนอื่นก็คือ “ผู้หญิงที่ต้องไปหาเลี้ยงครอบครัว”
เมื่อมีมลพิษทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในชุมชน ผู้หญิงที่อาจจะต้องอยู่ในชุมชน เพราะไม่ได้ออกไปหางานทำอย่างผู้ชาย ก็ต้องเป็นคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อม มลภาวะนั้นมากกว่า
มีชุมชนหนึ่งถูกไล่ออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในภาคอีสาน เป็นหมู่บ้านที่ไม่มีน้ำไม่มีไฟเลย เพราะอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ทางการก็ไม่ให้มีการพัฒนา ทหารพยายามเข้าไปจะไล่ชุมชนออก
ในขณะที่ผู้ชายพยายามต่อรองยืนยันสิทธิ์ว่า เราจะอยู่ในป่า เพราะป่าอุดมสมบูรณ์ เราอยู่ที่นี่มาก่อนการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่สิ่งที่เข้ามาในหัวของผู้หญิงที่อยู่ในขบวนการต่อสู้คือ ถ้าย้ายออกไปข้างนอกตามที่รัฐจะให้ย้าย ลูกจะได้เข้าเรียน
เพราะว่าอยู่หมู่บ้านในป่า มีครูคนเดียวสอนนักเรียนทั้งหมด จึงรู้สึกว่า การที่เผชิญกับปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรซับซ้อนมากกว่า เพราะต้องคำนึงถึงครอบครัวมากขึ้น
แล้วช่องทางการเมืองต่างๆ เปิดโอกาสให้การเคลื่อนไหวเรื่องความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม และเปิดโอกาสให้มีความเท่าเทียมของผู้หญิงในเรื่องการจัดการทรัพยากรแค่ไหน รู้สึกว่า ช่องทางที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการมีค่อนข้างน้อย

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมร่วมเสวนาในเวที “ผู้หญิง : การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม การช่วงชิงพื้นที่และนโยบายทางการเมืองในท้องถิ่น” เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2562
แม้ว่าจะมีการนำผู้หญิงที่แข็งแรงมาต่อสู้ แต่คนที่เป็นแกนนำไปเจรจากับรัฐ ก็ยังเป็นแกนนำเอ็นจีโอผู้ชาย คนที่ได้รับความเคารพ รัฐจะยอมคุยด้วย ส่วนผู้หญิงก็ยังไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมนัก หรือถ้าพอจะมีโอกาสมีส่วนร่วม ก็ยังมีภาระเรื่องต้องดูแลครอบครัว
ผู้หญิงกับการเมืองในระบบ
ส่วนเรื่องการเมืองในระบบคิดว่า ทุกคนรู้กันดีว่า ผู้หญิงไทยแทบจะไม่ได้มีบทบาทเข้าไปสู่การเมืองในระบบมากนัก ดูจากประ
วัติศาสตร์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทย จะพบว่า มีผู้หญิงประมาณ 3-6% ของ ส.ส. และ ส.ว. ทั้งหมด ถ้า มี ส.ส. 300 กว่าคน จะมีผู้หญิงประมาณ 10-20 คนเท่านั้น ส.ว. ก็ไม่ต่างกัน มีผู้หญิงอยู่ประมาณ 2-4%
ยิ่งในสมัยรัฐบาล คสช. สนช. มี สนช. ที่เป็นผู้หญิง 12 คน มาจากการแต่งตั้งของทหาร หรือร้อยละ 4.8 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นอัตราส่วนของผู้หญิงในทางการเมืองมีมากขึ้น
ส่วนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (ส.ป.ท.) ที่ คสช. ตั้งขึ้นก่อนหน้านั้น มีผู้หญิงแค่ 16 คน จาก 200 คน การเลือกตั้งปีนี้ถือว่ามีความก้าวหน้าสำคัญในเชิงการเมือง ตอนนี้มี ส.ส. ผู้หญิงทั้งหมด 78 คน จากทั้งหมด 498 คน และมี ส.ว. สรรหาเป็นมีผู้หญิง 26 คน จาก 250 คน คือใน ส.ส. มีผู้หญิงอยู่ร้อยละ 17 ส่วน ส.ว. มีผู้หญิงร้อยละ 10
แม้ว่าประเทศไทยจะก้าวหน้าขึ้นมากแล้ว แต่ถ้าเทียบในต่างประเทศ อัตราส่วนแบบนี้ ถือว่าอยู่รั้งท้าย ประเทศที่มีผู้หญิงอยู่ในสภาค่อนข้างมาก นั่นคือ ประเทศรวันดา ในทวีปแอฟริกา บางคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อประเทศนี้ด้วยซ้ำ เป็นประเทศที่ผ่านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันมา รวันดามีผู้หญิงอยู่ 60.3% ในสภา ส่วนหนึ่งมาจากการคัดเลือก ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยผ่านการคัดเลือกของสภาท้องถิ่น
นอกจากนี้ ยังมีเยอรมันที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงและมีผู้หญิงอยู่สภา จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีผู้หญิง 1 ใน 3 คือ 30.33%
ขณะที่อเมริกาที่น่าจะมีความก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นในเรื่องสิทธิความเท่าเทียม มีผู้หญิงอยู่ 127 คน จาก 535 คน คิดเป็นร้อยละ 23 ถ้าเราดูแค่ประเทศในหมู่อาเซียน ไทยก็ไม่ได้ดีกว่าประเทศอื่นเหมือนกัน
มาเลเซียมีผู้หญิงมากขึ้น มีอยู่ 13.9% ลาวมีผู้หญิงอยู่ 27.5% ในสภาอินโดนีเซียมี 19.1% ตัวเลขพวกนี้บอกอะไร
หากย้อนดูประวัติศาสตร์จะพบว่า ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้งเท่าผู้ชายเกิดขึ้นได้ไม่นาน แต่ผู้หญิงที่มีตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งบริหารไม่ได้เป็นหลักประกันว่า จะขับเคลื่อนวาระของผู้หญิง หรือผู้หญิงที่จะมาทำงานเพื่อความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในสังคม
เห็นตัวอย่างมากมายที่ผู้หญิงมีอำนาจแล้ว แต่ก็ยังทำงาน พูด หรือมีวิธีคิดแบบที่ติดกรอบชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงที่เข้าไปสู่อำนาจต้องเผชิญกับการกดขี่ การกดทับจากผู้ชายที่อยู่ในตำแหน่งเหล่านั้น ไทยก็เห็นกรณี
ภาวะถดถอดทางประชาธิปไตย
อีกข้อท้าทายหลักในการต่อสู้เรื่องความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมคือ การที่เรากำลังเผชิญกับภาวะถดถอยของประชาธิปไตย เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญที่ส่งผลต่อการสร้างความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม
ภาวะถดถอยทางประชาธิปไตยไม่ได้พูดถึงแค่การปกครองภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร 5 ปี ที่ผ่านมา แต่พูดถึงการไม่เชื่อถือในระบอบประชาธิปไตย
หลายประเทศชั้นนำที่แม้มาจากการเลือกตั้งก็เริ่มใช้อำนาจแบบค่อนข้างเผด็จการ ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ภายใต้การเมืองแบบนี้ที่เรียกว่า ประชาธิปไตยถดถอย
การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกทำให้เป็นเรื่องเชื้อชาติ โดยเฉพาะเรื่องป่าในอีสาน เราอาจจะยังไม่เห็นมาก แต่ถ้าคุยกับพี่น้อง
ทางภาคเหนือหรือภาคตะวันตก อย่างกรณีป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ทรัพยากรถูกทำให้เป็นเรื่องของความเป็นไทย ส่วนชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ประโยชน์อยู่กับทรัพยากรมาก่อนหน้านี้ก็ถูกกีดกันออกไป
เรื่องความเป็นชาตินิยมก็ยังปรากฏอยู่ในวาทกรรมเรื่องผลประโยชน์ของชาติที่เป็นมาอยู่เสมอ แล้วก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เช่น การทวงคืนพื้นป่า ถามว่า ทำเพื่อใคร
ข้อท้าทายอีกประการหนึ่งที่เกิดจากภาวะถดถอยของประชาธิปไตยคือ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่พบว่า รุนแรง และการใช้มาตรการทางกฎหมายกับนักเคลื่อนไหวเรื่องความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เรื่องนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่หรือปรากฏการณ์เฉพาะในไทย ที่อินโดนีเซีย 5 ปีที่ผ่านมา มีความขัดแย้งเรื่องที่ดินอยู่ 1,700 กว่ากรณี มีคนถูกฆ่าตายไป 41 คน มีคนถูกทำร้าย 540 กว่าคน ชาวนาและนักเคลื่อนไหว 940 คน ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี
ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ แค่ปีที่แล้วปีเดียว มีการสังหารเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมและที่ดิน 30 กว่ากรณี ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่นองเลือดที่สุดในเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม
ส่วนของไทย ชาวบ้านถูกดำเนินคดี ถูกข่มขู่คุกคาม มีกรณีคนที่ถูกอุ้มหายอย่าง บิลลี่ หรือลุงเด่น คำแหล้ จากป่าชุมชนโคกใหญ่ นั่นคือ ภาวะถดถอยทางประชาธิปไตย ที่เรากำลังเผชิญและส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรและความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม
แม้ผู้หญิงจะเข้าสู่กลไกทางการเมืองได้ แต่ก็ยังมีอยู่จำนวนน้อย และก็ยังถูกจำกัดโดยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ภาวะเช่นนี้จะทำกันอย่างไร
ถ้าบอกว่า ต้องการต่อสู้ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมโดยที่มีมิติเรื่องหญิงชายอยู่ด้วย เรากำลังพูดถึงการต่อสู้แบบไหนจึงขอเสนอว่า ผู้หญิงที่เข้าร่วมการต่อสู้เรื่องความเป็นธรรมในสิ่งแวดล้อมอาจไม่ได้สนใจเรื่องเพศ บทบาทหญิงชาย หรือเพศสภาพ
ถ้าเรามองว่า ผู้หญิงเป็นหนึ่งในเสียงที่ถูกปิดทับมาตลอด เราจำเป็นที่จะต้องขยายการพูดเรื่องสิทธิ์ ไม่ใช่แค่ให้ผู้หญิงเท่านั้นที่มีสิทธิ์พูด แต่ท้ายที่สุดแล้ว จะต้องขยายการพูดเรื่องการจัดการทรัพยากรไปถึงกลุ่มคนอื่นๆ ที่ถูกปิดทับในสังคมด้วย
สังคมที่เป็นธรรม สังคมที่คนที่เคยถูกกดทับ เคยถูกทำให้ไร้เสียง กลายมามีสถานะที่เท่าเทียมในสังคม เรากำลังเคลื่อนไหวเพื่อสร้างระบบที่เป็นธรรม ที่มีความอ่อนไหวและตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมที่เป็นอยู่แบบนี้
พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคม เพื่อนำไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมอย่างแท้จริงได้