หทัยรัตน์ พหลทัพ สัมภาษณ์​

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ 

เวลากว่า 870 วัน หรือ 2 ปี 5 เดือน ที่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ถูกจองจำเพียงแค่แชร์ข่าวมาที่เฟซบุ๊กส่วนตัวทำให้อดีตนักศึกษา นักกิจกรรมทางการเมืองไร้เสรีภาพ หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ เขาถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

ทว่าห้วงเวลาที่ถูกกักขังทำให้อดีตนักศึกษากฎหมายคนนี้ เปลี่ยนมุมมองต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างสิ้นเชิง สัมภาษณ์ โดย หทัยรัตน์ พหลทัพ ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ด 

“เผด็จการจะชอบใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่แล้ว กฎหมายที่เขาใช้มาตั้งแต่รัฐประหารมีเป้าหมายเพื่อกำราบคนที่เห็นต่างทางการเมือง คนที่ไม่เห็นด้วยกับเขา” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน

เดอะอีสานเรคคอร์ด: เรียกได้ว่า ไผ่ ดาวดิน มีคนรู้จักทั่วประเทศแล้วนะ ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองมีชื่อเสียงขึ้นมาไหมคะ 

ไผ่: (หัวเราะ) นิดหน่อยครับ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: กรณีของไผ่เอง เคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า การแชร์ลิงก์เฟซบุ๊กของไผ่ที่มีคนแชร์กว่า 2,600 คน แต่ทำไมไผ่เป็นแค่เพียงไม่กี่คนที่ถูกดำเนินคดี เคยตั้งคำถามในเรื่องกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ 

ไผ่: ก็ตั้งคำถามนะครับ แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร คือตั้งแล้วก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ผมก็ยังงง คือต้องออกตัวก่อนเลยว่า ผมเรียนกฎหมายมาใช่ไหม แต่ผมก็ผิดหวังกับกฎหมายเหมือนกัน 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: คือตั้งคำถามแต่ไม่มีคำตอบว่า ทำไมตัวเองจึงเป็นเพียงแค่หนึ่งในไม่กี่คนที่ถูกดำเนินคดี

 ไผ่: นั่นดิ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: คยตั้งคำถามหรือไม่ว่า ทำไมจึงต้องเป็นไผ่ หรือว่าไผ่เป็นตัวจี๊ด หรือว่าต้องการกำราบไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือว่าเพียงแค่เป็นการจับเสือเพื่อที่จะให้อยู่ในกรงหรือเปล่า

ไผ่: นั่นดิ ผมก็ไม่รู้ คือผมก็ไม่รู้ว่ามันอย่างไร ในเรื่องนี้ ผมก็ยังงงอยู่ว่า ทำไมถึงโดน แต่มันก็ผ่านมาแล้ว คือคำตอบมันก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายมันเป็นอย่างไร แต่มันก็แค่แบบว่า มันเป็นแปลกๆ ไง ประมาณนั้น 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: เคยคิดน้อยใจหรือไม่ว่าทำไมต้องเป็นตัวเอง 

 ไผ่: โอ้ย เป็นใครก็น้อยใจหมดแหล่ะ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ในฐานะที่ไผ่เป็นคนที่ได้รับผลกระทบในการใช้กฎหมายมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในฐานะที่เป็นนักเรียนกฎหมายคิดว่า กฎหมายฉบับนี้ปกป้องสถาบันหรือว่าเป็นตัวบ่อนทำลายสถาบัน 

ไผ่: อืม… ไม่รู้ครับ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเป็นอย่างไร 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ไผ่เองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ มองว่าควรจะมีการแก้ไขหรือควรมีการปรับปรุงเพื่อให้ไม่มีการนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่านี้ไหม    

 ไผ่: คือ ผมจะว่า อย่างไรล่ะ คือ ก็ต้องไปอ่านดู แล้วก็คิดอย่างไร จะตอบอย่างไรดีวะ ก็มันตอบยากมากเลยเรื่องนี้ คือผมจะพูดรวมๆ แล้วกันนะว่า เผด็จการจะชอบใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่แล้ว ไล่ทุกกฎหมายที่เขาใ้ช้มาตั้งแต่รัฐประหารเป้าหมายของเขาก็คือ กำราบคนที่เห็นต่างทางการเมือง คนที่ไม่เห็นด้วยกับเขาประมาณนี้ 

มันก็เป็นความชอบธรรมในการใช้กฎหมายอยู่แล้ว การใช้กฎหมายก็เป็นเหตุผลความชอบธรรมว่า เขาใช้กฎหมายนะ หมายถึงว่า เราผิดกฎหมายนะ คนถูกกล่าวหาเรื่องนี้นะ คุณผิดกฎหมายนะ อะไรอย่างนี้ 

ไผ่ ดาวดิน ชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐประหาร ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ขณะลงพื้น จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 (ภาพจาก : มติชน)

เดอะอีสานเรคคอร์ด: คิดว่าไผ่เป็นคนหนึ่งที่เขาจ้องจะใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อเล่นงานหรือเปล่า

ไผ่: ใช่มั้ง เพราะว่าก็คนตั้งเยอะทำไมโดนผมคนเดียว ก็น่าตั้งคำถามอยู่ ผมก็ต้องคำถาม แต่ยังไม่ได้รับคำตอบหรอกนะ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ย้อนกลับไปในช่วงของชีวิตในเรือนจำ ในช่วงที่อยู่ 870 วัน วันที่จะตัดสินใจในการรับสารภาพมีความลำบากใจแค่ไหน 

ไผ่: ลำบากใจมากอยู่ครับ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ทำไมถึงลำบากใจขนาดนั้น

ไผ่: อ้าว ใครจะไม่ลำบากใจ ใช่ไหม มันแบบ โห ต้องมาติดแบบยาวๆ ขนาดนี้เลย คือผมไม่เคยคิดว่า ผมจะต้องติดคุกยาวๆ อะไรอย่างนี้ เพราะที่ผ่านมามันก็ติดเป็นฝาก เป็นอะไรแบบนี้ใช่ไหมครับ แล้วก็ประกันตัว ก็คิดว่า สู้คดีแล้ว ก็นานอยู่กว่าจะติด 

แต่พอมาโดนแบบนี้ ประกันไปแล้วอยู่ดีๆ ก็ถอนประกัน ก็เริ่มแบบงงๆ แล้ว อะไรวะ ทำไมต้องถอนประกันด้วย ทำไมไม่ให้โอกาสในการสู้ คือ อะไรอย่างนี้ มันเหมือนเราไม่ได้ตัดสินใจ ประมาณนั้น 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ความรู้สึกในวันนั้นเป็นอย่างไร เล่าบรรยากาศให้ฟังหน่อย 

ไผ่: เสียใจ ร้องไห้เลยแหละวันนั้น ประมาณนี้ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: จริงๆ ไผ่ต้องติดคุกทั้งหมด 5 ปี ถ้าหากไม่มีการรับสารภาพใช่ไหม

ไผ่: คือ ถ้าสู้แล้วแพ้ มันมีตั้งแต่ 3 -15 ปี ไม่รู้เขาจะยกอันไหน อืม…เราก็ไม่ได้ผิด เราก็แชร์ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมก็ยังงงๆ อยู่ ผมก็เลยแบบ ไอ้ที่แบบว่า จะสู้ยังไง ผมก็ดูประเด็นในทางกฎหมายนะ ผมก็ยังงงๆ อยู่ ใจผมก็อยากจะสู้ใช่ไหมในตอนนั้น แต่มันก็ด้วยสถานการณ์หลายๆ อย่าง เป็นช็อตที่แบบตัดสินใจยากที่สุดในชีวิตแล้ว ประมาณนั้น 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ช่วงจังหวะของการแชร์เคยคิดไหมว่า การแชร์ครั้งนั้นมันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตตัวเองขนาดนี้ 

ไผ่: ก็ไม่นะครับ คือเราเป็นคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่แล้ว มีประเด็นอะไร มีสถานการณ์หรือมีกระแสอะไรเราก็ดู ติดตาม แล้วก็เหมือนคนอื่น ๆให้ความสนใจ เราก็ให้ความสนใจเหมือนข่าว เหมือนเรื่องนี้มา โน่นนี่นั่น ก็แชร์ก็สนใจประมาณนั้น 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ตอนนี้ยังใช้โซเชียลมีเดียเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันหรือไม่

ผ่: ก็มีบ้าง ก็ใช้บ้าง 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: พฤติกรรมเปลี่ยนไปหรือไม่ 

 ไผ่: ตอนนี้ผมเลิกแชร์ข่าวแล้วครับ พฤติกรรมเปลี่ยน เลิกแชร์ข่าวเลย คือในโซเชียลมันก็เป็นอีกสังคมหนึ่งใช่ไหม เราก็มีสังคมมันก็เชื่อมกันบ้างอะไรอย่างนี้ คือมันไม่ใช่พื้นที่เคลื่อนไหวของผม มันเป็นแบบ ก็เป็นผม คิดอะไรยังไง มีไปเที่ยวไปทำอะไรถ่ายรูป ก็เป็นปกติ ไปลงพื้นที่ แต่ผมไม่ได้คิดว่า เป็นการเคลื่อนไหวอะไรมาก มีแบบบางครั้งที่เราอึดอัด จากการติดตามข่าวก็บ่นบ้าง โพสต์บ้าง ก็ปกติ

เดอะอีสานเรคคอร์ด: แต่ว่าเว็บไซต์ข่าวที่ไผ่แชร์เป็นข่าวจากบีบีซีไทย เป็นองค์กรสื่อที่มีชื่อเสียง และบีบีซีก็ถือเป็นสื่อระดับโลกด้วย ดูเหมือนว่า ไม่น่าจะมีอะไรผิดหรือไม่

ไผ่: พี่ก็ต้องไปถามบีบีซีไทยสิครับ หลายคนก็คิดแบบนั้น แล้วเป็นไงล่ะ ก็ผิดไงครับ (หัวเราะ)

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ถูกดำเนินคดีอีกแล้ว 1 คดี หลังจากนี้มองเห็นอนาคตตัวเองไหมว่า จะอยู่ในเส้นด้ายของการถูกดำเนินคดีต่อไป

 ไผ่: ตอนนี้ก็เหลือ 2 คดี ก็น้อยลงอยู่ ก็น่าจะมีแค่นี้ล่ะมั้ง แค่นี้ก็พอแล้วมั้ง คือเวลาเราเคลื่อนไหวหรือทำอะไรเรามีเป้าหมายที่เราจะทำ เช่น เราไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ เป้าหมายเราไม่ได้ต้องการคดี มันเป็นผลพวง ผมจะใช้คำว่าอะไร มันมีน้องคนหนึ่งที่มาทำเรื่องนี้ แล้วโดนคดีไปตั้งแต่สมัย กกต. เลือกตั้ง เขาก็เลยแซวกันว่า เออ นี่แหล่ะคดีรางวัลของคนกล้า คือเราทำอะไรแต่ละอย่างมันน่าโดนคดีที่ไหน มันก็ไม่มีอันที่น่าโดนคดีซักอัน

เดอะอีสานเรคคอร์ด:  870 วัน ที่อยู่ในเรือนจำ ถือว่าเป็นช่วงเวลาของการเสียโอกาสหรือไม่ 

ไผ่: ก็…ตอนที่อยู่ ผมไม่ได้กลับไปย้อนคิดอดีตอะไร ก็คิดแต่ปัจจุบันไปเรื่อยๆ มีแว๊บไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้อะไร คือเราคิดในแง่บวกว่า เออ เวลาที่มันหายไปเราก็ทำอย่างอื่น ได้อ่านหนังสือ ได้ทบทวนตัวเอง ได้อะไรอย่างงี้ 

เราก็เลยรู้สึกว่า เออ ไม่รู้จะไปคิดทำไมว่า ทั้งที่มันก็ทำไม่ได้ไงว่า 870 วันที่ผ่านมา เราจะทำอะไร แล้วเราจะเป็นอย่างไร มันก็คิดไม่ได้ เพราะว่ามันก็ผ่านมาแล้ว มันเกิดไม่ได้อยู่แล้ว จะไปคิดให้มันเสียเวลาทำไม ผมก็ไม่ค่อยคิด ไม่คิดเลยด้วยซ้ำ แต่ว่ารู้สึกเสียดายว่า เออ ชีวิตวัยรุ่นมันหายไป 2 ปีกว่า อะไรอย่างนี้ แค่เสียดาย

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา สวมชุดครุยนิติศาสตรบัณฑิต ม.ขอนแก่น ที่พ่อและแม่นำมามอบให้ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น (เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. พ.ศ.2560)

เดอะอีสานเรคคอร์ด: เพราะว่าช่วงนั้น ไผ่อาจได้เรียนจบ แล้วก็ได้รับปริญญานอกเรือนจำใช่หรือไม่ 

 ไผ่: ใช่ๆ อาจจะมีชีวิตเหมือนคนปกติมั้ง แล้วก็อาจจะเขาเรียกว่าอะไร คือมันก็ดีกว่าอยู่แล้วใช่ไหม ไม่ว่าจะอยู่อดๆ อยากๆ ข้างนอก อยู่แบบไหนมันก็ยังดีกว่าอยู่ข้างในอยู่แล้ว 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: เวลา 870 วันในเรือนจำขอนแก่น ได้เรียนรู้อะไรในเรือนจำ 

ไผ่: อืม… เรียนรู้เยอะอยู่ครับ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: เช่นอะไรบ้างคะ

ไผ่: เช่น เรียนรู้ที่จะไม่มีอิสรภาพ จะบอกว่าอย่างไรดี คือมันไม่ค่อยมีอะไร ชีวิตข้างใน น่าเบื่อ แล้วแบบเป็นแพทเทิร์นเดิมๆ เหมือนกันหมดเลยตลอด 2 ปี 5 เดือน แต่ก็เป็นมุมอื่นมากกว่าที่เราได้จากการอ่านหนังสือ พูดคุยกับคน มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น น่าเรียนรู้มากขึ้นมาหน่อย 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ที่บอกว่าคุยกับคน คุยกับใครบ้างแล้วได้ความคิดอะไรใหม่บ้าง

ไผ่: คุยกับเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันนี่แหล่ะครับ คือ เราก็ถามเขาทำไมถึงทำหรือถามเกี่ยวกับชีวิตอะไรอย่างนี้ คุยกันท่ัวไป คือมันว่างจัด ก็คุยกันเล่าไปถึงเรื่องมีลูก มีแฟน อะไรอย่างนี้ เราได้คุยกับคน คือ คนเยอะมาก หลากหลายมาก เราได้แบบมีเวลาได้พูดคุยกัน ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ก็ทำให้ได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ของคนอื่น 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ที่บอกว่าได้คุยกับคนนั้นเห็นกระบวนการยุติธรรมในเรือนจำ ในฐานะที่เรียนกฎหมาย เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต ทำให้เห็นอะไรในกระบวนการยุติธรรมบ้าง

ไผ่: เห็นความไม่ยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม ก็…คือ ตั้งแต่เริ่มแรกเลย เช่น ส่วนใหญ่คนที่เข้าไปหรือแม้แต่ผมเองตอนที่โดนจับก็ไม่มีการแจ้งสิทธิ์ เหมือนในหนังไง เวลาในหนังภาพจำ เราจะเห็นแบบ คุณโดนหมายจับนี้ปั๊บ คุณมีสิทธิ์ที่จะไม่พูด คำพูดของคุณจะเป็นหลักฐานในชั้นศาลอะไรประมาณนี้ คุณมีสิทธิ์ที่จะติดต่อญาติ ติดต่อทนายอะไรอย่างนี้ 

บ้านเราอะไรอย่างนี้ไม่มีการนำมาใช้ คือ มันเห็นทุกกระบวนการ คือ เราเหมือนไปอยู่ปลายน้ำ แล้วเราก็ยืนมองต้นน้ำขึ้นมาเรื่อยๆ ก็ถาม ก็เห็นตั้งแต่แรกเลย อย่าง กระบวนการตำรวจ อย่างบางคนป่วยก็แทนที่จะให้เขารักษาตัวก่อน ค่อยให้เขามา ก็ให้เขามา และเป็นการผลักภาระให้เรือนจำ อะไรอย่างนี้ คือ ผมเข้าใจว่า มันเป็นการรีบส่งไม้ต่อ ใช่ไหม รีบส่งไม้ต่อมา พอจับได้ปุ๊บก็ส่งไม้ต่อมา 

ทำอย่างไรก็ได้ให้รีบที่สุด เพราะว่าไม่อยากให้อยู่ในความรับผิดชอบ พอเอาเข้ามาในนี้มันง่ายกับการเบิกตัว ง่ายกับทุกอย่าง มันก็เลยกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหรืออะไรที่เป็นอย่างนี้ ตั้งแต่กระบวนการแรก หรือบางคนก็ป่วยเข้ามา ผมก็งงและตั้งคำถามว่าทำไมไม่ให้เขาหายก่อนแล้วถึงพาเข้ามา อันนี้ คือ ตำรวจนะ ก็ไล่มาเรื่อยๆ จนมาถึงกระบวนการฝากขัง กฎหมายก็บอกว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคือผู้บริสุทธิ์ใช่ไหม แต่ทุกกรณีก็โดนฝากขังหมดเลย

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” วันที่ถูกปล่อยตัวจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น จ.ขอนแก่น หลังจากจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ ภาพโดย ยศพล เกิดวิบูลย์ (เมื่อวันที่ 10 พ.ค. พ.ศ.2562)

เดอะอีสานเรคคอร์ด: เห็นไผ่พูดประมาณว่า คือ การได้เรียนรู้ในเรือนจำ ก็คือการสูญเสียอิสรภาพ วันนี้ไผ่ได้ออกมาจากเรือนจำแล้ว ใช้เสรีภาพของตัวเองอย่างไรบ้าง 

ไผ่: โอ้… ก็ใช้เยอะอยู่ครับ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: เสรีภาพในนิยามของไผ่ คืออะไร 

ไผ่: เสรีภาพ ผมก็…โอ๊ย ถามคำยากจัง ของผมน่ะเหรอ เสรีภาพก็ตรงตัว ก็คือเสรีภาพอ่ะ เออ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: คือ เสรีภาพในการพูด แสดงความคิดเห็น หรือว่า มันควรที่จะมีนิยามอย่างไร

ไผ่: เสรีภาพความคิดเห็นอะไร ก็ผมออกมาวันที่ 10 พ.ค. หมายก็ออกมาวันที่ 10 พ.ค. อีกคดีหนึ่ง มันจะมีเสรีภาพตรงไหน เพราะฉะนั้นมันเป็นเสรีภาพทางกายมากกว่า ว่า เราไม่ได้ต้องตื่นตามเวลาที่กำหนด ไม่ได้ต้องทำโน่นทำนี่ เออ นอนเตียงนุ่มๆ แบบมีกินเหล้า กินเบียร์ อะไรอย่างนี้ มันก็เป็นเสรีภาพทางร่างกายที่ไม่ได้มีมานาน แต่ภาพรวมทุกอย่างมันก็เหมือนเดิมหมด

เดอะอีสานเรคคอร์ด: วันนี้ไผ่มองว่า ในสังคมไทยยังไม่มีเสรีภาพ เพราะว่าอย่างที่บอกว่าโดนอีกหมายหนึ่ง อยากให้มีเสรีภาพอย่างไรบ้างในสังคมไทย

ไผ่: อยากให้มีอย่างไรบ้าง ก็มีอย่างที่มันมี อย่างที่แบบทุกคนก็พูดได้ ไม่ว่าคุณจะคิดเห็นอย่างไรในทางการเมือง คุณมีความคิด ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรมอะไรที่มันแตกต่าง ทางเพศ อะไรทุกอย่าง ก็เป็นเสรีภาพหมด ดังนั้นเขาก็ควรจะพูดได้ในสังคม ไม่มีใครควรจะติดคุก เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างหรืออะไรที่แบบประมาณนี้ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: พอไผ่ออกมาจากเรือนจำ เห็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม ในฐานะที่เป็นนักเรียนกฎหมาย คิดหรือไม่ว่าอยากจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไรบ้าง

ไผ่: มันต้องต่อจากเมื่อกี้ก่อนว่า พอเห็นการบังคับใช้กฎหมาย อันนี้เป็นเรื่องการตีความแล้ว กฎหมายสองตัว กฎหมายหนึ่งให้สิทธิ์ กฎหมายหนึ่งจำกัดสิทธิ์ แต่ในทางปฏิบัติก็จะไปจำกัดสิทธิ์ใช่ไหม เพราะฉะนั้นปัญหามันก็คือการตีความที่ผมจะใช้คำว่า ไม่มีหัวใจ 

ผมก็ไม่ได้เข้าข้างเรือนจำนะ แต่ประเด็นของผมคือ คนมันแน่นใช่ไหม พอเวลาบอกคนมันแน่นก็ยังเอาคนเข้ามาๆ โดยที่ไม่รู้ว่า อันไหนควรเข้าหรืออันไหนไม่ควรเข้า มันเป็นอย่างนี้ ทีนี้มันก็เลยเกิดปัญหาทั้งระบบ 

“เผด็จการจะชอบใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่แล้ว กฎหมายที่เขาใช้มาตั้งแต่รัฐประหารมีเป้าหมายเพื่อกำราบคนที่เห็นต่างทางการเมือง คนที่ไม่เห็นด้วยกับเขา” ไผ่ ดาวดิน 

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” (กลาง)  วิบูลย์ (ซ้าย) และ พริ้ม บุญภัทรรักษา (ขวา) ขณะเดินลงจากศาลทหาร มทบ.23 เพื่อร่วมฟังการไต่สวนคดีชูป้ายคัดค้านการรัฐประหาร (เมื่อวันที่ 22 ม.ค. พ.ศ.2561)

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ในสายตาไผ่ตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ตั้งแต่ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ไผ่เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง 

ไผ่: เห็นอย่างไร ก็เปลี่ยนแปลงครับ เขารวยขึ้นครับ ก็เศรษฐกิจดีครับ เศรษฐกิจดีเฉพาะพวกเขาล่ะ คือการเปลี่ยนแปลงมันแย่ลงเรื่อยๆ คือเหมือนจะดีแต่ก็ไม่ดี เอาง่ายๆ ที่มันเป็นประเด็นตอนนี้ คือเรื่องน้ำท่วม เฮ้ย คือมันมีคำพูดหนึ่งที่เขาออกมาพูดในทวิตเตอร์ ที่มันเป็นประเด็นว่า “ขอพูดแรงๆ สักครั้งเถอะว่า น้ำท่วมไม่กลัว แต่กลัวมีผู้นำโง่” คือ ผมรู้สึกว่ามันใช่นะ เป็นการนำกลับมาพูดใหม่ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ ประเด็น คือมันก็จริง เราให้คนที่ไม่มีความสามารถมีอำนาจ คือ จริงๆ แล้วอำนาจมันดีแล้วมันก็ไม่ดีใช่หรือไม่ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: เรามองว่า อนาคตซึ่งตอนนี้เห็นแผนออกมาแล้วว่า คสช. รัฐบาลที่เกิดมากจาก คสช. ก็จะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ไผ่มองอย่างนั้นหรือไม่

ไผ่: โอ้ย…ผมพูดเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2559 แล้วตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญออกมา พูดกับกลุ่มเพื่อน NDM ที่เคลื่อนไหวเรื่องโหวตโน เราก็คุยกันแล้วก็รณรงค์เรื่องนี้อยู่แล้วว่า มันเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. สืบทอดอำนาจเผด็จการ คือมีให้เห็น 8 ปี อันนี้ยกแรก หมายถึงว่า หมด ส.ว. ไป คือ ยาว แล้วก็ยุทธศาสตร์ชาติอีก 20 ปี เราก็พูดไปแล้ว คนก็ไม่เชื่อ ยังคาดหวังว่า มันอาจจะรับแล้ว อาจจะไม่มีรัฐประหารแล้ว ไม่มีรัฐบาลแบบ คสช. แล้ว รับๆ ไป เลือกตั้งแล้วมันอาจจะดีขึ้น ก็อย่างที่เห็น 

อย่างที่กำลังจะทำให้อีสานเป็นมาบตาพุดก็เกิดจากนโยบายใช่ไหม คือเราไม่ใช่เขา คือเราแพ้ ทุกคนอยากรับก็รับเราก็โอเค ถึงแม้ว่า มันไม่ใช่กติกา ไม่ใช่กฎหมาย ไม่ใช่อะไร แต่เราก็ไม่ได้ทำเหมือนเขาที่แบบไม่มีกติกาเลย อยากจะฉีกก็ฉีก อยากจะทำอะไรก็ทำ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ในสายตาไผ่ อยากเห็นเมืองไทยเป็นไปในทิศทางไหน 

ไผ่: ไปในทิศทางที่ทุกคนมาออกแบบทิศทางด้วยกัน คือมันไม่จำเป็นต้องไปในทิศทางเดียวกัน ประเทศไทยมันใหญ่ คนมันเยอะ มันก็ควรจะมีหลากหลายทิศทาง ถ้าไปทิศทางเดียวกันหมดก็แคบ มันก็ต้องไปหลากหลายทาง ดังนั้นมันต้องมีความหลากหลาย 

ปัญหาทุกอย่างมันต้องมาร่วมแก้ไขกัน แก้ไขกันจริงๆ คือ หนึ่ง ต้องมีกติกาที่ดี แบบเคารพกติกา อยู่ในระบบ ไม่ใช่นอกกฎหมาย คือ มีกฎหมายแล้วก็ฉีกกฎหมายแล้วจะให้คนอื่นเคารพได้อย่างไร มันก็ต้องมีหลักการที่อยู่กัน คือ กฎหมายเป็นหลักการเบื้องต้น ที่อยู่ด้วยกันบนความหลากหลาย แล้วก็มาออกแบบกัน 

 กฎหมาย ผมก็คิดว่า สำคัญเหมือนกัน ผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญสักฉบับหนึ่งที่ไม่ใช่ฉบับ 60 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ออกแบบร่วมกัน เพราะว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักและเป็นรากฐานสำคัญ ที่ผ่านมามีการฉีกรัฐธรรมนูญก็เป็นการแย่งอำนาจ ฉีกเพื่อกำหนด วางอำนาจตัวเอง อย่างรัฐธรรมนูญ 60 ก็เป็นการฉีก เพราะตัวเองสู้ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ก็มารัฐประหาร มาให้อำนาจตัวเอง เขียนให้สืบทอดอำนาจตัวเองอีก อำนาจมันต้องเป็นของประชาชน

เดอะอีสานเรคคอร์ด: อยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่หรือเปล่า

ไผ่: ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญในจินตนาการของผม ไม่ต้องหลายมาตรา แต่มีคุณค่า มีหลักการพื้นฐานที่มันครอบคลุม แล้วก็ให้กฎหมายลูกมาสนับสนุน ณ วันนี้รัฐธรรมนูญบ้านเรามันเยอะ ต้องทำให้คนเห็นว่า รัฐธรรมนูญเป็นหลักในชีวิตเขา คือหลักที่แบบว่าคุณเกิดมาแล้วจนถึงตาย คุณมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันต้องเป็นอย่างนี้ ที่ผ่านมารัฐประหาร และเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาหลายฉบับแล้วก็รัฐประหาร คือ ถ้ามันดีเขาคงไม่รัฐประหารอีก 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย เรียนจบนิติศาสตร์มา มีคนมาชวนเป็นนักการเมือง หรือมีความสนใจในการเข้าไปเป็นตัวแทนของประชาชนในสภาหรือไม่

 ไผ่: ผมโดนแบน 10 ปี ยังไม่คิด เพราะโดนแบนอยู่ โดยส่วนตัวสนใจหรือไม่ คือ การเมืองมันเป็นเรื่องขอชีวิตอยู่แล้วครับ คือแบบเราไม่ยุ่งกับมัน มันก็ยุ่งกับเรา เราจะอยู่ตรงไหน เราก็ทำงานการเมืองได้ คือจะอยู่บนท้องถนนหรืออยู่ในรัฐสภา มันก็เหมือนกัน 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: มองเห็นอนาคตตัวเองเข้าไปเป็นตัวแทนในสภาหรือไม่ ตอนนี้มีเพื่อนของไผ่อย่าง รังสิมันต์ โรม ก็เข้าไปเป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 

ไผ่: มองไม่ค่อยออกเท่าไหร่ ไม่รู้เหมือนกัน เป็นเรื่องของอนาคตนะครับ ผมก็ไม่อยากคิด แต่ผมแค่รู้สึกว่า เราก็เป็นเราแบบนี้แหละ ไม่ว่าจะอยู่จุดไหน เราก็เป็นตัวของเราแบบนี้ จะอยู่บนท้องถนน อยู่รัฐสภาอยู่โน่นอยู่นี่ก็แล้วแต่ ก็พยายามรักษาจิตวิญญาณ รักษาสิ่งที่เราทำแบบนี้อยู่ ไม่ว่าคุณจะอยู่จุดไหน มันก็สำคัญหมด ไม่ใช่ว่าเป็นผู้แทนฯ แล้วจะสำคัญขนาดนั้น ใช่ไหม 

มันก็เป็นส่วนหนึ่งใช่ไหมครับ ถ้ามีแต่ผู้แทนฯ แล้วไม่มีภาคประชาชน ไม่มีภาคประชาสังคม ไม่มีอะไรอย่างนี้ ทุกส่วนทุกอย่างในสังคมมันสำคัญหมดในการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นไม่รู้จะอยู่จุดไหน แต่ว่าสำคัญ คือ คุณมีความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า 

image_pdfimage_print