เครดิตภาพปก iStock.com/teetuey

โดย จิตต์สิรี ทองน้อย

เมื่อปี 2532 ณรงชัย ระดาบุตร ชาวสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ทดลองปลูกยางพาราเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่ต่อมารัฐบาลจะสนับสนุนให้เกษตรกรในภาคอีสานปลูกยางเมื่อปี 2547 

ณรงชัยรับต้นกล้าจากภาครัฐที่ให้เกษตรกรทดลองปลูก โดยเริ่มเพาะปลูกบนพื้นที่ 15 ไร่ ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 40 ไร่ในปัจจุบัน เขาได้ขยายพื้นที่การปลูกยางพาราเรื่อยมาตามราคาของยางที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

แต่ทว่า เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณรงชัยบอกกับเดอะอีสานเรคคอร์ดว่า “ตอนนี้ก็ช็อตกันอยู่ ไม่รู้จะปรับตัวยังไง ทั้งค่าน้ำค่าไฟ ก็มีขายมาใช้ไป หยิบยืมบ้าง”

ในช่วงเดือนดังกล่าว ณรงชัยขายยางก้อนถ้วยในราคา 17.60 บาท ให้แก่พ่อค้าคนกลางเพื่อป้อนเข้าโรงงานผลิตยางแท่งดำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบของล้อรถยนต์ โดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง รัฐบาลเพิ่งได้เริ่มจ่ายเงินในโครงการประกันราคายางให้ชาวสวนยางที่ลงทะเบียนทั่วประเทศ

“ปี 2555 ยางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 80-90 บาท ปีที่แล้วเกินมา 20 บาท แต่ปีนี้ยังไม่ถึง 20 บาทซักงวด” ณรงชัยกล่าว

เกษตรกรเคยผลิตยางก้อนถ้วยขายได้กิโลกรัมละ 80-90 บาท แต่ช่วงปีที่แล้วราคากลับลดลง เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเกษตรกรอย่าง ณรงชัย ระดาบุตร ขายยางก้อนถ้วยในราคา 17.60 บาท เครดิตภาพ :  iStock.com/Docter_K

ณรงชัยเป็นหนึ่งในชาวสวนยางพาราอีสาน ผู้ต้องต่อสู้กับราคายางตกต่ำมานับปี สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณยางที่ล้นตลาด

ไชยยะ คงมณี อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า เมื่อปี 2547 รัฐบาลเริ่ม “โครงการยางล้านไร่” หรือยางแก้จนในภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการปลูกยางในพื้นที่ปลูกยางใหม่ ส่งผลให้พื้นที่ปลูกยางภาคอีสานเพิ่มจาก 5.9 แสนไร่ เป็น 5.2 ล้านไร่ และอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 17.24 ต่อปี 

ในขณะที่ภาคเหนือ พื้นที่เพาะปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นจาก 3 หมื่นไร่ เป็น 1.35 ล้านไร่ โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 51.47 ต่อปี ส่วนช่วงปี 2545 – 2554 ราคายางบูมมีอัตราเติบโตร้อยละ 20 ต่อปี และราคายางท้องถิ่นเพิ่มจาก 40 บาท ขึ้นไปสูงสุด 129 บาท แต่หลังปี 2555-2561 ราคายางกลับลดลงถึงร้อยละ 13 ต่อปี และมีระดับความผันผวนรายเดือนมากถึงร้อยละ 30 

ราคายางไทยถีบตัวขึ้นสูงอย่างมากหลังจากจีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเมื่อปี 2544 ซึ่งจีนเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบัน ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลก ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ​ รวมถึงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนที่ตกต่ำอันเนื่องมาจากกำแพงภาษีระหว่างสองประเทศ เป็นผลทำให้การผลิต การส่งออก และยอดขายรถยนต์ของจีนลดลงอย่างมาก 

ส่วนยางแท่งสำหรับผลิตล้อยานพาหนะต่างๆ ที่จีนนำเข้า พบว่า จำนวนเกือบสองล้านตันก็มาจากไทย ซึ่งกำลังการผลิตทั้งหมดของไทยนั้นอยู่ที่กว่าห้าล้านตันต่อปี จึงทำให้จีนเป็นตลาดนำเข้ายางพารารายใหญ่ที่สุดของไทย

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ยอดขายรถยนต์ของจีนหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ส่งผลทำให้ความต้องการในการใช้ยางของจีนเพื่อนำไปผลิตเป็นล้อยางลดลงไปด้วย อุตสาหกรรมแปรรูปยางขั้นต้นของไทยจึงได้รับผลกระทบจากการผันผวนของราคายางโดยตรง เนื่องจากตลาดยางพาราเป็นตลาดที่มีการแข่งขันด้านต้นทุนสูง  

เมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นในภาคอีสาน เช่น ข้าวและอ้อย การทำสวนยางนั้นใช้แรงงานน้อยกว่าและสามารถกรีดยางได้นานถึง 9-10 เดือนต่อปี เครดิตภาพ  iStock.com/PeskyMonkey

ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสสำหรับชาวสวนยางพาราทั่วประเทศไทย แต่สำหรับชาวสวนยางภาคอีสานแล้ว  พวกเขาเจ็บตัวมากที่สุดก็ว่าได้

“ภาคอีสานค่อนข้างเสียเปรียบ เพราะต้นทุนการผลิตต่อไร่สูงกว่าภาคใต้ 7-8 บาท แต่จำนวนการผลิตต่อไร่เฉลี่ยอยู่ที่ 221 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับภาคใต้ที่ 267 กิโลกรัม” วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว 

“ในอีกสามปีข้างหน้า ถ้าอุตสาหกรรมต่างๆ หยุดชะงักลง สต็อกยางจะไม่ลดลงเลย” อาจารย์วิษณุกล่าวถึงสต็อกยางของประเทศจีนและระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อมีเหลือเกินการใช้งานจากการผลิตที่ชะลอตัว การนำเข้ายางของจีนและตลาดอื่นๆ จากไทย ก็จะลดลงตามไปด้วย 

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยยางจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งตั้งอยู่พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงและมีความอุดมสมบูรณ์ ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคอีสาน ด้วยจำนวนกว่า 800,000 ไร่ ตามด้วยจังหวัดเลย 700,000 ไร่ และอุดรธานี 500,000 ไร่ 

แม้นักวิชาการจะแนะนำให้เกษตรกรปรับตัวด้วยการทำอาชีพอื่นเสริม หรือปลูกพืชอื่นแซมพื้นที่เพาะปลูกยางพารา แต่ณรงชัยกล่าวว่า เนื่องจากต้นยางสูง จึงมักบดบังแสงแดด ทำให้ปลูกพืชชนิดอื่นลำบาก การปลูกยางใกล้กันก็ยังทำให้ไม่มีช่องว่างพอสำหรับพืชชนิดอื่น “ถ้าปลูกห่างก็ขาดทุน”

หากมองในเชิงของความคุ้มค่าในการลงทุนและลงแรง ยังพบว่าไม่มีพืชชนิดอื่นที่สามารถทดแทนยางพารา ณรงชัย กล่าวว่า สาเหตุตอนแรกที่เขาหันมาปลูกยาง หลังจากที่เคยปลูกข้าวมาก่อนแล้วนั้น เป็นเพราะ “ราคาของยางที่สูงล่อใจ” และ “การปลูกข้าวมีต้นทุนสูง พอขายก็ขาดทุน ปลูกกินได้อย่างเดียว แถมยังมีค่าเก็บเกี่ยวข้าว ต้องจ้างมาคนละ 300-400 บาท ทำนา 14 ไร่ ลงทุนปีละ 3-4 หมื่น ได้ปีละ 20 กระสอบ มันไม่คุ้ม”

“ถ้าทำมันสำปะหลังก็ไม่ไหว ปีหนึ่งทำทีหนึ่ง ได้กิโลกรัมละสองบาท กรีดยางไม่ได้จ้างใคร กรีดกับน้องชายสองคน ปีหนึ่งใส่ปุ๋ยสองครั้ง ไม่ต้องฆ่าหญ้า แล้วก็ตัดหญ้าเอง”

“ตอนนี้ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่ราคายางกลับลดลง”

สุรณีย์ สุทธิวัฒนานิติ เจ้าของสวนยางจากจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ยางกรีดได้ปีละเก้าถึงสิบเดือน เมื่อเทียบกับพืชอื่น เช่น ข้าวโพด ซึ่งเก็บได้เพียงปีละสามสี่เดือน “การกรีดยางเป็นอาชีพหลักที่มีรายได้ดีกว่าพืชตัวอื่น” 

ปัจจุบัน แม้ว่าชาวสวนยางพาราในภาคอีสานจะมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มสหกรณ์เพื่อขายยางและทำผลิตผลแปรรูปต่างๆ แต่ความต้องการการใช้ยางในประเทศก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกษตรกรพึ่งพารายได้จากส่วนนี้เป็นหลัก 

นอกจากนี้ เกษตรกรไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันของสต็อกยางจากลาว เวียดนาม หรือกัมพูชา ซึ่งจีนเข้าไปเช่าพื้นที่ปลูกยางเองในบางส่วน แต่สุรณีย์กล่าวว่า “คุณภาพไม่เหมือนของไทย”

สุรณีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์เงินประกันราคายางจากรัฐบาล กล่าวว่า “ป้ามองว่า หนึ่ง รัฐบาลทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ สอง นโยบายนี้ช่วยกระตุ้นเรื่องราคาไม่ให้ตกต่ำมากไปกว่านี้ และสาม เงินที่ได้จากส่วนต่างราคายางที่ประกันรายได้อาจช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้บ้างค่ะ”

แต่ในขณะเดียวกันสุรณีย์ก็มองว่า นโยบายนี้เป็นการช่วยชาวสวนยางในระยะสั้นเท่านั้น

“ยางเป็นพืชการเมือง อยู่ที่ความคิดของผู้มีอำนาจในรัฐบาล ตอนนี้เราต้องจำยอม ดิ้นรนไปก็รัดตัวเอง” สุรณีย์กล่าวทิ้งท้ายว่า “รัฐบาลยุคนี้ไม่เข้าใจ แก้ไม่ถูกทาง คิดว่ามันง่าย มันไม่ใช่”

image_pdfimage_print