โดย กนกวรรณ มะโนรมย์
คนจนเมืองมิได้มีเพียงกลุ่มคนที่ไร้บ้าน คนที่อยู่ในชุมชนแออัด หรือกรรมกรไร้ฝีมือ คนแบกหาม ถีบสามล้อ และหาบเร่แผงลอยเท่านั้น
แต่มีอีกกลุ่มหนึ่งที่มักไม่มีใครกล่าวถึงสักเท่าไหร่ คือ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่รอยต่อระหว่างเมืองกับชนบท กลุ่มเหล่านี้ คือ “ชาวบ้านชานเมือง” ที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองไปยังพื้นที่เกษตรกรรม และถูกบังคับทางอ้อมให้ขายที่นาด้วยเงินก้อนโตจากนายทุน หรือนำที่นาไปจำนองกับพ่อค้าในเมืองจนที่นาหลุดจำนอง รวมทั้งตั้งใจขายที่นาเพราะนายทุนเสนอซื้อราคาสูง
หลังจากกลายเป็นคนไม่มีที่นา ไม่นานเงินที่ได้มาก็หมด จึงไร้หลักประกันความมั่นคงของชีวิต ทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยง และกำลังกลายเป็นกลุ่มคนที่ ศ.ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์ เรียกว่า “มนุษย์ล่องหน” หรือ คนจนที่พวกเรามองไม่เห็น พวกเขามีชีวิตอยู่ แต่ไม่มีใครเห็น เพราะไร้ตัวตน
การขยายตัวของเมือง
คนชนบทเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น พื้นที่ชนบทเริ่มลดลง แต่ สังคมไทยยังไม่มีแผนและนโยบายการบริหารจัดการเมืองที่ชัดเจน ปล่อยให้เมืองเติบโตอย่างไร้ทิศทาง
การจัดการเมืองยังขาดเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการไปทิศทางใด เมืองเติบโตด้วยวิถีของตนเองตามยถากรรมมากกว่ามีการวางแผนอย่างยั่งยืน (อรทัย ก๊กผล, 2559)
ปัจจุบันพบว่า การขยายตัวของเมืองทั่วภาคอีสานล้ำเข้าไปในพื้นที่ชนบทและพื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้น ดังที่ Hirsch (2009) เรียกว่า พื้นที่ชายแดนเกษตร (agricultural frontiers) หรือ พื้นที่สุดเขตแดนเมือง หรือพื้นที่ชานเมือง (peri-urban frontiers)
การขยายตัวของเมืองสู่เขตชานเมือง เกิดกิจกรรมการผลิตผสมผสานระหว่างกิจกรรมแบบเมืองกับชนบท เช่น โรงงาน บ้านจัดสรร และห้างร้านต่างๆ ปะปนกับพื้นที่เกษตรกรรม และหลายๆ พื้นที่เกิดผลกระทบสำคัญคือ เกษตรกรรมหายไป รวมถึงอุตสาหกรรมชานเมืองส่งผลให้เกิดมลภาวะต่อเกษตรกรชานเมือง
“ที่ดินในเขตชานเมือง” มีการเปลี่ยนการถือครองมากกว่าพื้นที่อื่นๆ และมีกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากที่ดินชานเมืองยังมีที่ดินผืนใหญ่และราคายังไม่แพงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ใจกลางเมือง ทำให้พื้นที่ชานเมืองเป็นที่หมายปองของนายทุน จึงเกิดการกว้านซื้อที่ดินเพื่อนำมาพัฒนาบ้านจัดสรร ปั้มน้ำมัน โรงงาน ร้านกาแฟชมทุ่ง หรือห้างร้านมากขึ้นเรื่อยๆ
พื้นที่ชานเมือง จ.ศรีสะเกษ ที่มีนักลงทุนกว้านซื้อเพื่อสร้างบ้านจัดสรรและปั้มน้ำมัน
ชาวนาชานเมือง: การหายไปของที่นาและความเสี่ยง
งานศึกษาของผู้เขียนพบว่า ตัวเมืองศรีสะเกษได้ขยายตัวออกไปสู่ชุมชนชานเมืองเป็นอย่างมากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ศึกษาชุมชนชานเมืองแห่งหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ ติดอยู่กับถนนสายศรีสะเกษ-ขุขันธ์ โดยห่างจากตัวอำเภอและจังหวัดประมาณ 5 กิโลเมตร
สภาพพื้นที่ทั่วไปของหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่มดินปนทราย หน้าแล้งจะแห้งแล้งมาก หน้าฝนน้ำจะท่วมขัง พื้นที่เหมาะแก่การทำนา ทำสวน พืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ โดยนำพืชผักสวนครัวส่งตลาดในเมืองศรีสะเกษได้
พื้นที่นาถูกนายทุนกว้านซื้อเพื่อเตรียมทำธุรกิจใน จ.ศรีสะเกษ
ชาวนาหลายรายในชุมชนแห่งนี้ได้ขายที่นาไปหมด เพราะได้ราคาสูงจากพ่อค้าคนไทยเชื้อสายจีนในเมือง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “เจ๊ก” ที่มาซื้อที่ดินเพื่อทำธุรกิจ โรงงาน ปั้มน้ำมัน ทาวเฮ้าส์ และบ้านจัดสรร
จากการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนพบว่า เมื่อชาวนาขายที่ดินและใช้เงินหมดแล้ว พวกเขาก็ลำบาก เพราะไม่มีที่นาปลูกข้าวกิน
“ชาวนาที่มีที่ติดกับทางดำ (ถนนลาดยาง) บ้านใกล้เมืองขายจนจะหมดแล้ว ที่นาติดกับชานเมืองจะมีนายหน้าคนเจ๊กมาติดต่อซื้อ สมัยก่อนที่ดินภายในรัศมี 5 กิโลเมตร จะได้ราคาไร่ละล้าน
ส่วนที่ดินที่อยู่ทุ่งนาห่างทางดำ เจ๊กไม่นิยมซื้อ ชาวนาบางคนเอาที่ไปจำนำกับเจ๊ก ไม่มีเงินไปไถ่เขาก็ยึดไป พอที่ดินมีราคาเจ๊กก็จะขายให้นายทุนต่อ ราคาขายก็จะสูงขึ้นอีก ได้เงินมากกว่าที่รับซื้อจากชาวนา ชาวนาจะขายหรือไม่ขาย ก็ขึ้นอยู่กับสถานะของแต่ละคน
ชาวนาส่วนใหญ่ถ้ามี 6 ไร่ ก็จะขาย 2 ไร่ ที่เหลือแบ่งไว้ทำกิน สิบกว่าปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ชาวนาก็ขายที่ไปประมาณสิบคน ตอนนี้คนรุ่นใหม่มีทางเลือกมีอาชีพมากกว่าคนสมัยก่อนที่ทำนาอย่างเดียว เขาเลยเลือกขายที่มากกว่าเก็บไว้ทำนา บางคนขายนาส่งลูกเรียน ขายนาซื้อข้าวซื้อของมาไว้ใช้ ตอนขายได้ก็ดี แต่ตอนเงินหมดก็ลำบากตัวเอง ผลดีมีความเจริญเข้ามา แต่ผลเสียก็เสียที่ทำกินไป บางคนได้ต้องซื้อข้าวกิน เพราะข้าวไม่พอกิน”
(สัมภาษณ์ 28 มิถุนายน 2562)
โดยภาพรวม ชาวนาที่ให้สัมภาษณ์ ให้ข้อมูลในลักษณะทำนองเดียวกันว่า การขายที่ดินจำนวนมาก เกิดจากความสมัครใจของชาวนาเอง แต่ท้ายสุดก็ไม่เหลืออะไรและเป็นหนี้สิน
นายทุนในเมืองศรีสะเกษเริ่มเข้ามาซื้อที่ดินครั้งแรกในชุมชนเมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อน แต่ธุรกิจซื้อขายที่ดินเพิ่งเริ่มขยายตัวมากขึ้นประมาณ 10 กว่าปีมานี้ เนื่องจากนายทุนทราบดีว่า เมืองจะมีการพัฒนาออกไปทิศทางไหนของจังหวัด ดังเช่นคำสัมภาษณ์ของกรรมการหมู่บ้านท่านหนึ่งที่ว่า
“นายทุนเพิ่นรู้การวางแผนผังเมืองก่อนที่จะซื้อที่ดิน เขาจะซื้อที่ดินที่ติดกับถนนใหญ่ ส่วนที่ตาบอดในหมู่บ้านจะไม่มีราคา เขาจะไม่ซื้อ คนที่มีที่ติดถนน 90% ในหมู่บ้านจะขายหมด เห็นนาข้างๆ ขายก็จะขายตาม สิบปีก่อนไร่ละ 7 หมื่น ปัจจุบันที่ติดถนนไร่ละ 1 ล้านขึ้นไป ถ้ามีนาเยอะก็ขาย แต่พ่อมีนาไม่กี่ไร่
(หัวเราะ) ถ้าประกาศขายปุ๊บ จะมีนายหน้าเข้ามาติดต่อซื้อเอง”
“ชาวบ้านจะขายที่ดินไปซื้อของใช้ในครอบครัว บางทีขายนาซื้อนา ขายนาซื้อรถ โทรศัพท์ โทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น แต่ข้อเสียคือ ไม่มีความมั่นคง ไม่มีไฮ่มีนาทำกิน ได้ซื้อข้าวเขากิน พอเงินหมดก็กู้ยืมเป็นหนี้เป็นสิน” (สัมภาษณ์เมื่อ 28 มิถุนายน 2562)
ที่ดินบางส่วนยังอยู่ในการถือครองของเกษตรกร แต่ที่ดินติดถนนบางส่วนถูกกว้านซื้อเพื่อลงทุนในบ้านจัดสรรและอสังหาริมทรัพย์
ข้อมูลภาคสนามสอดคล้องกับข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เมืองและการลดลงของพื้นที่ชนบทในอำเภอเมืองศรีสะเกษ
โดยพบว่า การขยายตัวของเมืองศรีสะเกษเพิ่มจำนวนขึ้นจากเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (ปี 2546-2560) เห็นได้จากเมื่อปี 2546 มีพื้นที่เมืองจำนวน 167.69 ตารางกิโลเมตร หรือมีพื้นที่เมืองเพียงร้อยละ 8.95 แต่ได้เพิ่มพื้นที่เมืองเป็น 986.27 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 19.39 และมีประชากรเพิ่มในพื้นที่เมืองจากปี 2546 คือ 131,173 คน เป็น 285,477 คน ในปี 2560 และประชากรในเขตชนบทของอำเภอเมืองจากปี 2546 จำนวน 1.3 ล้านกว่าคน เป็นประมาณ 1,186,554 คน หรือลดลงไปเกือบร้อยละ 10 (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ปี 2546 และปี 2560)
อนาตตจะเป็นอย่างไร?
สังคมตลาดที่เน้นการแข่งขัน ยั่วเย้าด้วยเม็ดเงินและกำไรมหาศาล ทำให้คนชานเมืองขายที่ดินด้วยกลไกอันแยบยลของนายทุน หากไม่ได้ลงทุนต่อเพราะขาดทักษะ ไม่เหมือนนายทุน เงินที่ได้ก็หดหายไปและกลายเป็นคนไร้ที่ดินและไร้ตัวตน ดังที่อานันท์ กาญจนพันธุ์ (2013) เรียกกลุ่มคนจนเหล่านี้ว่า “มนุษย์ล่องหน” ซึ่งมีมากในสังคม แต่พวกเรากลับมองไม่เห็นพวกเขา
เมื่อขายที่ดินทำกินให้กับนายทุนแล้ว เกษตรกรเหล่านั้นก็กลายมาเป็นคนจนในเมือง โดยหาเลี้ยงชีพด้วยการขายของเล็กๆ น้อยๆ ในตลาดสด ภาพโดย ปฎิภาณ ดอกบัว
มูลค่าส่วนเกินที่เกิดจากกระบวนการกลายเป็นเมืองที่มิได้ตกกับคนด้อยโอกาส ความเป็นเมืองเต็มไปด้วยบรรยากาศของการแข่งขันด้านการเข้าถึงทรัพยากร การใช้เครือข่ายความสัมพันธ์ทางอำนาจในการผลิต ควบคุมราคา และกีดกันประโยชน์ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่ม
การใช้พื้นที่เมืองเกิดขึ้นเพื่อการสะสมทุน ดังนั้น คนในเมืองหรือพื้นที่รอบๆ ควรมีสิทธิในการเข้าถึงประโยชน์ของเมือง (Harvey, 2012) ผู้เขียนเห็นว่า เมืองในฐานะศูนย์กลางของอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ควรต้องทำหน้าที่กระจายประโยชน์จากการกลายเป็นเมืองให้เท่าเทียมกับกลุ่มคนต่างๆ มากขึ้น ไม่ควรให้ผลประโยชน์ของเมืองกระจุกตัวอยู่กับพื้นที่และกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง
อ้างอิง
- Harvey. D. 2012. Rebel cities: From the rights to the city to the urban revolution. London. VersoBook.
- Hirsch, P. 2009. Revisiting frontiers as transitional spaces in Thailand. The Geographical Journal. 175 (2): 124–132.
- สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. ประชากรศรีสะเกษ 2546 และ 2560 (อ้างจากเอกสารจาก
- รายงานการประเมินผลผังเมืองรวมจังหวัดศรีสะเกษ กรมโยธาธิการและผังเมือง (2560). เอกสารอัดสำเนา.
- ประชาไท. 2013. อานันท์ กาญจนพันธุ์: การศึกษาสังคมไทยไร้น้ำยา และการเป็นอัมพาตทางการเมือง. เข้าใช้ข้อมูลวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562.
- อรทัย ก๊กผล. 2559. Urbanization เมื่อ “เมือง” กลายเป็นโจทย์ของการบริหารจัดการท้องถิ่น สมัยใหม่. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า.
ข้อมูลในบทความนี้มาจากโครงการวิจัยของผู้เขียนเรื่อง “กระบวนการกลายเป็นเมืองกับความหลากหลายด้านเกษตรกรรม กรณีศึกษาเมืองศรีสะเกษ” (2562) สนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (ชื่อเดิม) และเปลี่ยนใหม่เป็น “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)