โดย มนตรี อุดมพงษ์

“ถ้าเฮาคิดว่า เฮาเป็นเจ้าของ เป็นผู้ใช้ประโยชน์ เฮากะต้องแสดงโต เพื่อรักษาปกป้อง ถ้าเฮาบ่ปกป้อง บ่ดูแล เฮาสิไปแสดงโตได้จั่งได๋ว่า แม่น้ำโขงเป็นมูนมังของแผ่นดินนี้

สำเนียงอีสานตอนบนเหน่อภูไทเล็กน้อย ตามแบบฉบับชาวนครพนม ของ “อำนาจ ไตรจักร” แม้จะฟังดูอ่อนหวาน อ่อนโยน  แต่สำเนียงอีสานผสมผสานภูไทก็ไม่ได้ทำให้ความหนักแน่นต่อเรื่องที่จะเล่าให้ฟังนั้นลดความขึงขังลง

อำนาจ ไตรจักร เป็นหนึ่งในเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน โดยเป็นตัวแทนจังหวัดนครพนม หากไม่นับแม่น้ำโขง ช่วงที่ไหลผ่านตัวเมืองนครพนม ซึ่งมีหาดทรายโผล่เป็นทางยาวเกือบ 5 กิโลเมตรแล้วล่ะก็ ดูเหมือนว่า ที่อำเภอธาตุพนม จะเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่ผู้คนริมแม่น้ำโขงกังวลใจต่อการลดลงของน้ำโขงอย่างผิดปกติ

เพราะการประปาส่วนภูมิภาคสาขาธาตุพนม ใช้น้ำโขงผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงชุมชนในเขตเทศบาลและพื้นที่รอบนอกอำเภอธาตุพนม  

ขณะเดียวกัน ทั้งนาข้าวที่กำลังตั้งท้องและแปลงพืชผักริมฝั่งแม่น้ำโขงก็ล้วนแต่หวังจะพึ่งแม่น้ำโขงทั้งนั้น

รถแบคโฮที่หน่วยงานราชการนำมาขุดลอกร่องน้ำริมแม่น้ำโขงเพื่อเปิดทางน้ำสำหรับการผลิตน้ำประปาที่ อ.เมือง จ.นครพนม

“อำนาจ” พาเราไปดูจุดที่รถแบคโฮ 3 คัน ซึ่งหน่วยงานของจังหวัดและองค์กรปกครองท้องถิ่นว่าจ้างให้มาขุดลอกร่องน้ำริมฝั่งแม่น้ำโขง ฝั่งที่ติดกับตลิ่งเขตไทย ให้ลึกลงไปอีก เพื่อชักรอกน้ำจากแม่น้ำโขงที่นับวันจะเหือดแห้งลง ให้ไหลถึงร่องน้ำนี้ เพราะเป็นที่ตั้งของเครื่องสูบน้ำประปา

“ตอนนี้หัวสูบน้ำประปามันสูงกว่าน้ำที่จะสูบแล้วครับ เพราะว่าน้ำมันลดลงมาก อันที่จริงมันก็ลดแบบนี้แหละ ในเดือนมีนา –เมษา –พฤษภา แต่นี่ยังไม่สิ้นปีเลย น้ำก็ลดลงมาก ถ้าถึงหน้าแล้งปีหน้าจะเอาน้ำจากไหนมาใช้กัน”

ผมสังเกตว่า ระหว่างที่ “อำนาจ” พยายามเล่าความกังวลใจเรื่องแม่น้ำโขงลดลงให้ฟังนั้น มีโทรศัพท์จากครอบครัวโทรมาหา 1-2 ครั้ง ผมจึงบอกว่า “พี่คุยธุระก่อนก็ได้นะ จะได้สบายใจ เผื่อมีเรื่องด่วน”

“อ๋อ… มีเจ้าหน้าที่สันติบาลมาหาผมที่บ้าน แล้วมาขอเบอร์โทรผมจากคนที่บ้าน วันก่อนก็มีคนมาหา บอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ความมั่นคง มาถามข้อมูลความเดือดร้อนเรื่องน้ำโขงนี่แหละ…. ผมคิดว่า เขาคงกังวลใจอะไรสักอย่าง แต่เราไม่ได้เคลื่อนไหวเรื่องอื่น เรากังวลใจเรื่องน้ำโขงของเรา… ถ้าเขาจะมาดูกับเราก็ดีจะได้เห็นชัดเจน แต่ถ้าไปหาครอบครัวเราแบบนี้ ครอบครัวก็กังวลใจ ไม่สบายใจ”

สิ่งที่ “อำนาจ” คุยกับผมไม่ได้เกินความจริง เพราะระหว่างที่ผมลงไปถ่ายภาพรถแบคโฮและท่อสูบประปา ปรากฏว่า มีชายคนหนึ่ง มายืนคุยกับ “อำนาจ” อยู่พักใหญ่ และเมื่อเราเดินไปถึงฝั่ง ชายคนนั้นก็ขอตัวขึ้นรถกระบะและขับออกไป

“เขาบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ไปตามหาผมที่บ้าน พอไม่เจอก็เลยโทรหา ผมก็บอกว่า พานักข่าวมาดูน้ำโขงลดระดับ เขาเลยตามมา ตอนนี้เขาคงเห็นกับตาแล้วล่ะ”

การใช้คำว่า “น้ำโขงลดระดับลง” อาจไม่ตรงนัก แต่คำว่า “น้ำโขงผันผวน” น่าจะตรงกับปรากฏการณ์ตอนนี้มากกว่า 

แม้ว่าคำนี้จะไม่เป็นที่ตรงใจของผู้เกี่ยวข้องกับการทำให้แม่น้ำโขงต้องผันผวนมากนัก 

และเหตุที่ว่าผันผวน ก็เพราะนับตั้งแต่ที่เขื่อนทั้งในจีนและลาวเกิดขึ้นกลางลำน้ำโขง และกำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายแห่งนั้น ได้ควบคุมการไหลของน้ำให้เป็นไปตามแผนบริหารจัดการของเขื่อนอย่างสิ้นเชิง  

ดังนั้นน้ำจะขึ้นหรือลง จึงไม่ได้อยู่กับปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างเดียว แต่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

หาดทรายทองศรีโคตรบูรปรากฏชัดเจน หลังน้ำโขงลดลงอย่างผิดปกติที่ อ.เมือง จ.นครพนม

นี่คือสิ่งที่ผู้ใช้น้ำ อย่าง “อำนาจ ไตรจักร” กังวล และไม่ว่าผู้ใช้น้ำโขงทั้งในประเทศไทยหรือประเทศอื่น ทั้งเพื่อการประปาหรือเพื่อการเกษตรจะกังวลเหมือน “อำนาจ” หรือไม่ก็ตาม แต่ผลกระทบย่อมเกิดแน่นอน

“น้ำท่วมหน้าแล้ง น้ำแห้งหน้าฝน” คือ คำอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดตอนนี้ ทำให้การเพาะปลูกริมฝั่งแม่น้ำโขงในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งลงไปชิดตลิ่งแม่น้ำ หรือแม้แต่การเลี้ยงปลากระชัง ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ถูกปล่อยออกจากเขื่อนอย่างฉับพลัน 

ขณะที่หน้าฝนที่ควรจะมีน้ำเพียงพอเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่ชลประทานริมฝั่งกลับขาดแคลนน้ำ 

นี่ยังไม่รวมถึงประเพณีแข่งเรือในบางชุมชนต้องยกเลิก เพราะน้ำตื้นเขินเกินกว่าที่จะให้ฝีพายซ้อมเรือได้

ผลกระทบเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้วกับผู้คนริมน้ำโขงและยังจะเกิดตามมาอีกหลายฤดู

“แม่น้ำโขง” หรืออีกชื่อที่ถูกเรียก คือ “แม่น้ำของ” อาจไม่อยู่ในภาวะที่จะถูกเรียกว่าเป็น “สายน้ำธรรมชาติแห่งชีวิต” ในอนาคตอันใกล้

“แม่น้ำโขง หรือ แม่น้ำของ” อาจไม่ต่างจากคลองประปาในอนาคตอันใกล้ 

ถ้าจะมีคำถามว่า ก่อนจะถึงวันนั้น “ใครกันจะเป็นคนปกป้องรักษา”  

คงได้คำตอบว่า “ใครใช้ประโยชน์ก็ควรต้องปกป้องรักษา” หรือคนที่ปกป้องรักษานั้นแหละ ได้แสดงความเป็นเจ้าของไปในตัวแล้ว

image_pdfimage_print