โดย วิทยากร โสวัตร 

หมายเหตุ : บทความนี้ผู้เขียนได้ชวนถกเถียงต่อจากบทความ “พระสงฆ์กับประวัติศาสตร์การเมืองไทย (1) ที่ตั้งคำถามถึงบทบาทของ “สงฆ์” ต่อการเมืองว่า มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างไรหรือไม่ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์พระสงฆ์อีสานในอดีตมีความเกี่ยวเนื่องกับการเมืองอย่างไร 

ข้อยืนยันว่า ฝ่ายก้าวหน้าประชาธิปไตยมีอคติกับพุทธศาสนา คือ มีบทความหนึ่งของ ดอกเตอร์ท่านหนึ่ง (ผมไม่แน่ใจว่า ตอนเขียนบทความนั้นเป็นดอกเตอร์แล้วหรือเป็นนักศึกษาปริญญาเอก แต่ตอนนี้เท่าที่ทราบเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว) 

ผมได้อ่านจากเฟซบุคของน้องคนหนึ่งที่แชร์มาเมื่อไม่กี่ปีก่อนบอกว่า คำสอนของพุทธศาสนาขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย โดยยกเรื่องบัว 4 เหล่า และบุคคล 4 จำพวก ขึ้นมาวิพากษ์ทำนองว่า มองคนไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งขัดกับหลักการหรือรากฐานปรัชญาประชาธิปไตย  

บทความนั้นก็ถูกแชร์ไปหลายร้อย (อาจจะถึงพันแชร์?) ที่สำคัญมีนักวิชาการระดับบิ๊กๆ หลายท่านแชร์ไปด้วย ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนความคิดนี้โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลชั้นต้นกันเลย  

ทั้งที่ในพระไตรปิฏกไม่มีบัว 4 เหล่า มีแค่บัว 3 ระดับ ซึ่งพระพุทธเจ้าชี้ว่าเกิดแต่โคลนและน้ำเหมือนกัน โดยสามารถบานรับแสงอาทิตย์ได้เหมือนกัน (ถ้ามีปัจจัยประกอบที่เหมาะสม)  

ส่วนเรื่องบุคคล 4 จำพวกนั้น โดยความมุ่งหมายของอรรถคือพระพุทธเจ้าพูดถึงเรื่อง IQ ของคนที่ไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงของมนุษย์และยืนยันได้ทางวิทยาศาสตร์ว่า ถ้าคนที่มีระดับสมองที่ไม่เท่ากันนั้นก็จะเรียนรู้ได้ไม่เท่ากัน  

แต่บทความนี้จะยังไม่ลงลึกไปถึงเรื่องที่ว่า พุทธธรรมหรือพุทธปรัชญาเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร แต่ที่เกริ่นนำเรื่องนี้โดยอ้างอิงถึงบทความนั้นขึ้นมา ก็เพื่อจะโยงไปถึงเป้าหมายหลักของบทความชุดนี้คือ เรา (ฝ่ายก้าวหน้าประชาธิปไตย) จะขยายแนวร่วมเพื่อต่อสู้และสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้เป็นหลักเมืองใจเมืองได้อย่างไร

คำถามต่อบทความของดอกเตอร์ท่านนั้น ซึ่งแทนอคติต่อพุทธศาสนา/พระสงฆ์ สามเณรของฝ่ายก้าวหน้าประชาธิปไตยก็คือ  

  1. ถ้าหลักการหรือคำสอนของพุทธศาสนาขัดต่อหลักการประชาธิปไตยและขวางการพัฒนาประชาธิปไตยแล้ว หลักการและคำสอนของศาสนาอื่นขัดขวางหรือไม่ ในที่นี้ผมหมายถึง ‘คน’ ที่มีศาสนาหรือนับถือศาสนาด้วย แล้วในนามประชาธิปไตยเราจะจัดการอย่างไรกับคนเหล่านี้ ?  
  2. แล้วมีคำสอนของศาสนาพุทธหรือศาสนาอื่นข้อไหนไหม ที่ไม่ขัดขวางแต่ส่งเสริมและเป็นประชาธิปไตย ?

เป็นเรื่องง่ายมากที่จะวิพากษ์พุทธศาสนาหรือพระ-เณรที่เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา 

ถ้าทำแบบนั้นเชื่อขนมกินได้เลยว่า ยอด Like ยอดแชร์บทความจะถล่มทลาย เผลอๆ ก็อาจทำให้บุคคลนั้นกลายเป็นที่นิยมของหมู่มหาชนก็ได้  เพราะพวกเราส่วนใหญ่ไม่เข้าใจตัวบท (เหมือนตัวอย่างบทความที่ผมอ้างถึง) และไม่เข้าใจบริบทของสังคมสงฆ์ไทย และอาจไม่เคยมองเห็นหรือให้ค่าที่ดีทางประวัติศาสตร์การเมือง (เหมือนอย่างกรณี 6 ตุลา 2519 เราเพ่งไปแต่ที่ กิตติวุฒโฑภิกขุ โดยไม่มีใครให้ค่า ‘เสียง’ ของพระเณรอื่นในตอนนั้นที่แตกต่างหรือวิพากษ์สิ่งที่กิตติวุฒโฑภิกขุพูดและกระทำเลย ราวกับว่า พระเณรอื่นเหล่านั้นไม่มีตัวตน) 

แต่ถ้าเรามีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือ ชัยชนะของประชาธิปไตยแล้ว แทนที่จะด่าหรือแสดงทัศนะหรือมีท่าทีรังเกียจ ทำไมเราไม่ศึกษาแล้วหาแนวร่วมเพื่อสร้างมวลชนประชาธิปไตยและต่อสู้ร่วมกัน

ยังไม่ต้องพูดถึงตัวหลักการหรือหลักธรรมพุทธศาสนาที่เป็นหรือเข้ากับปรัชญาประชาธิปไตยได้ เอาแค่ขบวนการสงฆ์ไทยก่อน ถ้าเราเปิดใจศึกษาก็จะเห็นว่า มันมีขบวนการประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่องในสายธารประชาธิปไตยไทยตั้งแต่การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

อย่าลืมว่า ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้น ไพร่ฟ้าหน้าใสในแผ่นดินสยามส่วนใหญ่เหมือนจะ ‘ชิน’ กับการถูกปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  

พูดง่ายๆ ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ ‘รู้สึก’ ถึงแรงกดขี่ของระบอบเก่า (อาจเพราะความเคยชิน) 

และนั่นจึงเป็นเหตุผลหลักของการที่คณะราษฎรร่างแผนหลัก 6 ประการขึ้น หนึ่งในนั้นคือ การเร่งให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องการเมืองประชาธิปไตย สิทธิ หน้าที่ของตัวเองให้ทั่วถึงภายใน 10 ปีแรก

แต่ในวงการสงฆ์ พวกเขากลับ ‘รู้สึก’ ต่อแรงกดขี่กดทับนี้มานานแล้ว  ข้อยืนยันที่ชัดเจนที่สุดคือ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 1 ปี กับอีก 7 เดือน ได้เกิดขบวนการพระสงฆ์ที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา’ เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 (ก็คือกฎหมายแม่บทหรือรัฐธรรมนูญของคณะสงฆ์ไทย) ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ที่รวบอำนาจทุกอย่างเข้าสู่ส่วนกลาง แม้แต่คณะสงฆ์ในภูมิภาคต่างๆ ที่ก่อนหน้านั้นค่อนข้างมีอิสระและผูกโยงกับประชาชนในท้องถิ่นอย่างแนบแน่นก็ต้องขึ้นตรงต่อศูนย์กลางอำนาจคือ ราชอาญาจักร และตัวแทนผู้ปกครองสงฆ์ทั่วประเทศก็ต้องถูกแต่งตั้งจากศูนย์กลางอำนาจ

แน่ละว่า ถือเป็นพระปรีชาสามารถในด้านการปกครองของ ร.5 เพราะในขณะที่พระบิดาของพระองค์สมัยทรงผนวชเป็นวชิรญาณภิกขุ ก่อตั้งคณะพระธรรมยุติขึ้นมาเพื่อเป็นเงื่อนไขทางการเมือง ซึ่งที่สุดก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 4 

โดยพระองค์ (ร.5) ก็อาศัยพระสงฆ์ที่พระบิดาวางฐานไว้เป็นตัวเชื่อมอำนาจกษัตริย์กับประชาชน เพราะพระสงฆ์อยู่ใกล้ชิดประชาชน พูดง่ายๆ คือ มีมวลชนมากนั่นเองและก็ให้อำนาจการปกครองแก่พระธรรมยุติ ซึ่งเป็นสายตรงของวัง การปกครองคณะสงฆ์จึงเกิดมี พ.ร.บ. การปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 

ในขณะที่สัดส่วนของพระธรรมยุติกับพระมหานิกายอยู่ที่ 1 ต่อ 60 แต่พระมหานิกายที่เป็นคนส่วนใหญ่กลับอยู่ภายใต้การปกครอง 

นี่ก็จึงเป็นข้อคับข้องใจของพระเณรส่วนใหญ่ (มหานิกาย) และเป็นข้อขัดแย้งระหว่างสองนิกาย (การรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางและจัดการให้คนส่วนน้อยปกครองคนส่วนใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด)

การเคลื่อนไหวของคณะปฏิสังขรณ์การที่พระศาสนาประชุมและมีความเห็นร่วมกัน ตามที่ คนึงนิตย์  จันทรบุตร ได้ศึกษาไว้นั้น (การเคลื่อนไหวของยุวสงฆ์ไทยรุ่นแรก พ.ศ. 2477-2488) คือ  

“ที่ประชุมคณะสงฆ์กลุ่มนี้ มีความเห็นร่วมกันในการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ให้เสมอภาคตามแนวประชาธิปไตย โดยวางวัตถุประสงค์ร่วมกันไว้ 3 ประการ ดังนี้  1. เนื่องจากการปกครองคณะสงฆ์ให้ความเสมอภาคแก่สงฆ์ไม่เท่าเทียมกัน กล่าวคือ เจ้าคณะธรรมยุติปกครองคณะสงฆ์มหานิกายได้ แต่เจ้าคณะมหานิกายปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุติไม่ได้  จึงขอให้รัฐบาลและมหาเถรสมาคมแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ให้มีการบริหารด้วยสิทธิที่เสมอภาคกัน…” (ผมอยากชวนสังเกตคำสำคัญ – ประชาธิปไตย ความเสมอภาค สิทธิ)

ต่อมาก็ได้ยื่นเอกสารถึงนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (ตัวแทนรัฐบาล) ความว่า

“…อาตมาภาพทั้งหลายจึงมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเห็นพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 อันอำนวยทางดำเนินในทางบริหารและอธิกรณ์ ซึ่งลักลั่นก้าวก่ายกันอยู่ ไม่ให้นิกายสงฆ์ได้รับความเสมอภาคทัดเทียมกัน โดยให้สิทธิพิเศษแก่บางนิกายทั้งในทางบริหารและทางอธิกรณ์ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญของสิทธิเสรีภาพอยู่…” (สังเกตคำสำคัญ –  ความเสมอภาคทัดเทียมกัน  รัฐธรรมนูญของสิทธิเสรีภาพ)

ขณะเดียวกันก็ได้ยื่นเอกสารถึงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ตัวแทนมหาเถรสมาคม) ตอนหนึ่งว่า

“…เกล้ากระผมทั้งหลายไม่ได้ตั้งทิษฐิมานะเพราะลัทธินิกาย แต่เพื่อความสมบูรณ์ของหลักการและวิธีการปกครองของฝ่ายศาสนาจักร เพื่อให้สมกับสภาวะแห่งการปกครองในทุกวันนี้ เพื่อการศึกษาอันสมแก่กาลสมัย เพื่อความเจริญของคณะสงฆ์ในรูปของการปกครอง และเพื่อป้องกันและบำบัดอำนาจอธรรมซึ่งทำให้ยุ่งยากเกิดขึ้นในระบอบการปกครองอันไม่สมบูรณ์…”  (สังเกตคำสำคัญ – ให้สมกับสภาวะแห่งการปกครองทุกวันนี้ อำนาจอธรรม)

ที่สุดแล้วผลของการเคลื่อนไหวนี้ก็ทำให้รัฐบาลขานรับและแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์เพื่อระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็น พ.ร.บ. การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งสอดคล้องกับระบอบการปกครองสมัย 2475 และเป็น พ.ร.บ. การปกครองคณะสงฆ์ที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดตั้งแต่มีคณะสงฆ์ไทยมา  

ถือว่าก้าวหน้ามาก เพราะมีการกระจายอำนาจ และรูปแบบการบริหารก็เป็นสังฆสภาแบบเดียวกับรัฐสภา (รายละเอียดเรื่องนี้หาอ่านได้ในเบื้องหลังการปลดพระพิมลธรรมและพระศาสนโศภน ตอน 1 โดย ธีรชน, หน้า 10-14)

ถ้าเราไม่เรียกว่า การตื่นตัวของคณะสงฆ์ต่อระบอบประชาธิปไตย แล้วเราจะเรียกมันว่าอะไร?

แต่น่าเสียดาย เมื่อคณะราษฎรถูกทำลายล้างจากฝ่ายอำนาจเก่าแล้ว พ.ร.บ. การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ก็ถูกยกเลิก แล้วหันกลับไปใช้ พ.ร.บ. การปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 เมื่อปี พ.ศ. 2505 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมเผด็จการทหาร!

แต่ยังก่อน ขบวนการประชาธิปไตยของพระสงฆ์สามเณรยังไม่จบเพียงเท่านั้น  

ภายหลังที่พระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร) ถูกจับกุมคุมขังในข้อหาว่า เป็นคอมมิวนิสต์เมื่อ พ.ศ. 2505 ได้รับการยกฟ้องและออกจากคุกเมื่อ พ.ศ. 2509 ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ท่าน 

ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการพระสงฆ์ สามเณรก็ได้เข้าร่วมและเมื่อปี 2518 ก็เรียกร้องให้กลับไปใช้ พ.ร.บ. การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 อีก (จริงๆ ก็มีการเคลื่อนไหวมาก่อนเหมือนที่คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาเคลื่อนไหวมาก่อนการอภิวัฒน์ 2475) 

เอาไว้ครั้งหน้าคุยกันต่อ…

image_pdfimage_print