หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง
อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ
หญิงชราวัย 74 ปี มองเสาปูนที่ประกอบเข้ากับโครงเหล็กเพื่อก่อเป็นโครงสร้างของบ้านหลังใหม่ด้วยแววตาแห่งความหวัง
บ้านหลังนี้เป็น 1 ใน 10 หลัง ที่มูลนิธิกระจกเงาและอาสาสมัครในชุมชนเกตุแก้ว อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี สร้างขึ้นเพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี

จอมศรี วงชื่น ผู้ประสบภัยชาวอุบลราชธานีวัย 74 ปี ต้องนอนบนแคร่ไม้ข้างบ้านนานกว่า 1 เดือน เพราะบ้านพังเสียหายจากน้ำท่วม
เมื่อปลายเดือนสิงหาคม จอมศรี วงชื่น พร้อมลูกชายวัย 40 ปี ผู้เพิ่งย้ายกลับมาอยู่กับแม่ หลังจากประสบปัญหาเรื่องครอบครัว ต้องหอบข้าวของออกจากบ้านที่ถูกน้ำท่วมมิดหลังคา
“น้ำมาเร็ว กะเลยหอบของไปนอนเต๊นท์ที่นาย (เจ้าหน้าที่) จัดไว้ให้ พอน้ำลด กะกลับเข้าบ้าน” จอมศรี เล่าช่วงเวลาการเอาตัวรอดจากเหตุประสบภัย

สภาพบ้านหลังน้ำลดของ จอมศรี วงชื่น ชาวชุมชนเกตุแก้ว อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เครดิตภาพ สมบัติ บุญงามอนงค์
เธอและลูกชายกลับเข้าบ้านอีกครั้งหลังน้ำลดเมื่อเดือนตุลาคม แต่โครงสร้างบ้านไม้ที่จมอยู่ใต้น้ำนานกว่าเดือนก็มีสภาพเน่าเปื่อยและไม่แข็งแรง จนสองแม่ลูกไม่กล้าเข้าอยู่อาศัย ได้แต่อาศัยนอนบนแคร่ไม้ที่ไม่ถูกน้ำพัดพาไป
“ตอนกลับเข้าบ้านมันบ่ม่วนใจ มันเศร้าจนบอกบ่ถูก ข้าวของกระจัดกระจาย โอ่งฟู หม้อแตก มันบ่เป็นตาอยู่ อาการเหมือนคนเมาเหล้า” เธอเล่าวินาทีกลับเข้าบ้านหลังน้ำลด
เธอและลูกชายอาศัยนอนบนแคร่ไม้นานกว่าสัปดาห์ กระทั่งมูลนิธิกระจกเงาลงพื้นที่ร่วมกับอาสาสมัครในโครงการอาสาล้างบ้านมาพบและเข้าพูดคุย

ณัฐพล สิงห์เขื่อน หัวหน้าศูนย์อาสาสมัคร มูลนิธิกระจกเงา จ.อุบลราชธานี ยืนมองอาสาสมัครสร้างบ้านหลังใหม่ให้แก่ผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี
“หลังน้ำลดบ้านพังเสียหาย มีหลายคนที่เข้าอยู่ไม่ได้ มีบ้านบางหลังที่โครงสร้างบ้านกองที่อยู่กับพื้น” ณัฐพล สิงห์เขื่อน หรือ โจ้ หัวหน้าศูนย์อาสาสมัคร มูลนิธิกระจกเงา จ.อุบลราชธานี อธิบายสภาพบ้านของผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี
การลงพื้นครั้งนี้ทำให้เขาพบผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ บางคนตกงาน เป็นคนป่วย เป็นคนแก่ที่ไม่มีลูกหลานดูแล
“เราจึงระดมทุนร่วมกับภาคเอกชนเพื่อสร้างบ้านให้พวกเขา โดยตั้งเป้าว่า จะสร้าง 9 หลัง ให้แก่ 9 ครอบครัว เฉลี่ยค่าใช้จ่ายหลังละ 60,000-80,000 หมื่นบาท” โจ้กล่าว “หลังระดมทุนบางคนก็บริจาคเป็นเงิน บางคนก็บริจาคเป็นวัสดุสำหรับสร้างบ้าน”
เขาสรุปบทเรียนของน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีปี 2562 ครั้งนี้ว่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัยไม่ใช่เพียงการกู้ภัย แต่หลังน้ำลด บ้านที่แช่อยู่กับน้ำนานๆ ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป และเป็นการช่วยเหลือที่ยาวนานกว่าการกู้ภัย
“สภาพจิตใจของผู้ประสบภัยก็มีส่วนสำคัญ เพราะพวกเขาไม่ได้เตรียมใจที่จะเจอสถานการณ์แบบนี้” โจ้ บอก “พวกเขาอาจจะเรียกมันว่า บ้าน แต่เราอาจเห็นแค่เพิงพัก เป็นเศษไม้ที่เก็บมาประกอบกัน เมื่อพังลงมันก็ยังมีความหมายสำหรับพวกเขา”
ณัฐพลยังสรุปบทเรียนน้ำท่วมอีกว่า พอน้ำท่วมคนที่มาช่วยเหลืออาจจะช่วยเพียงสิ่งของยังชีพ เช่น ปลากระป๋อง ข้าว อาหารแห้ง เท่านั้น แต่เหตุการณ์หลังน้ำลด ชาวบ้านต้องอยู่กับตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะช่วยเหลือตัวเอง
เขาจึงเน้นย้ำว่า “งานฟื้นฟูมีความสำคัญมาก”

สภาพบ้านผุพังหลังน้ำลดในชุมชนเกตุแก้ว อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ทำให้เจ้าของบ้านไม่สามารถเข้าอยู่ได้
ชุมชนเกตุแก้ว อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มีผู้อยู่อาศัยกว่า 200 ครอบครัว ในพื้นที่กว่า 800 ไร่ ซึ่งถือเป็นแหล่งรับน้ำหรือพื้นที่แก้มลิงของ ต.วารินชำราบ
“เมื่อก่อนชุมชนเกตุแก้วเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ ผมเข้ามาอยู่เป็นคนแรกๆ จากนั้นก็มีคนเข้ามาอยู่เพิ่ม” รอด สัมมาลา อดีตประธานชุมชนเกตุแก้ววัย 75 ปี เล่าประวัติชุมชน
รอดเล่าถึงประวัติน้ำท่วมของชุมชนว่า เริ่มเข้ามาอยู่ในชุมชนแห่งนี้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว มีน้ำท่วม 3 ครั้ง ได้แก่ ปี 2521 2545 และครั้งนี้ ปี 2562 ที่ถือว่ารุนแรงที่สุด
“คนที่เข้ามาอยู่ในชุมชนนี้รู้อยู่แล้วว่าเป็นแหล่งรับน้ำ เป็นพื้นที่แก้มลิง ไม่มีโฉนด แต่จะให้พวกเฮาไปอยู่ไส มันจำเป็นต้องอยู่ ไม่คิดว่า มันจะมาทุกปี ก็อยู่ๆ ไปไม่ถึงตาย” รอดกล่าวด้วยเสียงแผ่วเบา
เหตุการณ์น้ำท่วม จ.อุบลราชธานี มีผู้ประสบภัยทั้งสิ้น 42,383 ครัวเรือน ชุมชนเกตุแก้วจึงกลายเป็นผู้ประสบภัยทั้งหมด

บ้านหลังใหม่ของ จอมศรี วงชื่น ชาวชุมชนเกตุแก้ว จ.อุบลราชธานี เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง หลังอาสาสมัครจากมูลนิธิกระจกเงาและเพื่อนบ้านร่วมกันสร้างให้หลังน้ำลด
ขณะนี้มีเพียงความช่วยเหลือจาก บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ดารานักแสดง ที่นำเงินสดมาบริจาคให้ครอบครัวละ 5 พันบาท
อย่างไรก็ตามพวกเขายังคงรอค่าชดเชยเยียวยาผู้ประสบภัยจากทางรัฐอย่างใจจดใจจ่อ ซึ่งตอนนี้มีเพียงบางคนบางครอบครัวเท่านั้นที่ได้รับฟื้นฟูจากภาคเอกชนด้วยการสร้างบ้านทดแทน
“มันรู้สึกตื้นตัน ดีใจ มันมีกำลังใจคืนมาแล้ว” เป็นความรู้สึกของ จอมศรี วงชื่น หญิงวัย 74 ปี ที่เริ่มเห็นบ้านเป็นรูปเป็นร่าง
เธอยืนมองบ้านขณะอาสาสมัครจากมูลนิธิกระจกเงาและลูกชายเริ่มมุงหลังคาสังกะสี โดยเธอเชื่อว่า อีกไม่นาน บ้านหลังนี้จะที่พักแห่งสุดท้ายในวัยไม้ใกล้ฝั่ง