“ชายคาเรื่องสั้น” บนที่ราบสูงแห่งความโง่-จน-เจ็บ : ยุคแรก
โดย มาโนช พรหมสิงห์
จดหมายของ ถนัด ธรรมแก้ว (ภู กระดาษ) มาถึงผมในวันที่อากาศหนาวเย็นช่วงปลายปีกำลังทวีความรุนแรงขึ้น ถ้อยคำนัดหมายเพื่อพบกันระบุสถานที่ไกลจากบ้านกว่าร้อยกิโลเมตร
แต่ก็มีพลังพอจะให้ผมสะพายเป้หอบเต็นท์ ผ้าห่ม พาลูกสาวกับเมียมายืนดักรอรถของ อ.วิเชียร อันประเสริฐ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตรงศาลาริมทางข้างป้อมตำรวจตลาดเจริญศรี ตั้งแต่เช้าตรู่อวลด้วยหมอกหนาของ 15 พฤศจิกายน 2552
จุดหมายปลายทางของอาจารย์วิเชียรกับผมเป็นที่เดียวกัน คือ ท้องทุ่งนากว้างของ โกเมศ มาสขาว (เสือ นาลานฯ ณ ลุ่มน้ำฯ)นักเขียนนักกิจกรรมหนุ่มยโสธรใน อ.กุดชุม จ.ยโสธร
แต่ ณ ที่นั้นแบ่งกลุ่มทำงานเป็น 3 กลุ่ม อาจารย์วิเชียรนัดประชุมครูนักเรียนในพื้นที่ที่ทำงานโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีสาน โกเมศ มาสขาว เจ้าของสถานที่นัดเพื่อน กวี นักเขียน มาร่วมเกี่ยวข้าวและอ่านบทกวีในงานประจำปี ชื่อ “กวีควงเคียว” ส่วนกลุ่มของผมจะปรึกษาหารือกันเรื่องทำวารสารรวมเรื่องสั้น
พวกเรานัดกันที่ทุ่งนายโสธร เพราะเป็นจุดกึ่งกลางของพวกเรา ซึ่งจะเดินทางมาจาก ทั้งอีสานเหนือและอีสานใต้
หลังผมเดินทางไปถึงท้องทุ่งแห่งนั้นไม่นาน ทักทายกันแล้ว วงพูดคุยใต้ร่มไม้ก็เริ่มขึ้นในตอนสาย วงนั้นมีน้องนุ่งที่เคยทำวารสารไทบ้านมาด้วยกัน คือ ภู กระดาษ ภูมิชาย คชมิตร ส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาก็มี พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ บงกช เมืองสนธิ์ (ฮอยล้อ) วัชรินทร์ พิณโพธิ์ (อรอาย อุษาสาง)
พวกเราได้เจอนักเขียนหลายคน ณ ที่แห่งนั้นด้วย แต่ไม่ได้มาร่วมพูดคุยกับกลุ่มของเรา อย่าง สร้อยแก้ว คำมาลา (ที่ทำงานหนังสือให้กลุ่มชาวบ้านที่ร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูลของคุณมด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์) ปราโมทย์ ในจิต กับวัฒนา ธรรมกูร
การปรึกษาหารือของกลุ่มเราดำเนินไปจนถึงดึกดื่นเที่ยงคืน จนได้ข้อสรุปว่า พวกเราจะผลักดันให้เกิดวารสารรวมเรื่องสั้นรายปี จากนักเขียนที่เราจะติดต่อไป ทั้งนักเขียนอีสานกับมิตรสหายนักเขียนทั่วประเทศ โดยไม่มีค่าเรื่องให้ จะออกวางแผงต่อเนื่องปีละหนึ่งเล่มเป็นเวลา 5 ปี
โดยมีมติให้ผมทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ แล้วจึงจะประเมินผลเพื่อดำเนินการต่อไป สำหรับทุนดำเนินการ (เฉพาะค่าพิมพ์หนังสือกับค่าออกแบบปกเท่านั้น) จะใช้วิธีลงขันจากทุกคนในวงพูดคุยวันนั้น พร้อมกับชักชวนมิตรสหายนักอ่านนักเขียนทั่วไปให้ส่งเงินมาร่วมสมทบทุนด้วย ซึ่งผมมีข้อสังเกต ดังนี้
- ภู กระดาษ กับมิตรสหายกลุ่มอีสานในวันนั้นและมิตรสหายนักเขียนในภูมิภาคอื่น (ที่เขารู้จักมักคุ้นคบหากันมาก่อน ในช่วงที่เขาเงียบหายไม่ได้ติดต่อผมเกือบสิบปี) น่าจะได้พูดคุยกันถึงแนวคิดในการริเริ่มทำวารสารนี้มาก่อนหน้า ก่อนจะนัดหมายผม ซึ่งเป็นผู้เฒ่าเพียงคนเดียว มาร่วมพูดคุยด้วย
- นอกจากความปรารถนาจะสร้างสรรค์วรรณกรรมของประเทศ ด้วยแนวคิด/มุมมองของนักเขียนรุ่นใหม่แล้ว มันน่าจะแฝงด้วยการกระทำทางการเมือง (political action) ของนักเขียนรุ่นใหม่ที่ปฏิเสธการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตามมาด้วยความแตกแยกทางการเมืองของนักเขียนทั่วประเทศและส่อเค้าจะหนักหน่วงยิ่งขึ้นในทศวรรษ 2500 นี้
- นักเขียนอีสานรุ่นใหม่ที่มิได้ผูกพันกับองค์กรหลักอย่างสโมสรนักเขียนภาคอีสาน น่าจะตระหนักว่า กิจกรรมที่กระตุ้นการอ่านเขียนในภูมิภาค ด้วยการจัดค่ายวรรณกรรม/ตระเวนจัดเสวนาบวกการจำหน่ายหนังสือตลอดมานั้น ไม่มีพลังพอในการสร้างหมุดหมายใดๆ ทางสังคม หรือไม่มีสาระ (absurd) ก็เป็นได้ จึงคิดว่าการทำหนังสือ (ซึ่งไม่ใช่หนังสือเฉพาะภูมิภาคอย่างอีสานไรเตอร์) น่าจะก่อพลังทางวรรณกรรม ทั้งในระดับภูมิภาคและประเทศไปพร้อมกันมากกว่า อันที่จริง พวกเขากำลังปฏิเสธชุดความจริงเดิมของคนรุ่นผมนั่นเอง
- การมอบหมายให้ผมเป็นบรรณาธิการ เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของผม ได้ยินข้อเสนอนี้ครั้งแรก ผมถึงกับสะอึกพร้อมปฏิเสธเสียงแข็ง แต่พวกเขาคงพูดคุยตกลงกันอย่างลับๆ มาก่อนจะนัดปรึกษาหารือที่ยโสธร
ทว่าที่สุดแล้ว ผมก็ยอมรับพันธกิจนี้อย่างเต็มใจ เพราะคิดว่าคนแก่โง่ๆ อย่างผมจะต้องเรียกร้องตนเองอย่างมาก จะค่อยพัฒนาตนเรียนรู้ไป พร้อมกับทุ่มเททำงานให้หนักที่สุด และผมกลัวว่า ฝันของพวกเขาจะสะดุดไปต่อไม่ได้ ทุกอย่างจะจบลงและสูญเปล่า ไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นเช่นไร ผมพร้อมจะเป็นเพื่อนร่วมทางก้าวไปกับพวกเขา ด้วยความรู้สึกว่า ความไว้วางใจที่มีให้ผู้เฒ่าคนนี้มีคุณค่าเสมอ
ผมขอร้องอย่างเดียวว่า ทุกคนต้องคอยแนะนำตักเตือนผมเสมอ อย่าปล่อยให้ผมงมหน้ามึนไปคนเดียวตลอด 5 ปีที่จะร่วมกันทำงาน จากนั้นจึงจะประเมินผล เมื่อถึงตอนนั้นขอร้องให้ประเมินบทบาทบรรณาธิการด้วยว่า ผมควรจะอยู่หรือสมควรตาย
- ผมเป็นเพียงคนอาวุโสที่สุด ที่ก้าวมายืนหัวแถวในตำแหน่งบรรณาธิการ นั่นมิได้หมายความว่า หัวหน้ากลุ่มก่อการคือผม หากจะถามว่า แล้วใครคือหัวหน้า?
แรกๆ ผมคงจะชี้ไปที่ ภู กระดาษ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป จากการร่วมงานกันอย่างเต็มที่ ผมตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าไม่มี หรือ ทุกคนคือหัวหน้า เพราะไม่มีใครกุมอำนาจนำ ทุกคนต่างเสนอความคิดเห็น/รับฟัง/โต้แย้งได้อย่างอิสระ (ผมเองเคยถูกพวกเขาโต้จนหน้าหงายมาแล้วหลายครั้ง) ซึ่งผมคิดว่า ไม่ว่าเด็กเมื่อวานซืนหรือผู้เฒ่า เราต่างให้เกียรติและถือว่า เท่าเทียมกันทางความคิดและปัญญา
หลักการในการพิจารณาเรื่องสั้น คือ นักเขียนทุกคนในเล่มหนึ่งๆ จะต้องเขียนเรื่องสั้น 2 เรื่องส่งให้ผู้ประสานงาน คือ ภู กระดาษ แล้วเขาจะทำหน้าที่ส่งต่อให้นักเขียนทุกคนได้อ่าน จากนั้นจะนัดหมายนักเขียนที่พอจะอุทิศเวลาเดินทางมาร่วมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสั้นร่วมกัน (ซึ่งที่สุดแล้วบางคนก็อนุโลมให้ส่งเรื่องที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งเรื่อง)
และเมื่อประชุมวิพากษ์วิจารณ์ข้อดีข้อด้อยแล้ว บรรณาธิการจะเป็นคนสุดท้ายที่จะชี้ขาด ดังนั้นเรื่องสั้นของนักเขียนที่เราติดต่อไปในแต่ละเล่ม จึงมีทั้งไม่ผ่านทั้งสองเรื่อง/ผ่านเพียงเรื่องเดียว ทั้งผ่านหรือไม่ผ่าน บางครั้งอาจต้องดำเนินการแก้ไขด้วยตนเองกับบรรณาธิการ ซึ่งบางเรื่องต้องแก้ไขด้วยตนเองถึง 3 ครั้งจึงผ่านได้
เชื่อหรือไม่ว่า เรื่องสั้นของบรรณาธิการอย่างผมในเล่มปฐมฤกษ์ ‘มายากลแห่งภาวะฉุกเฉิน’ (วางแผงหลังการล้อมฆ่าคนเสื้อแดงในเดือนพฤษภาคม 2553) เรื่องสั้นของผมถูกวิจารณ์หนักจากทุกคนในที่ประชุมและมีมติไม่ให้ผ่าน กระทั่งผมต้องขอเวลาเขียนเรื่องใหม่ขึ้นมาทดแทน จึงปรากฏเป็นเรื่องสั้นชื่อ “อีบง” ในเล่มลำดับที่ 1 นี้
ขายคาเรื่องสั้นฉบับที่ 1 – 4
การนัดวิจารณ์เรื่องสั้นครั้งแรก นัดกันวันที่ 3-4 มีนาคม พ.ศ. 2553 ณ เถียงนาในป่ายางกลางทุ่งนาริมห้วยจันทร์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ อันเป็นภูมิลำเนาของ ภู กระดาษ โดยมีนักเขียนเข้าร่วมด้วย คือ พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ ฮอยล้อ ภู กระดาษ และนักเขียนอื่น คือ อนุสรณ์ ติปยานนท์ (ซึ่งมาขออาศัยที่เถียงนาเพื่อเขียนหนังสืออยู่ก่อนแล้ว) สังคม จิรชูสกุล (รน บารนี) มาริสา พละสูรย์ บัวกันต์ วิลามาศ มหรรณพ ต้นวงษา
วันนั้นพวกเราคิดหาชื่อที่เหมาะสมสำหรับวารสารและคณะของเรา พิเชษฐ์ศักดิ์ เสนอชื่อคณะว่า คณะเขียน ผมเสนอชื่อวารสาร ชายคาเรื่องสั้น สะท้อนความอบอุ่นของการเป็นญาติสนิทมิตรสหายและสื่อถึงชายขอบ ไม่ใช่ศูนย์กลาง
เถียงนาในป่ายางบ้าน ภู กระดาษ แห่งนี้ เป็นที่นัดหมายเพื่อวิพากษ์วิจารณ์/พูดคุย/สรุปงานของเราทุกครั้ง ตลอดการทำงานในยุคแรกของเรา
ตั้งแต่แรกนั้นผมเคยคุยกับ ภู กระดาษ ระหว่างทำเล่มปฐมฤกษ์ เราเห็นตรงกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ การดึงตัว ธีร์ อันมัย กับวิทยากร โสวัตร มาร่วมทีมงาน ที่นอกจากจะมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันแล้วยังอยู่ที่อุบลฯ ซึ่งจะช่วยเสริมงานผมและชายคาเรื่องสั้นให้เข้มแข็งขึ้น อุบลฯ จะได้เป็นฐานที่มั่นหลักของกองทัพผีบ้า-คณะเขียนของพวกเรา
ทว่าในยุคแรกนี้เราได้เพียงผลงานเรื่องสั้นของนักเขียนทั้ง 2 ท่านมาและเดินทางมาร่วมปรึกษาหารือเป็นบางครั้งเท่านั้น
พวกเราทำงานนี้จากปี 2553-2556 ปีละ 1 เล่ม เล่มที่ผมเป็นบรรณาธิการ คือ มายากลแห่งภาวะฉุกเฉิน (ตุลาคม 2553) ร่างกลางห่ากระสุน (กรกฎาคม 2554) เปลือยประชาชน (มิถุนายน 2555) ส่วนเล่มที่ 4 ผมอยากวางมือให้คนรุ่นใหม่เข้ามากำหนดทิศทาง/เนื้อหา
ผนวกกับผมมีงานเขียนนวนิยายในโครงการของ สสส. ผมจึงติดต่อ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ให้มารับหน้าที่บรรณาธิการ เขารับปากด้วยยินดีจึงออกมาเป็นเล่มที่ชื่อ โลกสันนิวาส (กันยายน 2556) และเป็นเล่มสุดท้ายของยุคแรก เพราะเงินค่าพิมพ์ร่อยหรอจนไม่สามารถจะทำต่อไปได้อีก
แม้จะเสียดาย เพราะตลอดเวลาที่ขลุกอยู่กับงาน เรารู้สึกผูกพันกับพันธกิจนี้ อย่าง กบฏบ้าใบ้ ซึ่งไม่มีทุน ไม่มีผู้มากบารมีในวงการมาหนุนช่วย (เราขออนุญาตแค่นำนามของลุงคำพูน บุญทวี ซึ่งเสียชีวิตแล้วมายกย่องในนามที่ปรึกษาหนึ่งเดียวของวารสาร)
พวกเราเดินทางกันอย่างโดดเดี่ยว (มีเพียงมิตรสหายนักเขียนน้ำใจงามส่งเรื่องเรื่องสั้นให้และคุณไอดา อรุณวงศ์ แห่งสำนักพิมพ์อ่าน กรุณาช่วยจัดหน้าหนังสือก่อนส่งโรงพิมพ์ โดยไม่รับค่าเรื่องค่าเหนื่อย) ถึงอย่างไรก็ภูมิใจที่ร่วมธำรงความหยิ่งทะนงของวรรณกรรมมาได้ถึง 4 ปี
พวกเราฝันและลงมือทำเต็มที่เต็มความสามารถของเราแล้ว เรากับมิตรสหายทุกท่านกล้าจะฝันและไม่ปล่อยให้มันสูญเปล่าเป็นลมเป็นแล้งไป ขอบคุณชายคาเรื่องสั้น ที่ช่วยให้ผมเรียนรู้และตระหนักถึงพลังของมิตรภาพกับอำนาจวรรณกรรม ทำให้ผมเรียนรู้ถึงคุณค่าและหน้าที่แท้จริงของคนที่ได้ชื่อว่า “บรรณาธิการ”
แม้ชายคาเรื่องสั้นจะตายแล้ว แต่มิตรภาพและอำนาจวรรณกรรมยังมีชีวิตอยู่ ไม่เคยตาย…
(กรุณาติดตาม-ชายคาเรื่องสั้น ยุคที่สองในเดือนธันวาคม)