หนองบัวลำภู – ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยารังสิตร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ภูผาฮวก ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างเอกชนผู้ประกอบการเหมืองหินปูนกับชาวบ้าน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เพื่อหาทางออกร่วมกันหลังเกิดความขัดแย้งมากว่า 20 ปี และทำให้แกนนำที่ไม่เห็นด้วยกับการมีเหมืองในชุมชนเสียชีวิตถึง 4 คน 

สุนี ไชยรส ผอ.ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปี เกิดขึ้นเพราะไม่เคารพการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการตัดสินใจโครงการ ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ได้รองรับสิทธิชุมชนไว้ในเรื่องการทำประชาพิจารณ์

“ที่มาของความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะมีการปลอมใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าและใบประทานบัตรทำให้ชาวบ้านต้องไปฟ้องศาลปกครอง กระทั่งชนะคดี แต่ไม่สามารถทำให้บริษัทเหมืองหยุดประกอบกิจการได้” ผอ.ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคฯ​ กล่าว

สมควร เรียงโหน่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได (กลาง) “หากต้องการลดความขัดแย้ง ควรยกเลิกสัมปทานแล้วเริ่มใหม่”

สมควร เรียงโหน่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวว่า ชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากภูผาฮวกที่เป็นพื้นที่เหมืองหินปูน เริ่มออกมาคัดค้านตั้งแต่ปี 2538 ก่อนที่บริษัทเอกชนจะประกอบกิจการจนถึงปัจจุบัน 

“ตั้งแต่เริ่มคัดค้านจนถึงตอนนี้มีผู้นำเสียชีวิต 4 คน และบริษัทเอกชนก็มีความขัดแย้งกับชาวบ้านมาตลอด” สมควรกล่าวและว่า นอกจากนี้บริษัทยังฟ้องชาวบ้าน 12 คน ข้อหาวางเพลิงที่พักคนงาน ทั้งที่ชาวบ้านไม่ได้ทำ แต่ก็มีคนถูกตัดสินใจคุก 2 คน ต่อมาศาลได้ยกฟ้องทั้งหมด  

ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดเสนอว่า หากต้องการลดความขัดแย้ง ควรยกเลิกสัมปทานแล้วเริ่มใหม่ โดยควรทำประชาคมที่โปร่งใส และขอให้ระงับการประกอบกิจการไว้ก่อนเพื่อรอฟังคำสั่งศาลปกครอง 

“เอกชนมีรายได้ถึง 4,800 ล้านบาท แต่จ่ายค่าภาคหลวงเพียง 194 ล้านบาท ถามว่า มันคุ้มกันไหม” เดชา คำเบ้าเมือง เจ้าหน้าที่โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ (ขวา)

เดชา คำเบ้าเมือง เจ้าหน้าที่โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ กล่าวว่า ภาคอีสานมีปริมาณแร่หินปูนประมาณ 800 เมตริกตันในจำนวน 43,000 ไร่ ซึ่งมีการสัมปทานไปแล้ว 11 แปลงในพื้นที่ 1,500 ไร่ แหล่งแร่หินปูนที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในอำเภอสุวรรณคูหาที่มี 2 แปลง รวมพื้นที่ 500 ไร่ 

“แร่หินปูน 1ใน 3 ของจังหวัดหนองบัวลำภูอยู่ที่ตำบลดงมะไฟ ซึ่งอีก 10 ปีข้างหน้า บริษัทเอกชนมีโอกาสจะขยายเขตสัมปทานออกไปอีกจนหมดแหล่งแร่ เพราะกฎหมายแร่ฉบับใหม่เปิดโอกาสให้เขา แต่คำถามใหญ่ คือ ชาวบ้านในพื้นที่ได้อะไรจากโครงการเหล่านี้” เดชากล่าว 

เจ้าหน้าที่โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะกล่าวอีกว่า ตามหลักเกณฑ์การได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการข้อ 8(5) ระบุว่า การประกอบกิจการต้องไม่มีความขัดแย้งกับประชาชน แต่ปัญหานี้กลับมีความขัดแย้งรื้อรังนานกว่า 25 ปี และยังไม่มีวันสิ้นสุด 

“สาเหตุที่ชาวบ้านต้องออกมาต่อสู้ เป็นเพราะพวกเขาหวงแหนทรัพยากรที่ได้จากป่า ชาวบ้านเก็บหน่อไม้จากภูผาฮวกได้ปีละ 7 หมื่นกิโลกรัม คำนวณเป็นรายได้ประมาณ 113 ล้านบาท ส่วนผู้ประกอบการมีรายได้ตลอดการสัมปทานถึง 4,800 ล้านบาท แต่จ่ายค่าภาคหลวงเพียง 194 ล้านบาทเท่านั้น ถามว่า มันคุ้มกันไหม” เดชากล่าว 

สุรชัย ตรงงาม ทนายความ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ซ้าย) “ถ้ากระบวนการที่หนึ่งไม่ถูก แล้วจะเริ่มกระบวนการที่สองได้อย่างไร”

ขณะที่ สุรชัย ตรงงาม ทนายความ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ผู้เป็นทนายความในคดีชาวบ้านฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ระงับใบอนุญาตการทำเหมือง กล่าวว่า ปี 2555 ศาลได้มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าสงวนป่าเก่ากลอยและป่านากลางในพื้นที่ 175 ไร่ และโรงโม่อีก 50 ไร่ และมีคำสั่งให้เพิกถอนการต่อใบอนุญาตใบประทานบัตรเหมืองหินอุตสาหกรรม เพราะผู้ประกอบการใช้เอกสารปลอมในการขอใบอนุญาต

“หลังศาลปกครองตัดสินแล้ว บริษัทเอกชนกลับไม่ยุติการประกอบกิจการ ซึ่งทีมทนายได้ขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้ระงับการประกอบกิจการ แต่บริษัทกลับจะขอใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าที่กำลังจะหมดอายุการในเดือนกันยายนปีหน้านี้” ทนายความกล่าวและว่า “ผมเห็นว่า ถ้ากระบวนการที่หนึ่งไม่ถูก แล้วจะเริ่มกระบวนการที่สองได้อย่างไร” 

ส่วน สมพร เพ็งคำ่ ผู้อำนวยการ Community Health Impact Assessment (CHIA) แสดงความเห็นว่า นับตั้งแต่บริษัทเอกชนเข้าประกอบการเหมืองหินปูน บริษัทเคยทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพียงแค่ (EIA) ตั้งแต่ปี 2543 เพียงแค่หนึ่งครั้งเท่าน้ัน ทั้งที่บริบทของผลกระทบสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป และบริษัทเอกชนก็ไม่เคยทำตามแผนที่กำหนดไว้ 

“ตั้งแต่เหมืองหินเริ่มประกอบกิจการจนถึงตอนนี้ ไม่เคยมีการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่า คนในชุมชนได้รับผลกระทบจากเสียง ฝุ่น และการคมนาคมว่าเป็นอย่างไร ทำให้ชาวบ้านกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะจนถึงตอนนี้ยังไม่มีสถานีวัดฝุ่นเลย” นักวิชาการคนนี้ กล่าว  

ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 (ซ้าย) “เราตรวจสอบแหล่งโบราณสถานที่อยู่ใกล้เคียงทุก 3 เดือน”

ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 กล่าวว่า ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมกำหนดว่า จะต้องมีคณะกรรมการชุดหนึ่งตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเชิงโบราณคดี 

“ตอนนี้ชาวบ้านกังวลว่า ภาพเขียนสีที่ถ้ำภูผายาที่เป็นภาพก่อนประวัติศาสตร์จะได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของเหมืองหินหรือไม่ แต่ตอนนี้ยังไม่มีรายงานฉบับนั้น” ทิพย์วรรณกล่าวและว่า “เราตรวจสอบแหล่งโบราณสถานที่อยู่ใกล้เคียงทุก 3 เดือนว่า ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีผลกระทบ”  

ลำ กองปาน สมาชิก อบต.ดงมะไฟ กล่าวว่า ที่ผ่านมา อบต.ได้พยายามแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องแต่อาจจะไม่ถูกใจ ทั้งนี้ยอมรับว่า ผู้ประกอบการได้ทำหนังสือเพื่อขอใบประกอบการมาที่ อบต.จริง แต่การประชุมเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมาจริง ไม่มีการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม 

ส่วน จรูญ วิริยะสังวร นายอำเภอสุวรรณคูหา กล่าวว่า ในตำบลดงมะไฟมี 13 หมู่บ้านและ 3 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง โดยทางอำเภอไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการอนุมัติ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการและหน่วยงานอื่น 

“ทางอำเภอไม่มีหน้าที่ในการอนุญาตการต่อในประทานบัตรของบริษัทเอกชน เรามีหน้าที่แค่รับเรื่องร้องเรียน แต่ยืนยันว่า หากมีการประชาคมใหม่ ทางอำเภอจะดูแลให้มีความโปร่งใสที่สุด” นายอำเภอสุวรรณคูหา กล่าว 

ภาพเขียนสีที่ถ้ำภูผายา อยู่ในแหล่งโบราณคดีภูผายา ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นภาพเขียนสีแดงเป็นลวดลายเลขาคณิตและกลุ่มที่สองเป็นภาพสัตว์และภาพฝ่ามือ

ลำดับเหตุการณ์การทำเหมืองหิน อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู 

ปี 2536 บริษัทเอกชนยื่นขอสัมปทานทำเหมืองหินบริเวณภูผายา ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู แต่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณคดี

ปี 2537 บริษัทเอกชนยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองหินปูนที่ภูผาฮวก 

ปี 2538 บุญรอด ด้วงโคตะ และ สนั่น สุขวรรณ แกนนำต่อต้านเหมืองหินปูนถูกยิงเสียชีวิต 

ปี 2542 ทองม้วน คำแจ่ม กำนันตำบลดงมะไฟ และ สม หอมพรมมา แกนนำต่อต้านเหมืองหินถูกยิงเสียชีวิต 

ปี 2543 อุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภูให้ใบประทานบัตรการทำเหมืองหินแก่บริษัทเอกชนเป็นเวลา 10 ปี 

ปี 2544 ตัวแทนชาวบ้านใน ต.ดงมะไฟยื่นศาลปกครองขอให้เพิกถอนการประทานบัตรเหมืองหิน 

ปี 2547 ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำประทานบัตร แต่ปี 2553 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษา 

ปี 2553 บริษัทได้รับการต่อใบอนุญาตการเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอีก 10 ปี 

ปี 2555 ตัวแทนชาวบ้านใน ต.ดงมะไฟยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี ให้เพิกถอนใบอนุญาต 

ปี 2561 ศาลปกครองอุดรธานีเพิกถอนใบอนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ และเพิกถอนใบประทานบัตร 

ปี 2562 บริษัทเอกชนยังคงประกอบกิจการต่อ 

image_pdfimage_print