วิทยากร โสวัตร เรื่อง

ภาพหน้าปกจาก  *ภาพจากหนังสือวีรชนกล้าหาญ รำลึกวีรชน ๑๔ ตุลาคม

ผมอยากจะเริ่มบทความตอนนี้ด้วยถ้อยคำของคนๆ หนึ่ง โดยที่ยังไม่บอกว่าเป็นของใคร  อยากชวนให้ท่านลองเดาดู แล้วผมจะเฉลยตอนท้าย…

“ศาสนาที่ข้าฯ นับถือ ก็มีศาสนาพุทธเพียงศาสนาเดียว แต่ข้าฯ ใช้เวลาว่างศึกษาปรัชญาของศาสนาพราหมณ์ด้วย เพื่อนำมาเทียบเคียงกับศาสนาพุทธ และสนใจค้นคว้าเกี่ยวกับพุทธศาสนา ข้าฯ มีความเห็นว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาดี 

แต่ความเข้าใจของข้าฯ คำว่า ศาสนา ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า รีลิเจี้ยน แปลว่า ความรักใคร่นับถือในพระผู้เป็นเจ้า และความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกของพวกฝรั่งชาวตะวันตก แต่คำว่า ศาสนา ในภาษาไทย แปลตามตัวว่า คำสั่งสอนหรือคำสั่ง ดังนั้นความเข้าใจของชาวตะวันออกจึงเป็น 2 พวก  

พวกหนึ่งมีความเชื่อพุทธศาสนาอย่างชาวตะวันตก คือเชื่อในอิทธิฤทธิ์และความลึกลับอันพิสูจน์ไม่ได้ อีกพวกหนึ่งมีความเชื่อว่า พุทธศาสนาคือหลักปรัชญาที่สอนให้มนุษย์รู้จักปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่ตนและแก่สังคมโดยสอดคล้องกัน ไม่ให้เชื่ออย่างงมงาย”

“ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีเหตุและผล ใช้หลักอธิบายโดยหลักวิทยาศาสตร์  คือใช้ความจริงเข้าอ้าง และสามารถพิสูจน์ได้ ข้าฯ เองมีความเชื่ออย่างพวกหลัง คือคิดว่า พุทธศาสนาเป็นหลักปรัชญาที่ดี ข้าฯ จึงนับถือพุทธศาสนา”

จากบทความตอนก่อนๆ จะเห็นว่า ขบวนการประชาธิปไตยของพระเณรนั้นมีมาพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 

กล่าวโดยสรุปตั้งแต่ราชอาณาจักรตรา พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ขึ้น เพื่อให้สอดคล้องเอื้อประโยชน์ให้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความคับข้องก็เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ส่วนใหญ่ แล้วค่อยๆ ก่อตัวเป็นความขัดแย้งและพลังการเปลี่ยนแปลง  

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นโดยคณะราษฎร ขบวนการสงฆ์ในชื่อ “คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา” ก็เคลื่อนไหวและยื่นเรื่องต่อคณะรัฐบาลประชาธิปไตยจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองสงฆ์ (จริงๆ เรียกว่า รัฐธรรมนูญสงฆ์ ก็ได้) เป็น พ.ร.บ. การปกครองคณะสงฆ์ 2484 ที่สอดคล้องกับระบอบการปกครองประชาธิปไตยและคณะราษฎร ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นก็รับลูกเพราะต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่จะปรับเปลี่ยนทุกสถาบันให้สอดคล้องกับวิถีการปกครองประชาธิปไตย

ที่น่าสังเกตคือ การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยสงฆ์นั้นกล้าชี้ตรงต้นเหตุแห่งปัญหาเชิงโครงสร้างเลย 

ดูนี่ครับ “ทั้งมหานิกายและธรรมยุตนิกายอยู่ภายใต้องค์การปกครองคณะสงฆ์เดียวกัน แต่โดยที่ธรรมยุต “ได้รับพระราชทานพรพิเศษ” จึงอยู่ในฐานะที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระศักดินา” หรือ “พระผู้ดี” และอาศัย “พระพิเศษ” เข้าไปกุมอำนาจในองค์การปกครองคณะสงฆ์”  

นี่เป็นคำนำของ สุพจน์ ด่านตระกูล ในหนังสือ “มหานิกาย ธรรมยุต ความขัดแย้งภายในของคณะสงฆ์ไทยกับการส้องเสพอำนาจปกครองระหว่างฝ่ายอาณาจักรและศาสนาจักร” โดย กระจ่าง นันทโพธิ 

ในหนังสือเล่มนี้ยังวิพากษ์ กิตติวุฒโฑ ถึงที่ไปที่มาและการส้องเสพอำนาจและเป็นเครื่องมือ/ร่วมมือกับฝ่ายอำนาจมืดเผด็จการที่มีเป้าหมายเพื่อบดบังบารมีพระพิมลธรรม แม่ทัพสายประชาธิปไตยของสงฆ์โดยการยึดฐานที่มั่นวัดมหาธาตุและมหาจุฬาฯ (เมื่ออ่านแล้วก็ชวนให้นึกถึงเนติบริกรสำคัญคนหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ที่เทียบพระรูปหนึ่งกับพระพิมลธรรม เพราะจากพฤติกรรมและเรื่องราวในเล่มนี้แล้วจะเห็นว่า อย่างดีที่สุดพระรูปนั้นก็เป็นได้แค่กิตติวุฒโฑ ผู้ที่พูดว่า ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป’ ที่สำคัญคณะสงฆ์วัดมหาธาตุยังมีวิธีจัดการการขยายอำนาจในวัดมหาธาตุและมหาจุฬาฯ ของกิตติวุฒโฑผู้ที่ได้รับแรงหนุนจากอำนาจมืดเผด็จการได้ด้วย และก็ด้วยวิธีการทางประชาธิปไตย  ซึ่งเรื่องนี้เราก็ไม่เคยเรียนรู้ศึกษากัน)

ทีนี้หนังสือ พุทธปรัชญา ของพระราชวีรมุนี (สีหนาทภิกขุ) ที่ผมอ้างถึงในบทความแรกของชุดนี้ “ชี้” ตรงไปที่คนหรือสถาบันที่ให้ “พรพิเศษ” นั้น เลยวิจารณ์แบบถึงรากสุดๆ และอย่างมีข้อมูลมีหลักฐานหลักการที่เถียงไม่ออก 

ถ้าเอามาลงในนี้ก็เสี่ยงมาตรา 112 (อยากให้ไปหาอ่านกันนะครับจะได้รู้เห็นถึงความจริงในหลักการและความกล้าหาญของพระ)

แต่ทุกอย่างก็จบสิ้นลงในยุคจอมเผด็จการสฤษดิ์  ธนรัชต์ อย่างที่เรารู้กัน

ทีนี้มาดูความเชื่อมโยงต่อเนื่องแห่งสายธารประชาธิปไตยของสงฆ์ที่ควบคู่ไปกับขบวนการประชาธิปไตยนอกกำแพงวัด  

ก่อนจะถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นักศึกษาประชาชนก็เริ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญของบ้านเมือง ขบวนการพระสงฆ์ก็เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญของคณะสงฆ์

พอมีการชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พระเณรก็เข้าร่วม (ดูจากรูป) พอประชาชนชนะก็มีการร่างรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง 

ประกาศใช้ในวันที่  7 ตุลาคม 2517 หลังจากนั้น 3 เดือนกับอีก 10 วัน (ถือว่าเร็วมาก) คือ วันที่ 10 – 17 มกราคม 2518 พระเณรทั่วประเทศก็ชุมนุมใหญ่ที่ลานอโศกวัดมหาธาตุเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้พระพิมลธรรม (อาส อาสภมหาเถร) 

แล้วเรียกร้องให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญของสงฆ์ที่เป็นประชาธิปไตย คือ พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ 2484 และรัฐบาลขณะนั้นก็รับเรื่อง (พยานในเรื่องนี้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เวลานั้นเป็นพระเณรก็มีมากมาย ขนาดในหมู่บ้านเล็กๆ ของผมที่จังหวัดกาฬสินธุ์ยังเคยไปร่วม ซึ่งตอนนั้นแกบวชเรียนเป็นสามเณร)

แต่ทุกอย่างก็จบสิ้นลงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาประชาชนไทยโชคดีที่อย่างน้อยก็ได้ชื่นชมรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ แม้แค่ช่วงสั้นๆ 2 ปี (7 ต.ค. 2517 – 7 ต.ค. 2519) แต่ขบวนการประชาธิปไตยของพระไม่เคยได้ลิ้มรสนั้นเลย

พูดมาถึงตรงนี้คุณอาจจะรู้สึกหรือคิดไปว่า มันเป็นเรื่องอำนาจ  ยศถาบรรดาศักดิ์ ไม่เหมาะไม่ใช่เรื่องที่พระเณรจะมายุ่ง แต่นั่นเป็นการมองที่พลาดและหลงประเด็น เพราะเรากำลังพูดถึงระบอบการเมืองในประเทศที่เราต้องการนำไปสู่ประชาธิปไตย และจำเป็นที่ทุกองคาพยพจะวิวัฒน์พัฒนาการไปในระบอบการเมืองที่เราใฝ่ฝัน

การคิดแบบนี้เป็นการ “เข้าทาง” ฝ่ายอำนาจนิยมเผด็จการ เพราะเขาต้องการทำให้เราคิดแบบนั้นแหละ ในขณะที่เขาก็รุกคืบงานมวลชนด้วยการสร้างความมั่นคงของเครือข่ายค้ำพวกเขาตลอดเวลา  

มีงานศึกษาที่น่าสนใจมากของ กิติรัตน์  สีหบัณฑ์ เรื่อง ธรรมยุติกนิกายในภาคอีสาน (2394 – 2476) ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมปีที่ 12 ฉบับที่ 10 : สิงหาคม 2534 เขาชี้ว่า ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พระธรรมยุตที่เป็นฝ่ายปกครองไม่ให้การยอมรับพระวิปัสสนาสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั้งที่เป็นพระธรรมยุตด้วยกัน  

“ทั้งนี้เพราะก่อนหน้านี้ แม้ว่าพระสงฆ์สายพระอาจารย์มั่นจะเป็นคณะธรรมยุตคณะหนึ่ง แต่กลับได้รับการตั้งข้อรังเกียจในลักษณะที่ว่า  กระทำตนนอกทิศทางที่คณะธรรมยุตในช่วงนั้นต้องการ กล่าวคือ ไม่สนใจต่อการศึกษาพระปริยัติธรรม ออกธุดงค์ตามป่าเขาไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง การตั้งข้อรังเกียจดังกล่าวจะเห็นได้จากการที่พระพรหมมุนี (ติสโส อ้วน) ได้แสดงตนเป็นปฏิปักษ์  ด้วยการห้ามพระสงฆ์คณะนี้เดินทางเข้ามาในเขตมณฑลนครราชสีมา ที่ท่านเป็นเจ้าคณะมณฑลอยู่ รวมทั้งกำชับไม่ให้ราษฎรตักบาตรหรือเกื้อกูลต่อพระสงฆ์คณะนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2470”

แต่เมื่อระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดนท้าทายจากคณะราษฎรและฝ่ายพระธรรมยุตที่ปกครองสงฆ์ ถูกท้าทายจากคณะปฏิสังขรณ์ที่มีพระมหานิกายเป็นแกนนำเรียกร้องให้มีการจัดการปกครองคณะสงฆ์ใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น  

ท่าทีของฝ่ายธรรมยุตและฝ่ายอำนาจเก่าที่มีต่อพระวิปัสสนาสายหลวงปู่มั่นก็เปลี่ยนไป โดยหันมาให้ความสนใจการขยายวัด ขยายเขตเรื่อยมา จนสมัยสงครามคอมมมิวนิสต์ พระสายวิปัสสนาเหล่านี้ ซึ่งมีมวลชนคนศรัทธามาก ก็สามารถตรึงกำลังกับพรรคคอมมิวนิสต์ในอีสานได้ (นี่มองในมิติทางการเมืองนะครับ) และมวลชนเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ 

จะเห็นได้จากการอ้างหลวงตามหาบัวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งอ้างว่าเป็นลูกศิษย์เพื่อทำลายรัฐบาลทักษิณ

ประเด็นนี้ผมเห็นว่า ฝ่ายก้าวหน้ารุ่นก่อน (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายประชาธิปไตย) ทำงานค่อนข้างละเอียดและรอบด้านกว่า ยกตัวอย่าง ทัศนะมุมมองของ สุพจน์  ด่านตระกูล ซึ่งเป็นผู้พิมพ์หนังสือเรื่อง มหานิกาย ธรรมยุต ความขัดแย้งภายในของคณะสงฆ์ไทยกับการส้องเสพอำนาจปกครองระหว่างฝ่ายอาณาจักรและศาสนาจักร โดย กระจ่าง  นันทโพธิ ในนามสำนักพิมพ์ “สันติธรรม” สุพจน์เขียนคำนำตอนหนึ่งว่า  

“การต่อสู้ระหว่างธรรมยุตนิกายกับมหานิกาย…คนนอกวัดอาจจะประณามว่าเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาที่น่ารังเกียจ ซึ่งก็จริงอยู่สำหรับพระบางองค์ บางรูปที่อยู่ในขบวนการต่อสู้นั้น แต่โดยเนื้อหาที่แท้จริงของการต่อสู้แล้ว เป็นการต่อสู้ระหว่างธรรมกับอธรรม เป็นการต่อสู้ระหว่างความถูกต้องกับความไม่ถูกต้อง และการต่อสู้เช่นนี้ ผู้เป็นพุทธบุตรที่แท้จริงไม่ควรละเลย เพราะการต่อสู้เช่นนี้เป็นการเจริญรอยตามบาทพระพุทธองค์โดยแท้ ข้อสำคัญขึ้นอยู่กับรูปแบบการต่อสู้ที่เหมาะสมเท่านั้น”

ในช่วงปลายปี 2495 มีการจับกุมคุมขังกบฏสันติภาพ (มีหลายคดีแต่เรียกรวมๆ ว่า กบฏสันติภาพ) และหนึ่งในนั้น คือ สุพจน์  ด่านตระกูล เขาบันทึกฉากหนึ่งที่น่าสนใจว่า “ในระหว่างที่ติดคุกอยู่นั้น อาจารย์สมัคร บุราวาศ ได้ร่วมกับอาจารย์กุหลาบ  สายประดิษฐ์ และอาจารย์สุภัทร สุคนธาภิรมย์ จัดตั้งกลุ่มศึกษาให้ความรู้แก่เพื่อนๆ ผู้ร่วมคดีที่สนใจจะศึกษา โดยอาจารย์สมัคร บุราวาศ เป็นผู้บรรยายเรื่องการก่อกำเนิดของโลก  การเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิต นับตั้งแต่ชีวิตของพืชและสัตว์เซลล์เดียวจนกระทั่งถึงมนุษย์วานร  

อาจารย์กุหลาบ  สายประดิษฐ์ รับช่วงบรรยายต่อจากมนุษย์วานรคือ ยุคคนป่า การเริ่มต้นของสังคมครอบครัวหรือชุมชนบุพกาล สังคมทาส สังคมศักดินา และสังคมทุนนิยม ตามลำดับ ส่วนอาจารย์สุภัทร สุคนธาภิรมย์ บรรยายต่อจากสังคมทุนนิยม คือ สังคมสังคมนิยมและสังคมคอมมิวนิสต์” (คำนำพุทธปรัชญามองจากทรรศนะทางวิทยาศาสตร์  สมัคร บุราวาศ)

ทั้ง 3 ท่านที่ถูกเอ่ยถึงนั้น ล้วนแต่เป็นบิ๊กเนมและก็ล้วนศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง อาจารย์สมัคร  บุราวาศ ศึกษาและเขียนเรื่องศาสนากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ อย่างสัมพัทธภาพและควอนตัม อย่างลึกซึ้งก่อนที่ฟริตจ๊อฟ คาปร้า จะเขียน เต๋าแห่งฟิสิกส์ มาหลายสิบปี 

ส่วนกุหลาบ สายประดิษฐ์ มีข้อเขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ลึกซึ้งมากมาย และถึงขั้นไปบวชเพื่อทดลองความจริงด้านนี้อย่างจริงจังกับท่านพุทธทาส 

สำหรับอาจารย์สุภัทร สุคนธาภิรมย์นั้น เป็นมาร์กซิสต์เบอร์ต้นๆ ก็ถือว่างานเขียนเรื่อง พุทธปรัชญากับปรัชญามาร์กซิสต์ (Buddhist Philosophy and Marxist Philosophy) เป็นงาน “มาสเตอร์พีซ” ในชีวิตการเขียนของท่าน

ถ้ามองในทางการเมืองแล้ว การใส่ใจศึกษาพุทธศาสนาของปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าเหล่านี้ คือการพยายามสร้างความเข้าใจร่วมกัน ขยายงานมวลชน และสร้างแนวร่วมทางการเมืองนั้นเอง และในยุคของท่านเหล่านี้ หนังสือและตัวตนของท่านเป็นที่นิยมมากในหมู่พระเณร

ขนาดผมอาศัยผ้าเหลืองบวชเรียนหลังจากนั้นหลายสิบปี ผมยังได้อ่านได้ศึกษางานเหล่านี้ในวัดอยู่เลย และนั่นทำให้ค้นพบว่า ข้อความที่ผมยกไว้บนสุดนั้น คือคำให้การของ จิตร  ภูมิศักดิ์ 

(ไม่ต้องตกใจครับ ท่านอ่านไม่ผิดหรอก จิตร ภูมิศักดิ์ ผมเข้าใจอยู่ว่าท่านอาจตกใจ เพราะในความรับรู้ของเรา จิตรเป็นมาร์กซิสต์และเป็นคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้ามาก ซึ่งไม่น่าจะนับถือศาสนาใดหรือถึงขนาดสนใจศึกษาวิเคราะห์ศาสนาพุทธขนาดนี้ ประเด็นคือ อะไรทำให้จิตรสนใจและนำเสนอออกมาแบบนี้?)

*ตอนต่อไปจะเป็นบทจบของบทความชุดนี้ ผมจะพูดถึงพื้นที่ประชาธิปไตยที่ขบวนการพระสงฆ์ได้กระทำต่อสังคม

image_pdfimage_print