หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง 

หนองบัวลำภู – กิจกรรม “เดินปิดเหมือง : บอกเล่าปัญหาเหมืองแร่หินปูน” ของกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดและเครือข่ายฯ เดินรณรงค์ด้วยระยะทาง 80 กิโลเมตร เพื่อให้สาธารณะได้รับรู้ถึงผลกระทบจากการทำเหมืองแร่และการต่อสู้ของชุมชนเพื่อรักษาสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมาตลอด 25 ปี โดยจัดเสวนาระหว่างแวะพักที่วัดศิริบุญธรรม อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ในหัวข้อ “25 ปี เหมืองหินสุวรรณคูหากับลมหายใจของผู้คน” 

เอกชัย ศรีพุดธา ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ ผาจันได กล่าวว่า ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา พวกเราได้ต่อสู้มาโดยตลอด เคยไปยื่นหนังสือกับทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง แต่สุดท้ายบริษัทเอกชนก็ยังคงประกอบกิจการต่อ ซึ่งตอนนี้รอฟังตัดสินของศาลปกครองอุดรธานี หลังจากปีที่แล้วศาลตัดสินว่า ผู้ประกอบทำเอกสารปลอมในการยื่นประทานบัตรและขอใช้พื้นที่ป่า 

“ผู้นำของพวกเราตายไปถึง 4 คน อย่างปริศนา ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ผมก็ยังภูมิใจว่า พี่น้องยังคงยืนหยัดร่วมกันปกป้องผืนป่าของพวกเราด้วยกัน” เอกชัยกล่าว 

เขากล่าวอีกว่า การยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ จะทำให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง 

“พวกเราเจ็บกันมาพอแล้ว ถ้าจะแก้ไขปัญหาก็ขอให้ใช้สติปัญญาเพื่อแก้ไขให้คนเดือดร้อน” ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวมีความหวัง 

สมัย พันธะโคตร (กลาง) ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร “คนในชุมชนไม่เอาเหมืองแร่และสมาชิก อบต.ก็ยกมือไม่ให้ผ่าน”

สมัย พันธะโคตร ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร ที่มาร่วมกิจกรรม “เดินปิดเหมือง” ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะที่เคยคัดค้านโครงการเหมืองหินในพื้นที่มากว่า 3 ปี ว่า เรารู้ข้อมูลจากสมาชิก อบต.ว่า จะมีการทำประทานบัตรเหมืองหินเมื่อปี 2559 ในแหล่งน้ำที่ชาวบ้าน 3 หมู่บ้านใช้ร่วมกัน พวกเราจึงเริ่มตื่นตัวและหาข้อมูลเรื่องเหมืองหิน 

“ตอนแรกก็ไม่มีใครรู้จักศูนย์ดำรงธรรม แต่ตอนนี้พวกเราได้ไปร้องเรียนกับเกือบทุกหน่วยงานแล้วว่า คนในชุมชนไม่เอาเหมืองแร่และสมาชิก อบต. ก็ยกมือโหวตในที่ประชุมว่า ไม่ให้ผ่าน แต่พวกเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและยังติดตามข้อมูลอยู่ตลอด เพราะกลัวว่า วันหนึ่งเอกชนรายอื่นจะเข้ามาขอสัมปทานเหมืองหินในพื้นที่อีก” สมัยกล่าว 

เอกชัย อิสระทะ (กลาง) เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคใต้ “รัฐบาลควรยกเลิกประกาศแหล่งหินและจัดการใหม่”

เอกชัย อิสระทะ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคใต้ และตัวแทนสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา จ.สงขลา กล่าวว่า ในพื้นที่ อ.รัตตภูมิ การทำเหมืองหินทำให้บ้านของชาวบ้านกว่า 500 หลัง แตกร้าว หลังการระเบิดเหมืองหิน และมีปัญหาเรื่องฝุ่นตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการเมื่อปี 2552 

“ตอนนี้เหมืองที่เขาคูหาหยุดการระเบิดเป็นเวลา 10 ปี แต่ก็คิดว่า บริษัทเอกชนพร้อมที่จะกลับเข้ามาใหม่ทุกเมื่อ เพราะตอนนี้พวกเราได้ฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกสัมปทานที่อยู่ระหว่างการรอคำพิพากษาของศาล” ตัวแทนสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา จ.สงขลา กล่าว 

เขายังเสนอทางออกต่อการแก้ไขปัญหาเหมืองหินว่า รัฐบาลควรยกเลิกประกาศแหล่งหินและจัดการใหม่ เนื่องจากประกาศแหล่งหินเกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ (กลาง) เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ “ถ้าไม่มีใครแก้ไขปัญหา ชาวตำบลดงมะไฟอาจจะต้องปิดหน้าเหมืองจนกว่าแก้ไขปัญหา”

ส่วน เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่า เหมืองหินถือเป็นกิจการที่ก่อความรุนแรงกับผู้คัดค้านมากที่สุด ยกกรณีตัวอย่างเหมืองหินดงมะไฟที่มีคนเสียชีวิตถึง 4 คน ยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ คนคัดค้านก็ถูกฆ่าตายโดยไม่มีข่าว

“ก่อนปี 2538 การสัมปทานเหมืองหินถูกละเลยจากภาครัฐ โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี วัดที่ผมเคยบวช เจ้าอาวาสเคยเล่าว่า ตอนฉันอาหารต้องใส่หมวกกันน็อค เพราะการระเบิดเหมืองอาจมีหินกระเด็นมาโดนได้” เลิศศักดิ์กล่าวและว่า “แม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม แต่ประชาชนก็ยังได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองหิน”

นิทรรศการให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากการทำเหมืองหินบนภูผาฮวก ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ที่มีแกนนำเสียชีวิตจากการคัดค้านโครงการแล้ว 4 คน

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่กล่าวอีกว่า การประกอบกิจการเหมืองหินมีช่องว่าง เพราะผู้ขออนุญาตไม่ต้องขอใบอาชญาบัตรในการสำรวจแร่ว่ามีความคุ้มทุนเชิงธุรกิจและมีความเหมาะสมหรือมีแหล่งโบราณคดีที่คุ้มค่าต่อการสูญเสียทรัพยากรหรือไม่ แต่สามารถขอใบประทานบัตรการประกอบกิจการได้เลย 

เขาเสนอทางออกว่า ผู้ได้รับผลกระทบควรฟ้องศาลปกครองเพื่อยกเลิกแผนแม่บทที่ขัดต่อ พ.ร.บ. แร่ 2560 และกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการเหมืองหินทุกแห่งต้องขอใบอนุญาตสำรวจแร่เพื่อสำรวจความคุ้มทุนทุกมิติ 

“ถ้าการเดินรณรงค์ปิดเหมืองฯ ครั้งนี้ไม่มีใครฟังและไม่มีใครแก้ไขปัญหา ชาวตำบลดงมะไฟอาจจะต้องปิดหน้าเหมืองจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหา” เลิศศักดิ์กล่าว 

ผู้ร่วมกิจกรรม “เดินปิดเหมืองฯ” ร่วมปิ้งข้าวจี่ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวอีสาน

image_pdfimage_print