อุบลราชธานี – คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีร่วมกับเดอะอีสานเรคคอร์ดและหน่วยงานเครือข่ายจัดสัมมนาวิชาการและเทศกาลสิทธิมนุษยชนอีสานครั้งที่ 10 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยการจัดงานครั้งนี้มีผู้ได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากมาร่วมงานอย่างคับคั่ง
ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ส่วนตัวเริ่มสนใจประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารครั้งล่าสุด ด้วยเพราะเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ดวงทิพย์ผันตัวเองมาเป็นอาสาสมัครของศูนย์ทนายความฯ ทั้งนี้ แม้ว่าเธอจะไม่ได้เรียนกฎหมายมาโดยตรง แต่ดวงทิพย์ก็มีความสนใจในประเด็นเรื่องสิทธิ จึงทำให้เธอเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและต้องการที่จะบอกต่อเรื่องราวสิทธิแก่ผู้อื่น
ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (เสื้อขาว) “คนที่ถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมายปิดปากหรือถูกปรับทัศนคติไม่มีผลต่ออุดมการณ์หรือความคิด”
หลังเกิดรัฐประหารเป็นต้นมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิทั่วประเทศพบว่า มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทดำเนินคดีกับผู้คนเพื่อให้หยุดการเคลื่อนไหว 929 คน ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ 572 คน ถูกคุกคามติดตามตัว 434 คน ถูกดำเนินคดีในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกคดี 112 หมิ่นประมาท มาตรา 116 และ พรบคอมพิวเตอร์ 773 คน
“หลังรัฐประหารมีการใช้กฎหมาย 2 ฉบับที่หนักๆ คือ คำสั่ง คสช.เรื่องห้ามชุมชนเกิน 5 คน และพรบ.ชุมชนฯ มีกว่า 100 คน อย่างน้อยที่ต้องลี้ภัยทางการเมือง โดยมีคนต้องขึ้นศาลทหารถึง 2,408 คน” ดวงทิพย์ กล่าว
ข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมทำให้ทราบว่า ผู้คนที่ถูกดำเนินคดีมีทั้งกลัวและไม่กลัว โดยสิ่งที่พวกกลัว เพราะกลัวว่าจะไม่มีความปลอดภัยในชีวิต เสียเวลาทำมาหากิน เสียเงินในการประกันตัว อีกทั้งพวกเขายังคิดถึงชีวิตหลังคุกที่จะสร้างภาระให้กับครอบครัว
“คนที่ถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมายปิดปากหรือถูกปรับทัศนคติก็ไม่มีผลต่ออุดมการณ์หรือความคิด มีเพียงผลทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชีวิต” เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายฯ กล่าว และว่า “ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองก็ไม่มีใครปกป้องสิทธิให้เราได้ อย่าไปยอมเวลาถูกละเมิดสิทธิ”
สมปอง เวียงจันทร์ แกนนำสมัชชาคนจน “เราต้องพลีชีพเพื่อให้เป็นข่าวให้ได้เพื่อจูงใจนักข่าวให้มาทำข่าว ให้รัฐสนใจฟังปัญหา”
ส่วนสมปอง เวียงจันทร์ แกนนำสมัชชาคนจน ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูน กล่าวว่า ในฐานะแม่ค้าขายปลาที่ต้องลุกขึ้นมารักษาฐานทรัพยากรที่ต่อสู้มานานกว่า 30 ปี ถูกกล่าวว่า เป็นคอมมิวนิสต์และสร้างความเดือดร้อนต่างๆ นานา
“ก็ตั้งคำถามกลับไปว่า คนหาปลาจะเป็นคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร เราเป็นคนทำมาหากิน ไม่ได้ซ่องสุมโจร ปืนสักกระบอกก็ไม่มี เราเดือดร้อนจึงได้ลุกขึ้นมา” แกนนำสมัชชาคนจนกล่าว
สมปองกล่าวอีกว่า ความเดือดร้อนของเราไม่เคยได้รับการแก้ไขทำให้ต้องสู้เหมือนหมาจนตรอกที่ไม่กัดก็ไม่รอด เพื่อปกป้องฐานทรัพยากร ปกป้องแม่น้ำที่เป็นฐานอาหาร
“ก่อนหน้านี้ คนปากมูลไม่เคยใช้ความรุนแรงเลย แต่ตอนหลังๆ เราต้องพลีชีพเพื่อให้เป็นข่าวให้ได้ เพื่อจูงใจนักข่าวให้มาทำข่าว ให้รัฐสนใจฟังปัญหา ให้เป็นจุดเด่นของสังคมให้ได้” แกนนำชาวบ้านปากมูนกล่าวและว่า “การที่เขาจะทำลายแก่งของแม่น้ำเรายอมที่จะนอนทับระเบิด ถ้าทำให้หยุดการทำลายแก่งได้”
บรรยากาศผู้ร่วมงานเทศกาลสิทธิมนุษยชนอีสานครั้งที่ 10 ที่คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
ส่วน เอมอร สิงธิมาศ ตัวแทนกลุ่มคนฮักทุ่งกุลา จ.ร้อยเอ็ด ผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล อ.ปทุมรัตต์ กล่าวว่า ตอนแรกก็เข้าใจโรงงานทั้งสองอย่างจะทำให้ชุมชนมีเจริญขึ้น แต่เมื่อศึกษาข้อมูลและไปดูงานในพื้นที่อื่นก็พบว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น อีกทั้งพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ดไม่เหมาะสมกับการปลูกอ้อย เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ
“เมื่อปี 2557 เคยมีบริษัทเอกชนมาส่งเสริมให้ปลูกอ้อย แต่ตอนนี้เขาไถทิ้งหมดแล้ว เพราะผลผลิตไม่ดี ลงทุนขนาดไหนก็ไม่คุ้มทุน มันขาดทุน เท่ากับว่า คนในพื้นที่จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายนี้เลย” แกนนำกลุ่มคนฮักทุ่งกุลา กล่าว
เอมอร กล่าวอีกว่า เอกชนได้มากว้านซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้วกว่า 1,700 ไร่ โดยต้องใช้กำลังการผลิต 24,000 พันตันอ้อยต่อวัน ส่วนตัวจึงไม่เข้าใจว่า จะนำอ้อยมาจากไหน เพราะพื้นที่ อ.ปทุมรัตต์ไม่เหมาะกับการปลูกอ้อย
“ถ้าโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลถูกสร้างขึ้น บ้านดิฉันจะอยู่ติดกับโรงงาน จึงจะได้รับผลกระทบทันที ดังนั้นจึงออกมาต่อสู้ แต่ล่าสุดก็ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมฟังเวทีแสดงความคิดเห็นเท่ากับว่า ถูกละเมิดสิทธิเบื้องต้น” แกนนำกลุ่มคนฮักทุ่งกุลา กล่าว