ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่อง
แม้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ขอนแก่นเขต 7 อย่างเป็นทางการ แต่สังคมก็ทราบผลแล้วว่า สมศักดิ์ คุณเงิน ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ (พรปช.) ชนะ ธนิก มาสีพิทักษ์ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งคะแนนห่างกันเพียง 2,242 คะแนน ชัยชนะของพรรครัฐบาลเหนือพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยนั้นมีหลายอย่างน่าสนใจ
ตัวบุคคล อำนาจรัฐ หรือปากท้อง
ชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลในศึกเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ สำหรับ รศ.ดร.สถาพร เริงธรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ถือว่า เหนือความคาดหมายเล็กน้อย เพราะเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายชนะ
สถาพร กล่าวอีกว่า ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับคนในเขตการเลือกตั้งตั้งแต่ก่อนช่วงการหาเสียง จนถึงวันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2562ที่ผ่านมาพบว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้พรรคฝ่ายรัฐบาลชนะการเลือกตั้งครั้งนี้มีอยู่ 4 สาเหตุ
บรรยากาศผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งซ่อมเขต 7 อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ภาพโดย หทัยรัตน์ พหลทัพ
สาเหตุแรก คือ เรื่องตัวบุคคล หมายถึงตัวผู้สมัครที่เป็นตัวแทนของสองพรรคใหญ่ ปัจจัยนี้สำคัญมาก เพราะพรรคพลังประชารัฐ วางตัวบุคคลที่เหมาะสมกับพื้นที่ได้มากกว่าพรรคเพื่อไทย โดยสามารถยึดฐานเสียงที่อำเภอหนองเรืออย่างเหนียวแน่น อีกทั้งยังได้คะแนนเสียงจากพื้นที่อำเภอมัญจาคีรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยหลายคะแนน
“พรรคพลังประชารัฐเลือกสมศักดิ์ คุณเงิน ซึ่งเป็นนักการเมืองเก่า มีผลงานและทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง นี่อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลชนะ” สถาพรกล่าว
สาเหตุที่สอง คือ อำนาจรัฐ จากการลงพื้นที่ติดตามการหาเสียงเลือกตั้ง มีหลายคนพูดว่า ข้าราชการจากส่วนกลางและท้องถิ่นชี้นำให้คนในพื้นที่เลือกผู้สมัคร ส.ส.จากพรรครัฐบาล
สาเหตุที่สาม คือ อำนาจเงิน ซึ่งเป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ เพราะมีการแจกเงินซื้อเสียงจากสองพรรค แต่มีพรรคหนึ่งจ่ายมากกว่าและมีพรรคหนึ่งจ่ายเงินหลายครั้งด้วย สาเหตุนี้ก็มีผลต่อคะแนนเสียงบ้าง
“เรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง สำหรับผมไม่ใช่เรื่องสำคัญมากมายนัก เพราะไม่ใช่ปัจจัยหรือเงื่อนไขหลักๆ ในชัยชนะของฝ่ายรัฐบาล” สถาพรกล่าว
สาเหตุสุดท้าย คือ ยุทธศาสตร์ในการหาเสียงของทั้งสองพรรคมีความแตกต่างกัน อย่างพรรคฝ่ายรัฐบาลนำนโยบายของรัฐบาลมาหาเสียง ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยชูเรื่องประชาธิปไตย การหยุดอำนาจของรัฐบาลและการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหาเสียง ซึ่งทำให้มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่
“ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกฝ่ายรัฐบาล เพราะเห็นเงิน เห็นโครงการช่วยเหลือต่างๆ ที่เกี่ยวกับปากท้อง ถ้าเลือกฝ่ายค้านอาจจะไม่ได้นโยบายอะไรเลย เพราะรัฐบาลก็ยังมีอำนาจในสภา” สถาพรกล่าว
ประชาชนที่มาให้กำลังใจพรรคเพื่อไทยนำภาพผู้สมัครมาแปะไว้ที่หน้าอกระหว่างการปราศรัยของผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 ภาพโดย วิศรุต แสนคำ
คล้ายกับ ชัยพงษ์ สำเนียง นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม ม.เชียงใหม่ ที่ศึกษาการเมืองหลังยุคพรรคไทยรักไทย นโยบายประชานิยมมองว่า ชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐในพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยเคยชนะมาอย่างยาวนานนั้น มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากนโยบายประชารัฐของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีลักษณะเป็นนโยบายประชานิยม เช่น บัตรคนจน ชิม ช๊อป ใช้ เป็นต้น ทำให้สร้างฐานเสียงใหม่ผ่านนโยบายที่ตอบสนองความต้องการประชาชนในพื้นที่ในสภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำได้
“แม้นโยบายประชารัฐของรัฐบาลจะถูกมองว่า เป็นนโยบายประชานิยมที่สิ้นเปลืองงบประมาณและฉาบฉวย แต่กลับตอบสนองความต้องการของคนในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้ อย่าลืมว่า คนที่จะเลือกพรรคไหนเขาเลือกอย่างมีเหตุผล คือ เพื่อปากท้อง นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ฝ่ายรัฐบาลชนะ” ชัยพงษ์กล่าว
เขากล่าวอีกว่า พรรคพลังประชารัฐ พรรคฝ่ายรัฐบาลสร้างอำนาจ ฐานเสียงผ่านการใช้อำนาจรัฐและนโยบายประชารัฐมานานกว่า 5 – 6 ปีแล้ว ตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. จึงไม่แปลกที่ความนิยมพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ลดลง เพราะฝ่ายพรรคเพื่อไทย แม้จะมีผลงานในอดีต แต่หลายปีมาแล้วที่พรรคไม่สามารถเป็นรัฐบาลและดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชนได้
“ประชานิยมของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ยุคทักษิณมันยุคมานานแล้วและประชานิยมของรัฐบาลประยุทธ์เข้ามาช่วยเหลือประชาชนแทน” ชัยพงษ์กล่าว
สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม ผู้ศึกษาการเมืองในอีสานที่เห็นว่า นโยบายประชานิยมแบบยุคพรรคไทยรักไทยที่ปัจจุบันกลายมาเป็นพรรคเพื่อไทยหมดความสำคัญลงนานแล้วตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2549 เพราะแม้จะได้เป็นรัฐบาลก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ทำให้การดำเนินนโยบายที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกของประชาชนนั้นลดลงด้วย
สมชัยบอกว่า ตนเคยลงพื้นที่พูดคุยกับคนอีสาน บางคนบอกว่า ช่วงหลังเพื่อไทยไม่มีผลงานที่จับต้องได้เหมือนเดิม ยิ่งในระดับท้องถิ่นคนของพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ทำงาน
“เขาบอกว่า นักการเมืองเป็นเสาไฟฟ้า เลือกไปก็ไม่ได้นำนโยบายอะไร มีแต่ตีโวหาร แม้การเลือกตั้งทั่วไปพรรคเพื่อไทยจะชนะในอีสาน แต่ผมคิดว่า เพื่อไทยกินบุญเก่า แต่เริ่มลดลงแล้ว” สมชัยกล่าว และว่า “จึงไม่แปลกที่คนในพื้นที่จะหันมาเลือกพรรคพลังประชารัฐ เพราะเลือกไปอาจได้งบประมาณ ได้โครงการต่างๆ เข้ามาในพื้นที่
คนเลือกตัวบุคคลไม่ใช่พรรค
ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 อดีต ส.ส. หลายพรรค ได้ย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ สมศักดิ์ คุณเงิน ก็เป็นหนึ่งในอดีต ส.ส. ที่เคยสังกัดพรรคไทยรักไทย โดยหลังรัฐประหารปี 2549 เขาได้ย้ายไปสังกัดพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน กระทั่งการเลือกตั้งปี 2562 เขาประกาศย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ
กรณีนี้ทำให้ชัยพงษ์มองว่า ประชาชนในพื้นที่ยังเลือกตัวบุคคลมากกว่าเลือกพรรค เพราะสมศักดิ์ คุณเงิน ถือเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมมากในเขตพื้นที่นี้ เพราะเคยเป็น ส.ส. ถึง 5 สมัย คล้ายกับผลการเลือกตั้งทั่วไปในหลายพื้นที่ที่พรรคพลังประชารัฐชนะพรรคเพื่อไทยด้วยเหตุผลแค่ว่า อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยย้ายไปอยู่กับพลังประชารัฐ คนในพื้นที่จะมองว่าใครทำงานให้พวกเขามากกว่ากัน
“ตรงนี้มันสะท้อนว่าคนไม่ได้เลือก ส.ส. เพราะพรรค แต่เลือกเพราะตัวบุคคล เขารักและชื่นชอบในตัวบุคคล ไม่ว่าจะไปอยู่พรรคไหนเขาก็เลือกเหมือนเดิม” ชัยพงษ์กล่าว
เลือกตั้งเพื่อปากท้อง?
ชัยพงษ์กล่าวอีกว่า คนในพื้นที่คงทราบว่า การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงขอเลือกฝ่ายรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลทำงานเพื่อประชาชนต่อ แม้พรรคเพื่อไทยจะประกาศนโยบายช่วยเหลือประชาชนที่ดี แต่ก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ เพราะเป็นฝ่ายค้าน
“ชาวบ้านมีตรรกะ (logic) ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน บางครั้งเลือกที่อุดมการณ์ บางครั้งเลือกที่เป็นวาระเฉพาะหน้า ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่สมมาตรของการเมืองไทยที่จัดวางอำนาจและงบประมาณในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน” ชัยพงษ์กล่าว
หลังจากนี้ เมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งซ่อมอย่างเป็นทางการ ก็เท่ากับว่า พรรคพลังประชารัฐชนะ และรัฐบาลจะได้เสียง ส.ส. ในสภาฯ เพิ่มอีก 1 เสียงที่จะมีผลต่อการยกมือผ่านมติต่างๆ ที่รัฐบาลเสนอ