แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา 

“เมื่อเซ็นสัญญาโควต้ากับฝ่ายส่งเสริมของโรงงาน ต้นทุน-ความเสี่ยง-ความรับผิดชอบทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ไถเตรียมดิน ปลูก ดูแลอ้อย และขนส่งไปถึงโรงงาน เป็นของชาวไร่อ้อยทั้งหมด” เป็นการสรุปใจความสำคัญจากวงเสวนาถอดบทเรียนชาวไร่อ้อย อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เมื่อปี 2561

ช่วงปีที่ผ่านมาสถานการณ์มลพิษทางอากาศ PM 2.5 ในภาคอีสาน ชาวไร่อ้อยถูกกล่าวโทษว่าเป็น ผู้ก่อมลพิษ

ตอนนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เรียงหน้าออกมาให้ข่าวว่า ชาวไร่อ้อยที่เผาอ้อยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 220 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท 

ในจังหวัดขอนแก่นมีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับคำสั่งให้ไปยืนหน้าโรงงานน้ำตาล เพื่อตรวจสอบว่า รถบรรทุกคันไหนมีอ้อยไฟไหม้ส่งเข้าโรงงาน ถ้าพบให้ตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแปลงอ้อยและเจ้าของแปลงเพื่อดำเนินการตามกฎหมายและเตรียมชง ครม. อนุมัติเงินกู้ให้เกษตรกรซื้อรถตัดอ้อย

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยของรัฐที่คิดค่าปรับอ้อยไฟไหม้แล้วนำเงินไปเฉลี่ยเพิ่มให้กับเกษตรกรที่ขายอ้อยสด ซึ่งเป็นมาตรการที่มีมานานกว่า 30 ปี โดยปีการผลิตปัจจุบันคิดค่าปรับที่ 30 บาท/ตัน รวมถึงการกำหนดสัดส่วนให้โรงงานรับซื้ออ้อยสดไม่น้อยกว่าร้อยละ 60/วัน จากจำนวนอ้อยเข้าที่เข้าโรงงาน ซึ่งเป็นมาตรการที่บังคับใช้เมื่อ 14 ก.พ. 2562 คือ ปลายฤดูหีบอ้อย 

แต่สุดท้ายปริมาณอ้อยเข้าหีบต่อวัน ยังมีอ้อยไฟไหม้ร้อยละ 58.50 โดยโรงงานไม่ต้องรับผิดชอบต่อการเผาอ้อย ไม่มีการบังคับอย่างจริงจังหรือมีบทกำหนดโทษแต่อย่างใด

แรงงานตัดอ้อยกับรถตัดอ้อย

ปีการผลิต 2561/2562 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโรงงานน้ำตาล 22 แห่ง มีอ้อยเข้าหีบรวม 56.250 ล้านตัน (ประเทศไทยมีโรงงานน้ำตาล 57 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3 แห่งและมีโรงงานน้ำตาลเดิมในหลายพื้นที่ขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม รวมกำลังการหีบอ้อยทั้งประเทศมีมากกว่า 130 ล้านตัน)

ฤดูเปิดหีบอ้อยมีเวลา 5 เดือน (หลังฤดูเกี่ยวข้าว) หมายถึง เฉลี่ยแล้วจะมีอ้อยที่ต้องขนส่งเข้าโรงงานในภาคอีสาน โรงงานละ 2.556 ล้านต้น หรือ 511,363 ตัน/เดือน/โรงงาน

ถูกกว่าหรือแพงกว่า? 

จากผลการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของแต่ละวิธีการเก็บเกี่ยวอ้อยของ สอน. ระบุว่า “การใช้รถตัดอ้อยต้นทุนต่ำที่สุด” 

แต่การแสดงตัวเลขต้นทุนของชาวไร่อ้อยในกระดานของ สอน. กลับให้ข้อมูลที่ตรงกันข้าม โดยชาวไร่อ้อยระบุว่า “การใช้แรงงานคนตัดอ้อยสดมีต้นทุนต่ำกว่าทุกวิธี เมื่อนำไปเทียบกับราคาขายอ้อยที่ 950 บาท/ตัน” 

ส่วนข้อมูลจากเว็บไซต์กลุ่มบริษัทน้ำตาล มีการโฆษณารับจ้างตัดอ้อยด้วยรถตัดอ้อยในราคา 200 บาท/ตัน (รถตัดอ้อยกำลังเครื่องยนต์ 200 และ 340 แรงม้า ตัดอ้อยได้ 150-200 ตัน/วัน)

เผาอ้อยยังไงก็คุ้มกว่า 

เหตุผลที่ชาวไร่อ้อยเลือกใช้วิธีการเผาไร่อ้อยมากกว่าการตัดอ้อยสด สาเหตุใหญ่เป็นปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน แรงงาน 1 คน จะตัดอ้อยสดได้ประมาณ 1-1.5 ตัน/วัน แต่ถ้าเป็นอ้อยไฟไหม้ จะตัดได้ประมาณ 2-3 ตัน/วัน

ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่า แรงงานจะเลือกรับจ้างตัดอ้อยไฟไหม้มากกว่า เพราะมีรายได้สูงกว่าการรับจ้างตัดอ้อยสดประมาณ 100 บาท/วัน ส่วนรถตัดอ้อยในปัจจุบันยังมีน้อยและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ 

เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเก็บเกี่ยวโดยใช้รถตัดและแรงงาน พบว่า การเช่ารถตัดอ้อยในปัจจุบันมีต้นทุนสูงกว่าการจ้างแรงงานประมาณ 1,000 – 1,400 บาท/ไร่ สำหรับโรงงานน้ำตาลจะให้คิวอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานก่อนอ้อยสด หากไม่รับซื้อภายใน 48 ชั่วโมง ค่าความหวานและน้ำหนักของอ้อยไฟไหม้จะลดลงเร็วกว่าอ้อยสด หากทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ อ้อยไฟไหม้จะมีน้ำหนักลดลงร้อยละ 20 ส่วนอ้อยสดน้ำหนักจะลดลงร้อยละ 14

จากความเห็นของชาวไร่อ้อยในอำเภอหนองเรือ * การที่โรงงานให้คิวอ้อยไฟไหม้ก่อนอ้อยสด เพราะอ้อยไฟไหม้ส่วนใหญ่เป็นของหัวหน้าโควต้ารายใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองกับโรงงานน้ำตาล และการลดลงของน้ำหนักอ้อยไฟไหม้ไม่ได้กระทบกับค่าความหวาน อีกทั้งโรงงานยังรับซื้ออ้อยไฟไหม้ในราคาที่ถูกกว่าอ้อยสดด้วย 

สรุปจากตัวเลขของแรงงานจากปริมาณอ้อยที่จะเข้าโรงงานน้ำตาลในอีสานช่วงระยะเวลา 5 เดือน จำนวน 56.250 ล้านตัน พบว่า การตัดอ้อยสดจะต้องใช้แรงงานทั้งหมด 37.5-56.25 ล้านแรง การตัดอ้อยไฟไหม้จะใช้แรงงาน 18.75-28.125 ล้านแรง 

แรงงานตัดอ้อยไฟไหม้จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าตัดอ้อยสด 2 เท่า ส่วนเจ้าของไร่อ้อยถึงจะจ่ายแพงกว่าต่อวัน แต่ก็ได้ผลผลิตไปขายได้มากกว่า เร็วกว่า และหาแรงงานง่ายกว่า ทำให้ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ยังมีอัตราอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานมากกว่าครึ่ง

แรงงานตัดอ้อยที่ในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ไม่ได้เผาไร่อ้อย อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู

รถตัดอ้อยทางออกแก้ขาดแคลนแรงงาน

สมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม เปิดเผยในหนังสือพิมพ์แนวหน้า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. พ.ศ. 2562 ว่า ในประเทศมีรถตัดอ้อยจำนวน 1,802 คัน เพื่อลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ที่เกิดจากการเผาเก็บเกี่ยว จะเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดหารถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4,000 คัน โดยออกเป็นมาตรการส่งเสริมสินเชื่อให้เกษตรกร 6,000 ล้านบาท (3 ปี) หมายถึง ในปี 2565 จะมีรถตัดอ้อยรวม 5,802 คัน

ข้อมูลรถตัดอ้อยที่มีอยู่จำนวน 1,802 คัน เกิดจากอนุมัติวงเงินกู้ปีละ 3,000 ล้านบาท (3 ปี ในปี 2553-2555) ตามมติ ครม. วันที่ 20 ต.ค. 2552 เพื่อให้ชาวไร่อ้อย กลุ่มชาวไร่อ้อย สหกรณ์ชาวไร่อ้อย หรือโรงงานน้ำตาล และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. กู้เงินภายในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท กำหนดชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใน 6 ปี นับจากวันกู้

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2558 ครม. ได้อนุมัติเงินกู้ 9,000 ล้านบาท อีกครั้ง เพื่อดำเนิน “โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร” ประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุปกรณ์บริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย การจัดซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตร การจัดซื้อรถแทรกเตอร์ และการจัดซื้อรถบรรทุกอ้อย (ระยะเวลา 3 ปี) 

หากเทียบกับประมาณอ้อยทั้งประเทศในปี 2562 จำนวน 130 ล้านตัน เฉลี่ยรถตัดอ้อย 1 คัน มีกำลังการตัดอ้อย 22,406 ตัน หรือในระยะเวลา 5 เดือนรถ 1 คัน จะตัดอ้อยได้ 149 ตัน/วัน เพียงพอกับจำนวนอ้อยในปัจจุบัน โดยไม่ต้องใช้แรงงานคนอีกเลย

อย่างไรก็ตาม ชาวไร่อ้อยรายย่อยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงชาวไร่อ้อยขนาดเล็กที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับ สอน. เพราะไม่มีขนาดแปลงอ้อยใหญ่พอหรือเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้รถตัดอ้อยได้ จะถูกบีบให้ไม่สามารถเผาอ้อยอีกต่อไป ต้องใช้แรงงานตัดอ้อยสดหรือการจ้างแรงงานตัดเพียงอย่างเดียว

ชาวไร่อ้อยขนาดเล็กร้อยละ 80 ที่ไม่สามารถซื้อรถตัดอ้อยจะมีต้นทุนสูงขึ้น หากจ้างรถตัดอ้อย และอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายจากรถตัดอ้อยเพิ่มขึ้น เช่น ตออ้อยเสียหาย อาจต้องจ้างรถระเบิดดินดานเพิ่ม และมีความเสี่ยงที่จะต้องรอคิวรถตัดอ้อยที่จะเลือกตัดอ้อยแปลงใหญ่ก่อน ซึ่งอาจจะทำให้ตัดอ้อยไม่ทันในช่วงเวลาเปิดหีบ

ส่วนชาวไร่อ้อยขนาดใหญ่มีเพียงร้อยละ 5 และขนาดกลางร้อยละ 20 เป็นกลุ่มที่สามารถกู้เงินซื้อรถตัดอ้อยในราคา 8-13 ล้านบาท ซึ่งรถตัดอ้อยกำลังเครื่องยนต์ 200 และ 340 แรงม้า สามารถตัดอ้อยได้ 150-200 ตัน/วัน 

การที่สามารถตัดอ้อยได้ 47,169-76,651 ตัน จะใช้เวลาในการตัดเพียง 314-383 วัน ก็สามารถคืนทุนค่ารถตัดอ้อย รวมถึงยังนำรถตัดอ้อยไปรับจ้างตัดอ้อยในราคาประมาณ 200 บาท/ตัน ได้ด้วย

ใครได้ประโยชน์จากรถตัดอ้อย 

รถตัดอ้อยผลิตในประเทศมีราคาอย่างต่ำคันละ 6-8 ล้านบาทขึ้นไป รถตัดอ้อยนำเข้ามีราคา 11-13 ล้านบาท จ่ายคืนเงินกู้ในระยะเวลา 6 ปี

ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า ในรอบปีการผลิต 2561/2562 มีชาวไร่อ้อยลงทะเบียนกับ สอน. จำนวน 3.4 แสนราย และเป็นคู่สัญญากับโรงงานทั้ง 54 แห่ง 

สอน. เคยแบ่งข้อมูลขนาดชาวไร่อ้อยไว้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ หนึ่ง รายย่อยมีพื้นที่ปลูกอ้อยขนาดเล็ก 1-59 ไร่ โควต้าอ้อย 1-1,000 ตัน มีร้อยละ 80 สอง ชาวไร่อ้อยขนาดกลาง มีพื้นที่ 60-199 ไร่ โควต้าอ้อย 1,000-2,000 มีประมาณร้อยละ 15 และสาม ชาวไร่อ้อยแปลงใหญ่ คือผู้ปลูกมากกว่า 200 ไร่ โควต้าอ้อยมากกว่า 2,000 ตัน มีเพียงร้อยละ 5 

รายงานฉบับสมบูรณ์ของโครงการจัดทำต้นทุนผลผลิตและถ่ายทอดความรู้เพื่อลดต้นทุนการผลิตอ้อยของเกษตรกรในปีเพาะปลูก 2557/58 โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เสนอสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ให้เห็นว่า ต้นทุนการผลิตอ้อยในอีสานมี 1,218.83 บาท/ตัน ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยขาดทุนกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา

โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กที่ไม่มีเครื่องมือและเครื่องจักรกลเป็นของตนเอง เช่น รถไถ เครื่องปลูกอ้อย รถตัดอ้อย ตลอดจนรถบรรทุกเพื่อการขนส่งอ้อยจากแปลงไปยังโรงงาน จึงจำเป็นต้องจ้างเครื่องจักรและแรงงาน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง และยังสูงกว่าชาวไร่อ้อยรายใหญ่ ที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยขนาดใหญ่ ตามหลักทฤษฎีการประหยัดต่อขนาดและยังได้เปรียบด้านการลงทุนทางเทคโนโลยีการผลิต 

อีกทั้งยังสามารถใช้เทคโนโลยีที่มีไปรับจ้างจากชาวไร่อ้อยรายเล็กได้อีกทางหนึ่ง และยังมีอิทธิพลในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลได้ เพราะส่วนใหญ่มักมีตำแหน่งอยู่ในสมาคมชาวไร่อ้อย

การที่โรงงานล่าลายเซ็นเกษตรกรมาเข้าเกษตรพันธะสัญญาอ้อย โดยไม่ได้ดูว่า พื้นที่ของเกษตรกรมีความเหมาะสมในการปลูกอ้อยหรือไม่ ปลูกอ้อยแล้วจะคุ้มค่ากับการลงทุน ให้ผลิตดีหรือไม่ เกษตรกรมีศักยภาพและเศรษฐกิจเพียงพอที่จะเข้าถึงเครื่องจักร-เทคโนโลยีได้หรือไม่ ทำให้ชาวไร่อ้อยรายเล็กส่วนใหญ่ตกอยู่ในวงจรหนี้สินสะสมจากสัญญาโควต้า เนื่องจากราคาอ้อยตกต่ำมากว่า 10 ปี สภาพน้ำท่วม-น้ำแล้งที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร 

รวมทั้งแนวโน้มของราคาอ้อยที่คาดการณ์ไม่ได้จากการลอยตัวราคาน้ำตาลตามตลาดโลก การขาดแคลนแรงงานในครัวเรือน และไม่สามารถเข้าถึงเครื่องจักร-เทคโนโลยี

นี่ คือ ความไม่เป็นธรรมโดยมีเกษตรกรเป็นเหยื่อใช่หรือไม่ ปัญหาการเผาอ้อย ต้นทางของผู้ก่อมลพิษ คือ ใครที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบ?

——————————

หมายเหตุ* ขอสงวนสิทธิ์ไม่เปิดเผยรายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์

 

image_pdfimage_print