หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง 

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ

วาทกรรมที่ว่า “คนอีสานโง่ จน เจ็บ” เป็นสิ่งที่ลบอย่างไรก็ไม่เลือน กระทั่งเป็นกระแสวิพากษ์วิถีชีวิตของหญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวตะวันตกหรือฝรั่งเพื่อรวยทางลัด ผ่านบทความของ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์เมื่อไม่นานมานี้ 

เดอะอีสานเรคคอร์ดนั่งคุยกับ พัชรินทร์ ลาภานันท์ นักวิชาการจากศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผู้ทำวิจัยเรื่องการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมในอีสานใต้ร่มไม้ในสวน ม.ขอนแก่น หลังการจัดเวทีโสเหล่ “เสียงจากแม่ญิงอีสานถึงเพ็ญศรี” ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: บทความของคุณเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ที่เขียนวิจารณ์หญิงอีสานที่เป็นเมียฝรั่งสะท้อนอะไรต่อสังคมอีสาน  

พัชรินทร์:  ถ้าจะว่ากันจริง ๆ วาทกรรมอีสานที่ว่าโง่ จน เจ็บ ก็ยังคงมีอยู่ ทำให้เห็นความคิดของคนส่วนหนึ่งที่มองคนอีสานในเรื่องความด้อยโอกาสมากกว่าคนภาคอื่นและสะท้อนผ่านบทความของคุณเพ็ญศรี 

การที่มีบทความนี้ออกมามันเป็นโอกาสสำหรับคนอีสานและสำหรับคนในสังคมไทยด้วย การที่จะลองทบทวนหรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแต่งงานข้ามชาติหรือปรากฏการณ์เมียฝรั่ง เขยฝรั่งที่เกิดขึ้น แน่นอนเรารู้อยู่แล้วว่า มันเกิดขึ้นในสังคมอีสานเป็นหลัก 

จริงๆ แล้วยังมองว่า คนทั้งในสังคมอีสานและไทยหรืออาจจะในต่างประเทศ มีมุมมองที่ค่อนข้างจะคับแคบ ค่อนข้างจะเป็นการมองด้านเดียว มองว่าการแต่งงานกับผู้ชายฝรั่งจะเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้หญิงมีชีวิตอยู่ได้อย่างสบายหรือมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จริง ๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้ผิด อันนั้นมันอาจจะเป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ 

แต่ควรมองไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรม เพศภาวะในสังคมไทยและสังคมตะวันตก ความก้าวหน้าของวิธีคิดเชิงเฟมินิสม์ในสังคมตะวันตกเทียบกับสังคมไทยหรือความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทกับเมืองหรือว่าความเหลื่อมล้ำที่มองจากมิติในเรื่องของชนชั้น รวมไปถึงเรื่องของสวัสดิการสังคมว่าเป็นอย่างไร 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: งานวิจัยที่อาจารย์ทำเมื่อปี 2552 ที่ จ.อุดรธานี พบข้อมูลอะไรเกี่ยวกับการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมบ้างคะ 

พัชรินทร์: ผลการศึกษาเห็นว่า มิติเรื่องเพศภาวะมีผลอย่างมาก โดยเฉพาะความคาดหวังต่อบทบาทของลูกสาวลูกชาย ความคาดหวังต่อสามีและภรรยา เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจเข้าสู่การแต่งงานนั้น 

กลุ่มที่ศึกษาที่เป็นผู้หญิงชนบทเคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว โดยมากกว่า 60% เป็นผู้หญิงที่มีลูกแล้ว เมื่อเลิกกับสามีที่เป็นคนท้องถิ่นที่เป็นคนอีสานด้วยกันหรือเป็นคนไทย ผู้หญิงก็ต้องรับผิดชอบเลี้ยงลูก ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของความเป็นแม่จึงทำให้ผู้หญิงต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อที่จะเลี้ยงลูกตัวเอง ด้วยความเป็นผู้หญิงชนบท การศึกษาน้อย ไม่มีอาชีพที่ดี แถมมีลูกติดอีก โอกาสที่เขาจะได้แต่งงานกับผู้ชายไทยน้อยมาก 

แต่ในสังคมตะวันตก การที่แต่งงานใหม่ ไม่ว่าหญิงหรือชายที่ผ่านการแต่งงานมาแล้ว เขามีโอกาสที่จะแต่งงานใหม่ได้มากกว่า มันมีความลงล็อกกันของวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดโอกาสต่อผู้หญิง เมื่อเป็นหม้ายก็สามารถที่จะหาคู่ได้ หม้ายลูกติดก็ยังสามารถพาลูกไปอยู่ที่โน่นได้ เพราะด้วยวัฒนธรรมตะวันตกเมื่อแต่งงานแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีลูกก็ต้องยอมรับในลูกของแต่ละฝ่าย 

ที่พูดมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ผู้หญิงต้องต่อรอง เจรจา ทำความเข้าใจว่า ทำไมเขาต้องเลี้ยงลูกและพ่อของลูกหายไปไหน ทำไมคนที่เป็นพ่อจึงไม่ทำหน้าที่ดูแลสนับสนุนเลี้ยงลูก

พัชรินทร์ ลาภานันท์ ผู้ทำวิจัยเรื่องการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมในอีสานเสวนาหัวข้อ “การแต่งงานข้ามชาติ ความรัก เงินตราและหน้าที่” ร่วมกับ สมหมาย คำสิงห์นอก ตัวละครเอกในหนัง “Heartbound”

เดอะอีสานเรคคอร์ด: อาจารย์ศึกษาผู้หญิงที่แต่งงานกับชาวตะวันตกทั้งหมดกี่คน และพื้นที่ไหนที่มีคนแต่งงานกับชาวต่างชาติมากที่สุด

พัชรินทร์: จากที่ดูงานวิจัยของสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภาคอีสานพบว่า ในอีสานมี 3 จังหวัด คือ อุดรธานี ขอนแก่นและนครราชสีมา ส่วนตัวเลือกศึกษาที่จังหวัดอุดรธานี สัมภาษณ์ผู้หญิงที่แต่งงานข้ามชาติ 26 คนและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่ง พอเข้าไปในพื้นที่หมู่บ้านนาดอกไม้ที่เป็นชื่อสมมติก็พบว่า ชาวบ้านรู้เรื่องนี้ดีมากและอยากจะพูดอยากเล่า ซึ่งเราต้องการทราบว่า การแต่งงานข้ามชาติในยุคนี้เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์เมียเช่าในยุคจีไออย่างไร เพราะว่าอุดรฯ เคยมีฐานทัพอเมริกันในสมัยยุคสงครามเวียดนาม 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: จากงานวิจัยพบว่า เพราะอะไรผู้หญิงเหล่านั้นจึงเลือกแต่งงานกับชายชาวตะวันตก

พัชรินทร์: ถ้าเป็นคนที่แต่งงานและมีลูกเขาก็จะบอกว่า หาเงินเลี้ยงลูก อีกเหตุผลหนึ่งที่ได้ฟัง คือ อยากให้ตัวเองดูแลพ่อแม่ได้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของคนอีสาน เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเกี่ยวกับเพศภาวะในสังคมที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาที่มองว่า ลูกผู้หญิงบวชเป็นพระเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่ไม่ได้ แต่การที่ผู้ชายบวชเป็นพระสามารถที่จะทดแทนบุญคุณพ่อแม่ได้ ทำให้พ่อแม่สามารถเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ได้ ผู้หญิงจึงต้องทดแทนพ่อแม่ด้วยการดูแลท่าน นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจแต่งงานกับผู้ชายต่างชาติ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: แล้วชายชาวตะวันตกเลือกแต่งงานกับหญิงไทยเพราะอะไร 

พัชรินทร์: เรื่องนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว ผู้ชายที่ค่อนข้างจะมีอายุที่เป็นกลุ่มคนที่เกษียณแล้ว เขาจะมองว่า เขาต้องการคนที่จะมาดูแล แล้วเขาก็มองว่า ผู้หญิงไทยหรือผู้หญิงเอเชียรู้จักดูแลคนอื่น แต่ก็จะมีคนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวที่บอกว่าแต่งงานกันด้วยความรักก็มี มีครูคนหนึ่งในหมู่บ้านที่ศึกษาแต่งงานกับชายตะวันตก เขาก็บอกว่าแต่งงานด้วยความรัก เขาเจอกัน คุยแชทกันทางอินเทอร์เน็ตจนในที่สุดตกลงแต่งงานกัน 

เรื่องความรักมี เรื่องต้องการคนดูแลก็มี ชายชาวตะวันตกบางคนเขาเล่าว่า เขาผ่านการแต่งงานกับผู้หญิงในประเทศมาแล้ว แต่ชีวิตการแต่งงานไม่ได้ประสบผลสำเร็จ เหตุผลหนึ่งที่บอกคือ ผู้หญิงในประเทศเขามีความเป็นเฟมินิสต์สูง เรียกร้องสิทธิ์มากกว่าที่เขาเจอกับภรรยาที่เป็นคนไทยหรือมากกว่าเพื่อนเขาที่แต่งงานกับผู้หญิงเอเชีย ก็คิดว่าเหตุผลมันมีหลากหลาย 

“วาทกรรมอีสานโง่ จน เจ็บ ที่มองคนอีสานด้อยโอกาสมากกว่าคนภาคอื่นยังมีอยู่และสะท้อนผ่านบทความของคุณเพ็ญศรี” พัชรินทร์ ลาภานันท์

เดอะอีสานเรคคอร์ด: อาจารย์พบไหมว่า ทำไมภาคอีสานถึงแต่งงานข้ามวัฒนธรรมมากกว่าภาคอื่น

พัชรินทร์: ภาคอีสานมีสัดส่วนของผู้หญิงที่แต่งงานข้ามวัฒนธรรมมากกว่าภาคอื่น แต่ไม่ได้หมายว่าภาคอื่นไม่มี ภาคอื่นก็มี ถ้ามองในแง่ของคุณลักษณะของผู้หญิงอีสาน ก็อาจจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง ความที่ผู้หญิงอีสานเป็นคนที่มีผิวคล้ำและมีลักษณะทางกายภาพที่เป็นที่ต้องตาผู้ชายตะวันตก 

อีกเงื่อนไขหนึ่ง คือ อีสานเป็นภาคที่มีฐานทัพอเมริกัน ถ้าจะว่าไปแล้ว คนในอีสานก็มีความคุ้นเคยและยอมรับกับลักษณะความสัมพันธ์แบบนี้มากกว่าคนในภูมิภาคอื่น 

เดิมมุมมองของสังคมไทยต่อผู้หญิงไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงอีสานหรือผู้หญิงภาคไหน ที่แต่งงานกับผู้ชายตะวันตกนั้น เป็นมุมมองทางลบ เพราะเราจะมองว่า มันเป็นความสัมพันธ์ที่เริ่มมีมาจากสมัยสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้หญิงที่ทำงานในภาคบริการหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจขายบริการทางเพศ มันจะมีภาพนั้นอยู่  

แต่ในสังคมอีสาน ความคุ้นเคยที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างทหารจีไอกับผู้หญิงอีสานที่มันพัฒนาไปจนในที่สุดเป็นความสัมพันธ์ระยะยาวจบลงด้วยการแต่งงาน อาจทำให้คนอีสานยอมรับหรือคุ้นเคยกับลักษณะความสัมพันธ์แบบนี้มากกว่า และมีการแนะนำให้ญาติพี่น้องตามกันไป 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ตั้งแต่ทำงานวิจัยเรื่องนี้จนถึงตอนนี้ตัวเลขการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมโตขึ้นแค่ไหน 

พัชรินทร์: จริง ๆ ไม่ได้ติดตามตัวเลขเท่าไร เพราะว่างานวิจัยของเราเป็นงานวิจัยในเชิงมานุษยวิทยา แต่มีตัวเลขที่พอจะบอกได้ อย่างเช่น งานของสภาพัฒน์ฯ เมื่อปี 2547 มีประมาณ 19,400 คน เมื่อปี 2553 เพิ่มขึ้นประมาณ 27,000 คน ถ้ามองแบบนี้ก็คิดว่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะ แต่ปรากฏการณ์อันหนึ่งที่เห็นคือ การแต่งงานข้ามชาติมันเริ่มขยับจากเดิมเป็นกลุ่มผู้หญิงชนบทเป็นผู้หญิงที่เป็นชนชั้นกลางมากขึ้น 

หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวเดนมาร์กแล้วย้ายไปอยู่ประเทศเดนมาร์กและมีลูกชายด้วยกัน 1 คน ภาพฉากหนังสารคดีเรื่อง “Heartbound”

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ดูเหมือนมีการยอมรับการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะลูกครึ่งที่เป็นดาราได้รับความนิยม และสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวเป็นเงินมหาศาล 

พัชรินทร์:ใช่ เรื่องความชอบในลูกครึ่งก็เป็นเหตุผลสำคัญเลย แล้วตอนที่เก็บข้อมูล ในหมู่บ้านก็มีน้องผู้หญิงที่เพิ่งเรียนจบบอกว่า อยากแต่งงานกับฝรั่งด้วยที่อยากจะมีลูกครึ่ง โดยมองว่า การมีลูกครึ่งเป็นทุนที่ทำให้ลูกเขามีโอกาสในชีวิต อาจจะได้เป็นดารา นางแบบ นายแบบ เรื่องนี้คิดว่าเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้การแต่งงานข้ามชาติจะขยายตัวอย่างมาก และคิดว่าเป็นปัจจัยที่น่าสนใจมากนอกจากมิติเชิงเศรษฐกิจ 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: ถ้ามองเชิงวัฒนธรรม สังคมการแต่งงานกับชาวต่างชาติ สังคมไทยได้หรือเสียอะไร

พัชรินทร์: การมองว่า ได้หรือเสียอาจจะพูดยาก ถ้ามองในมุมหนึ่งก็จะมีคนพูดว่าเราเสียดุล เพราะเราเสียผู้หญิงให้กับประเทศอื่น อันนี้ก็มีคนพูดกันเยอะ ถ้าจะมองว่า การที่ผู้หญิงออกไปอยู่ต่างประเทศเป็นการเปิดหู เปิดตา เปิดโลกทัศน์ ซึ่งประสบการณ์ชีวิตและสถานะทางเศรษฐกิจที่เขาได้รับมันจะย้อนกลับมาสู่ชุมชน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม 

ถ้ามองว่า การแต่งงานในลักษณะนี้สร้างความเหลื่อมล้ำในชุมชนไหม มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้เหมือนกัน โดยระหว่างครอบครัวที่มีลูกหรือมีญาติที่แต่งงานกับคนต่างชาติ ก็จะยกระดับทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น กับคนที่ไม่มี ก็อาจจะเป็นความเหลื่อมล้ำได้ 

ขณะเดียวกันถ้าเรามองเจาะลึกลงไป ครอบครัวที่มีลูกหลานแต่งงานกับคนต่างชาติ สถานะความเป็นอยู่ของเขาก็จะเปลี่ยนไป หากมีที่ดินก็อาจจะไม่ได้ทำนาอีกแล้ว ก็จ้างงานคนที่มีสถานะความลำบากกว่าไปทำงานแทน ถ้ามองในแง่นี้มันก็เป็นความเหลื่อมล้ำที่อาจจะมีความเกื้อกูลกันด้วย เรื่องนี้มันไม่มีดำกับขาว มันไม่มีใครได้กับใครเสียซะทีเดียว 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: หากมองในสายตาของรัฐหรือคนคลั่งชาติ การที่คนไทยแต่งงานกับชาวต่างชาติมากขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศหรือไม่ 

พัชรินทร์: ถ้าเป็นชาตินิยมมากๆ ก็อาจจะมองแบบนั้นได้ แต่ประเด็นหนึ่งที่เราจะละเลยไม่ได้ คือ โลกยุคปัจจุบัน การข้ามชาติข้ามแดนหรือเรื่องการแต่งงานอื่นๆ เราห้ามกันไม่ได้ คือโลกทุกวันนี้มันสื่อสารกันหมดแล้ว มันจะห้ามอย่างไร เราจะบอกว่าไม่ได้นะ ห้ามแต่งงาน ประเด็นนี้มันเป็นเรื่องที่ยากมาก 

อย่างไรก็ตาม รัฐแต่ละประเทศจะละเลยประเด็นนี้ไม่ได้ รัฐควรสร้างกลไกติดตามเรื่องนี้อย่างเข้มข้น มีนักวิจัยคนหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการแต่งงานข้ามชาติกับความเป็นพลเมือง กรณีประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็พบว่า มีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนเข้าเมืองและการแต่งงาน ที่มันพัฒนาเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยรัฐเองก็จับจ้องมองเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็มีมาตรการตามออกมาอีกมาก 

แม้จะกันไม่ได้ 100 % แต่ก็เพื่อคัดกรองหรือป้องกันว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ทำให้ปรากฏการณ์นี้ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ประเทศไทยเรามีมาตรการเหล่านี้แค่ไหน ถ้ามองในเชิงนโยบายหรือในเชิงรัฐนั้น คิดว่ารัฐบ้านเราอาจจะต้องหันกลับมามองปรากฏการณ์นี้อย่างจริงจัง 

ในงานศึกษาพบว่า คู่สมรสที่ไปอยู่ต่างประเทศจำนวนมากต้องการจะกลับมาอยู่เมืองไทยหลังเกษียณ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะกลับมาด้วยวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่ง ด้วยทรัพยากรที่ติดตัวมาอีกแบบหนึ่งและด้วยเงื่อนไขในการดำเนินชีวิตอีกแบบหนึ่งด้วย รัฐจะรองรับพวกนี้อย่างไร เช่น เรื่องสุขภาพ เป็นต้น 

เดอะอีสานเรคคอร์ด: แล้วเราจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้อย่างไร 

พัชรินทร์: ภาพของผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับผู้ชายต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้หญิงอีสานจากชนบทมักจะถูกมองใน 2 เรื่อง 1. แต่งงานเพราะเงิน 2.ผู้หญิงคนนั้นจะถูกตั้งคำถามกับประสบการณ์ว่า เธอทำงานอะไรมาก่อน แต่พอเห็นผู้หญิงอีสานแต่งงานกับผู้ชายฝรั่งแล้วก็ตัดสินว่า เป็นแต่งงานเพราะเงินหรือแต่งงานเพราะความสบาย มันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น 

ถ้าได้คุยกับผู้หญิงที่แต่งงานแล้วไปอยู่ที่โน่น เขาไม่ได้สบาย เขาทำงานหนักมาก ถ้าดูจากหนังเรื่อง Heartbound ก็จะเห็นว่า หญิงอีสานที่อยู่ที่โน่นทำงานกะกลางคืนหรือกะดึกที่คนที่โน่นเขาไม่เลือกแล้ว เพราะต้องการหาเงิน ชีวิตเขาต่อสู้ดิ้นรนมาก

อยากให้สังคมมองว่า ชีวิตของผู้หญิงที่แต่งงานกับผู้ชายตะวันตกไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ เขาต่อสู้เหมือนกัน ถามว่าเงินเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจแต่งงานไหม อาจจะจริง แต่ว่าแน่นอนเงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เขาตัดสินใจเข้าสู่การแต่งงานแบบนี้ หลายคนอาจจะผิดหวังจากการคบกับผู้ชายไทยหรือการแต่งงานกับผู้ชายไทย ที่มันไม่สามารถที่จะลงเอยด้วยการแต่งงาน เขาก็อาจจะมองหาความสัมพันธ์หรือมองหาผู้ชายจากวัฒนธรรมอื่น 

image_pdfimage_print