“หายนะ” กำลังมาเยือนแม่น้ำโขง
ภาพหน้าปกโดย ภานุมาศ สงวนวงษ์
ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่อง
แม่น้ำโขงหรือ “แม่น้ำของ” เปรียบเหมือนหัวใจของอุษาคเนย์ แต่วันนี้สายน้ำแห่งนี้ได้เปลี่ยนสีจากน้ำตาลขุ่นกลายเป็นฟ้าคราม โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (2562) ที่ลักษณะสีของน้ำได้เปลี่ยนแปลงไปจากสีขุ่นข้นตามธรรมชาติของแม่น้ำยามปกติ
อาการเหล่านี้บ่งบอกให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มหานทีแห่งชีวิตสายนี้กำลังเจ็บป่วยอยู่ในขั้นโคม่า และจำเป็นจะต้องได้รับการเยียวยารักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถกลับมาหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในลุ่มน้ำอย่างที่เคยเป็นมา ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ด พูดคุยกับ สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ถึงปรากฏการที่เกิดขึ้น
“เป็นเพราะแม่น้ำโขงไม่ไหลตามธรรมชาติ ถึงแม้ไหลก็ไหลไม่ปกติ เมื่อน้ำไม่ไหลตะกอนดิน ตะกอนจากซากพืชซากสัตว์ที่อยู่ในน้ำ ก็ตกลงใต้ท้องน้ำ” สันติภาพเกริ่นนำถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น

เขากล่าวอีกว่า แม่น้ำโขงไหลผ่านหลายสภาพภูมิอากาศ ต้นแม่น้ำอยู่ในเขตหนาว บริเวณเทือกเขาหิมาลัยในประเทศเนปาลและทิเบต ซึ่งน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงนั้นเกิดจากน้ำแข็งจากเทือกเขาละลายลงมา เมื่อแม่น้ำไหลผ่านประเทศจีนก็เริ่มเข้าเขตอบอุ่น เมื่อไหลมาประเทศไทย ประเทศลาว ก็เป็นเขตร้อนแล้ว จากนั้นไหลลงประเทศเวียดนามก็เป็นเขตร้อนชื้น
“การละลายของน้ำแข็ง แน่นอนว่า มันก็เป็นการเซาะเอาดินเอาตะกอนมาพร้อม ตะกอนก็หลากลงแม่น้ำโขง ขณะเดียวกันเมื่อน้ำไหลผ่านป่าอันอุดมสมบูรณ์ของเขตร้อน ก็เซาะเอาตะกอนอินทรีย์จากป่า จึงทำให้น้ำโขงเต็มไปด้วยสารอาหารมากมายอยู่ในน้ำ” สันติภาพกล่าว
กรณีน้ำโขงไหลผ่านหลายสภาพภูมิอากาศทำให้แม่น้ำนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เพราะเกิดพวกแพลงก์ตอนสัตว์ แพลงก์ตอนพืช เกิดเป็นห่วงโซ่อาหาร ทำให้แม่น้ำโขงมีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำหลายๆ ชนิด
สำหรับปรากฏการณ์น้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีครามใส สันติภาพมองว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเมื่อน้ำมีลักษณะใส นั่นหมายความว่า ตะกอนอินทรีย์เหล่านี้ไม่ไหลตามธรรมชาติ ห่วงโซ่ผลิตอาหารในแม่น้ำก็จะไม่เกิด
“พอน้ำมันใสแล้วเนี่ย สารอาหารที่อยู่ในตะกอนก็จะไม่ไหลตามธรรมชาติ เมื่อน้ำไม่มีสารอาหาร ก็จะส่งผลต่อสัตว์น้ำ พืชในน้ำ ในที่สุดจะทำให้เกิดปริมาณสัตว์น้ำลดลง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของคนริมโขง” สันติภาพกล่าว

เขื่อนกั้นการไหลของน้ำ
เขากล่าวอีกว่า สาเหตุที่น้ำในแม่น้ำโขงไม่ไหลตามธรรมชาตินั้น เกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ไปสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ เมื่อมีเขื่อน เขื่อนไม่ได้ทำหน้าที่แค่กั้นน้ำอย่างเดียว แต่ยังกักเก็บตะกอนอินทรีย์ในน้ำไว้ด้วย หากน้ำไหลตามธรรมชาติ ตะกอนเหล่านี้ก็จะไหลไปอยู่ตามเกาะแก่งหินต่างๆ ในแม่น้ำ เมื่ออยู่ตามเกาะแก่ง ตะกอนอินทรีย์เหล่านั้นก็เป็นอาหารของปลาที่ชอบอาศัยหลบภัยและวางไข่บริเวณเกาะแก่ง
“เกาะแก่งหินเป็นที่เพาะพันธุ์ปลา รวมทั้งดักตะกอนธรรมชาติ ทำให้น้ำบริเวณนั้นมีคุณสมบัติที่ดี ที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของปลา ส่งผลให้ปริมาณปลาเพิ่มขึ้น” สันติภาพกล่าว
ปัจจุบันแม่น้ำโขงมีเขื่อนกั้นกลางแม่น้ำอยู่ถึง 23 แห่ง โดยในประเทศจีนมีเขื่อนมากสุดถึง 11 เขื่อน ประเทศลาว 7 เขื่อน ประเทศกัมพูชา 3 เขื่อน และอีก 2 เขื่อน ที่พรมแดนไทย-ลาว
“เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงจะทำให้แม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมโหฬาร ไม่อาจเรียกคืนได้ แม่น้ำโขงยังไม่เหมือนเดิม” สันติภาพกล่าว

แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงไม่มีน้ำ
นอกจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง สันติภาพยังกล่าวถึงป่าที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำโขงที่เสื่อมโทรม จนไม่สามารถทำหน้าที่เป็นป่าต้นน้ำให้แม่น้ำสาขาได้ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลง
“ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงเกี่ยวโยงกับความสมบูรณ์ของทรัพยากรต่างๆ รอบแม่น้ำโขง เมื่อป่าริมฝั่งแม่น้ำโขงเสื่อมโทรม ป่าไม้ลดลง ป่าไม้ไม่สามารถทำหน้าที่กักเก็บน้ำในฤดูฝนได้ดี ก็จะส่งผลให้ปริมาณน้ำลดลงเช่นกัน” สันติภาพกล่าว
สำหรับสันติภาพ ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงทั้งนั้น แต่อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ฉับพลันและรวดเร็ว แต่ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและอย่างรวดเร็ว เขามองว่า เป็นการกระทำของมนุษย์ที่ไปตัดตอนแม่น้ำโขงโดยตรงผ่านการสร้างเขื่อน
แม่น้ำโขงเปลี่ยน วิถีชีวิตคนริมโขงเปลี่ยน
แม่น้ำโขงมีความยาวรวม 4,880 กิโลเมตร มีต้นน้ำอยู่ที่ราบสูงทิเบตและไหลลงมาสู่ทะเลจีนใต้ ผ่าน 6 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมากกว่า 60 ล้าน จึงทำให้แม่น้ำสายนี้มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและการดำรงชีพมของคนริมโขง โดยเฉพาะวิถีคนหาปลา

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงส่งผลต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพหาปลา ในอดีตเมื่อแม่น้ำยังมีความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนเคยพึ่งพาหาปลามาขายเพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัวเป็นจำนวนมาก จากนี้ไป พวกเขาอาจหาปลาได้น้อยลง เมื่อหาปลาได้น้อยลง นั่นหมายความว่ารายได้ของพวกเขาก็จะลดลง และเมื่อรายได้ลดลง ก็จะมีสถานะความเป็นอยู่ที่ยากจน ทำให้วิถีชีวิตมีความยากลำบาก
“ไม่ใช่แค่จนเงินอย่างเดียว แต่ยังจนทรัพยากรด้วย” สันติภาพกล่าว
สันติภาพอธิบายว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำทั่วไปเป็นความเปลี่ยนแปลงตามวิวัฒนาการของธรรมชาติ วิวัฒนาการของแม่น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ เปลี่ยนตามธรรมชาติ เช่น เปลี่ยนเส้นทางไหลของน้ำ เมื่อเส้นทางไหลเปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ก็เปลี่ยนตาม โยกย้ายตามเส้นทางแม่น้ำ แต่ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยฝีมือมนุษย์
“ในอดีต แม่น้ำแต่ละสายจะเปลี่ยนแปลง มันจะเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ การเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ มันทำให้สิ่งมีชีวิตและมนุษย์มีการปรับตัวทัน ปรับตัวไปพร้อมๆ กันได้ แต่ทุกวันนี้ แม่น้ำถูกบังคับให้เปลี่ยนโดยมนุษย์” สันติภาพย้ำ
อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีผู้นี้ยังระบุอีกว่า แม่น้ำโขงถูกบังคับให้เปลี่ยนโดยการพัฒนา โดยนายทุน โดยผู้ที่ได้ประโยชน์มาจากคน เช่น นักสร้างเขื่อน คนผลิตไฟฟ้า คนขายไฟฟ้า ที่ได้กำไรได้ประโยชน์ แต่ว่าคนเล็กคนน้อยที่พึ่งพาและทำมาหากินจากแม่น้ำโขงถูกบังคับให้ปรับตัว ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็จะทุกข์ยากลำบาก คนริมโขงต้องอพยพออกจากหมู่บ้านเพื่อเข้าเมืองหางานทำ
“เมื่อไม่มีคนก็ไม่มีวิถีชีวิต ไม่มีความเชื่อ ไม่มีวัฒนธรรม อารยธรรมของมนุษย์ริมโขงก็จะล่มสลายในที่สุด” เขากล่าวทิ้งท้ายอย่างสิ้นหวัง