หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่องและภาพ
ท่ามกลางการต่อสู้ของชาวดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู ที่เคลื่อนไหวปกป้องสิทธิชุมชน ด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองและเดินขบวนเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐปิดเหมืองหินที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนยาวนานกว่า 25 ปี และอาจเป็นสาเหตุให้แกนนำถูกกระสุนปืนปลิดชีพถึง 4 คน
หทัยรัตน์ พหลทัพ ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ด นั่งสนทนากับ สุนีย์ ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ท่ามกลางขุนเขาและเหมืองหินเพื่อสรุปบทเรียนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในอีสาน ทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร
เดอะอีสานเรคคอร์ด: ในสายตาอดีตกรรมการสิทธิฯ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในอีสานเป็นอย่างไรบ้าง
สุนีย์: เรื่องสิทธิมนุษยชนมีหลายมิติและหลายระดับมาก เวลาพูดถึงภาพรวมก็จะเห็นว่า ตั้งแต่สิทธิรายบุคคลไปจนถึงสิทธิชุมชนหรือสิทธิในท้องถิ่นแล้ว ยังพัวพันไปถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรม
เมื่อคนนึกถึงอีสาน ข่าวคราวที่โด่งดังที่สุดคือ การละเมิดสิทธิในการจัดการฐานทรัพยากร อันนี้เห็นกว้างใหญ่ไพศาล ตั้งแต่เรื่องเก่าที่ไม่เคยแก้ เช่น เหมืองแร่โพแทชที่ จ.อุดรธานี การจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนปากมูน เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา ไปจนถึงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามา จ.เลยและจ.หนองบัวลำภู แล้วก็การทวงคืนผืนป่า มีการไล่รื้อ จับกุมชาวบ้านที่เก็บหาของป่า ปัญหาใหญ่คือ เราจะเห็นภาพชัดในเรื่องการละเมิดสิทธิ การจัดการฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และแร่
ถ้าซอยย่อยลงไปก็จะพบว่า มันลงไปถึงใต้ดิน อย่างแร่โพแทชที่อยู่ใต้ดิน รวมถึงการขุดเจาะหาแหล่งพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการฐานทรัพยากรเหมือนกัน แต่ก็จะพัวพันถึงเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมขั้นพื้นฐาน เช่น การร้องทุกข์
ทุกกรณีต่อสู้ตั้งแต่ 5-10 หรือ 20 ปีก็มี เราเคยร้องทุกข์ หวังว่าจังหวัด อำเภอจะจัดการให้เรื่องให้ง่าย เพราะว่าบางอย่างมันชัดเจน แต่ก็จะพบว่าไม่ค่อยมีการแก้ไขปัญหาเลย เรื่องก็จะหมักหมมมาตลอด พัวพันไปจนถึงขั้นชาวบ้านต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ไม่มีทั้งค่าทนาย ค่าประกันตัว และอื่น ๆ
ชาวบ้านต้องติดคุกในเรื่องที่ดูเหมือนว่าไม่น่าจะติดคุก อย่างการทวงคืนพื้นป่าของเด่น คำแหล้ และยังมีคดีที่กลุ่มทุนฟ้องชาวบ้านเพื่อปิดปากใน จ.เลย จ.สกลนคร กระบวนการยุติธรรมเหล่านี้ยังตอบโจทย์ไม่ได้เลยว่า มันพิทักษ์ชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยอย่างไร ฝ่ายบริหารควรแก้ไขปัญหาให้เร็ว ลดขั้นตอนการต่อสู้ และลดคดีที่ชาวบ้านต้องแบกภาระมากมาย
เดอะอีสานเรคคอร์ด: จากการสัมผัส เห็นว่าสถานการณ์ร้ายแรงหรือดีขึ้น
สุนีย์: ความร้ายแรงมีความหมายหลายระดับ หลายมิติ ไม่ได้แยกออกจากเรื่องสิทธิมนุษยชนของทั่วประเทศเสียทีเดียว ซึ่งจะพบว่า สิ่งที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ในอีสาน จะพบการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะเขื่อนจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นที่อีสาน หรือกรณีของป่า หรือการเวนคืน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษหลายพื้นที่ในอีสาน หรือกรณีเหมืองแร่ที่พบในอีสานค่อนข้างมาก
ถ้าถามว่าร้ายแรงไหม ก็ร้ายแรงหมดในความหมายของชาวบ้าน อย่าลืมว่า เรื่องเล็กเรื่องน้อยในสายตาใครก็ตาม แต่สำหรับคนถูกละเมิดนั้นเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เพราะมันหมายถึงชีวิต แม้กระทั่งอิสรภาพและชีวิตความเป็นอยู่เมื่อต้องถูกไล่รื้อ
คำว่า ร้ายแรง ต้องประเมินทุกอย่างเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับทุกคน ไม่ว่าเขาจะเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย กลุ่มเล็กกลุ่มน้อย หรือกลุ่มใหญ่ขนาดไหนก็ตาม ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะการแก้ไขปัญหามันช้า กระทั่งไม่ได้แก้ มันก็มีนัยคล้ายคลึงกันทั่วประเทศ
ถ้าพูดในด้านบวกของมัน ก็กลับมีเรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งเหมือนกันคือ มันมีพลังของการต่อสู้ การรวมกลุ่ม การไม่ยอมจำนนและลุกขึ้นมาต่อสู้ เราจึงเห็นภาพขบวนการเคลื่อนไหวเยอะแยะมากมาย
อีกแง่หนึ่งก็บอกว่า ต้องมีเรื่องร้ายแรงมาก ชาวบ้านจึงลุกขึ้นมาต่อสู้ มีทั้งตาย บาดเจ็บ และติดคุก ถ้าใช้ตัวชี้วัดแบบนี้ ก็ดูเหมือนมีความร้ายแรง แต่ก็ยังอยากย้ำว่า มันคล้ายคลึงกันเกือบทุกภาค แต่ของอีสานอาจจะใช้คำว่า มากกว่า

สุนีย์ ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขณะลงพื้นที่เปิดรับฟังปัญหาจากผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองหิน อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู
เดอะอีสานเรคคอร์ด: ถือว่าชาวบ้านรู้สิทธิของตัวเองมากขึ้นและมีการต่อสู้มากขึ้น
สุนีย์: ถ้าเทียบเมื่อสมัยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540 ที่ไปจัดเวทีรับฟังความเห็นทั่วประเทศ จัดประมาณ 30 กว่าเวที ทั้งในอีสาน ตอนนั้นรัฐธรรมนูญปี 40 ยังไม่ปรากฏโฉม แต่พบว่า ชาวบ้านปกป้องสิทธิของตัวเองด้วยการเล่าปัญหาของตัวเองออกมา
หลังใช้รัฐธรรมนูญ 40 เมื่อมีการจัดเวทีที่อีสาน เราก็พบว่าชาวบ้านรู้เรื่องสิทธิมากขึ้นเยอะ ตอนนั้นเห็นชาวบ้านพกรัฐธรรมนูญ ชาวบ้านจะพูดเรื่องมาตราในรัฐธรรมนูญหลายมาตราเก่งเลย ถือเป็นความก้าวหน้าว่า แม้แต่คนที่ไม่ได้พูดถึงรัฐธรรมนูญ แต่เขาได้ใช้สิทธิตามธรรมชาติของเขา ด้วยการออกมาปกป้องสิทธิตามปัญหาต่างๆ เราจะพบชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือ ชาวบ้านที่พูดไม่เก่ง ผู้สูงอายุ ก็ออกมาปกป้องสิทธิ คือ แสดงโดยเนื้อหา
ถ้านับการต่อสู้กับผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในทุกๆ กลุ่ม ถือว่าชาวบ้านตื่นตัวเยอะขึ้นมาก ทำให้เห็นถึงการไม่ยอมจำนน ใครจะมาจัดการอะไรกับคนอีสานง่ายๆ ไม่ได้แล้ว เพราะเขาก็ไม่ยอมง่ายๆ เหมือนกัน
เดอะอีสานเรคคอร์ด: หลังรัฐประหารเป็นต้นมา ชาวอีสานถูกละเมิดสิทธิ์ค่อนข้างมาก ถูกจับกุม ถูกปรับทัศนคติ ในอนาคตเขาจะกลัวการออกมาใช้สิทธิ์ของตัวเองหรือไม่
สุนีย์: มันมี 2 ลักษณะ คือ อย่างแรกที่พูดกันมาทั้งหมด แม้ก่อนรัฐประหารจะพบการละเมิดสิทธิ์ในฐานทรัพยากรจากกลุ่มกลุ่มทุนขนาดใหญ่ร่วมกับข้าราชการ นักการเมือง ทหารส่วนหนึ่งอยู่แล้ว
ทีนี้พอรัฐประหาร ก็จะพบว่า ความขัดแย้งในเรื่องฐานทรัพยากรยังดำรงอยู่ บางเรื่องมากขึ้นกว่าเดิม เพราะโอกาสที่จะมาต่อรอง ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเหมือนแต่ก่อนมันลดลง
ปัจจัยที่สอง เมื่อเกิดรัฐประหารความขัดแย้งทางการเมืองมันรุนแรงขึ้น มีหลายคดีที่ชาวบ้านถูกฟ้อง จับกุม หรือถูกปรับทัศนคติ มีคนจำนวนมากเข้าไปเกี่ยวข้อง คดีมันจึงพัวพันจากก่อนและหลังการรัฐประหาร
ข้อดีจากสถานการณ์ทางการเมือง คือ ผู้คนที่เคยขัดแย้งกันเองในเชิงแนวคิด มองต่างกันบ้าง เมื่อเจอความยากลำบากและความไม่เป็นธรรมในการจัดการฐานทรัพยากรก็หันมาสู้ด้วยกัน เราจะเห็นภาพเหล่านี้มากขึ้น

“เมื่อมีการละเมิดสิทธิมันก็มีแง่บวกที่เราเห็นพลังการต่อสู้ การไม่ยอมจำนนของคนอีสานมากขึ้น” สุนีย์ ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เดอะอีสานเรคคอร์ด: อยากเห็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในอีสานในอนาคตอย่างไร
สุนีย์: ขั้นแรกสุด อีสานจะต้องไม่ถูกแบ่งแยกว่าเป็นอีสานที่ด้อยคุณค่าหรือด้อยความรู้ความสามารถ ต้องได้รับการยอมรับว่า เป็นฐานใหญ่ของเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะคนต่ำต้อยในสังคมขนาดไหนก็ตามต้องได้รับการยอมรับ
ทัศนคติที่เคยมองอีสานแบบไม่เข้าใจหรือดูถูกเหยียดหยาม จะต้องได้รับการปรับเปลี่ยน สิ่งที่ต้องแก้แน่นอนคือ เราจะต้องทำให้การต่อสู้ของชาวอีสานได้รับการยอมรับ ได้รับการแก้ไข เรื่องนี้เป็นหัวใจ เพราะมันจะได้รับการพิสูจน์เป็นรูปธรรมว่า คุณยอมรับในสิ่งที่เป็นตัวตนของชาวบ้าน
ในอนาคตต้องกระจายอำนาจใหม่ ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพราะอำนาจรัฐส่วนกลางยังสูงมาก ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาของอีสานหรือภาคใดก็ตามไม่ได้ชัดเจน ถ้ายังไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงจากการกระจายอำนาจที่มีตัวตนจริงและนำมาสู่โครงสร้าง งบประมาณ การจัดการเงินที่ควรให้อีสานมีอิสระในการจัดการ เช่น จังหวัดจัดการตนเองหรือแม้แต่การแก้ไขกฎหมายบางฉบับที่ให้ อบต. เทศบาล มีความสามารถในการแสดงศักยภาพมากกว่านี้ เพราะมาจากการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ต้องทำควบคู่กับการปรับให้เทศบาล อบต. หรือแม้แต่จังหวัดจัดการตนเอง ถ้าจะเกิดขึ้นได้จะต้องนำมาสู่หลักการที่เรียกว่า ชุมชนจะต้องสามารถตรวจสอบ มีส่วนร่วมกับท้องถิ่นอย่างจริงจัง ไม่ใช่กระจายอำนาจมาโดยที่ชุมชนยังไม่เข้มแข็ง อย่างนั้นจะไม่มีประโยชน์และกลายเป็นจุดขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะทางนี้ก็คิดว่าตัวเองมีอำนาจเต็ม
ขณะเดียวกัน ต้องสร้างคู่ขนานให้ได้ว่า ตัวแทนของชุมชน องค์กรชุมชน ทั้งที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ต้องได้รับการยอมรับ ทั้งนี้ ก็จะต้องทำให้ตัวหลักของรัฐธรรมนูญที่บอกถึงสิทธิชุมชนและการกระจายอำนาจ
ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องคู่ขนาน แต่หมายถึงบางอย่างต้องร่วมกัน เช่น สิทธิการร่วมตัดสินใจในการวางแผนตำบล การวางแผนจังหวัด หรือกระทั่งการจัดการฐานทรัพยากร รวมทั้งการถอดถอน การตรวจสอบอย่างจริงจัง
ขณะเดียวกัน ก็นำไปสู่การที่ชาวอีสานต้องตรวจสอบและใช้อำนาจของชุมชนตรวจสอบส่วนกลางด้วย ไม่ใช่ตรวจสอบแต่ทางอีสานเท่านั้น ต้องตรวจสอบส่วนกลางอย่างเข้มข้นด้วย
เดอะอีสานเรคคอร์ด: มีความหวังแค่ไหน
สุนีย์: ส่วนตัวเชื่อในสัจธรรมบางอย่าง คือ เรามองดูเหมือนเป็นเรื่องน่าเบื่อมาก เหมือนการต่อสู้ของชาวบ้านมันซ้ำซากจำเจ มันดูเหมือนรุงรัง มันแก้ไขลำบาก ถ้าเราสังเกตจริงๆ มันมีความก้าวหน้าเป็นระยะๆ อย่างง่ายๆ คือ ผู้คนตื่นตัวมากขึ้น เราก็เชื่อมั่นว่า การแก้ไขสิทธิมนุษยชนได้มากที่สุดคือ ประชาชนต้องเข้าใจสิทธิของตัวเองและลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง ไม่ใช่รอใคร