สโลแกนที่ว่า “เป็นผู้นำความบันเทิงสู่การเมืองไทย” แล้วต้องแลกด้วยการถูกจับตัวเข้าค่ายทหารนับครั้งไม่ถ้วน และมีตำรวจคอยติดตามตัวในระยะกระชั้นชิด ความบันเทิงนั้นอาจไม่สร้างความหรรษาสำหรับผู้ถูกกระทำนัก
หทัยรัตน์ พหลทัพ ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ดนั่งคุยกับ “สมบัติ บุญงามอนงค์” ผู้ก่อตั้งพรรคเกียนและอดีตแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงถึงการใช้ชีวิตหลังรัฐประหาร 2557 และอนาคตของคนเสื้อแดง ท่ามกลางพงหญ้าและซากปรักหักพังของบ้านน้ำท่วมที่รอวันซ่อมแซมใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
เดอะอีสานเรคคอร์ด: ขบวนการเสื้อแดงตายหรือยัง
สมบัติ: (นิ่ง) เหมือนถูกไฟป่าผลาญเผา ดูแล้วเหมือนจะราบเรียบ หมายความว่า มันเกรียมแต่คุณต้องรอฝนก่อน (หัวเราะ) ตายจริงหรือไม่ต้องรอดูช่วงฝนตก ถ้าเงื่อนไขมันได้ แล้วดูว่า คนเสื้อแดงเหล่านั้นเขาจะยังฟื้นขึ้นมาได้หรือเปล่า
ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา “ภาวะบาดเจ็บ” สูงมาก บางคนก็ตระหนักต่อการเคลื่อนไหวในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า อยู่อย่างยากลำบาก ถามว่า ตายไหม ส่วนตัวผมคิดว่า ยังไม่ตาย
เดอะอีสานเรคคอร์ด: หลังรัฐประหารคุณสมบัติถูกกระทำหลายอย่าง อะไรที่คิดว่า การกระทำนั้นเป็นการทรมานที่สุด
สมบัติ: ตอนที่พลเอกประยุทธ์ (จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช.) อายัดบัญชีผม แล้วมีนักข่าวไปถามว่า เมื่อไหร่จะยกเลิกการอายัดบัญชีผม พล.เอก.ประยุทธ์บอกว่า ไม่รู้จักผม (หัวเราะ) อันนั้นผมโกรธมาก เพราะเขาเป็นออกคำสั่งอายัดบัญชีผม แต่เขาไม่ปลดบัญชีผม
โดยรวมแล้วผมคิดว่า ตั้งแต่ตอนเขาไล่ล่าผม การนำกำลังตำรวจ ทหารไปควบคุมตัวผม จับกุมผม จับผมไปขังไว้ในค่ายทหาร หรือกระบวนการยัดข้อหาต่างๆ นั่นก็เป็นกระบวนการที่ผมรู้สึกไม่พอใจทั้งนั้น
เดอะอีสานเรคคอร์ด: คิดว่า ตัวเองถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนไหมคะ
สมบัติ: รู้สึก แม้แต่ตอนนี้ก็ยังรู้สึกนะ (หัวเราะ) ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตย
เดอะอีสานเรคคอร์ด: อยากจะฟ้องร้องกลับในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนไหมคะ
สมบัติ: จะฟ้องใคร (ถามกลับทันที) ฟ้องใคร กรรมการสิทธิ์เหรอ หรือฟ้องใคร
เดอะอีสานเรคคอร์ด: ฟ้องหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้หรือองค์กรระหว่างประเทศ
สมบัติ: ไม่ๆ ผมไม่คิดว่า ต้องฟ้องใคร ผมคิดว่า ประชาชนสำนึกได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ผมคนเดียวที่ถูกละเมิดสิทธิ์นะ ผมคิดว่า ทุกคนเข้าใจสถานการณ์นี้ หลายคนตกอยู่ในสถานการณ์เหมือนๆ กัน เพียงแค่หนักเบาแตกต่างกันเท่านั้น
เดอะอีสานเรคคอร์ด: การที่ถูกไล่ล่าทำให้กลัวจนคิดว่า ในอนาคตจะออกมาเคลื่อนไหวไหมคะ
สมบัติ: ก็…มันมีความลำบากอยู่พอสมควร ต้องยอมรับนะ การที่คุณมีคดีความ การที่คุณเงินถูก freeze (แช่แข็ง) ถูกตำรวจติดตามตัวเวลาไปเวทีไหนหรือแม้กระทั่งที่ทำงานก็มาปรากฏตัว มาหาข่าว มารบกวนอยู่ตลอดเวลา มันก็ทำอะไรลำบาก ด้านหนึ่งก็ลำบาก ด้านหนึ่งก็รำคาญ (หัวเราะ) มีทั้งรำคาญและลำบาก

“เราจะต่อสู้กันทางความคิดภายใต้กรอบประชาธิปไตยเท่านั้น” สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งพรรคเกียนและอดีตแกนนำวันอาทิตย์สีแดง
เดอะอีสานเรคคอร์ด: คนเสื้อแดงส่วนใหญ่หรือแม้กระทั่งชาวบ้านไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหว เป็นเพราะเขาคิดแบบเดียวกันไหม
สมบัติ: เอ่อ…ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่รอเงื่อนไข ถ้าออกมาตอนนี้ไม่รู้จะจัดการอย่างไร เพราะเราเคยเคลื่อนไหวใหญ่กว่านั้น เคยทำได้มากกว่านั้นก็ยังไม่สามารถล้มล้างหรือต่อกรเขาได้ ดังนั้นมันเป็นเรื่องของการทบทวน
ถ้าคุณเอาหัวไปชนกำแพงแล้วคิดว่า คุณไม่สามารถทำให้กำแพงล้มได้ แล้วคุณเอาหัวไปชนกำแพงอีกครั้ง มันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกัน
ถามว่า การที่เราไม่เอาหัวไปชนกำแพงหมายความว่า เราไม่พยายามลบล้างอุปสรรคเหล่านี้หรือไม่ ก็คงไม่ใช่ แต่ว่า เรากำลังหาวิธีการที่จะมุดหรือข้ามกำแพง หรือเปิดประตูเข้าไปอย่างไรหรือมีกุญแจอะไรให้เราเข้าไป โดยเปลี่ยนผ่านจากสังคมไม่เป็นประชาธิปไตยสู่สังคมเป็นประชาธิปไตยได้
เดอะอีสานเรคคอร์ด: ประชาธิปไตยที่อยากเห็นเป็นแบบไหนคะ
สมบัติ: ที่สุดเลย ผมคิดว่า คนในสังคมไทยยอมรับในกติกานี้ แม้ว่า เราจะมีความเห็นต่างกัน เราก็สู้ภายใต้กรอบหรือกติกาหรือโดยวัฒนธรรมประชาธิปไตย อันนี้ คือ สิ่งที่ผมอยากจะเห็น
เพราะผมเชื่อว่า ถ้าสังคมเกิดฉันทามติในเรื่องว่า เราจะเลือกในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ผู้มีอำนาจ ถ้าไม่มีประชาธิปไตยเขาอยู่ไม่ได้ เขาไม่ได้รับโอกาสที่จะอยู่หรือเข้ามาอยู่ได้ไม่นาน แล้วก็ออกไป สังคมเรายังไม่มีฉันทามติขนาดนั้น น่าเสียดาย
เดอะอีสานเรคคอร์ด: แล้วมีความหวังแค่ไหน
สมบัติ: เอ่อ…มันเป็นเรื่องของการเรียนรู้ ผมเชื่อว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเรียนรู้ได้ เพียงแต่ว่า เราจะใช้เวลานานแค่ไหน มันน่าแปลกใจว่า เรามีประสบการณ์จำนวนมากแล้วว่า การที่เราเปิดโอกาสให้ทหารเข้ามามีอำนาจทางการเมืองมันทำให้ประเทศถดถอย
มันไม่ใช่การแก้ไขปัญหา ผมเรียนรู้เรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2534 แล้ว แต่ยังมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมรับการเรียนรู้นี้ ต้องรอให้พวกเขาได้รับการเรียนรู้นี้และกลับมายืนบนหลักประชาธิปไตย เมื่อเรามีความเห็นแตกต่างหรือขัดแย้งกัน เราจะต่อสู้กันทางความคิดภายใต้กรอบประชาธิปไตยเท่านั้น