ภานุพงศ์ ธงศรี เรื่อง

ตะวันออกกลาง เป็นพื้นที่ได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านตึงเครียดขึ้น 

หลายคนกังวลว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบกับนานาประเทศจนขยายกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่

แค่นั้นยังไม่พอช่วงนี้ทุกคนรู้ว่าเศรษฐกิจไม่ดี เงินบาทแข็งค่า การจ้างงานลดลงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศโดยรวม ทั้งด้านที่เป็นผลดีและด้านที่ก่อผลเสีย คนรากหญ้าก็ต้องดิ้นรนกันไปเพื่อความอยู่รอด 

บทความนี้ไม่ได้ชวนหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้นหรอกครับ แต่อยากสะท้อนภาพของการต่อสู้ดิ้นรนของคนที่แกร่ง อดทน โดยเฉพาะคนอีสานเพื่อให้มีกำลังใจในการสู้งานต่อไป ผมจึงนำกลอนลำและบทเพลงที่เป็นมุมมองสะท้อนการขายแรงงานของคนอีสานมาเขียนแบ่งปันกันอ่านครับ

นครเมกกะ (Mecca) ของประเทศซาอุดิอาระเบีย ภาพถ่ายจาก GLady

ก่อนอื่นเราต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปี 2513 คนที่อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ เริ่มเดินทางไปทำงานในประเทศที่มีรายได้สูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าน้ำมัน (OPEC) ในตะวันออกกลาง เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย คูเวต กาตาร์ ลิเบีย อิรัก อิหร่าน สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ โดยเฉพาะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525 – 2529)  ที่ส่งเสริมให้คนไทยไปขายแรงงานต่างแดนแล้วส่งเงินกลับมาประเทศ และแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทล้าหลังเพื่อให้คนในชนบทอยู่ในฐานะพออยู่ – พอกิน 

ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่ได้รับการจัดตามองมากที่สุด จากการประชาสัมพันธ์และข่าวสารของการเดินทางเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ทำให้คนอีสานมุ่งหน้าหาทางเพื่อที่จะไปทำงานในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศซาอุดิอาระเบีย

การเดินทางไปซาอุดิอาระเบีย ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่ได้มีทุนทรัพย์หรือทรัพย์สินที่เพียบพร้อม การเดินทางไปต่างแดนด้วยมุ่งหวังเพื่อการแสวงโชคและสร้างฐานะให้กับครอบครัว ถือว่าเป็นการขายแรงงานต่างแดนของชาวอีสานครั้งใหญ่ก็ว่าได้ 

สังเกตผ่านกลอนลำและบทเพลงที่หลากหลาย ได้รับการผลิตออกมาจนขายดิบขายดี สะท้อนมุมมองทั้งด้านดี ด้านบวก ทั้งความผิดหวังจากการโดนหลอก พรรณนาเล่าเรื่องการทำงาน ความรักความคิดถึงและความน้อยใจ ถ่ายทอดผ่านสื่อบันเทิงให้คนได้เสพและบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่น่าสนใจทีเดียว

พรรณนาเล่าเรื่องการทำงานในต่างแดน 

การเคลื่อนย้ายของคนจากที่หนึ่ง ไปยังอีกที่หนึ่ง โดยจุดประสงค์ของการเดินทางเพื่อขายแรงงานทำให้เกิดกลอนลำที่พรรณนาเล่าเรื่อง การเดินทางและการทำงาน ตั้งแต่เริ่มต้นที่ชาวอีสานส่วนมากต้องนำที่นาของตัวเองไปจำนองหรือหยิบยืมเงินจากญาติพี่น้องเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 

กลอนลำเล่าถึงความรู้สึกน้อยใจและความลำบากของการหยิบยืมเงินทำให้เราเห็นว่าระบบการเข้าถึงเงินทุนของชาวอีสานในสมัยนั้นเป็นไปได้ยากมาก ต้องกู้นอกระบบ เพราะรัฐไม่ได้จัดการให้มีการกู้ยืมในระบบ ตัวอย่างกลอนลำที่เห็นได้ชัด คือ กลอนลำคุยเขื่องเรื่องซาอุฯ ลำล่อง ชุด “คุยเขื่องเรื่องซาอุฯ” ของทองเจริญ ดาเหลา และ “ลำล่องไปซาอุดิอาระเบีย” ชุด สาวอีสานหลงกรุง ของ ทองคํา เพ็งดี

ความผิดหวังจากการโดนหลอก

การเดินทางไปประเทศซาอุดิอาระเบียไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อหวังออกเดินทางไปหาโอกาสทอง แต่กลับถูกกลุ่มนายหน้าหลอกพาไปทำงานต่างประเทศ ด้วยไม่มีสื่อให้ความรู้ กระทั่งมีกลอนลำที่คอยเตือนสติ ในกลอนลำ “ถุยซาอุ” ของ พ่อทองอินทร์  รุ่งเรือง “ซาอุดร” ของ หมอลำประหยัด นามศรี และกลอนลำ “ซาอุเป็นเหตุ” ของ รุ่งฟ้า กุลาชัย พร้อมทั้งบอกเล่ากระบวนการของมิจฉาชีพทำทีเป็นบริษัทจัดหางาน หลอกลวงเหยื่อให้สูญเงิน และที่นา

กลอนลำของ หมอลำเดชา นิตะอินทร์ หนูรงค์ ไชยภักดิ์ ใน “ลำล่องคู่ บ่ได้ไปซ้ำซาอุฯ” พร้อมทั้งเตือนสติให้คนที่เดินทางไปทำงานในต่างแดนไม่ให้ฝันเกินจริง การเดินทางไปขายแรงงานไม่ได้เป็นสวรรค์วิมาน แต่เป็นคุกทั้งทางกายและทางใจที่คิดถึงคนรัก ความลำบากที่เป็นคนรับใช้ของคนต่างชาติ เพื่อแลกเงินของเขา ไม่ได้มีความสุขเหมือนดินแดนภาคอีสาน ใน “ลำเดินซาอุ” (ซาอุ๊ก คุกขี้ไก่) ของ ส่องแสง  แรงศรี

อัลบั้มเพลงน้ำตาเมียซาอุฯ ของ พิมพา พรศิริ เพลงฮิตติดลม ทำให้พิมพาได้รับรางวัล ”ผู้ขับร้องเพลงลูกทุ่งดีเด่น” ในงาน ”กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ภาค 2” ประจำปี 2534 โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (ในขณะนั้น) และเข้ารับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

รัก คิดถึง เสียใจ และน้อยใจ

ความรัก ความคิดถึง ของคนไกลบ้าน สะท้อนผ่านกลอนลำ โดยเฉพาะจากมุมมองของกลอนลำร่วมสมัย ที่ประยุกต์จากกลอนลำธรรมดามาเป็นลำเพลิน สะท้อนการฟังของคนอีสานกลุ่มวัยหนุ่มสาวข้าวใหม่ปลามันและวัยกลางคน ในลำเพลิน “คอยอ้ายไปซาอุ” ของสุภาพ  ดาวดวงเด่น “ลำเพลินฝากใจไปซาอุฯ” ของ สุภาพ ดาวดวงเด่นลำยาว “รับจดหมายจากซาอุฯ” ของเคน  ดาเหลา “เต้ยรอรักจากซาอุ” ของเทียน มธุรส “รอรักจากซาอุ” ของหงษ์ทอง ดาวอุดร “อย่าลืมเมียซาอุ” ของบุญช่วง เด่นดวง 

สั่งเมียไปซาอุ” ของ เฉลิมพล มาลาคำ “คอยรักต่างแดน” ของ จินตหรา พูนลาภ ซึ่งมีเนื้อหาฉายภาพของการพลัดพรากจากคนรัก ฝากความคิดถึง สัญลักษณ์ที่ใช้มากที่สุด คือ ท้องฟ้า คงมาจากการที่เดินทางไปทำงานที่ซาอุฯ ต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ผู้ประพันธ์จึงใช้ท้องฟ้าแสดงถึงความรักความคิดถึงของการเดินทางที่จากกันไกล โดยเฉพาะกลอนลำของหมอลำเคน ดาเหลานั้น ใช้ภาษาได้น่าขบขันยิ่งนัก โดยเฉพาะ สำลี แห่งความรัก อยากให้ท่านผู้อ่านได้ลองฟังกลอนลำนี้แล้วจะยิ้มไม่หุบอย่างแน่นอน

หน้าปกซีดีของ ลำแพน คำฝากจากซาอุฯ ศิลปินทองมัย มาลี

นอกจากนี้ยังมีมุมมองของความเสียใจและความน้อยใจ ในกลอนลำ “เมียป๋าเพราะซาอุ” ของสมโภช  ดวงสมพงษ์ “คำฝากจากซาอุฯ” ของ ทองมัย  มาลี “เสียเมียเพราะซาอุ” ของสมาน หงษา และนวลฉวี มีลาภ “น้ำตาเมียซาอุ” ของ พิมพา พรศิริ  ส่วนน้ำตาของเมียซาอุ ของ ลาวัณย์ จันทร์เพ็ญ เป็นภาพสะท้อนของการลาจากหรือการมีใจเป็นอื่น ในมุมมองของฝ่ายชายให้ภาพของสามีเป็นคนหาเงินแล้วภรรยานอกใจ ส่วนของฝ่ายหญิงให้ภาพของฝ่ายชายมีเงินแล้วนอกใจหรือไม่เห็นคุณค่าที่รอคอยสามี เมื่อมีเงินแล้วก็ไปมีหญิงอื่น

หน้าปกต้นฉบับลำกลอน คุยเขื่องเรื่องซาอุ ลำโดย บุญช่วง เด่นดวง/ทองเจริญ ดาเหลา โดยบริษัท กรุงไทยออดิโอ จำกัด

ผลงานที่รวบรวมเรื่องราวของการเดินทางได้ดีที่สุด คือ ผลงานของหมอลำทองเจริญ ดาเหลา และบุญช่วง เด่นดวง เป็นกลอนลำวาทอุบลที่เล่าเรื่องราวพรรณนาตั้งแต่การเดินทางไปกระทั่งเดินทางกลับ

ในชุด ลำล่อง ชุด คุยเขื่องเรื่องซาอุฯ มีกลอนลำกว่า 12 กลอนลำ ประกอบด้วย ลำล่องลูกจ้างเมีย ลำล่องพ่อบักเติ่งคนดี ลำล่องซาอุดิฯ ขุมทอง ลำล่องอย่าห่วงพ่อบักเติ่ง ลำล่องได้เต่าเสียหมา ลำล่องอย่าลืมเมียซาอุฯ ลำล่องเสียงสะอื้นจากหนุ่มซาอุฯ  ลำล่องพ่อพระในดวงใจ ลำล่องสั่งแม่บักเติ่งไปซาอุฯ ลำล่องเสียงสั่งจากเมียซาอุฯ ลำล่องตามหาคุณนายตีนเปิม ลำล่องสีโต่นเซียงเลิ่มซาอุฯ

มุมมองการขายแรงงานข้ามแดนของคนอีสานผ่านกลอนลำมีหลายความรู้สึก ทั้งดีใจ เสียใจและการต่อสู้เพื่อฐานะที่ดีขึ้น

นี่คือชีวิตของคนอีสานที่ต่อสู้กับอุปสรรคปัญหา แม้มีความลำบากมากเพียงใดความสนุกสนานก็ไม่เคยร้างราจากจิตใจ แต่ได้ฉายฉากของชีวิตผ่านกลอนลำให้เราได้เห็นอยู่เสมอ แม้ใครจะดูถูกถึง อุปนิสัยที่ชี้ชะตากรรม อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็เชื่อเหลือเกินว่าคนอีสานเราไม่ยอมแพ้ต่อความอยุติธรรมและความลำบากอย่างแน่นอน

image_pdfimage_print