ภาณุพงศ์  ธงศรี เรื่องและภาพ 

สังคมประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ใครหลายคนในประเทศนี้ล้วนโหยหา การต่อสู้เรียกร้องเพื่อปรับปรุง/เปลี่ยนแปลงให้สังคมเป็นประชาธิปไตยตามอุดมคติของตนเองไม่ใช่เรื่องผิดถูก 

เพราะความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่หลักการสำคัญของประชาธิปไตยคือ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ความเสมอภาค และเสรีภาพในการดำเนินชีวิต

บอย พงศธรณ์  ตันเจริญ แกนนำกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย ประชุมเพื่อเตรียมงานแล่นลักลุง จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา

ในช่วงเย็นของวัน ผมเดินเล่นบริเวณอาคารพละศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งพื้นที่แห่งนี้มีนิสิตในรั้วมหาวิทยาลัยออกมาทำกิจกรรมกันอย่างมากมาย ทั้งเล่นกีฬา จับกลุ่มสนทนาพูดคุย และอ่านหนังสือ 

พอกวาดสายตาไปโดยรอบ ก็ต้องสะดุดตากับกลุ่มนิสิตนอกเครื่องแบบ (ไม่ได้ใส่ชุดนิสิต) กำลังคุยกันอย่างออกรส บางครั้งมีรอยยิ้ม บางครั้งดูเคร่งเครียด ผมไม่รีรอที่จะเข้าไปทำความรู้จักและร่วมวงสนทนา พอแนะนำตัวเสร็จ ผมจึงทราบว่านิสิตกลุ่มนี้คือ กลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย มีผู้นำในการขับเคลื่อนกิจกรรมคือ พงศธรณ์  ตันเจริญ หรือ บอย เป็นคนคอยสรุปประเด็นในการพุดคุยและวางแผนก่อนกิจกรรมจะเริ่มขึ้น

กิจกรรมสำคัญของกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย คือ กิจกรรม “แล่นลักลุง มหาสารคาม” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2563 เวลา 05.00 – 09.30 น. ที่ผ่านมา โดยนัดรวมกันที่บริเวณหอนาฬิกาเมืองสารคาม – ห้างเสริมไทยคอมเพล็กซ์ ก่อนเริ่มออกวิ่ง

การพูดคุยครั้งนี้เป็นการแบ่งหน้าที่บริหารจัดการในวันงานที่จะเกิดขึ้น ประเด็นสำคัญที่ดูเหมือนสมาชิกในกลุ่มคำนึงถึงคือ ความสะอาดเรียบร้อยของพื้นที่หลังจัดกิจกรรมและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แบบสันติวิธี 

ผมขอโอกาสนั่งฟังบทสนทนาของกลุ่มไปเรื่อย ๆ กระทั่งบทสนทนาในวงประชุมจบลง จึงได้ชวนบอยและเพื่อนสมาชิกกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตยแสดงความคิดเห็นร่วมกัน

สมาชิกกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตยกำลังร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดงานแล่นไล่ลุง จ.มหาสารคม

ผมถามเขาว่า “กลุ่มนี้มีความเป็นมาอย่างไร ตั้งขึ้นเพื่ออะไร”

บอยเงียบไปครู่หนึ่ง จากนั้นจึงเล่าถึงความเป็นมาของกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตยด้วยสายตามุ่งมั่น 

“จุดประสงค์ในการตั้งกลุ่มนี้คือ เพื่อรวมคนที่สนใจการเมืองรักประชาธิปไตย ตอนตั้งขึ้นมาครั้งแรก ยังไม่มีปรากฏการณ์ทางการเมืองเป็นกระแสเหมือนช่วงนี้ เป็นการรวมกลุ่มเพื่อทำงานกันเล็กๆ ในช่วงที่ผ่านมาที่เป็นภาวะตึงเครียดของการเมือง” 

เราจึงถือโอกาสเคลื่อนไหว ครั้งแรกคือ การประท้วงที่ลานแปดเหลี่ยมพร้อมกับแฟลชม็อบที่กรุงเทพฯ จากตรงนั้น ผมคิดว่า เราน่าจะรวมตัวกันเพื่อให้ไปได้ไกลกว่านี้ เราจึงรวมตัวกันทำกิจกรรมขึ้นมา แม้ไม่ได้รับความร่วมมือและถูกขัดขวางหลายทาง แต่ผมเชื่อในศักยภาพของคนในท้องถิ่นว่าไม่ได้หูหนวกตาบอด 

กลุ่มเราจึงมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนทางสังคม สู้เพื่ออุดมการณ์ของประชาธิปไตย เป็นพื้นที่สำหรับคนเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมือง” เขากล่าวอย่างมั่นใจ ก่อนมองไปดูสมาชิกที่นั่งอยู่รอบ ๆ ผมรู้สึกค่อนข้างเกรงใจเพราะเกรงว่าพวกเขามีประเด็นอื่นที่จะต้องพุดคุยภายในกลุ่มอีก แต่เมื่อไม่เห็นเขาพูดอะไรต่อ ผมจึงไม่รีรอที่จะถามคำถามต่อมา

หลังจากนิ่งฟัง ผมจึงถามเหมือนคนทั่วไปว่า “ไม่กลัวเหรอที่จัดตั้งกลุ่มและเคลื่อนไหวกิจกรรมในช่วงนี้ เพราะหน่วยงานความมั่นคงจับตาและติดตามความเคลื่อนไหว” 

บอยรีบตอบทันทีว่า “ผมคิดว่า ชีวิตผมเกิดมาครั้งหนึ่ง การที่เราจะมากลัวตาย เป็นเรื่องที่ไม่ควรกลัวขนาดนั้น ส่วนตัว ผมเคยผ่านการกดดันจากผู้มีอำนาจมาเยอะ ทั้งในวัยมัธยม ผมก็โดนครูเพ่งเล็ง โดน ผอ. เพ่งเล็งมาอยู่แล้ว ตรงจุดนี้มันทำให้ผมคิดว่า การที่เราโดนกดดันเพียงแค่นี้ ถ้าเรายอม เราก็จะยอมต่อไปเรื่อยๆ 

สิ่งสำคัญ เราอย่ายอมคนแค่หยิบมือ เราต้องสู้ จาก 10 เป็น 20 มันจะกองเป็นร้อยเป็นพันไปเรื่อยๆ ชนะไปเรื่อยๆ เป็นแรงผลักดันให้ชีวิตเราก้าวหน้าไปเรื่อย การเดินทาง การเคลื่อนไหว จะทำให้เราจะเจอผู้ร่วมอุดมการณ์สู้ไปเป็นองคาพยพ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่กลัว ไม่มีความกังวลเลยด้วยซ้ำ”

บอย พงศธรณ์  ตันเจริญ อธิบายถึงการจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย

เขากล่าวจบแล้วนิ่งไปสักครู่ จากนั้นผมจึงถามต่อด้วยประเด็นที่น่าสนใจว่า เมื่อไม่มีความกังวลในการเคลื่อนไหว แล้วภัยคุกคามเคยรบกวนเขาหรือไม่

“ผมถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ เคยไปหาผมถึงบ้าน แต่ผมไม่กลัว เพราะผมต้องการทำให้คนตื่นตัว โดยเฉพาะคนที่เรียนวิทยาลัยการเมืองควรมาสนใจการเมืองด้วย ไม่ใช่แค่อยู่กับตำรับตำราอย่างเดียว แล้วมุ่งหน้าไปเป็นข้าราชการอย่างเดียว อย่าลืมว่า คุณเป็นข้าราชการ คุณก็ต้องรับใช้สังคม และมีความเป็นพลเมืองด้วยเช่นกัน” บอยตอบ

คุยมาถึงตรงนี้ บอยบอกอย่างชัดเจนว่าเคยถูกคุกคามหลายรูปแบบ ผมจึงสงสัยถึงบทบาทอาจารย์และบรรยากาศในมหาวิทยาลัยว่าคุกคามเขาด้วยหรือไม่ 

อาจารย์ส่วนใหญ่ที่ผมพบเจอค่อนข้างเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวนะครับ อาจารย์หลายคนที่ผมรู้จักมองว่า การแสดงออกเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ เพราะเราไม่ได้ไปล่วงละเมิดหรือฆ่าใคร เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติที่เราจะแสดงออก 

อาจารย์ส่วนมากค่อนข้างหัวก้าวหน้า ต้องการเห็นเมืองไทยเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่า อาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็รู้ว่ามันมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง และอยู่ในภาวะที่เสรีภาพทางวิชาการลำบาก มหาวิทยาลัยเป็นเสรีภาพทางความคิด ถ้าอาจารย์ขัดขวางนิสิต มันยากที่จะเกิดกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ และตัวนิสิตเองก็ยากต่อการพัฒนาตัวเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญครับ การจัดกิจกรรมที่ผ่านมา หลายครั้งอาจารย์ก็คอยให้คำแนะนำ แต่งานนี้เกิดขึ้นด้วยแรงผลักดันของนิสิตในกลุ่มของเราเองครับ”

ในมุมนี้ทำให้ผมทราบว่า จริงๆ แล้ว มหาวิทยาลัยยังไม่ได้มีความเป็นเสรีภาพทางวิชาการเสียทีเดียว เพราะยังมีคนเข้าใจและรับรู้สภาพปัญหา เพียงแต่จะกล้าพูดหรือไม่กล้าเพียงแค่นั้น 

ผมจึงถามถึงการต่อรองจากสภาพที่ถูกคุกคามว่า มีวิธีการเจรจาหรือต่อรองอย่างไร หากเจอสถานการณ์ที่ถูกคุกคาม”

ในความคิดผม มันจะใช้ Hard Power (ไม้แข็ง) อย่างเดียวไม่ได้ เราต้องใช้ Soft Power (ไม้อ่อน) ไปพร้อมกัน ผมอาจต้องเจรจากับกลุ่มที่มาขัดขวาง หรือกลุ่มที่ไม่หวังดีต่อกิจกรรม ต้องใช้การเจรจา ถ้าเขาไม่พอใจ ก็ต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจว่างานของเรานั้นเป็นงานที่ใช้สันติวิธี ไม่มีอาวุธ ไม่มีการใช้ความรุนแรง เราใช้พื้นที่สาธารณะในการแสดงออก ซึ่งมันทำได้ สิ่งที่ผมทำจึงต้องอยู่บนหลักการเจรจา 

ผมเชื่อมั่นว่า การเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือมือที่สามก็ตาม แต่ถ้ามันเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เราต้องพูดคุยกับทีมเพื่อให้กิจกรรมเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยวิถีของสันติวิธี”

บรรยากาศการประชุมของสมาชิกกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย บริเวณข้างสนามกีฬาของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เป็นไปอย่างเคร่งเครียด 

หลังบอยกล่าวจบลง ผมไม่รีรอที่จะถามถึงประเด็นคนรุ่นใหม่กับการเมืองไทย ว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรบ้างในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่

“ผมว่ามันไม่จริง คำพูดนี้เป็นวาทกรรมที่สร้างมาด้วยการพยายามบอกว่า คนรุ่นใหม่ขี้เกียจ ไม่สนใจในปัญหาตัวเอง คิดดูสิครับว่า คนรุ่นใหม่เปิดโทรศัพท์ขึ้นมา แต่ละคน เขาตามข่าวอะไรบ้าง คุณจะเห็นเลยว่า หนึ่งในนั้นคือข่าวการเมืองของสำนักใดสำนักหนึ่ง” 

ผมถามต่ออีกว่าสังคมออนไลน์มันจะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ในภาพกว้างได้อย่างไร

เฟซบุ๊กหรือสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน ทุกคนเป็นเจ้าของ สื่อโลกออนไลน์มันเร็วกว่าโลกสมัยก่อน ทำให้คุณติดตามข่าวสารได้อย่างรวดเร็วหรือดูจากการแสดงออกหลายครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะคนที่เกิดหลังศตวรรษที่ 20 ยิ่งเห็นการเปลี่ยนแปลงในเมืองไทยหลายอย่าง 

เกิดมาไม่นานก็เจอเหตุการณ์เครื่องบินชนตึก เกิดการรัฐประหาร การชุมนุมเสื้อแดงเสื้อเหลือง การสลายม็อบ ผมเชื่อมั่นว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้นิ่งเฉย มีความตื่นตัวสูง หากได้อยู่ในพื้นที่เหมาะสมที่มีการส่งเสริมประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่จะเป็นกลุ่มคนที่สร้างสรรค์การเมืองไทย” 

บอยกล่าวด้วยน้ำเสียงชัดเจน ผมจึงอยากทราบถึงพลังที่เกิดขึ้นกับตัวเขาว่าจะลุกโชนได้นานขนาดไหน จึงถามไปว่า จะทำกิจกรรมไปอีกนานแค่ไหนและในระยะยาวต้องการจะขับเคลื่อนการทำกิจกรรมอย่างไร”

การจัดกิจกรรมของผมก็จะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดลมหายใจ วันไหนผมหมดแรงก็คงจะไม่จัด แม้จะโดนกดขี่คุกคามอย่างไรก็ตาม เพราะมันขับเคลื่อนมาจากแรงบันดาลใจในวัยเด็กของผมที่ได้ไปทำงานกับพ่อ เห็นสภาพของชนบทและสภาพในเมืองมันต่างกันมาก โดยเฉพาะกาฬสินธุ์ ในสมัยนั้นเมื่อเทียบกับเมืองหลวงมันต่างมากเลย 

ผมจึงเกิดความสงสัยว่า เมืองไทยทำไมไม่สามารถพัฒนาชนบทให้เท่าเทียมกับคนในเมืองได้ ทำไมคนในเมืองถึงได้อะไรมากกว่าคนชนบท ทำไมคนชนบทต้องเดินทางออกไปหารายได้ในเมืองหลวง ผมคิดว่า มันเป็นความเหลื่อมล้ำในสังคม สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ คนชนบทก็รู้สึกว่าตัวเองสู้คนในเมืองไม่ได้ คนในเมืองก็ไม่เข้าใจคนชนบท ผมจึงต้องการให้คนชนบทและคนในเมืองมีความเข้าใจและเห็นใจกันมากขึ้น”

เขาตอบด้วยสายตามุ่งมั่นและกล่าวจบด้วยประเด็นที่น่าสนใจ ทำให้ทราบถึงแรงผลักดันที่ต้องการพัฒนาบ้านเมืองและชนบทอีสานให้มีความเจริญก้าวหน้า ทั้งทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และคมนาคม พร้อมกันนี้ยังทำให้ผมหวนนึกถึงนิสิตนักศึกษาในอดีตที่มีความตื่นตัวทางการเมือง ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับปัจจุบันยังถือว่ามีนิสิตนักศึกษาน้อยมากที่จะมาสนใจการแสดงออกทางการเมืองอย่างจริงจัง

image_pdfimage_print