มาโนช  พรหมสิงห์ เรื่อง

วารสารชายคาเรื่องสั้นรายปี สิ้นลมจากไปในเล่มลำดับที่สี่เมื่อปี 2556 (ค.ศ. 2013) ขณะที่สังคมไทยในทศวรรษ 2550 ยุ่งเหยิง/ตกต่ำเพราะความแตกแยกทางความคิดของผู้คน ท่ามกลางเสียงก่นด่าประณามทั้ง hate speech และ hate crime 

แว่วเสียงเพรียกหาการรัฐประหารจากกองทัพ (มีปรากฏการณ์แปลกประหลาด ก็คือ เสียงหนักแน่นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตลอดมาและคนที่จิตใจถูกหล่อหลอมกล่อมเกลามาด้วยวรรณกรรมก้าวหน้ามาช้านาน) พลันก็เกิดการล้มตายของหนังสือนิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์จนแทบจะหมดเกลี้ยงไปจากแผง

ทว่ากลับมีสิ่งหนึ่ง เสียงหนึ่ง คนกลุ่มหนึ่ง ที่ช่วยกอบกู้หัวใจของผมให้ฟื้นขึ้นมามีชีวิตชีวา หลุดพ้นความหดหู่เหลือทนของชีวิต จากภาวะพินาศและความดำมืดของประเทศชาติจากการรัฐประหารปี 2557 มาได้

ธีร์ อันมัย กับเสนาะ เจริญพร ตัวแทนนักวิชาการก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งแห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เริ่มเปรยกับผมว่า อยากให้ “ชายคาเรื่องสั้น” ฟื้นคืนชีพกลับมามีชีวิตอีกครั้ง พวกเขาเสียดายพลวัตรที่พอมีของมัน โดยมองหาช่องทางที่จะเขียนโครงการขอเงินทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การพูดคุยกันครั้งสำคัญ ผมจำได้อย่างไม่มีวันลืม คือ ช่วงต้นปี 2557 ที่พวกเรา 3 คนเดินทางไปทำงานวิจัยเรื่องวิทยุชุมชนของอีสานเหนือที่ จ.นครพนม ซึ่งตรงกับงาน Ubon Book Fair กลางเดือนสิงหาคม 2557 ตอนนั้นได้นั่งคุยกับที่ปรึกษาของวารสารทั้ง 3 คือ รศ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คุณไอดา อรุณวงศ์ และ อ.ไชยยันต์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

ขณะนั้นพวกเราทราบว่าโครงการของชายคาเรื่องสั้น ผ่านการอนุมัติงบประมาณจากมหาวิทยาลัยแล้ว โดยธีร์ อันมัยกับเสนาะ เจริญพร ยื่นคำขาดให้ผมมานั่งประจำทำหน้าที่บรรณาธิการเช่นเดิม ซึ่งกลุ่มก่อการในยุคแรกก็เห็นพ้องกับข้อเสนอนี้เช่นกันและผมมีข้อสังเกตดังนี้

1.เงินทุนสนับสนุนจากโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ต้องเขียนโครงการขออนุมัติแบบปีต่อปี ซึ่งพวกเราตกลงผลิตวารสารเป็นราย 6 เดือนหรือปีละสองเล่ม วางแผงให้ตรงกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ-มีนาคม และงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ-ตุลาคม (ชายคาเรื่องสั้น 5 – ชายคาเรื่องสั้น 13)

2.การที่ผมยินดีรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการคัดสรรเรื่องสั้น (แม้จะมีความวิตกกังวลอยู่ในใจว่าวันหนึ่งตนเองจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาคือ-เป็นสถาบัน)  โดยไม่เกี่ยงงอนหรือเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่ในคณะเขียนมารับหน้าที่นี้ นอกจากจะเห็นว่าเพื่อเป็นความต่อเนื่องของการทำงานแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สร้างสรรค์งานเขียนอีสานแนวใหม่อย่างเต็มที่ เต็มศักยภาพของนักเขียนหนุ่ม ซึ่งตัวผมเองนั้นพลังและวัยวารได้ผ่านเลยจุดนั้นมาแล้ว

3.ภู กระดาษเคยเล่าให้ผมฟังว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการและคนในแวดวงวรรณกรรมว่า “ชายคาเรื่องสั้น” ยุคแรกนั้น ตีพิมพ์เฉพาะนักเขียนที่เราติดต่อหรือเชิญไปเท่านั้น อาจนำไปสู่ความคับแคบของกลุ่มนักเขียนที่มีแนวคิดทางสังคมการเมืองเหมือนๆ กัน ดังนั้นในยุคที่สองผมจึงปรึกษาพูดคุยกับนักวิชาการในกองบรรณาธิการถึงคำวิจารณ์นั้น จึงมีมติให้เป็นการประกวดเรื่องสั้นอย่างอิสระ ไม่กำหนด themeและแนวเรื่อง เปิดช่องทางการสื่อข่าวคราวและรับเรื่องทาง Facebook และ E-mail โดยมอบหมายให้ ธีร์ อันมัย ทำหน้าที่เป็น admin และผมจะคอยส่งข่าวสารกับกำหนดการต่างๆ ให้

4.เพื่อให้วารสารของเราเข้ากันกับหลักการสำคัญของโครงการที่เน้นความเป็นท้องถิ่น ในปีแรก 2558 (ค.ศ.2015) เราจึงเลือกประชาสัมพันธ์ชูประเด็นเรื่องสั้นที่มีแก่นเพื่อทลายมายาคติ-โง่ จน เจ็บ อันเป็นตราประทับของคนอีสานมาช้านานและโปรยคำบนปกว่า ‘รวมเรื่องสั้นว่าด้วยอีสาน’ ซึ่งที่จริงแล้วก็มิได้เป็นกรอบกำแพงแห่งท้องถิ่นนิยมแต่อย่างใด เพราะในประกาศรับเรื่องสั้นประกวดทางFacebookกับ ‘คำตาม’ ภายในเล่ม ผมจะเขียนชี้แจงถึงการเปิดกว้างในการรับเรื่องทุกแก่น ทุกแนว ทุกเรื่องเล่าของทุกภูมิภาคเสมอ พอปีต่อมาเราก็ยุติการชูประเด็น-โง่ จน เจ็บ และข้อความ-รวมเรื่องสั้นว่าด้วยอีสาน บนปก

5.ตลอดระยะเวลายาวนานที่ผมดำเนินงาน “ชายคาเรื่องสั้น” ภายใต้โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนั้น มหาวิทยาลัย/กลุ่มนักวิชาการคณะศิลปศาสตร์ มิได้เข้ามากำกับ/กำหนดทิศทาง/ปรับเปลี่ยนแนวทางของวารสารใดๆ ทั้งสิ้น ผมทำงานอย่างมีอิสระเต็มที่ อิสระที่จะยึดแนวทางดั่งคำประกาศของคณะเขียนตั้งแต่แรกก่อตั้ง 

ที่สำคัญกลุ่มนักวิชาการคณะศิลปศาตร์ในกองบรรณาธิการยังช่วยผมทำงานอย่างกองบรรณาธิการที่แท้จริง มิใช่แค่หาเงินทุนให้แล้วก็ปล่อยให้ผมมะงุมมะงาหราอยู่คนเดียว ผู้ที่เป็นหลักคือ ธีร์ อันมัย เสนาะ เจริญพรกับราม ประสานศักดิ์(รวมถึง วิทยากร โสวัตร แห่งร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย) จะช่วยพิจารณาเรื่องสั้นร่วมกับผมเป็นบางครั้ง/การจัดหน้าหนังสือ/ตรวจปรู๊ฟ/ตั้งชื่อปก/เลือกภาพปก และทุกๆ ท่านจะแบ่งหน้าที่ในการจัดงานเปิดตัวหนังสือ การมอบรางวัลชายคาเรื่องสั้นยอดเยี่ยม การติดต่อนักเขียนนักวิชาการ/นักเขียนมาร่วมเสวนาหรือมาร่วมงาน เป็นต้น

การร่วมมือกันทำวารสารเรื่องแต่ง (fiction) ของนักเขียนกับนักวิชาการและร้านหนังสืออิสระในพื้นที่ (ฟิลาเดลเฟีย) ทั้งหมดทั้งมวลที่ผมกล่าวถึงมาข้างต้นนั้น น่าจะเป็นกรณีศึกษาและน่าจะเป็นกรณีแรกของวงการวรรณกรรมของประเทศ

6.ปีที่สองของการร่วมดำเนินงานภายใต้โครงการศิลปวัฒนธรรม เราจึงเริ่มมีเรื่องสั้นแปลจากวรรณกรรมระดับโลกเป็นภาษาลาวอีสาน (โดยใช้ตัวอักษรไทย) นักแปลผู้ที่มาประเดิมงานแปลนี้คนแรก คือ พีระ ส่องคืนอธรรม ด้วยเรื่องสั้นชื่อ ‘หน้าด่านไปเหนือ’ ของ ฆวาน รุลโฟ (นี่จึงเป็นต้นธารของรวมเรื่องสั้นแปล จากภาษาเสปนเป็นภาษาลาวอีสานชื่อ ‘ท่งกุลาลุกไหม้’ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่านเมื่อปี 2561) ที่เราริเริ่มชูภาษาพื้นถิ่นในงานวรรณกรรมขึ้นมาก็เพื่อให้คุณค่ากับความเป็นพื้นถิ่นอันหลากหลายที่หลอมรวมเป็นไทย เราจึงปล่อยภาษาถิ่นทุกภูมิภาคจากต้นฉบับไว้ 

เมื่อตีพิมพ์อาจสร้างความปั่นป่วนให้กับภาษาไทย ทว่างานแปลนั้นเราอยากให้ความเป็นพื้นถิ่น (ลาวอีสาน) ยืนเผชิญหน้าอย่างทัดเทียมกับโลกสากล โดยไม่จำเป็นต้องผ่านไทยกลางและเราก็ปล่อยคำหยาบออกมาโดยไม่ปิดกั้น เช่น ค_ย เป็นต้น แต่ที่สุดแล้วในเล่มที่สองของปี 2561 (ชายคาเรื่องสั้น 11) เราก็ยกเลิกงานแปลในเล่มไป เพื่อตัดปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นก็ได้

7.นอกจาก วิทยากร โสวัตร จะเข้าร่วมปรึกษาหารือกับกองบรรณาธิการแล้ว ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียของเขายังเป็นสถานที่จัดงานภาคกลางคืนของงานอันเกี่ยวเนื่องกับ “ชายคาเรื่องสั้น” ทุกครั้ง

8.ต้นฉบับที่ส่งเข้ามาประกวดในแต่ละงวดนั้น มาจากทุกภูมิภาค บางครั้งมาจากต่างประเทศ แนวเรื่อง (genre) มีหลากหลายทุกแนว ทั้ง สุขนาฏกรรม โศกนาฏกรรม โรมานซ์และเรื่องล้อเลียน ช่วงหลังมีเรื่องของเพศสภาพ (gender) เพศวิถี (sexuality) หรือที่เรียกว่านิยายวาย (y) เพิ่มเข้ามาด้วย

ส่วนหนึ่งของนิตยสารชายคาเรื่องสั้น ซึ่งเป็นนิตยสารราย 6 เดือน

ผมจะนั่งอ่านคนเดียว บางเรื่องต้องอ่านหลายรอบ แก้คำผิดไปด้วย แล้วเขียนคำแนะนำ/คำวิจารณ์ไว้ที่หน้าแรกของต้นฉบับ บางเรื่องที่ยากซับซ้อนหรือเป็นเรื่องทางศาสนา ผมจะให้ธีร์ อันมัย/เสนาะ เจริญพร ช่วยอ่าน แล้ววิพากษ์วิจารณ์กัน ก่อนจะเขียนคำแนะนำ/คำวิจารณ์

ครั้นคัดสรรได้ตามจำนวน คือ 12-13 เรื่องต่อเล่ม ผมจะอ่านต้นฉบับนั้นอีกครั้ง เพื่อจัด concept ของเล่ม จากนั้นจึงจะตั้งชื่อปก ปีแรกผมตั้งชื่อเองคนเดียว ต่อมาจึงร่วมกับ ธีร์ อันมัย ตั้งชื่อปก โดยยึดตามแก่นเรื่อง (theme)โดยรวมและชื่อเรื่องสั้นบางเรื่องที่ชนะการประกวดได้ตีพิมพ์ในเล่มและร่วมกันคิดคำอุทิศแล้ว ผมจะกลับมานั่งเขียนคำตาม (ซึ่งจะเฟ้นหาเนื้อหาของวรรณกรรมขึ้นหิ้งที่เข้าได้กับชื่อปก นำเนื้อหานั้นมาโปรยบนคำตาม) สุดท้ายคือการเขียนคำนำ

ส่วนธีร์ อันมัย กับเสนาะ เจริญพร จะเดินทางไปหา พร อันทะ เพื่อช่วยกันจัดหน้า พร้อมกับหาคนมาวาดภาพปกกับภาพประกอบ ขณะที่ผมเริ่มนำคำแนะนำ/คำวิจารณ์ซึ่งเขียนไว้ในต้นฉบับทุกชิ้น มาเขียน postcard ถึงนักเขียนทุกคน เขียนทุกวันแล้วทยอยส่ง บางครั้งนานเป็นเดือนจึงเขียนแล้วเสร็จทั้งหมด 

ผมทำเช่นนี้ด้วยแนวคิดของคณะเขียนทั้งกลุ่มที่ว่า งานวรรณกรรมจะพัฒนาก็ด้วยส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ คำแนะนำอย่างจริงจังจริงใจจากบรรณาธิการกับนักเขียนรุ่นใหม่ทุกคนต่างต้องการคำบอกเล่าจากบรรณาธิการว่า ได้อ่านงานเขียนของตนหรือไม่ อ่านแล้วมีความเห็นเป็นอย่างไร ผ่าน ไม่ผ่าน ต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรบ้าง ส่วนจะทำตามแค่ไหนเพียงไรก็แล้วแต่วิจารณญาณของนักเขียนแต่ละคน 

ผมรู้ว่า แค่ postcard แผ่นเดียว มันบอกอะไรที่เป็นสาระเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้หรอก แต่ผมก็ทำเพื่อจะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ที่ก้าวเดินบนเส้นทางเดียวกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่หน้ากระดาษจะเอื้ออำนวยแม้จะสื่อแบบโบราณแต่มันจับต้องได้ ไม่ได้อวดรู้ อวดภูมิปัญญาแต่มันร้อยความผูกพันในฐานะมิตรสหายในชุมชนเล็กๆ ให้แน่นแฟ้น อบอุ่น ไม่เปลี่ยวเหงาอ้างว้าง จากการทำงานอันเป็นที่รักเหมือนกัน ณ ที่อันไกลแสนไกลจากกันและเราได้รับการสนับสนุนอนุเคราะห์ postcard กับแสตมป์จาก ภาณุพงษ์ คงจันทร์ ณัฏฐินา ไชยกาล เป็นหลักตลอดเวลายาวนาน บางครั้งจะมีนักเขียนมากน้ำใจส่งแสตมป์ที่เคยสะสมไว้มาให้

ขณะการเขียนจดหมายถึงนักเขียนยังดำเนินอยู่ ธีร์ อันมัย จะนำต้นฉบับจากการจัดหน้าทั้งเล่มมาสำเนาแจกจ่าย เสนาะ เจริญพร ราม ประสานศักดิ์ กับผมช่วยกันตรวจปรู๊ฟเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะส่งต่อให้คุณไอดา อรุณวงศ์ สำนักพิมพ์อ่านส่งเข้าโรงพิมพ์ในที่สุด

9.ในรอบปีที่ต้องจัดพิมพ์วารสารสองเล่มจะมีเรื่องสั้นชนะการประกวดผ่านตีพิมพ์ 24-26 เรื่อง พวกเราจะเลือกเรื่องที่ดีที่สุดมอบรางวัลชายคาเรื่องสั้นยอดเยี่ยมประจำปีให้ผู้ที่ทำหน้าที่พิจารณา/ลงคะแนน หลักๆ จะเป็นที่ปรึกษาของวารสารทั้ง 3 ท่าน กับผม-ในฐานะบรรณาธิการ/เสนาะ เจริญพร/ธีร์ อันมัย/ภู กระดาษ/วิทยากร โสวัตร บางปีจะมีนักวิชาการบางท่านในกองบรรณาธิการเพิ่มเติมเข้ามา

หากวารสาร “ชายคาเรื่องสั้น” พอจะมีชื่อเสียง มีมาตรฐานในการคัดสรรเรื่องสั้น เป็นที่เชื่อถือยอมรับได้ และมีคนตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใด คำตอบที่รู้และพอจะตอบได้ ก็คือ…ไม่ใช่เพราะคณะที่ปรึกษา/บรรณาธิการ/กองบรรณาธิการ แต่เป็นเพราะมิตรภาพและการทำงานหนักของพวกเรานั่นเอง

พวกเรายังเชื่อมั่นในอำนาจวรรณกรรมที่มีต่อผู้คนในสังคม เชื่อมั่นว่า นักเขียน กวี นักอ่านและหนังสือไม่มีวันตาย

สภาวะทางสังคมการเมืองทั้งปี 2553 กับ 2557 มีส่วนผลักดันให้พวกเราถือกำเนิดทั้งสองยุค ผลักดันให้เราอยากบอกเล่าถึงตัวตนในภาวะแห่งการบีบคั้น การกดข่มประชาชนเยี่ยงนี้มันทำให้เราอยากส่งเสียงและบันทึกทุกสิ่งไว้ในรูปแบบของเรื่องแต่ง บันทึกด้วยวรรณศิลป์

นับจากยุคแรกจนถึงยุคที่สองในวันนี้ (ชายคาเรื่องสั้น 1 ค.ศ.2010 – ชายคาเรื่องสั้น 13 ค.ศ.2019) เวลาผ่านไปร่วม 10 ปีแล้ว สักวัน “ชายคาเรื่องสั้น” คงไม่มีอยู่ เรารู้ว่าเรามิได้เป็นอมตะ ขอแค่วันนี้ ขณะนี้ที่เราพอจะทำได้ เราจะตั้งมั่นทำอย่างจริงจังจริงใจ ด้วยตัวตนอันแท้จริงของเรา ตราบจนวันที่พวกเราจะสาบสูญไป จากไปอย่างไม่อาจหวนกลับมาอีกเลย…

image_pdfimage_print