พิรุณ อนุสุริยา เรื่องและภาพ
ผู้เขียนได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเสวนาเรื่องสิทธิเสรีภาพด้านสิ่งแวดล้อมในภาคอีสานอยู่บ่อยครั้ง และได้เข้าร่วมเพื่อสังเกตการณ์และเขียนข่าวในฐานะสื่อ (ฟรีแลนซ์) ก็หลายครั้ง ซึ่งงานเสวนาที่เข้าร่วมล่าสุดจัดขึ้นที่ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย โดยงานครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนๆ อย่างยิ่ง

สถานที่จัดงานอยู่ที่ โครงการพัฒนาลุ่มห้วยน้ำทอน ซึ่งจัดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น มีอาคารประชุม อาคารที่พัก และศาลาเพียบพร้อม
สำหรับผม ผู้ไม่เคยสัมผัสบรรยากาศแบบนี้มาก่อน นับว่าแปลกตาพอสมควรเมื่อเห็นว่า ผู้ที่มาร่วมฟังส่วนใหญ่พร้อมใจสวมเครื่องแบบทหารพราน หากสังเกตดีๆ ผมกลับพบว่าพวกเขาเป็นพลเรือนมากกว่าทหาร บ้างเป็นหญิงชาวบ้านที่สวมชุดคล้ายกับชุดทหาร
เมื่อเริ่มกิจกรรมเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติและได้พูดคุยกับผู้ร่วมเดินป่า ผมจึงรู้ว่าพวกเขาไม่ได้รับราชการทหาร แต่เป็น “ชาวบ้านอาสาอนุรักษ์ป่าชุมชน” ในพื้นที่ เพียงแต่สวมชุดทหารเพื่อให้รู้ว่าเป็นอาสาสมัคร
กิจกรรมการเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติครั้งนี้ยังมีกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานีและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีเข้าร่วมด้วย

ทำไมต้องเดินป่า
หลายคนอาจแปลกใจว่า “การเดินป่า” จะเปลี่ยนแปลงอะไร จัดไปเพื่ออะไร
กระทั่งผมได้เริ่มเดินและสังเกตดูสิ่งรอบตัว ผมก็ได้พบเห็นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งได้ชื่อเรียกขานว่าเป็น “ผืนป่าชุมชนแห่งสุดท้ายของจังหวัดหนองคาย” นอกจากจะได้รับฟังผู้คนในพื้นที่ที่พร้อมใจเล่าถึงประวัติศาสตร์โดยย่อเกี่ยวกับผืนป่าแห่งนี้ อันเป็นพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกับพุทธศาสนาและพระธุดงค์ชื่อดังอย่างหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แล้วนั้น ผมยังได้เห็นและรู้จักต้นไม้นานาพรรณที่ทรงคุณค่าแก่การอนุรักษ์
แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น ชาวบ้านในพื้นที่แห่งนี้ได้ใช้ผืนป่าเป็นแหล่งหาเลี้ยงชีพมาช้านาน พร้อมกับต่อสู้ป้องกันไม่ให้ผู้มาบุกรุกป่าหาผลประโยชน์ต่างๆ โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนนำ
นั่นทำให้ผมตกผลึกได้ในที่สุดว่า ป่าคือสิ่งที่ควรอนุรักษ์
ทั้งจากการสัมผัสด้วยตา การออกเดินเข้าไปในป่า การฟังเสียงและสูดกลิ่น รวมทั้งการเสียเหงื่อแบบถึงเนื้อแท้ มากกว่างานเสวนาอื่นๆ ที่เคยเข้าร่วมและพบเห็นมา
อรรถรสการศึกษาธรรมชาติวันที่ 2
พอเข้าสู่วันที่สอง เราก็ได้ชมวีดิทัศน์ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลงานที่ผ่านมาของชาวบ้านอาสาสมัครเหล่านี้ ผสมรวมกับภาพวีดิทัศน์ที่เจ้าหน้าที่ผู้จัดถ่ายไว้ขณะเดินป่าด้วยกันในวันแรก
ภาพวีดิทัศน์บอกเล่าถึงงานกิจกรรมที่เหล่าอาสาสมัครร่วมกันทำมา ทั้งการปรับแนวเขตป่าชุมชนเพื่อให้ผู้คนเห็นว่า พื้นที่แห่งนี้ คือพื้นที่เขตอนุรักษ์ป่าและเป็นพื้นที่ห้ามบุกรุก
นอกจากนี้ ผู้ชมยังได้ดูและเรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมบวชป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้ความเชื่อเรื่องรุกขเทวดา หรือดวงวิญญาณ อันเป็นกุศโลบายในการอนุรักษ์ป่าของชาวบ้านด้วยการนำผ้าเหลืองมาผูกที่ต้นไม้ ทำให้ต้นไม้ได้รับการบวชและเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว โดยชาวบ้านคาดหวังว่า ผู้ที่เข้าป่าเพื่อลักลอบตัดไม้จะเกิดความยำเกรง ไม่กล้าเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากต้นไม้ที่บวชแล้ว
และที่สำคัญที่สุดคือ กิจกรรมการปลูกป่าเพื่อทดแทนต้นไม้ที่ถูกทำลายไป รวมถึงการทำแนวกันไฟเพื่อช่วยให้ต้นไม้รอดจากไฟป่า

บุญศรี ชาติมูลตรี อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยหินขาว ผู้นำการต่อสู้กับนายทุนที่ลักลอบเข้ามาตัดไม้ในป่าแห่งนี้ ซึ่งตอนนี้เขาทำหน้าที่เป็นหนึ่งในอนุกรรมการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าของจังหวัดหนองคาย บุญศรีเล่าให้ผมฟังถึงปัญหาการทำงานอาสาปกป้องป่า รวมถึงกิจกรรมอนุรักษ์ต่างๆ ในฐานะราษฎรพิทักษ์ป่าว่า
“การเป็นอาสาพิทักษ์ป่าหรือราษฎรพิทักษ์ป่าทุกวันนี้ มันมีปัญหาคือ บัตรไม่มี เครื่องแต่งกาย เครื่องแบบที่พ่อใส่ (ชี้ไปที่เครื่องแบบที่เป็นทางการ) ยังไม่มีให้ชาวบ้าน” เขาเล่า
เมื่อพิจารณาจากชุดทหารพรานที่ชาวบ้านใส่ในวันแรกของการเดินป่านั้น จะเห็นว่าแตกต่างจากเสื้อผ้าที่บุญศรีใส่อย่างชัดเจน ทั้งการปักชื่อและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจในการดูแลป่า
“เรื่องสวัสดิการที่ต้องไปลาดตระเวนไฟป่า ดูแลรักษาไม้ป่า ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า มันก็ควรต้องมี เพราะส่วนมาก คนที่มาอาสามีแต่คนจน คนรวยเขาไม่มาทำหรอกครับ มีแต่คนจน” อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยหินขาวกล่าวย้ำ
บุญศรีบอกกับผมว่า อาสาสมัครเหล่านี้ล้วนมาทำหน้าที่ดังกล่าวด้วยใจ ด้วยความรักและหวงแหนในผืนป่าอย่างแท้จริง เพราะถ้าไม่มีใจแล้ว ก็ไม่มีทางทำได้ เพราะเป็นการอาสาเข้ามาทำโดยไร้ค่าตอบแทน
“ข้อดีอีกอย่างหนึ่ง เวลาทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ เครื่องแบบจะทำให้คนรู้ว่าเราทำงานช่วยเหลือกรมป่าไม้ ไม่ใช่การใส่เครื่องแบบไปสุ่มสี่สุ่มห้า บางทีไปจับเขา มันก็ลำบากนะ ถ้าเขาฟ้องขึ้นมา เขาจะถามว่าคุณเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนไหน” ผู้ก่อตั้งอาสาสมัครพิทักษ์ป่าชุมชนห้วยหินขาวอธิบาย
นอกจากนี้ บุญศรียังอยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลอาสาสมัคร ทั้งเรื่องสวัสดิการและอาหาร หากเมื่อต้องลาดตระเวนดูแลป่า เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่มีรายได้ นอกจากที่หมู่บ้านแห่งนี้แล้วนั้น ยังมีอาสาสมัครจากอีกหลายชุมชนรวมกว่า 300 คน ที่อาสามาปฏิบัติหน้าที่เดียวกันนี้
ดูแลป่า… ป่าดูแลเรา
ขณะเดินป่าศึกษาธรรมชาติด้วยกันอยู่นั้น บุญศรีเล่าให้ผมฟังถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งกลุ่มนายทุนเข้ามาลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เทคนิคอย่างหนึ่งที่เขาทำหากพบปะการตัดไม้คือ การเผาไม้ทิ้งตัดหน้าก่อนที่กลุ่มนายทุนจะมาขนไม้ออกไป การทำแบบนี้เป็นการทำให้อีกฝ่ายเสียโอกาสในการขนไม้ออกไป
การต้องพึ่งพาป่าทำให้คนในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ทำนาก้าวมาทำหน้าที่นี้ ด้วยเพราะเมื่อหมดฤดูทำนา พวกเขาอาศัยเก็บหาของป่ามาเป็นอาหารและจำหน่ายเพื่อหารายได้ประทังชีวิต
“ชาวบ้านเขาพึ่งพาตรงนี้ ไม่ว่าเห็ด หน่อไม้ ของป่า ก็ให้หากินได้ เราไม่ห้าม แต่ห้ามอย่างเดียวเรื่องการทำลายป่ากับการทิ้งขยะ” บุญศรีบอกถึงกฎระเบียบการใช้ป่าร่วมกัน

กิจกรรมการเดินป่าครั้งนี้ยังได้มีการหยิบยกตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการใช้ทรัพยากรมาอธิบายเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ร่วมเดินป่าด้วย โดย สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม เกริ่นเล่าประสบการณ์การเดินป่ากับหน่วยพิทักษ์ป่า ทำให้ทราบถึงจิตวิญญาณของการอนุรักษ์ของชาวบ้านว่าไม่ได้มาจากการใช้ประโยชน์จากป่าเพียงอย่างเดียว
“สำนึกแบบนี้สร้างได้อย่างไร รุ่นนี้อาจจะเป็นอย่างนี้ แต่รุ่นต่อไปจะเป็นอย่างไร นี่เป็นคำถามใหญ่ที่ต้องช่วยกันตอบ เพราะเราเห็นความสำคัญ เห็นการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนแล้ว สำนึกที่จะสร้างและส่งต่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ” สุวิทย์กล่าวกระตุ้นปลุกพลังผู้เข้าร่วมกิจกรรม

กฎหมาย คน และป่า
ส่วนประทีป มีคติธรรม นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ชี้ให้เห็นว่า กฎหมายมีทั้งที่เคยเป็นจารีตประเพณีและเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นภายหลัง ซึ่งกฎหมายอย่างหลังจะจำกัดสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชน
ประทีปเสนอแนวทางในการจัดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐกับชุมชนในการใช้พื้นที่ป่าว่า การจัดการป่าชุมชนอย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายควรให้ประชาชนมีสิทธิกำหนดการใช้ทรัพยากรของตนได้ ซึ่งมีกฎหมายป่าชุมชนรองรับ แต่ป่าชุมชนบางพื้นที่ยังทับซ้อนกับเขตอุทยานหรือพื้นที่ป่าสงวน
“หมู่บ้านที่ขึ้นทะเบียนป่าชุมชนไปแล้ว อย่าเพิ่งสบายใจนะครับ ในกฎหมายเขียนว่าจะต้องทำแผนให้เสร็จภายใน 2 ปี ถ้าไม่เสร็จจะถูกเพิกถอน โจทย์ใหญ่คือ หมู่บ้านต้องเริ่มนับหนึ่ง ทำแผนป่าชุมชน รวมถึงทำบัญชีรายชื่อสมาชิกของป่าชุมชน” ประทีปแนะนำ

การร่วมกิจกรรมทำให้ผมพบว่า ชาวบ้านมีความตื่นตัวในการแสดงความคิดเห็นถึงสิทธิ์การใช้ทรัพยากรจากป่าและความรู้ด้านกฎหมายเกี่ยวกับป่า
ผมเชื่อว่า นั่นคือประโยชน์ที่คนในท้องถิ่นสมควรได้รับอย่างเป็นธรรมและถูกต้องตามหลักนิติรัฐ แม้จะเป็นเรื่องที่ชาวบ้านอาจฟังเข้าใจยาก บ้างก็อาจจะพูดออกมาได้ไม่แจ่มชัดว่าควรต้องจัดการและมีส่วนร่วมในการทำกฎหมายอย่างไร แต่ความตั้งใจดีที่จะทำสิ่งที่ดีต่อชุมชนของตนนั้น คือสิ่งที่รับรู้สัมผัสได้อย่างแน่แท้