ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง
ตลอดช่วงเวลาปี 2557-2562ที่รัฐบาลเผด็จการทหาร ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำ มีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้เห็นต่างเป็นจำนวนมาก
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชนที่สำรวจการละเมิดสิทธิเสรีภาพ พบว่ามีประชาชนถูกปรับทัศนคติ 572 คน ถูกติดตาม 434 คน ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเพื่อให้หยุดเคลื่อนไหวและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล 929 คน และถูกดำเนินคดีเกี่ยวข้องกับการแสดงออกในเชิงเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา116 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ 773 คน
หลังจากที่รัฐบาลเผด็จการทหารประกาศจัดการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2563 ทำให้หลังการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคประชาชนปฏิรูป เป็นต้น รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภาอีก 250 คน ทำให้พล.อ.ประยุทธ์มีเสียงสนับสนุนสูงมากถึง 502 เสียง ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 375 เสียง ส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
นับจากวันนั้น ประเทศไทยก็มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและกลับเข้าสู่วิถีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง
นักวิชาการ นักการทูต และประชาชนก็คาดหวังว่า การละเมิดคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศจะลดลง แต่สิ่งที่พบคือ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของรัฐยังคงอยู่ เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบ

กิจกรรมวิ่งไล่ลุงจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 ภาพจากเฟซบุ๊กวิ่งไล่ลุง อุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานีเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการที่รัฐและฝ่ายความมั่นคงใช้จัดการผู้เห็นต่าง ไม่ใช่เพียงใช้กำลังทหารเรียกผู้เห็นต่างเข้าค่ายทหารอย่างเดียว
แต่มีการใช้กลไกของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจในการส่งคนเข้ามาฟังตามงานกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย หรือติดต่อกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้แจ้งกับอาจารย์ เพื่อกดดันไม่ให้นักศึกษาทำกิจกรรมทางการเมือง
วิธีการเหล่านี้เห็นได้ชัดเจนจากการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา
ส่วนกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร นำโดย ธนวัฒน์ วงค์ไชย และพวก ซึ่งเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนและเก็บค่าสมัครร่วมวิ่ง
ตอนแรก ทางผู้จัดฯ จะจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ภายหลังเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้จัด ผู้จัดฯ จึงมาใช้สถานที่บริเวณสวนวชิรเบญจทัศหรือสวนรถไฟ เขตจตุจักรแทน
ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดงานคู่ขนาน นั่นคือ งานเดินเชียร์ลุง ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ให้จัดบริเวณสวนลุมพินี
กิจกรรมวิ่งไล่ลุงมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การวิ่งออกกำลังกายและแสดงให้เห็นถึงพลังของคนที่ไม่เอาลุง ซึ่ง “ลุง” ในที่นี้หมายถึงคนที่ฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศ รวมถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศนี้
ดังคำประกาศของ ธนวัฒน์ วงศ์ไชย ผู้ประสานงาน “วิ่งไล่ลุง” ในช่วงเช้าวันที่ 12 มกราคมว่า “นี่คือการวิ่งเพื่อขับไล่ความอยุติธรรมออกไปจากแผ่นดินนี้”

ผู้ร่วมกิจกรรม “แล่น ลัก ลุง” จังหวัดมหาสารคาม ถ่ายรูปร่วมกันที่ศูนย์การค้าเสริมไทยคอมเพล็กซ์ ภาพจากเพจเฟซบุ๊กแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย
ภายในจังหวัดอุบลราชธานีได้มีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเหมือนกับในกรุงเทพฯ และอีก 34 จังหวัด เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุดรธานี บุรีรัมย์ นครพนม ยโสธร สกลนคร บึงกาฬ เชียงใหม่ พะเยา ตรัง และ ชลบุรี เป็นต้น
แต่สิ่งที่พบคือ การจัดกิจกรรมในจังหวัดอุบลราชธานีถูกคุกคามและข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้คำกล่าวอ้างอันสวยหรูคือ “เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย”
ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงจังหวัดอุบลราชธานี ได้ทำหนังสือขอจัดกิจกรรมและได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว แต่ภายหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับออกเอกสารราชการ ลงวันที่ 6 มกราคม 2563 ว่า “ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกิจกรรมทำบุญตักบาตรที่จะเกิดขึ้นในวันที่อาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2563” ภายหลังผู้จัดงานได้พูดคุยกับตำรวจ กระทั่งออกเอกสารลงวันที่ 8 มกราคม 2563 ว่า “สามารถจัดกิจกรรมได้”
ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อมาสอบถามและพูดคุยกับอาจารย์และนักศึกษาของคณะ โดยได้สอบถามถึงกิจกรรมวิ่งไล่ลุงว่ามีความเกี่ยวข้องกับทางคณะหรือไม่ หากมีเจ้าหน้าที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังสงสัยด้วยว่า หนึ่งในนักศึกษาของคณะเป็นผู้จัดงานครั้งนี้ และยังได้ขอดูข้อมูลการใช้ Facebook ของอาจารย์บางท่านด้วย แต่อาจารย์คนดังกล่าวไม่ยินยอม ทางเจ้าหน้าที่จึงดูบทสนทนาผ่านช่องข้อความของอาจารย์อีกท่านหนึ่ง

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อุบลราชธานีเข้ามาพูดคุยกับแกนนำการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง จ.อุบลราชธานี ก่อนเริ่มกิจกรรมเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 ภาพจากภาพจากเฟซบุ๊กวิ่งไล่ลุง อุบลราชธานี
สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เพราะเจ้าของข้อมูลไม่ยินยอมที่จะให้ดูข้อมูล แต่เจ้าหน้าที่กลับใช้วิธีการขอดูข้อมูลผ่านจากบุคคลอื่น
ส่วนบริเวณทุ่งศรีเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่การจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ทางเจ้าหน้าที่ก็สั่งห้ามไม่ให้มีการใช้เครื่องกระจายเสียงและมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร และพนักงานฝ่ายปกครอง รวมประมาณ 200 นาย มาคอยสังเกตการณ์และถ่ายรูปผู้เข้าร่วมกิจกรรม
นอกจากนี้ยังห้ามใส่เสื้อที่มีข้อความว่า “วิ่งไล่ลุง” เหมือนกับเสื้อผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่กรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่า มีการทำข้อตกลงดังกล่าวกับผู้จัดงานเอาไว้แล้ว
เจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ที่เข้าร่วม ทั้งหญิงและชาย ถอดเสื้อที่มีข้อความดังกล่าวออก แล้วให้เปลี่ยนไปใส่เสื้อที่มีข้อความอื่นแทน โดยได้เตรียมเสื้อไว้ให้เปลี่ยนบริเวณจุดคัดกรองก่อนเข้าร่วมงาน
คำถามคือ การใส่เสื้อวิ่งไล่ลุงในจังหวัดอุบลราชธานีถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือไม่ เพราะผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่กรุงเทพฯ สามารถสวมใส่เสื้อที่มีข้อความดังกล่าวเพื่อเข้าร่วมงานได้
จากการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่อุบลราชธานีพบว่า ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะสั่งห้ามไม่ให้ใส่เสื้อวิ่งไล่ลุง แต่มีผู้ร่วมงานกลุ่มหนึ่งสวมใส่เสื้อแดงและมีรูปภาพของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ติดอยู่บนเสื้อ คนเหล่านั้นก็เข้าร่วมกิจกรรมได้
ทั้งที่เมื่อปี 2562 รูปของอดีตนายกทักษิณ และอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยถูกเจ้าหน้าที่ห้ามนำมาทำปฏิทินแจกจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่

ผู้ร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุง อุบลราชธานี บางส่วนสามารถสวมใส่เสื้อที่มีข้อความ “วิ่งไล่ลุง” ภาพจากเฟซบุ๊กวิ่งไล่ลุง อุบลราชธานี
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายมั่นคงยังสั่งห้ามให้มีการใช้เครื่องกระจายเสียงเพื่อพูดคุยและชี้แจงกับผู้ร่วมงาน แต่การจัดงานวิ่งไล่ลุงและเดินเชียร์ลุงที่กรุงเทพฯ กลับอนุญาตให้ใช้เครื่องกระจายเสียงและจัดเวทีขนาดย่อมสำหรับการทำกิจกรรมสันทนาการให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้
ไม่เพียงเท่านั้น ที่จ.อุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ยังขอตรวจบัตรประชาชน ณ บริเวณจุดคัดกรองและขอถ่ายรูปบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย
คำถามสำคัญคือ เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอะไรมาขอตรวจบัตรและถ่ายรูปบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
สิ่งเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งและแสดงหลักฐานให้กับผู้ถูกตรวจได้รับทราบ อ้างเพียงว่าได้ทำข้อตกลงกับผู้จัดงานไว้เท่านั้น
การกระทำดังกล่าวทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ได้เป็นการอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้กับการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่เกิดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี แต่เป็นวิธีการของรัฐที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ไม่กล้า และไม่อยากจะเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งที่กิจกรรมได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว
ก่อนเริ่มกิจกรรมและช่วงของการวิ่ง ก็มีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนแฝงตัวมาเป็นนักวิ่งและพยายามเข้าไปถามผู้บางคนว่าได้เสื้อวิ่งไล่ลุงมาจากไหน ใครจ้างมา หรือใครชักชวนมา มีเจ้าหน้าที่บางคนเข้ามาขอถ่ายรูปเพื่อเก็บหลักฐานผู้ที่ใส่เสื้อวิ่งไล่ลุง
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐมองคนที่ออกมาร่วมกิจกรรมว่าเป็นคนที่ถูกชักจูงมา มากกว่ามองว่าพวกเขาตัดสินใจมาร่วมกิจกรรมด้วยตัวเอง
แม้ภายหลังจากที่กิจกรรมวิ่งไล่ลุงได้จบลง ในจังหวัดอุบลราชธานีจะยังไม่มีหมายเรียกจากตำรวจก็ตาม แต่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงจังหวัดบุรีรัมย์ กลับได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจข้อหากระทำผิดพระราชบัญญัติการชุมนุม
เมื่อมองถึงการจัดงานกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่กรุงเทพ ซึ่งผู้เข้าร่วมสามารถสวมใส่เสื้อวิ่งไล่ลุงได้ โดยไม่มีคนมาบังคับให้เปลี่ยนเสื้อ ไม่มีการขอตรวจบัตรประชาชน ไม่ได้ห้ามงดใช้เครื่องเสียง ส่วนงาน “เดินเชียร์ลุง” ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ก็ได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่รัฐ แถมบางจังหวัดก็มีผู้ว่าราชการจัดหวัดเข้าร่วมด้วย
จึงเกิดคำถามสำคัญที่ต้องร้องถามดังๆ ว่า เรายังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกันไหม?
เรามีสิทธิเสรีภาพในประเทศนี้แค่ไหน?
และเรายังอยู่ในประเทศเดียวกันไหม?