ภาพปกจาก รุณ กมลฉัตร

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ เรื่อง

ประเทศไทยส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับสองของโลก แต่ขณะนี้อาจจะเป็นประเทศที่มีการเผาอ้อยมากที่สุดในโลกก็เป็นได้ ทุกวันนี้ หลายจังหวัดในภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสาน ต่างก็มีการเผาอ้อยอย่างหนัก 

การเผาอ้อยเป็นอีกสาเหตุสำคัญของการก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทั้งควันพิษและฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ซึ่งทำให้เกิดหิมะดำเพราะการเผาอ้อยทำให้น้ำในดินระเหย เมื่อน้ำในดินหายไปในวงกว้าง ก็จะยิ่งเร่งทำให้เกิดภัยแล้งมากขึ้น  

ขณะที่มาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้ก็คือ การผ่อนผันให้โรงงานน้ำตาลซื้ออ้อยเผาได้ โดยค่อยๆ ลดปริมาณการซื้ออ้อยเผาไปจนถึงปี 2565 ส่วนมาตรการล่าสุด 12 มาตรการ ก็กล่าวเพียงกว้างๆ ในประเด็นของการเผาในที่โล่ง แต่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงไปที่การหยุดเผาอ้อย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหา

ต่อไปนี้คือข้อเสนอต่างๆ ที่ผมประมวลจากข้อเสนอของภาคประชาชนกับข้อความเห็นที่ผมได้จากการเคยร่วมทำวิจัยไทบ้านกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย

มาตรการในระยะเร่งด่วน รัฐบาลต้องห้ามโรงงานน้ำตาล รวมถึงโรงกลั่นเอทานอล ไม่ให้รับซื้ออ้อยเผาโดยเด็ดขาด หากไม่มีแหล่งรับซื้ออ้อยเผา การเผาอ้อยจะลดลงโดยทันที และจะทำให้ชาวไร่อ้อยหยุดเผาและดูแลไร่อ้อยของตนเองไม่ให้มีการเผาอ้อยอีกต่อไป

การที่รัฐบาลยังคงผ่อนผันให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยเผาได้ เท่ากับเป็นใบเบิกทางให้มีการเผาอ้อยอยู่ และอาจเป็นข้ออ้างของส่วนราชการในระดับพื้นที่ในการที่จะไม่เข้มงวดกับการเผาอ้อยได้

ขณะที่โรงงานน้ำตาล รวมทั้งโรงกลั่นเอทานอล จะต้องร่วมรับผิดชอบการเผาด้วย โดยจะต้องควบคุมไม่ให้ลูกไร่ของโรงงานเผาอ้อยโดยเด็ดขาด รวมทั้งหาวิธีการตัดอ้อยโดยไม่ต้องเผาให้ชาวไร่อ้อย เช่น การจัดหาเครื่องจักรมาแทนแรงงานที่ขาดแคลน และต้องไม่รับซื้ออ้อยเผาโดยเด็ดขาด 

ที่ผ่านมากิจกรรมเล็กๆ เช่น การขึ้นป้ายรณรงค์ห้ามเผาหน้าโรงงานยังไม่เพียงพอ และยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าโรงงานร่วมรับผิดชอบเท่าที่ควร

ในส่วนของชาวไร่อ้อยทุกเขตหรือจังหวัดที่มีการปลูกอ้อย ต้องร่วมรับผิดชอบไม่ให้สมาชิกเผาอ้อย ซึ่งปกติแล้ว การปลูกอ้อยจะต้องขึ้นทะเบียนกับสมาคมชาวไร่อ้อยของแต่ละเขตหรือจังหวัด ดังนั้น สมาคมฯ จึงต้องดูแลและควบคุมสมาชิกให้ได้ ส่วนชาวไร่อ้อยเองก็ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ด้วย

การเผาไร่อ้อยสดระหว่างเก็บเกี่ยว เครดิตภาพ iStock.com/6381380

กรณีการเผาใบอ้อยหลังตัด รัฐบาลต้องบังคับให้โรงงานน้ำตาลและสมาคมชาวไร่อ้อยหาวิธีการจัดการใบอ้อยที่ไม่ใช่การเผาโดยเร่งด่วน และต้องเอาผิดเจ้าของไร่อ้อยที่ปล่อยให้ไฟไหม้ใบอ้อยหรือจงใจเผาใบอ้อยหลังตัด เพราะการเผาใบอ้อยหลังตัดสร้างปัญหามลพิษทางอากาศทั้งควันพิษ PM 2.5 หิมะดำและเร่งให้เกิดภัยแล้ง พอๆ กับการเผาอ้อยก่อนตัด

สำหรับผู้ปลูกอ้อยเสรีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนการปลูกอ้อย ซึ่งการไม่ได้ขึ้นจดทะเบียนมักจะนำไปสู่การรวมหัวกันโควต้าของโรงงานและมักมีลักลอบเผาอ้อยนั้น โรงงานต้องไม่รับซื้ออ้อยเผาจากชาวไร่อ้อยกลุ่มนี้เช่นกัน

นอกจากการเผาอ้อยแล้ว รัฐบาลต้องควบคุมโรงงานน้ำตาลไม่ให้กระบวนการผลิตปล่อยมลพิษสู่อากาศอย่างเข้มงวดด้วย หากโรงงานใดปล่อยมลพิษสู่อากาศ รัฐก็จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ที่สำคัญอีกประการก็คือ รัฐบาลต้องยุติการอนุมัติโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ รวมทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะพ่วงมากับโรงงานน้ำตาล

มาตรการระยะกลาง รัฐบาลต้องทำให้ผลประโยชน์จากการผลิตอ้อยตกอยู่กับเกษตรกรร้อยละ 70 ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีผลกำไรและสามารถนำรายได้ที่ได้ไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงการผลิตไปสู่การผลิตอ้อยอินทรีย์

รัฐบาลต้องจำกัดพื้นที่การปลูกอ้อย โดยไม่อนุญาตให้อุตสาหกรรมน้ำตาลและโรงกลั่นเอทานอลขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่ม และหยุดการขยายอุตสาหกรรมที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงกลั่นเอทานอล

ในส่วนของโรงงานน้ำตาลและสมาคมชาวไร่อ้อย ก็จะต้องปรับเปลี่ยนการผลิตอ้อยในพื้นที่การปลูกเดิมอยู่แล้วให้เป็นการผลิตอ้อยอินทรีย์

มาตรการระยะยาว รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ เช่น Bio-Hub รวมถึงทบทวนการส่งเสริมพืชอุตสาหกรรมอื่น เช่น ข้าวโพด และหันมาส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และสอดคล้องกับหลักการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข้อเสนอนี้ค่อนข้างเปิดกว้าง สามารถถกเถียงหรือเสริมเพิ่มเติมได้ และผมเชื่อว่า หากรัฐบาลเอาจริงเอาจัง เห็นแก่ประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เกรงอกเกรงใจทุน ตลอดจนทุนอุตสาหกรรมน้ำตาลและโรงกลั่นเอทานอลทำธุรกิจโดยยึดหลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และสมาคมชาวไร่อ้อยตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการเผาอ้อย ก็จะสามารถหยุดการเผาอ้อยที่กำลังเป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศได้

image_pdfimage_print